"...ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ถูกร้อง (ร.อ. ธรรมนัส) เคยต้องคำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลียที่ได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดแล้ว ประเด็นหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญจำต้องยกขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นประเด็นที่ว่า การที่ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น เป็นบุคคลต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) บัญญัติไว้หรือไม่? หากได้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาในพฤติการณ์ของการกระทำความผิดหรือต้องบังคับตามคำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลียในทำนองเดียวกันกับตัวอย่างข้างต้นที่ยกขึ้นแต่ประการใด ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลประเทศออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดลงโทษจำคุกผู้ถูกร้องในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว..."
..............................
คำถามชวนคิดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผา เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564
ก่อนอื่นผมต้องขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า คำถามที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านคิดนี้ เป็นการตั้งประเด็นเพื่อให้ขบคิดคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญเรื่องนี้ในฐานะนักวิชาการทางกฎหมาย ซึ่งมีประเด็นคำถามที่น่าสนใจที่อยากหยิบยกมาพิจารณาซึ่งท่านอาจเห็นด้วยหรือเห็นต่างอยู่หลายประเด็น ดังนี้
1. ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นที่กระทบต่อเรื่องอำนาจอธิปไตยทางการศาลหรือไม่?
การจะพิจารณาว่าการกระทำใดถือเป็นการกระทบอำนาจอธิปไตยทางการศาลหรือไม่นั้น มีประเด็นและตัวอย่างที่เกิดขึ้นให้พิจารณาหลายประการด้วยกัน
ประการแรก ถ้าคำพิพากษาของศาลประเทศหนึ่งสามารถนำไปดำเนินการหรือบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในอีกประเทศหนึ่งได้เลย โดยไม่ต้องมีกระบวนการพิจารณาในศาลของประเทศที่มีการนำคำพิพากษานั้นไปบังคับ และไม่มีสนธิสัญญาระหว่างกัน กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทบต่ออำนาจอธิปไตยทางการศาล โดยในทางระหว่างประเทศมีความพยายามในการดำเนินการให้มีการนำคำพิพากษาของประเทศหนึ่งไปบังคับยังอีกประเทศหนึ่งได้ โดยทำในรูปแบบสนธิสัญญาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 ที่ชื่อว่า “สนธิสัญญาว่าด้วยการยอมรับและการบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศในคดีแพ่งและพาณิชย์” (The Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Judgments in Civil and Commercial Matters) ซึ่งสนธิสัญญาฉบับดังกลาวได้มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง โดยสนธิสัญญาเรื่องนี้ ในปัจจุบันมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Hague Judgements Convention 2019 ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ตั้งแต่เริ่มมีการผลักดันให้มีการยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 50 ปีก็ไม่ได้รับความนิยมจากประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเรื่องอำนาจอธิปไตยทางการศาล และแน่นอนว่าประเทศไทยไม่เคยเป็นภาคีสมาชิกในสนธิสัญญาในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นฉบับใดก็ตาม
ในประการที่ 2 หากจะถามว่าในทางปฏิบัติในเรื่องของการบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศในไทยมีหรือไม่ คงต้องตอบว่า
แม้มิได้เป็นการนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาบังคับโดยตรงก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ได้มีการนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาเป็นแนวทางในการกำหนดบทลงโทษกับผู้กระทำผิด หลายท่านอาจไม่ทราบว่า มีเรื่องนี้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติของไทยมาเป็นเวลานานแล้ว เรื่องนี้เกิดขึ้นในกระบวนการของความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “การโอนตัวนักโทษ” (Transfer prisoner/sentenced person) ซึ่งเป็นการกระทำกันระหว่างประเทศที่เป็นคู่สนธิสัญญา (ทวิภาคี) เช่น กรณีคณะกรรมการรับโอนตัวคนไทยซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาจากศาลในสหรัฐอเมริกาและได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนด บุคคลดังกล่าวสามารถที่จะขอให้โอนตัวตนเองกลับมารับโทษต่อที่ประเทศไทยได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนในเรื่อง สิทธิเกี่ยวกับครอบครัว (the right to family life) เพราะการต้องขังในเรือนจำต่างประเทศ นักโทษแทบไม่มีโอกาสได้พบกับญาติของตนเลย
ดังนั้นการโอนตัวนักโทษที่จะนำกลับมาประเทศไทย พนักงานอัยการต้องนำตัวผู้ต้องคำพิพากษาจากต่างประเทศดังกล่าวไปศาล เพื่อให้ศาลเปรียบเทียบว่า การกระทำที่มีคำพิพากษาและได้รับโทษจากต่างประเทศดังกล่าวนั้น เทียบได้กับการกระทำความผิดตามกฎหมายไทยในข้อหาใด พร้อมทั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่นักโทษที่ถูกส่งตัวมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ว่าการดำเนินการในเรื่องนี้จะไม่ถือว่าเป็นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศโดยตรง แต่ก็ได้ใช้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศเป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อประกอบการกำหนดโทษของบุคคลดังกล่าว และความร่วมมือในลักษณะนี้จะกระทำแต่เฉพาะกับประเทศที่ไทยได้มีสนธิสัญญา (ทวิภาคี) ในเรื่องการโอนตัวนักโทษด้วยเท่านั้น เรื่องนี้ก็จึงถูกพิจารณาว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ได้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของศาลไทยแต่อย่างใด ทั้งที่การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นเรื่องการบังคับเกี่ยวกับการพิจารณาในเนื้อแห่งคดีที่เกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำผิดรวมถึงการกำหนดโทษ
อธิบายประกอบ 2 ประเด็นเบื้องต้นซะยาวเลย ย้อนกลับมาที่คำถามว่า แล้วสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยกระทบเรื่องอำนาจอธิปไตยทางการศาลหรือไม่?
อย่างแรกคงต้องถามว่า แล้วศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาในเนื้อหาแห่งคดีที่ได้มีการฟ้องร้องกันในต่างประเทศ หรือต้องมีการบังคับเพื่อให้เป็นไปตาม/ทำนองเดียวกันกับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศอย่างที่ได้ยกตัวอย่างในตอนต้นหรือไม่?
คำตอบก็คือไม่มี เพราะประเด็นที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญคือ ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีหรือไม่? ซึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) ได้วางหลักว่า บุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิด...(ในหลายข้อหาความผิด) รวมถึงการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือผู้ค้า เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ถูกร้อง (ร.อ. ธรรมนัส) เคยต้องคำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลียที่ได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดแล้ว ประเด็นหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญจำต้องยกขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นประเด็นที่ว่า การที่ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น เป็นบุคคลต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) บัญญัติไว้หรือไม่?
หาได้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาในพฤติการณ์ของการกระทำความผิดหรือต้องบังคับตามคำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลียในทำนองเดียวกันกับตัวอย่างข้างต้นที่ยกขึ้นแต่ประการใด ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลประเทศออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดลงโทษจำคุกผู้ถูกร้องในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว
ดังนั้น คำพิพากษาถึงที่สุดของศาลประเทศออสเตรเลียที่ให้ลงโทษผู้ถูกร้องนี้ จึงถูกใช้เป็นเพียงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่เข้าลักษณะต้องห้ามตามที่มาตรา 98 (10) หรือไม่เท่านั้น หาใช่ประเด็นเรื่องการยอมรับหรือบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ อันจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตยทางการศาลของไทยแต่ประการใดไม่
2. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลอย่างไร?
ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 211 วรรคท้าย บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”
นั่นหมายความว่า ทุกหน่วยงานที่กล่าวไว้ในมาตรา 211 ต้องยึดถือและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ ที่มิให้นำผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศที่ให้ลงโทษจำคุกตามความผิดที่ได้กำหนดและเลยระยะการรับโทษมาแล้ว 5 ปี มาพิจารณาว่าเป็นลักษณะต้องห้ามอันเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นการกระทบต่ออำนาจอธิปไตยทางการศาลของไทย โดยหน่วยงานต่าง ๆ จะพิจารณาเป็นอย่างอื่นแตกต่างไปจากนี้ไม่ได้ เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้ถูกประกาศรับรองไว้ในมาตรา 211 แล้ว
3. มีตัวอย่างที่หน่วยงานต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยนี้หรือไม่?
เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของบ้านเมือง ดังนั้นบุคคลใดที่จะมีบทบาทและความสำคัญ มีอำนาจและหน้าที่ในระดับประเทศได้ จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามที่ถือว่าขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนั้น โดยได้มีกำหนดลักษณะต้องห้ามไว้อย่างชัดเจน ซึ่งโดยหลักตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานต่าง ๆ ก็ล้วนกำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ในทำนองเดียวกันกับมาตรา 98 (10) ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (12) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (12) และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 11 (12) นั่นหมายความว่าหากมีบุคคลที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดของศาลต่างประเทศ ก็ไม่ถือว่าเป็นลักษณะต้องห้ามที่จะเข้าดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังรวมถึงการดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน เพราะคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 202 (2) ก็กำหนดลักษณะต้องห้ามโดยโยงกลับไปที่มาตรา 98 ด้วยเช่นกัน ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกขึ้นนี้ ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราต้องการให้คนที่มีประวัติแบบนี้ มีสิทธิที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งต่าง ๆ (ซึ่งที่จริงแล้วมีมากกว่า 4 หน่วยงานที่ยกขึ้นเป็นตัวอย่าง) เหล่านี้จริง ๆ เหรอครับ
เห็นหรือไม่ครับว่า....คำวินิจฉัยนี้มีผลกระทบต่อบ้านเมืองของเราขนาดไหน !!!
4. ถ้าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชอบด้วยกฎหมายอย่างที่หลายท่านกล่าว สังคมเราจะเดินไปอย่างไรกันต่อดี?
ผมเชื่อว่า เรื่องนี้สุดท้ายก็จะมีทั้งคนที่คิดว่าคำวินิจฉัยฉบับนี้ถูกต้องแล้ว และก็มั่นใจว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยความเคารพนะครับ ผมเองก็เป็นคนในกลุ่มหลังด้วยเช่นกัน สมมติว่า เราลองเอาข้อบทกฎหมายออกไป แล้วพิจารณาว่า ถ้าเราจะให้ใครขึ้นมาทำหน้าที่ซึ่งมีอำนาจและส่งผลกระทบสำคัญในระดับประเทศ เราต้องการคนแบบไหน และไม่ต้องการคนแบบไหนเข้ามาทำหน้าที่นั้น ตัวอย่างในคำถามข้อที่ 3 คงสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าการตีความในลักษณะนี้จะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศของเราบ้าง ผมเชื่อว่าบางท่านก็คงยังยืนว่า หลักกฎหมาย (ในมุมของท่าน) มันเป็นแบบนี้ คำถามที่ผมอยากจะถามต่อไปคือ แล้วท่านคิดว่าถ้ากฎหมายมันทำให้บ้านเมืองเรามันเดินมาถึงจุดนี้...กฎหมายที่ท่านกล่าวถึงนั้น...สมควรที่จะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนหรือไม่?
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 33 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 28 ตุลาคม 2524 ที่ว่า “...กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย...”
ผมหวังว่าเรื่องนี้จะมีทางออกที่ดีในเร็ววัน และก็ได้แต่หวังว่าตัวอย่างที่ผมยกขึ้นในคำถามข้อที่ 3 นั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะกับหน่วยงานใดก็ตาม
มาร์ค เจริญวงศ์
เด็กติดเกาะในแดนไกล
9 พฤษภาคม ร.ศ. 250