"...หวังว่า ตัวเลขนี้ จะกระตุ้นให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลให้เร่งรีบ บริหารจัดการ เพื่อให้ประเทศสามารถคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ไม่ให้ต้องรอถึง 7.7 ปี ก่อนที่ระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวจะล้มระเนระนาดไปหมด..."
.................................
(1) ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนจำนวน 36,741 โดสต่อวัน (* Ref 1 ) Bloomberg คำนวณว่า ประเทศไทยจะต้องใช้เวลา 7.7 ปี (ภาพที่ 1) ในการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 75% ตามสัดส่วนที่ Dr. Anthony Fauci เชื่อว่า แต่ละประเทศควรฉีดวัคซีนให้ได้ ก่อนจะสามารถเข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพที่ 2) และสหราชอาณาจักร (ภาพที่ 3) จะใช้เวลาอีก 4 เดือน ในขณะที่สิงคโปร์ (ภาพที่ 4) ใช้เวลาอีก 5 เดือนในการเข้าสู่ภาวะปกติ
หวังว่า ตัวเลขนี้ จะกระตุ้นให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลให้เร่งรีบ บริหารจัดการ เพื่อให้ประเทศสามารถคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ไม่ให้ต้องรอถึง 7.7 ปี ก่อนที่ระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวจะล้มระเนระนาดไปหมด
ภาพที่ 1 Bloomberg คำนวณว่า ด้วยอัตราฉีดรายวัน 36,743 โดสต่อวัน ประเทศไทยจะต้องใช้เวลา 7.7 ปี กว่าจะกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ (คือ สัดส่วนผู้มีภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 75%)
ภาพที่ 2 ประเทศอเมริกา ฉีดวันละ 2.08 ล้านโดส จะใช้เวลาอีกเพียง 4 เดือน (กันยายน) ก็จะเข้าสู่สภาวะปกติ ใครที่เตรียมตัวไปศึกษาต่อช่วง Fall นี้ น่าจะไปได้สบายครับ
ภาพที 3 ประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ฉีดวันละ 4.4 แสนโดส จะใช้เวลาอีกเพียง 4 เดือน (กันยายน) ก็จะเข้าสู่สภาวะปกติ
ภาพที่ 4 ประเทศสิงคโปร ฉีดวันละ 4-5 หมื่นโดส จะใช้เวลาอีกเพียง 5 เดือน (กันยายน) ก็จะเข้าสู่สภาวะปกติ
(2) จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ประเทศไทยจัดอยู่ในตำแหน่งที่ 56 ของประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนโดสที่มากที่สุด (ภาพที่ 5) เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน ตามสัดส่วนของประชากรที่ได้ฉีดวัคซีนแล้ว ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 6 (0.60%) ตามหลังสิงคโปร์ (14.90%) กัมพูชา (5.7%) อินโดนีเซีย (3.1%) มาเลเซีย (1.9%) และ ลาว (1.0%)
⁃ ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร !!!
ภาพที่ 5 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 56 ของโลก ในจำนวนโดสที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว ทั้งๆที่ประเทศไทยมีขนาด GDP เป็นอันดับ 22 ของโลก เพราะฉะนั้น จะมาอ้างว่า การฉีดน้อยเป็นเพราะเราจนกว่าประเทศอื่นไม่ได้ เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์และการบริหารงานล้วนๆ
(3) สำหรับการกดค่า R ให้ต่ำลง (หลังจากเคยทำสถิติ R สูงสุดในโลกอยู่ช่วงหนึ่ง) ด้วยมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ในปัจจุบัน ทำให้ค่า R ได้ลดลงมาตามลำดับ จนมาอยู่ที่ 1.15 (ภาพที่ 6) ดังนั้นจึงคำนวณได้ไม่ยากว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ยังคงอยู่ในระดับ 2,000-2,500 รายไปจนกว่าค่า R จะลดลงต่ำกว่า 1.0 (ภาพที่ 7)
หมายเหตุ อย่าลืมว่า ถ้ามีผู้ติดเชื้อในบัญชี 2,000 คน เราจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (80%) นอกบัญชีอีก 8,000 คน ดังนั้น การสวมแมสก์และรักษาระยะห่างยังจำเป็นอยู่
ภาพที่ 6 ค่าอัตราการแพร่เชื้อ (R) ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยมาตรการ Soft Lockdown ของรัฐบาล เนื่องจากเราอยู่ในสภาวะนี้ได้ชั่วคราวเท่านั้น ช่วงนี้ จึงเป็นช่วงต้องเร่งฉีดวัคซีนขนานกันไป
ภาพที่ 7 ถ้าค่า R ประเทศไทยอยู่ในช่วง 1.1-1.2 ไปเรื่อยๆ จำนวนผู้ติดเชื้อก็คงเพิ่มช้าๆ ในช่วง 2.000-2,500 รายในอาทิตย์หน้า อย่าลืมว่า ยังจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ (80%) อีก 8,000 รายอยู่นอกบัญชี การสรวมแมสก์เว้นระยะห่างจึงยังจำเป็น
(4) สำหรับการติดตามค่าของ KPI สองตัว ที่ผมเคยเสนอให้ใช้ ก่อนที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศ สามารถดูรายละเอียดได้จากตารางในภาพที่ 8
ภาพที่ 8 Milestones ของค่า KPI#1 และ KPI#2 สำหรับประเทศไทย
(5) ค่า KPI#1 คือ R เราสามารถกดลงมาอยู่ที่ 1.15 โดยการทำ Soft Lockdown (เป้าหมาย คือ ต่ำกว่า 1.0 นานอย่างน้อย 30 วัน) แต่วิธีการนี้เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ในระหว่างนี้ ควรเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ประชากรมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ
(6) ส่วน KPI#2 สัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนแล้ว แม้เขยิบมาที่ 0.60% ซึ่งแปลว่า ทุกๆประชากร 1,000 คน มีเพียง 6 คนที่ฉีดแล้ว (เป้าหมายคือ 50%) หากต้องการถึงเป้าหมายนี้ภายใน Q4 จะต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อยวันละ 300,000-400,000 โดส ซึ่งหลายประเทศที่มี GDP Capita ต่ำกว่า เช่น Morocco หรือขนาด GDP Capita พอๆกัน เช่น Mexico ล้วนทำได้ในอัตราระดับนี้
(7) ผมสังเกตว่า การจองฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อมวันนี้ กว่าจะได้ฉีดคืออย่างเร็ว วันที่ 7 มิถุนายน หลายคนถามด้วยความเสียดายเวลาว่า จากวันนี้ถึง 7 มิถุนายน ประมาณ 1 เดือน รัฐบาลไปฉีดวัคซีนให้กลุ่มใด ทำไมจำนวนโดสถึงเป็นแค่หลัก 3-4 หมื่นโดสเท่านั้น เป็นเพราะเราขาดแคลนวัคซีนหรือเปล่า?
* Ref 1: https://www.bloomberg.com/graphics/covid-vaccine-tracker-global-distribution/
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : Worsak Kanok-Nukulchai