"...ที่เล่าคือภาวะปัจจุบัน (ปี 2021) แต่ตอนนี้ไบเดนขึ้นมาเป็น ปธน เขามีแนวคิดที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้ประชาชน ถ้าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงเทียบเท่าประเทศอื่น สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่อยู่ง่ายขึ้นอีกหลายขุม..."
....................................
“ไม่ตายเพราะโรค แต่อาจตายเพราะจ่ายค่ารักษาโรค” สหายไอ้กันผู้หนึ่งกล่าวไว้
ประเทศสหรัฐอเมริกา (หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “เมกา”) มีทัศนคติในเรื่อง “กันไว้ดีกว่าแก้” เขาชอบป้องกันมากกว่าจะรอให้วัวหายแล้วค่อยมาแก้ไข เพราะการป้องกันมีต้นทุนต่ำกว่า แถมยังทำให้การใช้ชีวิตประจำวันราบรื่น. ลดความกังวล เป็นเหตุให้สุขภาพจิตโดยรวมดีขึ้น
ทัศนะกันไว้ดีกว่าแก้นี้ครอบคลุมมาถึงเรื่องการรักษาพยาบาล เมกามีระบบสนับสนุนให้คนมีแพทย์ประจำครอบครัวหรือหมอประจำตัว (Family doctor) ที่เป็นแพทย์ทั่วไป (General Practitioner) ให้ดูแลสุขภาพและความเสี่ยงโดยรวมของคนไข้ สั่งตรวจเลือด ดูผลเลือด ดูระดับความดัน ระดับน้ำตาล ค่า BMI รวมถึงการส่งไปตรวจหาโรคเสี่ยงเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ผู้ชายก็มะเร็งต่อมลูกหมาก
หมอประจำตัวทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลให้เรา ผลการตรวจทั้งหลายจะส่งตรงไปที่หมอ หมอดูผลแล้วทำตัวเป็นผู้ประสานงาน ถ้าเห็นสมควรส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทาง เขาก็จะส่งเรื่องไปที่แผนกแพทย์เฉพาะทางเพื่อนัดหมายให้เราพบแพทย์แผนกนั้นต่อไป
ถ้าเราป่วยจุกจิก ปวดหัวตัวร้อน ขั้นแรกเราต้องติดต่อหมอประจำตัวเราก่อน ถ้าเขารักษาได้ เขาก็สั่งยา รักษาไม่ได้ เขาก็ส่งต่อ (Referral) เขาทำตัวเหมือนพี่เลี้ยง คอยดูแลเราแบบเราไม่ต้องทำอะไรเองมากมาย แค่ไปให้ตรงนัด (คิดถึงตอนอยู่เมืองไทย เราต้องพยายามจำให้ได้ว่าตรวจสุขภาพประจำปีเมื่อไร ถึงกำหนดตรวจหรือยัง ผลเลือดเป็นยังไง ควรไปหาหมออะไรต่อ ฯลฯ)
หมอประจำตัวลดภาระเราในเรื่องว่าเมื่อไรเราต้องทำอะไรเกี่ยวกับสุขภาพของเรา ขอให้เริ่มต้นที่หมอประจำตัวให้ได้ หลังจากนั้นทุกอย่างจะเข้าระบบ การนัดหมอทุกประเภทถ้าไม่มีเรื่องฉุกเฉินเขาจะนัดล่วงหน้า พอตรวจครั้งแรกเสร็จ เขาจะนัดติดตามผลเป็นระยะๆ ข้อสำคัญขอให้ไปตามนัด เพราะถ้าตกรถไฟ กว่าจะนัดครั้งต่อไปได้ บางทีต้องรอ 6 เดือน ไอ้การอยู่ๆ นึกอยากหาหมอก็ไปหานั้น ไม่ใช่ระบบของที่นี่ (ยกเว้นจะมีเรื่องฉุกเฉิน)
ทีนี้มาถึงเรื่องการสั่งยา ระบบการสั่งยาที่นี่ต่างจากเมืองไทยมาก แม้ว่าโรงพยาบาลที่เมกาจะมีแผนกยาของตัวเอง แต่คนไม่ค่อยใช้บริการกัน เวลาหมอสั่งยา อย่างแรกที่เขาถามคือ เราต้องการไปรับยาที่ร้านยาสาขาไหน? ร้านขายยาใหญ่ๆ ที่นี่มีอยู่หลายร้าน (เช่น CVS Walgreen) แม้แต่ร้าน Groceries ใหญ่ๆ ก็มักมีร้านยาให้บริการอยู่ภายใน ดังนั้น ร้านยาในเมกาจึงมีอยู่ทุกหัวระแหง (แบบร้านเซเว่นบ้านเรายังไงยังงั้น) โรงพยาบาลเขาให้เราเลือกรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านเพื่อความสะดวก แทนที่จะต้องถ่อกลับมาที่โรงพยาบาล
เมื่อหมอสั่งยา คำสั่งจะส่ง on-line ไปที่ร้านขายยาที่เราเลือก ออกจากโรงพยาบาลเราก็แวะรับยากลับบ้าน (มีช่องรับยาแบบขับรถเข้าไปโดยไม่ต้องลงจากรถ) ที่ร้านยาจะมีเภสัชใส่ชุดขาวประจำหลายคนทำหน้าที่จัดยาตามใบสั่งแพทย์ เภสัชพวกนี้สามารถจัดยาหรือฉีดวัคซีนให้เราได้โดยเราไม่ต้องไปโรงพยาบาล (เช่น วัคซีนโควิด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แม้แต่วัคซีนกันโรคงูสวัดเราก็เคยไปฉีดมาแล้วที่ร้านยา)
การรับยาจากร้านยาใกล้บ้านทำให้เกิดความสะดวกในกรณีที่เราใช้ยาต่อเนื่องโดยไม่ต้องหาหมอ (อย่างเช่นยาต่อมลูกหมาก) ในกรณีนี้ หมอจะสั่งยาแบบให้เติมเป็นระยะๆ (Refill prescription) เช่น สามเดือนเติมที พอถึงเวลา ร้านยาจะจัดยาตามใบสั่ง แล้วโทรหรือส่งข้อความมาเตือนให้ไปรับยา บางครั้งเราอยากได้ยาก่อนกำหนด เราก็โทรหาพยาบาลให้รับเรื่องไปคุยกับหมอ ถ้าหมออนุมัติ พยาบาลสามารถส่งคำสั่งไปที่ร้านยาให้เราไปรับโดยไม่ต้องเสียเวลาไปหาหมอให้รกโรงพยาบาล
ทีนี้มาถึงเรื่องหมอฟัน... หมอฟันที่นี่เขาให้เรานัดทำความสะอาดฟันทุก 6 เดือน ตามปกติ บริษัทประกันจะจ่ายค่าทำความสะอาดฟันให้ทั้งหมดหรือให้เราจ่ายน้อยมาก (เขาเชื่อเรื่องการป้องกัน) แต่ถ้าเราปล่อยให้ฟันผุ บริษัทประกันจะจ่ายให้อย่างมากสุด 60% ส่วนใหญ่ก็ 50/50 แถมเขายังกำหนดเพดานไว้ (เช่น $1,000) ถ้าค่าทำฟันเกิดเพดาน ส่วนเกินเราก็ต้องจ่ายเอง
ที่เล่ามา คนไทยอาจเห็นว่าระบบการรักษาพยาบาลที่นี่ไม่สะดวก เพราะที่เมืองไทยอยากหาหมอเมื่อไรก็ไปหาได้ (จริงๆ ที่นี่ก็มีเหมือนกัน แต่จะไม่ได้หมอประจำที่รู้จักเราดี) แต่ระบบที่นี่ทำให้คนเมกันสุขภาพดี อายุยืน ระบบการกันไว้ดีกว่าแก้ทำให้บริษัทประกันยอมจ่ายค่าตรวจหาโรคให้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ถือเป็นแรงจูงใจให้คนไปตรวจหาโรคตรงเวลาและทำให้การตรวจพบโรคในระยะต้นๆ มีประสิทธิผล เพราะถ้าปล่อยให้ล่วงเลยจนโรคลามไปไกล ค่ารักษาพยาบาลจะสูงมากสำหรับบริษัทประกัน (และคนไข้) ทัศนคตินี้แตกต่างจากบริษัทประกันในเมืองไทย (ในอดีต เดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นไง) ที่ไม่จ่ายค่าตรวจหาโรค แต่จ่ายเมื่อเป็นโรคไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะย้ายถิ่นมาเมกาให้เตรียมค่าใช้จ่ายเรื่องประกันสุขภาพให้ดี เบี้ยประกันที่นี่แพงมาก (ขนาดว่ามีงานประจำที่นายจ้างช่วยจ่ายค่าประกันส่วนหนึ่ง เราก็ยังต้องจ่ายค่าเบี้ยหลายร้อยเหรียญต่อเดือน ถ้านายจ้างไม่ช่วยจ่าย ค่าเบี้ยตกประมาณเดือนละ 1-2 พันเหรียญต่อเดือน แถมค่าเบี้ยไม่ใช่อย่างเดียวที่เราต้องจ่าย ระบบการจ่ายประกันที่นี่ยุ่งยากซับซ้อน ขนาดเราเป็นอาจารย์บัญชียังอ่านไม่ค่อยจะเข้าใจ แต่มันทำให้เราต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมอีกเยอะ ไม่ใช่แต่ค่าเบี้ย
สรุปง่ายๆ ว่าเบ็ดเสร็จแล้ว ค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพที่นี่แพงมาก แต่เป็นความจำเป็นเพราะค่ารักษาพยาบาลยิ่งแพงสุดโหด (หาหมอ 1 ครั้ง ประมาณเกือบหมื่นบาท ไม่รวมค่าเจาะเลือดบางครั้งอีกหลายหมื่น) ถ้าไม่มีประกันและเกิดป่วยขึ้นมา เราอาจต้องเตรียมตัวเป็นบุคคลล้มละลาย กลายเป็นคนไร้บ้านทันที
ที่เล่าคือภาวะปัจจุบัน (ปี 2021) แต่ตอนนี้ไบเดนขึ้นมาเป็น ปธน เขามีแนวคิดที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้ประชาชน ถ้าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงเทียบเท่าประเทศอื่น สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่อยู่ง่ายขึ้นอีกหลายขุม
ที่มา : ดร. ภาพร เอกอรรถพร