"...ถ้ารัฐบาลไทยคิดว่า การเปิดประเทศเป็นเรื่องความเป็นความตายของต่อเศรษฐกิจของชาติ ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นยกเว้นทางเลือกที่ 2 เท่านั้น จึงอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม มา ”ลงแขก” เพื่อดำเนินการวาระแห่งชาตินี้ให้ลุล่วงไปภายใน 3 เดือน ..."
............................................
25 เม.ย. 2564
1. ในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมา หลายๆประเทศทั่วโลกที่เคยมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล และอีกหลายประเทศในยุโรป ต่างได้ระดมฉีดวัคซีนให้ประชากรโดยถือเป็นวาระเร่งด่วน (10 อันดับวัคซีนสูงสุดในตารางที่ 1 และ ภาพที่ 1) จนจำนวนผู้ติดเชิ้อรายวันและค่า R ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนที่สัดส่วนการฉีดวัคซีนยังต่ำมาก (ตารางที่ 2 และ ภาพที่ 2)
2. ประเทศไทยที่เคยได้รับคำชมว่าสามารถควบคุมการระบาดได้ดี กลับสงวนท่าทีไม่ได้รีบร้อนกับการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ประหนึ่งว่า มาตรการสรวมแมสก์และการเว้นระยะห่าง คือ คำตอบสุดท้ายของประเทศ
3. รัฐบาลน่าจะทราบว่า การเปิดประเทศโดยไม่มีความเสี่ยงต่อผู้เดินทาง เงื่อนไขหนึ่ง คือ อัตราการระบาดของโรคโควิด-19 วัดด้วยค่า R ไม่ควรสูงเกิน 1.0 และเชื่อว่าในอนาคต ก่อนที่ใครจะเดินทางไปประเทศไหน จะต้องตรวจสอบค่า R ของประเทศนั้นก่อน
4. สำหรับค่า R ปัจจุบันของไทย หลังจากได้ครองแชมป์โลกมา 13 วัน (4-16 เม.ย.) เมื่อข้อเท็จจริงถูกเปิดเผยขึ้น ทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนต้องยกการ์ดสูงขึ้น ค่า R จึงได้ลดลงจาก 2.27 ลงมาที่ 1.70 ในวันที่ 21 เม.ย. (ภาพที่ 3) อย่างไรก็ตาม คาดว่า ค่า R จะทะยานขึ้นอีก หลังจากมีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งเกินวันละ 2,000 รายมาสองวันแล้ว (หมายเหตุ ถ้ารวม 80 % ของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 รายแล้ว)
5. ปัจจุบัน มีทางเลือกสองทางที่รัฐบาลสามารถใช้ในการลดค่า R ให้ต่ำกว่า 1.0 ก่อนที่จะเปิดประเทศ กล่าวคือ (1) ใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยปิดสถานชุมนุมคน และบังคับให้ทุกคนสรวมแมสก์และเว้นระยะห่าง แล้วสวดมนตร์ขอให้โควิด-19 หายไปจากโลกก่อนเปิดประเทศ และ (2) มาตรการเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 50% ภายในสามเดือนเพื่อลดค่า R ให้ต่ำกว่า 1.0 แล้วจึงเปิดประเทศ โดยในสามเดือนนี้ อาจต้องเข้มงวดเรื่องการนำเชื้อเข้าจากนอกประเทศ
6. การฉีดวัคซีน นอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ฉีดแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ประเทศสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะนำสู่การเปิดประเทศที่ปลอดภัย ตามทฤษฎีคณิตศาสตร์จำลองของโรคระบาด ถ้าคิดค่าการแพร่เชื้อโดยธรรมชาติของโควิด-19 (R0) เท่ากับ 3.0 เงื่อนไขที่ประเทศจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ คือ ต้องมีสัดส่วนของผู้มีภูมิคุ้มกันเท่ากับ 66.67% (1-1/R0) ยกตัวอย่างกรณีอิสราเอล ผู้มีภูมิคุ้มกัน จะประกอบด้วยผู้ฉีดวัคซีนแล้ว (57.83%) และ ผู้ป่วยที่หายแล้ว (9.61%) รวมเป็น 67.44 % ดังนั้นโดยทฤษฎี จึงถือว่าประเทศอิสราเอลได้มีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วโดยประมาณ
ถ้ารัฐบาลไทยคิดว่า การเปิดประเทศเป็นเรื่องความเป็นความตายของต่อเศรษฐกิจของชาติ ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นยกเว้นทางเลือกที่ 2 เท่านั้น จึงอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม มา ”ลงแขก” เพื่อดำเนินการวาระแห่งชาตินี้ให้ลุล่วงไปภายใน 3 เดือน (โดยถือว่า 2 KPIs ของรัฐบาล คือ ค่าสัดส่วนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีน และ ค่า R) ถ้าทำได้เชื่อว่า ใน Q4 ประเทศไทยจะสามารถประกาศชัยชนะแบบประเทศอิสราเอลแน่นอน
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตผู้อำนวยการ
สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
25 เม.ย. 2564