"...กยศ. ระบุถึงสาเหตุของการผิดชำระหนี้ของประชาชนกว่า 2 ล้านคนว่าเกิดจาก ความยากจน การขาดวินัยทางการเงิน และ ทัศนคติที่ว่าหนี้ กยศ. ไม่จำเป็นที่จะต้องชำระคืน แต่อย่างไรก็ดี ถ้าไปสอบถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ คำตอบที่ได้รับอาจจะต่างกันชนิดที่เรียกว่าหนังคนละม้วน..."
....................................
ส่วนที่ 1 สาเหตุของปัญหาหนี้ กยศ.
1.สำหรับผู้ที่สนใจในปัญหาหนี้สิน หนี้ กยศ. ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากนับล้านคนแล้ว จำนวนหนี้เสีย (NPLs) ที่ 60-70% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก สูงกว่าอัตราสูงสุดของ NPLs ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ 47% จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุของการที่ประชาชนจำนวนมากที่กู้ กยศ. ไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้คืนได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ของ กยศ. มีประมาณ 3.6 ล้านราย พบว่าจำนวนประชาชนที่ผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า 2.3 ล้านราย
2. กยศ. ระบุถึงสาเหตุของการผิดชำระหนี้ของประชาชนกว่า 2 ล้านคนว่าเกิดจาก ความยากจน การขาดวินัยทางการเงิน และ ทัศนคติที่ว่าหนี้ กยศ. ไม่จำเป็นที่จะต้องชำระคืน แต่อย่างไรก็ดี ถ้าไปสอบถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ คำตอบที่ได้รับอาจจะต่างกันชนิดที่เรียกว่าหนังคนละม้วน
3. ในการชำระหนี้คืน กยศ. กำหนดให้ผู้กู้จ่ายชำระคืนหนี้เป็น “รายปี” (yearly installment) ภายในวันที่ 5 ก.ค. ของทุกปี โดยจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ต้องเริ่มจ่ายชำระคืนเป็นรายปี ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบ กยศ. จะให้ระยะเวลาปลอดการชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อต้องเริ่มจ่ายหนี้คืน กยศ. กำหนดค่างวดที่ต้องชำระในปีแรกเพียง 1.5% ของเงินที่กู้ยืม แต่จะทยอยปรับขึ้น (progressive) อย่างต่อเนื่องจนปีสุดท้ายจะต้องชำระคืน 13% ของเงินที่กู้ยืมไปทั้งหมด
4. แม้จะมีประชาชนมากู้เงินจาก กยศ. มากกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ กยศ. มีรูปแบบการชำระคืนหนี้เพียงรูปแบบเดียวตามที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งการกำหนดให้ต้องชำระหนี้คืนเป็นรายปีแม้จะง่ายสำหรับ กยศ. ในการบริหารจัดการ แต่สำหรับประชาชนที่กู้ซึ่งส่วนใหญ่ฐานะครอบครัวไม่ค่อยดีและเงินเก็บไม่ค่อยมี ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะการที่จะสามารถผ่อนชำระหนี้รายปีได้ จะต้องมีการเก็บหอมรอมริบเป็นอย่างดีทุกเดือนไม่ให้ขาด ความท้าทายชัดเจนขึ้นในช่วงปีที่ 6-7 เป็นต้นไป ที่เริ่มจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นตามลำดับ ตามค่างวดรายปีที่ต้องจ่ายสูงขึ้นทุกปี จากตัวอย่างการกู้เงิน 1 แสนบาท ในปีที่ 6 จะต้องใช้คืนมากกว่า 5 พันบาท
5. นอกจากนี้ อีกสองปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ คือ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดไว้ในอัตราที่สูงถึง 1.5% ต่อเดือนหรือ 18% ต่อปีและ การกำหนดลำดับการตัดชำระที่เมื่อผู้กู้ชำระหนี้เข้ามาจะนำไปตัดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมก่อนที่จะไปตัดเงินต้น กล่าวคือ เมื่อผู้กู้เกิดผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยที่เดิมเคยชำระอยู่ที่เพียง 1% ต่อปีจะปรับสูงขึ้นเป็น 18% ต่อปี ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สูงลิ่ว ประกอบกับลำดับการตัดชำระหนี้ที่ผู้กู้ชำระหนี้เข้ามาจะนำไปตัดค่าธรรมเนียมตามด้วยดอกเบี้ยทั้งส่วนที่เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก่อน ถึงจะตัดถึงส่วนของเงินต้น
6. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไว้อย่างสูงลิ่ว และการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้เช่นนี้ ทำให้แม้ผู้กู้ กยศ. จะมีความพยายามจ่ายหนี้เข้ามา แต่ถ้าไม่เพียงพอที่จะตัดถึงส่วนของเงินต้นตามที่กำหนด ก็จะยังถือว่าผิดนัดชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง จนผู้กู้จำนวนไม่น้อยเกิดความท้อแท้และหยุดจ่ายหนี้ในที่สุด ดังตัวอย่างเคสที่แสดงในรูปเป็นหนี้รวม 705,914 บาทแบ่งเป็นส่วนเงินต้น 322,635 บาท ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ 356,531 บาท ในกรณีนี้ผู้กู้จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดก่อน เงินที่ชำระหนี้ถึงจะสามารถนำไปตัดเงินต้นได้ ซึ่งยากมากที่ผู้กู้จะหาเงินก้อนมาจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดได้ เมื่อจ่ายเท่าไร เงินต้นไม่ลดลง และยังผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง จึงเลิกจ่ายหนี้ในที่สุด ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่ารูปแบบของการผ่อนชำระหนี้ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งลำดับการตัดชำระหนี้ที่ทาง กยศ. กำหนดก็มีส่วนเช่นกันที่ทำให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ได้
7. ปัจจุบัน กยศ. ตระหนักถึงผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ถูกกำหนดไว้อย่างสูงลิ่ว ซึ่งแทนที่จะเป็นกลไกสร้างวินัยกลับเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้กู้จ่ายหนี้ไม่ได้และผิดนัดชำระหนี้ กยศ. จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลงเหลือ 7.5% ต่อปี รวมทั้งในช่วงวิกฤตโควิด กยศ. ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้ โดยมีข้อเสนอลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้ถึง 100% แต่ปัญหาในทางปฏิบัติของมาตรการนี้ คือ การจะได้ลดดอกเบี้ยผิดนัด ผู้กู้จะต้องนำเงินมาชำระหนี้ทั้งก้อนเพื่อปิดบัญชี ซึ่งผู้กู้ส่วนใหญ่ซึ่งฐานะไม่ดีไม่มีเงินออม จึงไม่สามารถหาเงินก้อนมาปิดบัญชีได้ และทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้
8. ปัญหาสำคัญอีกเรื่อง คือ กลุ่มลูกหนี้กว่า 1.2 ล้านรายที่มีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ระหว่างการบังคับคดี กยศ. เห็นว่าเมื่อคดีถึงที่สุดและศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว กยศ. ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ หรือไม่สามารถไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้ (กยศ. กลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าทำให้รัฐเสียหาย) ซึ่งปกติเมื่อคดีดำเนินมาถึงจุดนี้ ยอดหนี้รวมจะปรับเพิ่มขึ้นจากเงินต้นเดิมประมาณ 3-4 เท่า ส่วนสำคัญมาจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อไม่สามารถที่จะลดภาระที่เกิดจากดอกเบี้ยผิดนัดที่มีจำนวนสูงมากได้ ลูกหนี้ก็ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้และไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ ทำให้ปัญหากลุ่มนี้เผชิญทางตัน และส่งผลให้ กยศ. ต้องไปไล่เบี้ยกับผู้ค้ำประกัน
แต่อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตคือ มีกรณีที่ กยศ. ยอมให้ปิดจบโดยจะปรับลดดอกเบี้ยที่ค้างให้ (น้อยกว่าที่ศาลพิพากษา) ในกรณีที่มีการจ่ายชำระหนี้เพื่อปิดบัญชีในคราวเดียว ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ยอมรับยอดหนี้ที่ต่ำกว่าศาลพิพากษาไม่ได้ แต่อยู่ที่ กยศ. เน้นการชำระหนี้ปิดบัญชีให้จบในคราวเดียวจึงทำให้ผู้กู้ส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วการไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ปัญหาหนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนแม้แต่ในขั้นตอนของการบังคับคดีแล้ว โดยสิ่งที่ กยศ. ควรจะมุ่งให้ได้รับชำระคืนคือส่วนของเงินต้น ไม่ใช่ส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
9. สุดท้าย ปัญหาสำคัญอีกเรื่องที่ทำให้จ่ายชำระหนี้ไม่ได้ คือ เมื่อผู้กู้จบการศึกษาแล้วปรากฏว่าไม่มีงานทำ ปัญหาการไม่สามารถชำระหนี้ของผู้กู้จะเห็นชัดเจนในกลุ่มที่เมื่อจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ หรือได้งานทำไม่ตรงสาขา หรือ กรณีที่แม้จะมีงานทำ เงินเดือนที่ได้ไม่ได้ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้กู้ กยศ. เรียนปริญญา เรื่องนี้เป็นปัญหาในภาพใหญ่ของระบบการศึกษาไทยที่ผู้กู้ยังมีค่านิยมว่าต้องมีปริญญา กอปรกับคนไทยยังขาดข้อมูลที่บอกว่าเรียนที่ไหนจะได้งานทำ เรียนที่ไหนมีโอกาสที่จะหางานได้น้อย ผู้กู้จำนวนไม่น้อยเห็นว่า ถ้ามีโอกาสเลือกใหม่ได้ ถ้ารู้ว่าเรียนแล้วตกงาน เค้าจะไม่กู้ กยศ. เพื่อเรียน
ส่วนที่ 2 แนวทางในการแก้ปัญหา
เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีทิศทางที่ชัดเจนจำเป็นต้องกำหนดหลักการสำคัญที่ต้องคำนึงถึง (guiding principles) สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ของ กยศ. ซึ่งมีอย่างน้อย 4 ข้อดังต่อไปนี้
1. กยศ.ต้องได้รับชำระเงินต้นคืนอย่างครบถ้วน เพื่อส่งต่อให้เด็กรุ่นต่อไปให้สามารถกู้ไปใช้ในการศึกษาต่อ
2. การออกแบบแผนการชำระหนี้คืนของ กยศ. จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ โดยจะต้องเป็นแผนการชำระหนี้ที่ผ่อนปรนและอยู่ในวิสัยที่ปฏิบัติได้จริง กล่าวคือ มีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่ยาวเพียงพอ
3. ประชาชนที่เป็นผู้กู้แต่ละรายที่มีพื้นฐาน ลักษณะต่างๆ ที่แตกต่างกันต้องสามารถที่จะเลือกแผนการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง (กยศ. ไม่สามารถมีแผนชำระหนี้แบบเดียวดังเช่นปัจจุบัน ไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวให้คนใส่ทั้งประเทศ)
4. มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างกลไกที่จะส่งเสริมให้ผู้กู้มีวินัยและเอื้อให้ผู้กู้มีการผ่อนชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในกรณีที่ผู้กู้มีศักยภาพ ผู้กู้ต้องสามารถชำระปิดจบหนี้ได้เร็วกว่าแผนชำระหนี้ปกติ
ทั้งนี้ เรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการในระยะต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของ กยศ.สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 การปรับปรุงแนวทางการผ่อนชำระหนี้ของ กยศ. และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้ผู้กู้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่ออนาคตสำหรับผู้กู้รุ่นใหม่ และ ผู้กู้กลุ่มที่ยังผ่อนชำระดีเป็นปกติให้ไม่ต้องเผชิญปัญหาดังเช่นที่ผ่านมา
1. การปรับปรุงแนวการผ่อนชำระหนี้ของ กยศ. โดยยึดความสามารถและความต้องการของผู้กู้เป็นที่ตั้ง และต้องมีแผนการผ่อนชำระหนี้ที่หลากหลายเพียงพอสำหรับผู้กู้กลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน โดยเรื่องที่สำคัญมีดังนี้
1.1 ปรับปรุงงวดการชำระหนี้ที่เดิมกำหนดไว้เป็นรายปี มากำหนดให้ลูกหนี้ชำระค่างวดเป็นรายเดือน ซึ่งจะช่วยให้
ค่างวดที่ต้องจ่ายไม่สูงและทำให้การผิดนัดชำระหนี้ยากขึ้น (ดูตัวอย่างแขกที่เก็บหนี้ทุกวัน)
1.2 ปรับเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้ยาวขึ้นตามความสามารถของผู้กู้ เดิมกำหนดไว้เพียง 15 ปี โดยอาจให้ยาวได้ถึง 25-30 ปีสำหรับผู้กู้ที่มีภาระหนี้สูงและผู้กู้ที่อาจจะมีปัญหาการผ่อนชำระ เช่น ตกงาน หรือมีเหตุสุดวิสัย
1.3 ผู้กู้ควรที่จะสามารถกำหนดจำนวนการผ่อนชำระคืนที่เหมาะสมกับรายได้ในแต่ละช่วงเวลา (Debtor’s Choices)
2.การสร้างกลไกจูงใจให้ลูกหนี้ดี มีวินัยจ่ายหนี้ต่อเนื่อง ขณะรายที่มีกำลัง ปิดจบเร็วขึ้นตามศักยภาพ
2.1 สร้างกลไกจูงใจให้ผู้กู้มีวินัยและจ่ายชำระหนี้สม่ำเสมอต่อเนื่อง เช่น การให้ Cash back คืนทุก 6 เดือน และ
จูงใจผู้กู้ที่มีศักยภาพให้ปิดจบโปะหนี้เร็วกว่าแผนเดิม ด้วยการให้ส่วนลดพิเศษ
2.2 สนับสนุนให้ลูกหนี้มีการทำ standing order คำสั่งจ่ายหนี้ที่จะตัดจากบัญชีเงินฝากเป็นประจำทุกเดือน โดย กยศ. อาจจะให้รางวัลจูงใจ เป็นมาตรการเพิ่มเติมสำหรับรายที่ตัดเงินเดือนไม่ได้
2.3 จัดให้มีระบบการ Alert ที่ใช้เตือน due date และกระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
3. แก้ไขกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดโอกาสเกิดการผิดนัดชำระหนี้โดยไม่สมควร
3.1 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลงเหลือ 2% (1+1%) จากปัจจุบันที่ 7.5% ต่อปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กยศ.คิดดอกเบี้ยที่อัตราเพียง 1% ต่อปี สะท้อนเจตนารมณ์ที่ต้องการให้นักเรียนผู้กู้สามารถที่จะจ่ายคืนเงินต้นได้โดยมีดอกเบี้ยเพิ่มเติมไม่มาก ดังนั้น ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่คิดตามปกติที่ต่ำมาก รวมทั้ง กยศ. ไม่ควรจะหวังกำไรหรือรายได้จากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าการกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในอัตราที่สูงเกินสัดส่วนที่ควรจะเป็น นอกจากจะไม่ช่วยให้ผู้ป่วยมีวินัยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็น
การเพิ่มภาระให้ผู้กู้ที่สุจริต ทำให้การใช้หนี้จนเป็นปกติยากขึ้นมากด้วย
3.2 การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ จากเดิมที่เมื่อผู้กู้ชำระหนี้เข้ามาจะกำหนดลำดับ ให้นำไปจ่ายค่าธรรมเนียม (fee) ดอกเบี้ย (interest) เงินต้น (principle) เป็น FEE PRIN INT (ค่าธรรมเนียม เงินต้น ดอกเบี้ย) โดยให้เม็ดเงินที่ผู้กู้ผ่อนชำระเข้ามาตัดในส่วนของเงินต้นของดอกเบี้ย เพื่อให้สะท้อนเจตนารมณ์ของ กยศ. ที่จะให้เด็กสามารถที่จะชำระหนี้ได้ การปรับลำดับการตัดชำระหนี้เช่นนี้จะทำให้การผิดนัดชำระหนี้เกิดยากขึ้น การจ่ายหนี้หมดเร็วขึ้น ทำให้ผู้กู้มีกำลังใจในการจ่ายหนี้ (แนวนี้ใช้ในประเทศเยอรมนี) การปรับให้ลำดับการตัดชำระตัดในส่วนของเงินต้นก่อนดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ กยศ. ได้รับการชำระหนี้กลับเข้ามาสูงขึ้น
กลุ่มที่ 2 การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่มที่เสียและมีคำพิพากษาแล้ว
แผนการแก้ไขในส่วนนี้มีความสำคัญมาก เพราะมีลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 2 ล้านคน และมีผู้ค้ำประกันอีกกว่า 2 ล้านคน ซึ่งอาจจะต้องมาร่วมรับผิดชอบในหนี้ส่วนนี้ ทั้งนี้แม้หนี้บางส่วนจะมีคำพิพากษาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า กยศ. จะพิจารณาปรับลดผ่อนปรนหรือไกล่เกลี่ยไม่ได้ หลักสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า กยศ. มุ่งที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงินต้นคืนได้ เพื่อให้เด็กรุ่นต่อไปได้ใช้ทรัพยากรส่วนนี้ในการศึกษาต่อ ในส่วนนี้รัฐบาลอาจจะต้องกำหนดเป็นนโยบาย (policy direction) ให้ทาง กยศ. นำไปปฏิบัติ เนื่องจากคณะกรรมการของ กยศ. ประกอบด้วยข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ (3 ปลัดกระทรวง 5 อธิบดี) อาจจะกังวลเกี่ยวกับการปรับลดหนี้ที่ต่างจากคำพิพากษาของศาลว่าอาจจะทำให้เกิดการรับผิดที่อาจทำให้มองว่ามีส่วนทำให้รัฐเสียหาย
1. หนึ่งในแนวทางปรับปรุงคือ การนำอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้ที่กำหนดใหม่มาใช้ย้อนหลังไปตั้งแต่ที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ทำการคำนวณใหม่ (recalculation) สำหรับแต่ผู้กู้แต่ละราย โดยที่ผ่านมาได้จ่ายชำระหนี้เข้ามาเท่าไร ก็ให้นำไปตัดชำระในส่วนของเงินต้นก่อน ให้สอดคล้องกับลำดับการตัดชำระที่ได้ปรับปรุงใหม่ สำหรับดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่แขวนไว้ให้ย้อนไปใช้อัตราใหม่ที่ 2% ตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ กล่าวสั้นๆ คือ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดลงเหลือเพียง 2 % และกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่เป็น FEE PRIN INT ให้ตัดเงินต้น ก่อนดอกเบี้ย โดยให้นำเกณฑ์ที่กำหนดใหม่นี้ไป apply ใช้ย้อนหลังตั้งแต่เริ่มผิดนัดชำระหนี้
2. การยกระดับและปรับปรุงรูปแบบการไกล่เกลี่ยของ กยศ. ถ้าพิจารณาจากข้อมูลของการไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ปัญหาหนี้ของ กยศ. ที่ผ่านมาพบว่า รูปแบบการไกล่เกลี่ยแบบเดิมไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้มีแผนการผ่อนชำระหนี้ที่ยาวเพียงพอ
หลังจากที่ไกล่เกลี่ยแล้วปรากฏว่าผู้กู้กลับมาผิดนัดชำระหนี้ (default) เกือบ 85% สะท้อนว่าการกำหนดแผนการผ่อนชำระที่คำนึงถึงความสามารถของผู้กู้และมีรูปแบบที่หลากหลายเพียงพอเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ถ้าต้องการที่จะเห็นผู้กู้สามารถที่จะผ่อนชำระหนี้ได้จนสิ้นสุดสัญญา โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องที่ กยศ. ควรขับเคลื่อนให้มีความสำเร็จมากขึ้น
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กยศ. ถือเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีมากที่สุด หลายปีที่ผ่านมาคดีหนี้ กยศ. ติดอันดับคดีผู้บริโภคที่มีการฟ้องร้องสูงที่สุดห้าอันดับแรก มองไปข้างหน้า การดำเนินการฟ้องร้องของ กยศ. ควรจะคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้กู้ให้มากขึ้น ทั้งในมิติการหางาน เพราะสำหรับประชาชนเดินดินคนธรรมดา การถูกดำเนินคดีนั้น นัยที่เกิดขึ้นมีผลกว้างไกลมาก กยศ. ต้องไม่สร้าง scar ให้กับผู้กู้โดยไม่จำเป็น และมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ลืมว่า ผู้กู้นั้นมาหา กยศ.ด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยมว่า กยศ. จะให้โอกาส ให้อนาคตที่ดีขึ้น ซึ่ง “การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง” ทางสำนักงานศาลยุติธรรมยินดีที่จะเข้ามาเป็นคนกลางสนับสนุนการดำเนินการของ กยศ. ในส่วนนี้ เพื่อลดจำนวนคดืที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล รวมทั้งลดผลกระทบของผู้เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การไกล่เกอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญมากคือ “การไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี” ที่จำเป็นต้องเร่งไกล่เกลี่ยให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วพร้อมกันในวงกว้าง ซึ่งถ้าสามารถไกล่เกลี่ยตกลงปรับโครงสร้างหนี้กับผู้กู้ได้ ก็จะเป็นการปลดล็อคปัญหาสำหรับผู้ค้ำประกันไปด้วย ซึ่งการไกล่เกลี่ยในส่วนนี้ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม พร้อมให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน (ข้อมูลรูปแบบมหกรรมไกล่เกลี่ยออนไลน์ที่ ธปท. ทำร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (bot.or.th)
กลุ่มที่ 3 ยกระดับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ค้ำประกันให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ผู้ค้ำประกันถือเป็นคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ กยศ. ข่าวที่เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับผู้ค้ำถูกยึดบ้านก็จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ในส่วนของผู้ค้ำประกันรายเดิม จำเป็นต้องปรับปรุงและกำหนดแนวนโยบายผู้ค้ำประกันให้ผ่อนปรนและเป็นธรรมขึ้น
1. สนับสนุนให้ผู้กู้สามารถปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้ (ผู้ค้ำก็จะหลุดโดยปริยายไม่ถูกไล่เบี้ย)
2. กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำให้มีอยู่เฉพาะส่วนของเงินต้น
- สิ่งที่ลูกหนี้ได้จ่ายชำระหนี้เข้ามาไม่ว่าจะถูกนำไปตัดเงินต้นหรือดอกเบี้ยให้นำไปลดยอดเงินต้นที่ผู้ค้ำประกันต้องชดใช้
3. ปรับปรุงลำดับของการไล่เบี้ยใหม่ให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยจะสามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบได้เมื่อ
- มีการฟ้องผู้กู้ให้เสร็จสิ้นแล้ว (ฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันพร้อมกันไม่ได้) มีการสืบทรัพย์ลูกหนี้
สำหรับผู้ค้ำประกันรายใหม่ กยศ. อาจจะทบทวนดังนี้
1. ทบทวนว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องกำหนดให้การมีผู้ค้ำประกันเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติสำหรับการกู้ยืมของ กยศ.
2. ให้บิดา-มารดาหรือครูมีสิทธิที่เลือกว่าจะยอมเป็นผู้ค้ำประกันหรือไม่
กลุ่มที่ 4 การเพิ่มข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้กู้
ปัญหาที่ผู้กู้หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วตกงานหรือไม่มีงานทำ หรือ จบการศึกษาแล้วรายได้ไม่ได้สูงขึ้น ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยที่ปัจจุบันประชาชนไม่มีข้อมูลเพียงพอประกอบการตัดสินใจ (informed decision) ว่าจะเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษาดีหรือไม่ ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะขับเคลื่อนให้สถานศึกษาและมหาวิทยาลัยเปิดเผยสถิติผลสำเร็จของผู้ที่เข้าศึกษาเรียนต่อว่าได้งานตามวิชาหรือคณะที่เรียนหรือไม่ แต่ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะสถาบันการศึกษาไม่ต้องการที่จะเปิดเผยข้อมูลที่อาจจะทำให้คนไม่เลือกที่จะเรียนต่อที่สถาบันของตน อย่างไรก็ดี กยศ. ในฐานะเป็นผู้ที่ supply funding รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ควรจะใช้สถานะและภารกิจที่มีขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น อาจจะกำหนดว่า กยศ. จะสนับเฉพาะคณะที่เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ
นอกจากนี้ปัจจุบัน กยศ. มีประชาชนที่มาขอกู้กว่า 5 ล้านคน ผู้กู้เหล่านี้จะเต็มใจที่จะตอบคำถาม หรือ review ถ้ารู้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อรุ่นน้องในอนาคตในการเลือกคณะที่เรียน เช่น ถ้าตัดสินใจได้ใหม่ตนจะเรียนคณะนี้หรือไม่ ถ้ามีโอกาสจะแนะนำรุ่นน้องมาเรียนหรือไม่ หรือเรียนแล้วได้งานทำที่ตรงสาขาหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็น strategic information และเป็นหนึ่งใน game changer ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาของไทย
บทส่งท้าย การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. ต้องเริ่มจากกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก
เมื่อพูดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ไม่ว่าจะหนี้อะไร คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ปัญหาหนี้สินนั้นเกิดจากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ได้เคยตกลงกับเจ้าหนี้ และมักจะด่วนสรุปว่าลูกหนี้นั้นแหละคือต้นตอของปัญหา โดยอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าการที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยทำสัญญากันไว้นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวอาจจะไม่เป็นธรรม หรือเป็นข้อตกลงที่เจ้าหนี้เป็นผู้กำหนดขึ้นมาแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงในลักษณะที่เอาเปรียบ หรือข้อตกลงในลักษณะที่ไม่มีทางที่ลูกหนี้จะปฏิบัติได้ แต่ลูกหนี้ต้องยอมรับในข้อสัญญาดังกล่าวเพราะไม่มีทางเลือก
นอกจากนี้ การอนุมานว่าปัจจัยความบกพร่องของผู้กู้ เช่น ความไม่มีวินัย การใช้จ่ายเกินตัว ความทัศนคติที่คิดว่าหนี้ กยศ. ไม่ต้องจ่ายคืน เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. จะเน้นที่การปรับปรุงที่ตัวผู้กู้เป็นหลักให้มีอุปนิสัยที่พึงประสงค์ แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ปัญหาหนี้ กยศ. ก็ยังสร้างความกังวลใจแก่ผู้ที่ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังที่มักจะได้ยินข่าวปัญหาหนี้ กยศ. ถี่ขึ้น การแก้ปัญหาที่ผ่านมาจึงเหมือนว่าไม่ว่าจะแก้อย่างไรก็ไม่หายสักที เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน
ถ้าเราเริ่มกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตำแหน่ง ก็จะทำให้ตำแหน่งของกระดุมเม็ดต่อๆ ไปติดผิดไปด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเริ่มตั้งโจทย์จากการมองว่า ต้นตอของปัญหามาจากปัจจัยฝั่งของผู้กู้แต่เพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้พลาดโอกาสที่จะมองเห็น “ความเป็นไปได้ในมุมอื่น” ซึ่งแท้ที่จริงอาจเป็นปัจจัยรากฐานที่สร้างปัญหา เช่น การกำหนดรูปแบบการชำระหนี้ที่กำหนดให้จ่ายค่างวดเป็นรายปีที่มีการปรับอัตราที่จ่ายขึ้นทุกปีไม่ได้สนับสนุนให้ผู้กู้สามารถชำระหนี้ได้ตามที่ตกลงกัน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงลิ่วซึ่งแทนจะช่วยให้ผู้กู้มีวินัยกลับกลายเป็นสร้างอุปสรรคทำให้ชำระหนี้ไม่ได้ รวมทั้งการกำหนดลำดับตัดชำระหนี้ที่ไม่ได้จูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ขจร ธนะแพสย์
ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย