"...การต่อต้านคอร์รัปชันจำเป็นต้องมีกฎหมายที่เข้มแข็ง แต่ปัจจัยลบที่ยังดำรงอยู่ในระบบราชการ องค์กรของรัฐยังคงขยายบทบาทและอำนาจต่อเนื่อง เงื่อนไขการเมืองก็ไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีนัก ระบบ “อภิสิทธิ์ชน – อุปถัมภ์พวกพ้อง - อำนาจนิยม” ยังฝังตัวในสังคมอย่างเหนียวแน่น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับการบังคับใช้กฎหมายไม่เที่ยงธรรมบ่อยครั้ง..."
กฎหมายเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน
ประเทศไทยมีกฎหมายมากกว่า 15 ฉบับที่ใช้ในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน แต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการและควบคุมคอร์รัปชันที่ต่างรูปแบบกัน ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้อำนาจและดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ การออกใบอนุญาตอนุมัติ การบริหารงานบุคคล และป้องกันผล
ประโยชน์ทับซ้อน ในที่นี้ได้จัดเป็น 5 กลุ่มเพื่อความสะดวกในการศึกษาทำความเข้าใจ ดังนี้
1. บริหารจัดการการจัดซื้อจัดจ้างและการลงทุน 3 ฉบับ
ก. พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2562
ข. พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
ค. พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.พีพีพี)
2. บริหารจัดการเกี่ยวกับพฤติกรรม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ 4 ฉบับ
ก. พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ข. พ.ร.ฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
ค. พ.ร.บ. มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562
ง. พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
3. กฎหมายที่กำหนดฐานความผิด มาตรการ และจัดตั้งหน่วยงาน 5 ฉบับ
ก. ประมวลกฎหมายอาญา
ข. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ค. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561
ง. พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พ.ศ. 2559
จ. พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
4. กฎหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยให้เกิดคอร์รัปชัน 2 ฉบับ
ก. พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
ข. พ.ร.ก. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายพ.ศ. 2558
5. กฎหมายสำคัญที่ยัง “ไม่มี” หรือ “มี” แต่อยู่ระหว่างการแก้ไข
ก. พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะฯ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นความโปร่งใส โดยสร้างหลักประกันว่า ประชาชนต้องได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญฯกำหนด รัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลและจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้สะดวก รวดเร็ว
น่าเสียดายว่า กฎหมายนี้มีใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ได้ถูกบิดเบือนเจตนารมย์ในการใช้และตีความโดยหน่วยงานของรัฐและนักการเมืองมาโดยตลอด และในการแก้ไขกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติขณะนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะจะถูกทำให้เลวร้ายลงกว่าเดิม
ข. พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม (ผลประโยชน์ทับซ้อน) กฎหมายนี้ถูกขัดขวางในขั้นตอนนิติบัญญัติเมื่อปี พ.ศ. 2552 และ 2562 โดยกลุ่มข้าราชการและนักการเมืองที่เสียประโยชน์
ค. กฎหมายส่งเสริมสนับสนุนประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63
ปัจจุบันเรื่องนี้ถูกลดความสำคัญโดยนำไปเขียนไว้สั้นๆ ใน กฎหมาย ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.
ง. กฎหมายตามแผนปฏิรูปประเทศ เช่น กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) และกฎหมายลูกที่ต้องจัดทำ เช่น ป.ป.ช. ต้องเสนอ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เป็นต้น
ปัจจุบันการพิจารณาว่า ควรเพิ่มหรือแก้ไขกฎหมายฉบับใดอีกหรือไม่ มักอ้างอิงกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยุทธศาสตร์ชาติฯ แผนปฏิรูปประเทศฯ และอนุสัญญา UNCAC 2003 เป็นหลัก มีบ้างที่ต้องการแก้ไขเนื่องจากพบปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย
กล่าวโดยสรุป การต่อต้านคอร์รัปชันจำเป็นต้องมีกฎหมายที่เข้มแข็ง แต่ปัจจัยลบที่ยังดำรงอยู่ในระบบราชการ องค์กรของรัฐยังคงขยายบทบาทและอำนาจต่อเนื่อง เงื่อนไขการเมืองก็ไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีนัก ระบบ “อภิสิทธิ์ชน – อุปถัมภ์พวกพ้อง - อำนาจนิยม” ยังฝังตัวในสังคมอย่างเหนียวแน่น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับการบังคับใช้กฎหมายไม่เที่ยงธรรมบ่อยครั้ง
การที่เรามีกฎหมายอยู่มากแต่ควบคุมคอร์รัปชันได้ไม่ดี แถมบางครั้งยังกลายเป็นภาระให้เกิดการทุจริตเสียเอง สิ่งที่เห็นคืออำนาจรัฐและทรัพยากรของรัฐยังถูกใช้อย่างบิดเบือนภายใต้อำนาจและดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทางที่ดีจึงควรยึดแนวทางใหม่ว่า
“ต่อให้กฎหมายมีมากเท่าไหร่ก็เอาชนะคนโกงไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและยอมรับการตรวจสอบโดยภาคประชาชนเท่านั้นจึงจะเอาชนะคอร์รัปชันได้”
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
9/4/2564