"...การที่กองทัพบกปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาดใหญ่นั้น อยากทราบว่า กระทบต่อความมั่นคงของประเทศตรงไหนหรือกระทบต่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจในกองทัพบกที่ไม่อยากให้สาธารณชนรับรู้ ‘ความลับดำมืด?’ ในการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าหลายพันล้านบาทจากผู้ประกอบการเจ้าเดียวเป็นเวลานานหลายปี..."
..........................................
ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสหน่วยงานของรัฐ หรือ ITA ประจำปี 2563 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ปรากฏว่า กองทัพบก อยู่ในอันดับต้นๆคะแนนสูงถึง 93.88 ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กองทัพบกได้รับคะแนนสูงคือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
แต่คะแนนที่ได้รับเป็นเพียงภาพลวงตา? สวนทางกับการปฏิบัติจริง
มีตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ทำหนังสือถึง พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาดใหญ่ ของกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ในปีงบประมาณ 2558 ,2561-2563 รวม 7 ครั้ง รวม 429 คัน เป็นเงินประมาณ 2,250 ล้านบาท ดังต่อไปนี้
1. สัญญาจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ปรับอากาศ ของ กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) จำนวน 7 สัญญา ได้แก่
1.1 เอกสารสัญญาจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ปรับอากาศ แบบที่ 6 จำนวน 165 คัน ตามสัญญาเลขที่ 22/2558
1.2. เอกสารสัญญาจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ปรับอากาศ แบบที่ 4 จำนวน 20 คัน ตามสัญญาเลขที่ 29/2561
1.3. เอกสารสัญญาจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ปรับอากาศ แบบที่ 6 จำนวน 60 คัน ตามสัญญาเลขที่ 60/2561
1.4. เอกสารสัญญาจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ปรับอากาศ แบบที่ 7 จำนวน 52 คัน ตามสัญญาเลขที่ 39/2562
1.5. เอกสารสัญญาจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ปรับอากาศ แบบที่ 7 จำนวน 20 คัน ตามสัญญาเลขที่ 51/2562
1.6. เอกสารสัญญาจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ปรับอากาศ แบบที่ 7 จำนวน 12 คัน ตามสัญญาเลขที่ 35/2563
1.7. เอกสารสัญญาจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ปรับอากาศ แบบที่ 7 จำนวน 100 คัน ตามสัญญาเลขที่ 39/2563
2. ข้อมูลคุณลักษณะเฉพาะ (สเปค) ในการจัดหารถยนต์โดยสารปรับอากาศทุกสัญญาข้างต้น
3. ข้อมูลการจ่ายเงิน, ข้อมูลการจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัทคู่สัญญา ,หลักฐานการเบิกจ่ายเงิน, ใบโอนเงิน ทุกสัญญา
4. ข้อมูลการรับมอบรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ตามสัญญา (กรณีสัญญาที่ส่งงานแล้ว)
5. ข้อมูลการแจกจ่ายรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ให้แก่หน่วยของกองทัพบกว่าแจกจ่ายให้แก่หน่วยใดบ้างและจำนวนเท่าไหร่ (ดูหนังสือประกอบ)
หลังจากใช้เวลาในการพิจารณานาน 3 เดือน พล.ต.อานุภาพ ศิริมณฑล เลขานุการกองทัพบกได้ทำหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2564 ตอบปฏิเสธการให้ข้อมูลข่าวดังกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ตามที่ผู้สื่อข่าวขอให้กองทัพบกเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศ จํานวน 5 รายการ โดยใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 นั้น
สํานักงานเลขานุการกองทัพบก ได้ให้กรมส่งกําลังบํารุงทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวพิจารณาตามที่ท่านร้องขอมาแล้ว เห็นว่า ข้อมูลที่ท่านขอมานั้น ท่านไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ในการขอเปิดเผยข้อมูล และไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในกรณีนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลตามที่ท่านร้องขอนั้นจะไม่ได้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อมูลที่ทางราชการไม่ต้องเปิดเผยตาม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 14, 15 แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทําข้อมูลข่าวสารเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 9
ดังนั้น การที่จะมีคําสั่งเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลของราชการ จึงจําเป็นต้องคํานึงถึงการปฏิบัติ หน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของเอกชน ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเงื่อนไขของการเปิดเผยข้อมูลที่อาจจะต้องใช้ดุลยพินิจของหัวหน้างานของรัฐหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีคําสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ ภายใต้ข้อจํากัดและเงื่อนไขการเปิดเผยข้อมูล เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ พ.ศ. 2544 ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุอันสมควร ที่จะเปิดเผยข้อมูลของราชการดังกล่าว
จากหนังสือตอบปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของกองทัพบกแล้วสรุปเหตุผล(ข้ออ้าง)ได้ดังนี้
หนึ่ง ไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ในการเปิดเผยข้อมูล
สอง ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเป็นเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
สาม ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทําข้อมูลข่าวสารเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 9
สี่ เป็นดุลพินิจเป็นหัวหน้าของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่จะมีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวโดยมีการอ้างระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ พ.ศ. 2544
อย่างไรก็ตาม กองทัพบกยอมรับว่า ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไม่ได้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อมูลที่ทางราชการไม่ต้องเปิดเผยตาม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 14, 15 (หมายความ เป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้-ผู้เขียน)
อ่านหนังสือตอบปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลของกองทัพบกแล้ว งงเป็นไก่ตาแตก เพราะการให้เหตุผลขัดแย้งและย้อนแย้งกันเอง และขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ดังนี้
หนึ่ง ไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ในการเปิดเผยข้อมูล - ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ไม่ได้กำหนดหรือบังคับว่า ผู้ขอข้อมูลข่าวสารต้องระบุวัตถุประสงค์ของการขอข้อมูลข่าวสารแต่อย่างใด แต่ถ้าหน่วยงานรัฐอยากจะทราบก็สามารถสอบจากผู้ขอข้อมูลข่าวสารได้ แต่ไม่มีการสอบถาม ในกรณีนี้ ผู้ขอข้อมูลเป็นผู้สื่อข่าว และสำนักข่าวอิศราได้นำเสนอเรื่องการจัดซื้อจ้างรถยนต์โดยสารปรับอาอากาศขนาดใหญ่ของ ขส.ทบ. มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า การขอข้อมูลข่าวสารดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดซื้อจ้างของหน่วยงานรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกองทัพบกควรไปอ่านเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ซึ่งปรากฏอย่างชัดแจ้งอยู่ในราชกิจจานุเบกษา
สอง ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเป็นเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง – พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “บุคคลไม่ว่า จะมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ก็ตาม ย่อมสามารถเข้าตรวจดู ขอสำเนา..”ของข้อมูลข่าวสารได้ (มาตรา 9 วรรคสามแลมาตรา 11 วรรคห้า)
สาม ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทําข้อมูลข่าวสารเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 9 – ข้อมูลข่าวสารที่ผู้สื่อข่าวขอนั้นส่วนใหญ่เป็นสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของรถยนต์โดยสารฯ ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารในมาตรา 9 (8) ที่ให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้ประชาชนตรวจดู
ทั้งนี้ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯเคยมีประกาศในเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2542 และมีการปรับปรุงถึง 2 ครั้ง ในวันที่ 16 มกราคม 2558 และ 24 พฤษภาคม 2561 โดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไป ประกาศผลผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง และสัญญาที่ได้มีการอนุมัติหรือสั่งจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ตามมาตรา 9 ทั้งนี้มีกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันประกาศ และให้นำประกาศนี้ใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลดังกล่าว ไม่ได้เป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดให้ประชาชนตรวจดูตามมาตรา 9 ประชาชนก็มีสิทธิที่จะขอข้อมูลข่าวสารได้ตามมาตรา 11 ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ในเวลาอันสมควร ถ้าหน่วยงานรัฐใดไม่ปฏิบัติตามหรือดำเนินการล่าช้า ให้สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวได้ (มาตรา 13)
สี่ เป็นดุลพินิจเป็นหัวหน้าของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่จะมีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวโดยมีการอ้างระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ พ.ศ. 2544 – การไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจซึ่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนในมาตรา 14 (เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์) และมาตรา 15 เช่น การเปิดเผยจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคล และมีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เปิดเผย ซึ่งการตอบปฏิเสธที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ ต้องระบุด้วยว่า การไม่เปิดเผยข้อมูลนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใดในมาตรา 15 และเพราะเหตุใด
ไม่ใช่อ้างลอยๆโดยอ้างระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ พ.ศ. 2544 ทั้งๆที่กองทัพบกยอมรับเองว่า “ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไม่ได้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อมูลที่ทางราชการไม่ต้องเปิดเผยตาม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 14, 15”
การที่กองทัพบกปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาดใหญ่นั้น อยากทราบว่า กระทบต่อความมั่นคงของประเทศตรงไหนหรือกระทบต่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจในกองทัพบกที่ไม่อยากให้สาธารณชนรับรู้ ‘ความลับดำมืด?’ ในการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าหลายพันล้านบาทจากผู้ประกอบการเจ้าเดียวเป็นเวลานานหลายปี
ผู้เขียนไม่อยากให้ กองทัพบกซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับคะแนนความโปร่งใสในระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กลายเป็นองค์กรที่ถูกเรียกว่า ‘แดนสนธยา’ เพราะปกปิดข้อมูลข่าวสารเพราะผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจบางคนและกลุ่มทุนบางกลุ่ม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อ้างไม่มีส่วนได้เสีย! ทบ.ปฏิเสธให้ข้อมูลจัดซื้อรถบัสทหาร 2,250 ล้าน