"....เมื่อไม่อาจซื้อหาอาหารช้างแบบปลอดสารเคมี ช้างก็ต้องใช้แหล่งน้ำและหาอาหารตามมีตามเกิดในพื้นที่รอบข้าง ซึ่งเมื่อเป็นแปลงเกษตรต่างไปจากสภาพป่าเดิม ย่อมเสี่ยงเจอสารปราบศัตรูพืชทั้งในน้ำและในผลผลิตหรือเจอถังเหลือทิ้งของยาปราบศัตรูพืชหล่นทิ้งหรือทอดทิ้งไว้ โดยไม่มีใครทันคิดว่า ช้างจะไปเจอ และช้างมีความสามารถใช้งวง ใช้เท้าเหยียบให้เปิดออกเพื่อสำรวจว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีน้ำให้ดื่มกินไหม..."
.................................................
เมื่อสัปดาห์ก่อน ทีมสำรวจช่วยเหลือของสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ออกมาเยี่ยมช้างที่ได้ทราบว่าหลังออกจากปางแล้วกลับไปเข้าอาศัยกันเงียบๆใน 2 หมู่บ้าน คือ ที่บ้านแม่สะต๊อบ และบ้านห้วยผักกูด ที่เชียงใหม่ครับ
เราบุกตามเส้นทางดินฝุ่นหนาแห้งๆเข้าไปเรื่อยๆ พื้นที่รอบข้างอยู่รายล้อมด้วยเนินเขาที่ถูกนำมาทำการเกษตรไปหมดครับ
คลิปและภาพชุดนี้จะช่วยยืนยันความเสี่ยงอย่างน้อย 4 อย่าง
หนึ่ง คือไกลจากหมอ ไกลจากยา ไกลจากอาหารบำรุงที่ช้างเคยได้รับเวลาที่ยังอยู่กันในปาง ถ้าช้างป่วย ก็ต้องพาเดินออกมาไกลเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ
เวลาช้างป่วย แค่ให้น้ำเกลือก็ต้อง50ถุงต่อเชือก การขนเวชภัณฑ์เข้าพื้นที่ห่างไกล จึงซับซ้อนและกินเวลาที่สัตวแพทย์จะได้ใช้เวลาในการไปดูแลช่วยช้างเชือกอื่นๆ
นี่คือสภาวะเสี่ยงแรกที่คนอาจนึกไม่ถึงต่อการที่ช้างออกมาอยู่กันกระจายๆนอกปาง
เสี่ยงที่สอง คือเมื่อไม่อาจซื้อหาอาหารช้างแบบปลอดสารเคมี ช้างก็ต้องใช้แหล่งน้ำและหาอาหารตามมีตามเกิดในพื้นที่รอบข้าง ซึ่งเมื่อเป็นแปลงเกษตรต่างไปจากสภาพป่าเดิม ย่อมเสี่ยงเจอสารปราบศัตรูพืชทั้งในน้ำและในผลผลิตหรือเจอถังเหลือทิ้งของยาปราบศัตรูพืชหล่นทิ้งหรือทอดทิ้งไว้ โดยไม่มีใครทันคิดว่า ช้างจะไปเจอ และช้างมีความสามารถใช้งวง ใช้เท้าเหยียบให้เปิดออกเพื่อสำรวจว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีน้ำให้ดื่มกินไหม
เมื่อช้างไปแตะชิม ปาก ลิ้น ปลายงวงจะเป็นแผลจากสารกำจัดศัตรูพืชอย่างรุนแรงเลยครับ
ไม่นับว่าเมื่อเข้าไปในท้องช้างแล้วข้างในจะเสียหายขนาดไหน
จะอาบน้ำ จะดื่มกินน้ำในหนองเล็กๆก็จะเสี่ยงเจอการปนเปื้อนที่ฝนชะสารเคมีจากแปลงจากดินมารวมในสระเล็กๆเหล่านั้นเช่นกัน
@ บรรยายภาพ-ช้างไปแตะชิม ปาก ลิ้น ปลายงวงเป็นแผลจากสารกำจัดศัตรูพืชอย่างรุนแรงเลยครับ
และเสี่ยงที่สามคือ โอกาสที่จะเจอควันและไฟป่าแบบประชิดถิ่นจะสูง เพราะไฟลามและไฟจุดที่แม้ปีนี้จุดในไร่น้อยลงบ้าง แต่จุดในพื้นที่ป่ายังมีอยู่พอควร
เสี่ยงที่สี่ ซึ่งนับว่าน่าห่วงเลย คือไม่มีสัญญานสื่อสารของโทรศัพท์ที่จะช่วยให้สามารถร้องขอรับความช่วยเหลือหรือรับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับภายนอกได้ง่ายๆ
วันช้างไทย 13มีนาคมของทุกปีจะมาถึงในสุดสัปดาห์หน้าแล้ว
ปีนี้นับเป็นปีท้าทายที่สุด เพราะช้างไม่อาจไปอยู่รวมตัวรับการช่วยเหลือ คุ้มครองหรือแม้แต่ไปร่วมรับการยกย่อง จัดเลี้ยงอะไรกันเป็นหมู่ใหญ่ได้เสียแล้ว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage