"...หากท่านหรือหน่วยงานมีพื้นที่ๆอาจอนุญาตให้คนเลี้ยงช้างสามารถเอาช้างไปผูกเลี้ยงหรือปลูกหญ้าเลี้ยงช้างได้แม้เพียงชั่วคราว ก็จะช่วยให้ช้างเลี้ยงของไทยในภาวะโควิด 19พอจะประทังรอเวลาหน้าฝนที่จะมาถึงตามฤดูกาล หรือจนกว่ากิจกรรมเดินทางท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยจะกลับฟื้นขึ้นมาใหม่..."
..............................
อีกไม่นานก็จะถึงวันช้างไทย 13 มีนาคม
เป็นปีที่ช้างเลี้ยงของไทยอยู่ในภาวะเปราะบางมากที่สุด เพราะ ตกงานพร้อมกันหมด
3 อาการของช้างเลี้ยงของไทยที่ผมได้รับรายงานเข้ามาจากเครือข่าย ได้แก่
ช้างในปางที่เคยอยู่กินในแหล่งท่องเที่ยวมานับสิบปี แม้ปางอาจไม่ปิดประตูทางเข้า แต่ก็ไม่มีลูกค้ามากพอ ดังนั้นเงินสั่งซื้ออาหารช้าง การนัดสัตวแพทย์มาตรวจบำรุงรักษาถึงที่ปาง ก็อาจจะทำได้ไม่สม่ำเสมอเช่นเดิมต่อไปอีกนานนัก
นี่คือช้างกลุ่มแรก
ดังนั้นกลุ่มนี้ทุกข์จะหนักที่เจ้าของปาง ทางออกที่พอช่วยคือ เร่งประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับรู้ และไปเยี่ยมปางบ้าง เพื่อจะช่วยให้เกิดเครือข่ายความผูกพัน นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ ซื้อกล้วยอ้อยมันหรือผักพืชเลี้ยงช้าง บอกกล่าวโรงเรียน สถานศึกษาจัดพาผู้เรียนไปใช้เวลาศึกษาสัมผัส ลักษณะธรรมชาติของช้างแบบสังเกตรู้ ก็จะสร้างความอ่อนโยนให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษาได้อย่างอัศจรรย์ และหรือชวนผู้คนในห้างร้าน ช่วยกันทำกองบุญใกล้บ้านใกล้ตัว เพื่อช่วยช้างในปางใกล้บ้านให้สามารถประคับประคอง พออยู่ได้แบบไม่ล้มป่วย อาจจะต้องยอมตั้งเป้าเบื้องต้นให้สามารถไปถึงหน้าฝนที่ยังต้องรออีกถึง4-5เดือน ในสภาพไม่มีรายได้มาเกินหนึ่งปี
ช้างกลุ่มนี้ นับว่ายังไม่ลำบากเท่าอีก2กลุ่มหลัง
ส่วนช้างกลุ่มที่2
คือช้างที่เจ้าของตัดสินใจพาช้างกลับบ้านเกิด ออกเดินเท้ารอนแรมนานหลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือนเพื่อไปให้ถึงที่หมาย บางรายมีทุนทรัพย์พอจะจ้างเหมารถช่วยขนส่งช้างได้ก็ดีไป แต่ค่าใช้จ่ายขนส่งช้างนั้นไม่ใช่ราคาแบบเหมารถตู้ ดังนั้นย่อมแปลว่าเงินเก็บสำหรับซื้ออาหารให้ช้างก็จะลดทอนลง บางเชือกมีช้างพี่ช้างน้องหรือมีลูกช้างติดมาด้วยกัน ค่าขนส่งก็ยิ่งสูง จะเดินเท้าทางไกลเองก็ยิ่งเปราะบาง โอกาสเหยียบของมีคม เหยียบหนามเหยียบตะปู หรือเจ็บป่วยเพราะขาดน้ำสะอาดสำหรับดื่มให้เพียงพอระหว่างเดินทางก็จะเกิดขึ้น อีกทั้งในระหว่างที่ช้างเดินทาง โอกาสพบสัตวแพทย์ก็จะเป็นศูนย์ การเดินรอนแรมปกติจะเลือกเคลื่อนย้ายช้างกันในเวลาแดดไม่แรง เส้นทางพึงต้องมีร่มเงา ซึ่งถ้าเป็นเส้นทางป่าเขา โอกาสเจอลำธารอาจจะสูงกว่า แต่เส้นทางก็ย่อมคดเคี้ยวใช้เวลานานกว่า และย่อมทำให้ช้างและผู้เลี้ยงเครียดกว่า แต่บางช่วงต้องอาศัยการเดินบนทางหลวงชนบทเพราะไม่มีทางเลือก ผิวทางจะร้อนและแล้ง หาแหล่งน้ำได้ยาก ใครเจอช้างกำลังเดินทาง หากนึกทันก็อาจจอดแบ่งปันอาหารปันน้ำให้ แต่ส่วนมากจะไม่ทันได้นึก
ทีนี้ก็ช้างกลุ่มที่3
คือช้างกลุ่มที่เดินทางกลับถึงภูมิลำเนา ถึงที่หมายแล้ว และแน่นอนว่าบ้านเกิดของเค้ามักไม่ใช่แหล่งที่มีงาน ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปถึงได้ง่ายๆ บ้างอยู่ในป่าลึก บ้างอยู่ห่างไปจากเส้นทางคมนาคมปกติ ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะสาเหตุที่ช้างทั้งหลายต้องจากบ้านเกิดออกไปไกลถึงแหล่งท่องเที่ยว ก็เพื่อไปหางาน ดังนั้นการกลับเข้าบ้านเดิม แม้จะไม่มีต้นทุนค่าเช่าที่นอนของเจ้าของ แต่แปลว่าช้างต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากปางที่คุ้นเคย เช่นต้องเดินไปหากินในชายทุ่งเพราะบ้านเจ้าของอยู่กลางชุมชน ต้องผ่านออกไม่นาข้าวก็แปลงพืชไร่ ซึ่งเสี่ยงที่จะได้กินพืชที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช บ้างก็เจอกับภาชนะอย่างขวดอย่างแกลลอนใส่สารกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าหญ้าตามทางที่ผ่าน ปรากฏว่าบัดนี้มีช้างที่โดนยาฆ่าหญ้าหลายๆเชือกทีเดียว
ช้างตัวโตๆนี่แม้ยกของ ลากของหนักได้ แต่ถ้าโดนสารพิษนี่ร่วงทรมานทุกคราวแน่นอน
ยิ่งถ้าเป็นลูกช้าง ซึ่งธรรมชาติจะอยากรู้อยากเห็น เวลาเจอถังเจอแกลลอน เค้าจะใช้งวงเล่นกับสิ่งที่เจอ ดังนั้นช้างน้อยต้องสารพิษเข้าล่ะก็จะยิ่งอันตราย
แม้รัฐจะระงับการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชแล้ว แต่เรายังไม่มีวิธีเรียกรับเก็บคืนภาชนะหรือสารอันตรายเหลือใช้ สิ่งเหล่านี้จึงยังตกค้างตามท้องไร่พอควร
ในอดีต คนโบราณมักบอกว่าช้างมีทักษะในการดมกลิ่นแล้วรู้ว่าอะไรอันตราย แต่สารเคมีในการเกษตรยุคหลังๆเรียนรู้ว่าถ้าลูกค้ามีการฉีดพ่นยาเป็นบริเวณกว้าง. บ่อยครั้งจะถูกบ้านข้างเคียงตำหนิร้องเรียนว่าเหม็นกลิ่นยา
ผู้ขายสินค้าอันตรายบางรุ่นบางรายจึงเลือกที่จะพัฒนาสารกำจัดศัตรูพืชที่ไร้กลิ่น หรือลดกลิ่น
และมีแม้แต่การแต่งกลิ่นเพื่อเปลี่ยนจากฉุนให้เป็นกลิ่นเหมือนเป็นมิตรต่อจมูกเสียก็มี เพื่อจะได้ลดการกระทบกระทั่งเพื่อช่วยให้ลูกค้าใช้ยากำจัดศัตรูพืชได้โดยไม่ต้องหลบๆแอบๆ
ดังนั้น แม้ช้างจะแสนรู้....แต่ก็ไม่มีทางรู้เท่าทัน
เราลุ้นตัวโก่งแทบทุกวัน เมื่อเครือข่ายคนทำงานด้านช้างส่งข่าวสารเข้ามาว่า ช้างที่นั่นที่นี่ ล้มป่วยเพราะกินอาหารไม่พอต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน
หรือมีช้างป่วยเจ็บแต่อยู่ในที่ห่างไกลเข้าถึงยาก ต้องอาศัยรอให้คนเลี้ยงพาช้างป่วยเดินเท้าออกมายังจุดนัดเจอหมอ
หรือมีช้างโดนยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลง
หรือมีช้างถูกล่ามโซ่ไว้สั้นเกินไป ด้วยเจ้าของกลัวว่าจะไปรบกวนชาวชุมชนใกล้เคียง ช้างจึงเครียด
บ้างก็แจ้งว่าเกิดแผลติดเชื้อ บ้างอ่อนแรงทรุดตัวลงแล้วลุกไม่ขึ้น
คุณธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยเคยอธิบายเมื่อคราวที่ผมเข้าพื้นที่ไปเรียนรู้เรื่องช้างเลี้ยงว่า ช้างนั้น ถ้าเค้าแข็งแรงสุขภาพดี เค้าจะลงนอนตะแคงหลับ
โดยแนะให้สังเกตได้ที่รอยทางของน้ำตาช้างเชือกนั้น ว่าไหลอาบมาทางด้านข้างแก้มไม่ใช่ไหลลงตามแนวดิ่งอย่างตอนยืน
ที่น้ำตาช้างไหลสม่ำเสมอก็เพื่อหล่อเลี้ยงให้สุขภาพดวงตาแข็งแรง เพราะแมลงชอบมาตอมตาช้าง และช้างไม่มีหางยาวพอที่จะโบกไล่แมลงออกไป หรือโยกคอโยนหน้าสะบัดหนีแมลงอย่างวัวควาย ม้าแพะที่ตัวเล็กกว่า
ดังนั้น ถ้ารอยทางไหลของน้ำตาของช้างเชือกไหนไหลลงตามแนวยืน ผู้เลี้ยงก็พึงสังเกตว่าช้างเชือกนั้นหยุดล้มตัวลงนอนหลับกี่วันแล้ว เพราะถ้าเค้าเปลี่ยนจากเคยนอนตะแคงหลับแล้วหันมายืนหลับตอนพักผ่อนยามค่ำคืน ก็ให้สงสัยได้เป็นเบื้องต้นว่าเค้าอาจมีอาการไม่สบายภายใน เพราะช้างจะรู้ว่าถ้าลงนอนตะแคงแล้วเค้าอาจมีแรงไม่พอที่จะลุกพลิกกลับขึ้นมายืนใหม่
อีกอย่างที่ คนเลี้ยงช้างจะสังเกตเสมอคือมูลช้างที่ออกมา ควรมีลักษณะกากใยออกสีเขียว ชื้น กลิ่นเป็นใบไม้เพราะธรรมชาติในระบบการย่อยของช้างจะไม่เหมือนสัตว์เล็กทั่วไป และจะมีกากใยเป็นก้อนจับตัวกันพอเหมาะ ถ้าแห้งมากแสดงว่าขาดน้ำ ถ้าไม่ค่อยเขียวแต่ออกดำแสดงว่าการย่อยอาจใช้เวลานานเกินไป หรืออาหารที่ให้ขาดความสดไปสักหน่อย
ช้างท้องอืดนี่เรื่องใหญ่ อาจเพราะเครียด ได้เดินน้อย หรือระบบย่อยอาหารกำลังมีปัญหา ช้างท้องอืดนี่จะทรมานพอดู และจะไม่กินอาหาร
อีกจุดสังเกตคือที่เล็บเท้าช้าง ช้างมีต่อมเหงื่อที่จุดนี้ ดังนั้นช้างที่สุขภาพดีควรจะมีความชื้นที่เห็นชัดตรงขอบเล็บที่ติดกับหนัง ถ้าขอบเล็บแห้งแหงแก๋ก็อนุมานได้ว่าคงมีอะไรให้ต้องตรวจสอบละครับ
เล่าเรื่องช้างหนนี้ นับว่าลงลึกกว่าหลายคราว เพราะอยากเผยแพร่ความรู้ให้ผู้อ่านสามารถสังเกตเวลาไปเยี่ยมดูช้างที่กำลังตกงาน และตกยาก
ส่วนช้างที่อ้วนพีก็ไม่ใช่เรื่องดีต่อสุขภาพช้างหรอกนะครับ คนส่วนมากมักตกใจที่เห็นสัตว์ผอม และดีใจที่เห็นสัตว์อ้วนเป่ง!!
ดังนั้น ที่จะเรียกว่าดีงามคือสัตว์ควรมีรูปร่างไม่อ้วนมากต่างหาก .... เหมือนๆสุขภาพคนเรานี่แหละ
คือควรได้ออกแรงออกกำลังสม่ำเสมอ
เอาล่ะ....เนื่องจากบทความนี้มิใช่ตำราดูช้าง เอาแค่นำเสนอเรื่องที่เราควรห่วงในสุขภาพช้างตกงานก็คงเพียงพอ
จึงขอส่งท้ายด้วยเกร็ดเล็กๆที่เราอาจพอช่วยกันทำได้ดังนี้ครับ
เป็นเกร็ดเล็กชวนคิด สำหรับผู้ที่อยากช่วยช้างตกงาน
แน่ล่ะว่าการบริจาคเป็นเงินนั้นสะดวกที่สุดทั้งสำหรับผู้ให้และผู้รับ
แต่ในปีโควิดแบบนี้ หากท่านมีข้อจำกัดเรื่องการบริจาคเงิน
1. พืชผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษ ที่ตกเกรด ส่งขายในตลาดคนกินไม่ได้ราคา อย่าปล่อยเน่าเสียหรือทิ้งไป ควรอาศัยกลไกของกลุ่มเกษตรกร เกษตรอำเภอ หรือผ่านหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมในจังหวัดเพื่อประสานตรงกับปางช้างในจังหวัดหรือภาคนั้นๆ หรือติดต่อผ่านองค์กรช่วยเหลือช้าง หรือ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย เพื่อบริจาคให้ช้าง
2...ใบอ้อยปลายอ้อยในฤดูหีบอ้อยที่ไม่สามารถส่งโรงน้ำตาล ต้นข้าวโพดสดที่เก็บฝักอ่อนไปแล้ว ยอดต้นสัปปะรดที่เก็บผลไปแล้ว มะพร้าวที่อ่อนไปหรือแก่ไป อย่าเผาและอย่าทิ้ง....แต่กรุณาแจ้งบริจาคให้ช้างเลี้ยงที่กำลังตกงานและขาดอาหารในพื้นที่ใกล้ท่าน.. หรือแจ้งมาที่สมาคมสหพันธ์ช้างไทยให้ทราบ เพราะหากมีเวลาและปริมาณที่มากพอให้จัดการได้ สมาคมฯก็อาจสามารถประสานเครือข่ายเพื่อค้นหาอาสาสมัครใกล้พื้นที่จัดหาพาหนะรับไปส่งเป็นอาหารให้ช้าง
หรือถ้าท่านมียานพาหนะ มีจังหวะมีเวลาที่จะสามารถช่วยอาสาไปรับอาหารช้าง. รับส่งยารักษาหรือรับส่งหมอช้าง หรือถ้ามีรถใหญ่พอจะช่วยรับส่งช้างได้ก็จะนับเป็นการช่วยที่มีค่ายิ่ง ในยามยากเช่นนี้
* มีตัวอย่างเช่น สายการบินนกแอร์ ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดส่ง ยา น้ำนมช้าง ระหว่างจังหวัดต่างๆที่มีเส้นทางบิน
** กลุ่มบริษัทในเครือดุสิตธานี ได้อนุเคราะห์ที่พักแรมในกรณีมีทีมดูแลช้างของสมาคมสหพันธ์ช้างไทยไปทำภารกิจในจังหวัดที่มีโรงแรมในเครือตั้งอยู่
*** กลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่งสามารถอนุเคราะห์ในรอบรถเปล่าในเที่ยวรถขากลับ เพื่อช่วยรับส่งอาหารช้างไปยังกลุ่มเลี้ยงช้างที่กำลังเดือดร้อน
3....หากท่านหรือหน่วยงานมีพื้นที่ๆอาจอนุญาตให้คนเลี้ยงช้างสามารถเอาช้างไปผูกเลี้ยงหรือปลูกหญ้าเลี้ยงช้างได้แม้เพียงชั่วคราว ก็จะช่วยให้ช้างเลี้ยงของไทยในภาวะโควิด 19พอจะประทังรอเวลาหน้าฝนที่จะมาถึงตามฤดูกาล หรือจนกว่ากิจกรรมเดินทางท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยจะกลับฟื้นขึ้นมาใหม่....
** โดยสมาคมสหพันธ์ช้างไทย มีโครงการที่จะช่วยจัดส่งพันธุ์หญ้าและยังแนะนำการปลูกในเบื้องต้นให้ได้ด้วย**
4. หากวัดในพื้นที่ใดจะได้เมตตาช่วยเหลือช้างตกงานในปีนี้ ก็น่าจะสนับสนุนให้สร้างกองผ้าป่าเพื่อช่วยช้างบอกบุญแก่ญาติโยม ในกรณีอย่างนี้เงินบริจาคน่าจะสามารถเกิดเป็นกองโตพอสมควรได้ เพราะใบอนุโมทนาของวัดเป็นสิ่งที่ผู้บริจาคสามารถนำไปใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้ ดังนั้นนิติบุคคลและผู้เสียภาษีก็จะเกิดแรงจูงใจที่จะช่วยกันบริจาค ได้ถนัดกว่า
...จึงอยากชวนคนไทยมาร่วมสร้างบุญ สงเคราะห์สัตว์ใหญ่อันเป็นมงคลเหล่านี้ ช่วยยักษ์ใหญ่แสนสุภาพที่มีส่วนสำคัญยิ่งในวัฒนธรรมประเพณี และเป็นสายเลือดของช้างบรรพบุรุษที่เคยร่วมสู้ศึกเพื่อรักษาเอกราชและสร้างชาติของไทยกันครับ....