มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องแสวงหาและพบปะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอยู่เสมอ ความต้องการเพื่อนของมนุษย์ไม่ต่างจาก ความต้องการพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อความอยู่รอด ทั้งความต้องการหาอาหารเพื่อประทังชีวิต ความต้องการที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและความต้องการเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายตนเอง
....................................
ความเป็นสัตว์สังคมทำให้สมองของมนุษย์ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการเรียนรู้สังคมโลก เรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนร่วมโลกและความสัมพันธ์ของตนเองกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอยู่ตลอดเวลาทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกของโซเชียลมีเดีย
มีทฤษฎีบางทฤษฎีเชื่อว่าหากมนุษย์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่งเรื่องใด มนุษย์ต้องใช้เวลามากถึง 10,000 ชั่วโมงในการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ในทำนองเดียวกันการเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มนุษย์แต่ละคนต้องใช้เวลาราว 10,000 ชั่วโมงเช่นกันและการเรียนรู้เพื่อให้เกิดทักษะความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์มีอายุราว 10 ขวบเท่านั้นเอง
1.ภาพลวงตาของโซเชียลมีเดีย
ความสัมพันธ์ของมนุษย์ได้รับความสนใจและมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการเป็นเพื่อนอยู่เสมอ ศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) นักมานุษยวิทยา ชาวอังกฤษพบว่าจำนวนเพื่อนของมนุษย์ที่จะคงความสัมพันธ์กันอยู่ได้นั้นมีจำกัดประมาณ 150 คนเท่านั้น จนกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ ตัวเลขของดันบาร์” (Dunbar’s number) ตัวเลขนี้สอดคล้องกับจำนวนเฉลี่ยของประชากรในชุมชนของประเทศอังกฤษในอดีต จำนวนกองทหารในกองทัพ ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลขอยู่ประมาณ 150 คน ตัวเลขนี้จึงกลายเป็นทฤษฎีของดันบาร์ที่สามารถใช้อ้างอิงอยู่เสมอเมื่ออ้างถึงจำนวนเพื่อนของมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริง
เมื่อโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียเข้ามาอยู่ในวงจรชีวิตมนุษย์ คนจำนวนไม่น้อยมีความสงสัยว่าเพื่อจำนวนมากมายที่โซเชียลมีเดียยอมให้เราติดต่อด้วยนั้นเป็นเพื่อนหรือแค่คนรู้จัก ในที่สุด เมื่อปี 2016 มีการเผยแพร่ผลการศึกษาของ ศาสตราจารย์ โรบิน ดันบาร์ ที่ได้ทำการศึกษาความเป็นเพื่อนบนโลกออนไลน์ของ ผู้ใช้ Facebook อายุระหว่าง 18 ถึง 65 ปี จำนวน 3,375 คน ในสหราชอาณาจักร โดยพบว่า บุคคลเหล่านี้มีเพื่อนโดยเฉลี่ยราว 150 คน เพื่อน 4.1 คน เป็นเพื่อนที่เชื่อถือได้และเพื่อนอีก 13.6 คน เป็นเพื่อนที่แสดงความเห็นอกเห็นใจในภาวะวิกฤติทางอารมณ์ ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับทฤษฎีของดันบาร์ ที่ได้ศึกษาไว้ในสังคมของโลกแห่งความเป็นจริงก่อนหน้านี้
การที่โซเชียลมีเดียสามารถทำให้เราเพิ่มจำนวนเพื่อนได้จำนวนมากมายนั้นจึงไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นเพื่อนที่แท้จริงแต่อย่างใด แต่เป็นการเพิ่มจำนวนคนรู้จักเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง เท่ากับว่าเทคโนโลยีของ โซเชียลมีเดีย กำลังสร้างจำนวนเพื่อนที่เกินกว่าขีดจำกัดของมนุษย์ในการคงความเป็นเพื่อนกับมนุษย์ด้วยกันเองตามทฤษฎีของดันบาร์
นอกจากจำนวนเพื่อนซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นเพื่อนตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย มากมายเป็นภาพลวงตาที่เกิดจากการ เติมแต่ง แสดงสถานะที่เกินกว่าความเป็นจริงด้วยการทำหน้าที่ของอัลกอริทึม ที่ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารโดพามีนในสมองทำให้ผู้คนได้รับความพึงพอใจซึ่งเป็นเหมือนการให้รางวัลแก่ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย และชักจูงให้ผู้เล่นใช้เวลากับโซเชียลมีเดียนั้นนานที่สุด
ฟิลเตอร์บนอินสตาแกรมคือหนึ่งในกลไกในการสร้างภาพลวงตาที่สร้างรูปลักษณ์และเติมแต่งตัวตนให้ดูดีกว่า สวยงามกว่าตัวตนหรือสถานะจริงของบุคคลและเมื่อใครก็ตามที่เข้าไปอยู่ในโลกของอินสตาแกรมคนๆนั้นควรจะต้องรับรู้ตั้งแต่ต้นว่าสิ่งที่เห็นบนอินสตาแกรมนั้นอาจไม่ใช่ความจริง แต่เป็นสิ่งที่มีการแต่งเติมเพื่อให้รูปลักษณ์ของผู้นั้นดูดีกว่าเดิม ซึ่งหมายความว่าความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้ผู้ติดตามได้รู้สึกตื่นเต้นและการเสริมแต่งตัวเองให้ดูดีเลิศบนจอมีอิทธิพลและมีความสำคัญเหนือความจริงในโลกของอินสตาแกรม
อย่างไรก็ตามคนจำนวนไม่น้อยตีความว่าภาพลวงตาบนอินสตาแกรมเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่ไม่สามารถพบได้ในตัวเองและนำมาเปรียบเทียบกับรูปลักษณ์หรือสถานะของตัวเองโดยคิดว่า รูปร่างหน้าตา ความสำเร็จ ความสุขและความน่าดึงดูดใจ ของตนเองด้อยกว่าภาพที่เห็นบนอินสตาแกรม ทั้งๆที่ภาพที่เห็นคือสิ่งลวงตาที่ซอฟแวร์ของอินสตาแกรมปั้นแต่งขึ้นทั้งสิ้น
จากผลการศึกษาบุคคลวัยหนุ่มสาวในสหราชอาณาจักรตลอดเวลา 25 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีอารมณ์ซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์และนักวิจัยชี้ว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้โซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ข้อมูลจากการศึกษาเดียวกันยังพบว่าผู้ใช้อินสตาแกรม 63 เปอร์เซ็นต์รู้สึกไม่มีความสุขหลังจากใช้อินสตาแกรม ซึ่งเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า โซเชียลมีเดีย แต่ละแพลตฟอร์มมีคุณสมบัติเฉพาะตามที่ผู้ออกแบบกำหนด ผสมผสานกับกับพฤติกรรมต่างๆของผู้ใช้โซเชียลมีเดียซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยา
2. ทฤษฎีจิตวิทยาของฟรอยด์
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ซึ่งถือว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์(Psychoanalysis) อธิบายโครงสร้างทางบุคลิกภาพของมนุษย์ ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ อิด(Id) อีโก้(Ego) และซูเปอร์อีโก้(Superego)
โครงสร้างทางบุคลิกภาพของมนุษย์ตามทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์
ภาพจาก https://www.scienceabc.com/social-science/causes-conflict-minds-id-ego-superego.html
อิด(Id) เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ประกอบด้วยแรงขับสัญชาตญาณพื้นฐานที่กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการของตนเอง เป็นส่วนของจิตที่กระตุ้นให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมตามหลักแห่งความพึงพอใจโดยไม่มีการขัดเกลา
อีโก้(Ego) เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ควบคุมการแสดงออกของพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นที่ยอมรับของสังคม
ซูเปอร์อีโก้(Superego) เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่เกี่ยวกับ คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ความดี ค่านิยมทางสังคม อุดมคติทางสังคม อุดมคติในการดำเนินชีวิต เป็นส่วนที่ได้รับการสั่งสอนจาก พ่อ-แม่ ครูและกระบวนการทางสังคม
3. โซเชียลมีเดียกับทฤษฎีของฟรอยด์
แม้ว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ จะได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์และได้สร้างคุณค่าให้กับวงการจิตวิทยาไว้ไม่น้อย แต่งานของเขามักถูกด้อยค่าจากนักจิตวิทยาสมัยใหม่อยู่เสมอ ในขณะที่นักการตลาดและนักสร้างแบรนด์กลับเห็นคุณค่าของทฤษฎีของฟรอยด์และนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างแบรนด์บนโลกออนไลน์อย่างน่าทึ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนเข้าไปสัมผัสกับโซเชียลมีเดีย คนเหล่านั้นมักจะแสดงออกถึงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับทฤษฎีของฟรอยด์เสมอ ทฤษฎีของ ฟรอยด์จึงช่วยให้มนุษย์เข้าใจทั้งตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริงและตัวตนในโลกของโซเชียลมีเดีย
ทฤษฎีของฟรอยด์ช่วยให้เราเข้าใจว่าบุคลิกประเภทใดมีความสัมพันธ์กับการแสดงตัวตนแบบไหนบนโซเชียลมีเดียและสัมพันธ์กับการเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียในรูปแบบใด
เมื่อใดก็ตามที่เราแสดงตัวตนของเราบน Facebook Snapchat หรือ Line เพื่อติดต่อกับคนที่เรารู้จักในโลกแห่งความเป็นจริง แสดงว่าเรากำลังแสดงตัวตนว่าเราอยู่ในส่วนของบุคลิกภาพ อีโก้(Ego) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการแสดงออกในระดับหนึ่งตามทฤษฎีของฟรอยด์ เราจึงอยู่ในโลกของคนที่เรารู้จักและมีรสนิยมเดียวกันหรือมีทัศนคติที่คล้ายคลึงกันและแสดงออกในสิ่งที่สังคมยอมรับ
การแสดงออกบนพื้นที่ของโซเชียลมีเดียประเภทนี้จึงสะท้อนถึงตัวตนของเราในโลกแห่งความจริงที่มีข้อจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมและรู้ว่าการแสดงออกแบบใดจะได้รับดอกไม้เป็นรางวัลและการแสดงออกแบบใดจะได้รับก้อนอิฐจากเพื่อนในกลุ่ม
เมื่อเราเข้าไปอยู่ในโลกของ Instagram Twitter และ Tik Tok ไม่เพียงแต่เราจะพบปะกับผู้ที่เคยรู้จักในโลกแห่งความจริงเท่านั้น แต่เรายังมีโอกาสที่จะพบปะผู้คนทั้งโลกที่เราไม่รู้จักอีกด้วย โลกของโซเชียลมีเดียประเภทนี้ จึงเป็นโลกที่เราอาจแสดงตัวตนของเราอย่างที่อยู่ในโลกความจริงกับคนที่เรารู้จักหรือบางครั้งอาจแสดงออกถึงตัวตนในความฝันหรือในอุดมคติที่เราอยากจะเป็นด้วยความสามารถของเครื่องมือที่โซเชียลมีเดียจัดให้
โซเชียลมีเดียประเภท Instagram Twitter และ Tik Tok หรือแพลตฟอร์มที่แสดงตัวตนในลักษณะเดียวกัน จัดอยู่ในบุคลิกภาพแบบซูเปอร์อีโก้(Superego) ตามทฤษฎีของฟรอยด์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานระหว่างการแสดงออกด้วยความเป็นตัวตนจริงๆบนโลกแห่งความจริงและอาจมีการแสดงพฤติกรรมปากกล้ามากกว่าปกติหรือแสดงออกแบบหลุดโลกอยู่บ้างเพื่อให้เหมือนกับตัวตนในฝันของตัวเอง
เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดียประเภท Reddit Tumblr 4Chan ฯลฯ ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียมักตัดตัวเองออกจากโลกแห่งความจริง เท่ากับว่าเรากำลังเข้าไปอยู่ในพื้นที่บุคลิกภาพแบบ อิด(Id) ตามทฤษฎีของฟรอยด์ เราจึงสามารถแสดงความเห็นในเรื่องต้องห้ามบนแพลตฟอร์มอื่นบนแพลตฟอร์มแบบ อิดได้ เราจึงมีอิสระในการตั้งคำถามในสิ่งที่อยากรู้อยากเห็น เราอาจค้นหาเรื่องตลกขบขัน ตื่นเต้นเร้าใจที่มักไม่คุยกันในพื้นที่อื่น เราอาจค้นหาเรื่องที่มีคนสนใจร่วมกับเรา ค้นหาสิ่งใหม่ๆหรือแนวคิดที่แตกต่าง ฯลฯ เราจึงอยู่ในพื้นที่ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ความกระหายต่อความรู้ใหม่ (Epistemic curiosity) ที่อาจไม่สามารถพบได้บนแพลตฟอร์มแบบอีโก้หรือซูเปอร์อีโก้
4. สมองกับโซเชียลมีเดีย
ความรู้เกี่ยวกับสมองของมนุษย์มีผู้เขียนตำราและให้ข้อมูลเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลทางการแพทย์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สมองมนุษย์มีลักษณะเป็นคู่เหมือนกับอวัยวะหลายส่วนของร่างกายและบรรจุอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาของกะโหลกศีรษะ
สมองไม่เป็นเพียงอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกำหนดบุคลิกภาพของคนๆนั้นด้วย รวมทั้งยังทำหน้าที่ในการกำหนดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอก ความสามารถทางความคิด อารมณ์และกำหนดความรู้สึกทางเพศ ฯลฯ
มนุษย์ได้ศึกษาการทำงานของสมองจนพบว่ามนุษย์และสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่มีโครงสร้างทางสมองที่แบ่งเป็นสมองซีกขวาและสมองซีกซ้ายและเป็นที่รู้กันว่า สมองซีกขวา หรือที่นิยมเรียกกันว่า ส่วนของความคิดสร้างสรรค์ จะทำหน้าที่ในการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ความคิดสร้างสรรค์ การใช้อารมณ์ ความถนัดที่จะแสดงออกของสมองซีกขวาจะมีความโดดเด่นในด้านของ ดนตรี ศิลปะ สุนทรียะ ด้านต่าง ๆ ความสร้างสรรค์ การออกแบบ การมีจินตนาการที่ดี มีแนวความคิดเชิงปรัชญา
สมองซีกขวาเป็นพื้นที่รับรู้ประสบการณ์ของโลกโดยตรง เป็นการรับรู้สิ่งที่เป็นไปในโลกในมุมกว้างอย่างหยาบๆ และเป็นพื้นที่แห่งการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ขณะที่สมองซีกซ้าย หรือที่นิยมเรียกกันว่า ส่วนของการตัดสินใจ จะทำหน้าที่ในการใช้เหตุผลเพื่อประกอบการตัดสินใจ การวิเคราะห์ ความถนัดที่แสดงออกของสมองซีกซ้ายจะมีความโดดเด่นในด้านทักษะภาษา การเขียน-อ่าน การคำนวณ การลำดับขั้นตอนและแบบแผนต่าง ๆ สมองซีกซีกซ้ายจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกในลักษณะแคบและจำเพาะเจาะจงในแต่ละเรื่องมากกว่าสมองซีกขวา
เมื่อนำหน้าที่ของสมองทั้งสองซีกมาเทียบกับทฤษฎีจิตวิทยาของฟรอยด์ทำให้พบว่า บุคลิกภาพแบบ อิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตไร้สำนึกของผู้คนและการแสดงออกแบบไร้การขัดเกลา จะมีคุณสมบัติตรงกับการทำงานของ สมองซีกขวา ในขณะที่บุคลิกภาพแบบ อีโก้ ซึ่งมักแสดงตัวตนบนโลกแห่งความเป็นจริงและ ซูเปอร์อีโก้ ซึ่งเป็นการแสดงตัวตนภายใต้การบ่มเพาะด้วยกระบวนการทางสังคมจะเป็นบุคลิกภาพที่มีคุณสมบัติตรงกับการทำงานของสมองซีกซ้าย
การที่รู้ว่าบุคลิกภาพแบบ อิด ทำงานสอดคล้องกับสมองซีกขวา และบุคลิกภาพแบบ อีโก้ และ ซูเปอร์อีโก้ ทำงานสอดคล้องกับสมองซีกซ้าย จึงทำให้พอจะคาดคะเนได้ว่าสมองซีกขวาคือส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดียประเภท Reddit Tumblr 4Chan ฯลฯ ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียประเภทที่รับรู้กันว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดีย มักไม่แสดงตัวตน(Anonymity-based network)และเป็นโครงข่ายประเภทให้ความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนที่เหนียวแน่นและให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกันค่อนข้างมาก ส่วนสมองซีกซ้ายจะทำงานได้ดีกับโซเชียลมีเดียประเภทที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมักแสดงตัวตนและติดต่อกับผู้คนที่เคยรู้จักบนโลกแห่งความจริง (Identity-based network) เช่น Facebook Instagram Twitter Line เป็นต้น ในภาษาเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์มักเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่าพื้นที่สร้างแบรนด์ส่วนบุคคล(Personal brand)
ความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลิกภาพ สมองและโซเชียลมีเดีย
ทฤษฎีจิตวิทยาของฟรอยด์ เมื่อนำมาใช้กับโซเชียลมีเดียทำให้เรารู้ว่าโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มมีความแตกต่างกันทั้งคุณสมบัติของแพลตฟอร์มเอง รวมทั้งพฤติกรรมและบุคลิกภาพของผู้คนที่เข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดียนั้น และยังทำให้เรารู้ว่าสนามโซเชียลมีเดียไหนเราควรจะเล่นเกมแบบใดมากกว่าเดินลงสนามแบบไม่รู้ทิศทางหรือลงไปเล่นในทุกสนามโดยไม่รู้ว่าสนามใดผู้คนกำลังเล่นเกมอะไรกันอยู่ รวมทั้งยังช่วยให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและความผูกพันของมนุษย์กับโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มด้วย
นักการตลาดและนักสร้างแบรนด์ได้นำทฤษฎีของฟรอยด์ไปสร้างกลยุทธ์การตลาด ทำให้รู้ว่า แพลตฟอร์มใดน่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนพูดถึงแบรนด์ของตัวเองในทางบวก เทคนิคใดที่จะดึงคนเข้ามาเป็นพวก พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เปิดหรือพื้นที่ใดเป็นพวกถือหางกลุ่มการเมืองใด แพลตฟอร์มใดถูกยึดครองโดยคนในเจนเนอเรชั่นไหน ควรเลือกใช้ภาษาแบบใดในการสื่อสารกับพื้นที่สมองซีกขวาและใช้ภาษาแบบใดในการสื่อสารกับพื้นที่สมองซีกซ้าย และจะสื่อสารเฉพาะตัวหรือกับสื่อสารกับกลุ่มที่รวมตัวกันเป็นชุมชน เป็นต้น
การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อช่วยขับเคลื่อนการตลาดมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว คนจำนวนไม่น้อยถูกคว่ำบาตรบนโลกออนไลน์เพราะสื่อสารในสิ่งที่โลกโซเชียลไม่ชอบ แม้ว่าจะมีเหตุผลที่อธิบายได้แต่มักไม่มีโอกาสอธิบาย สินค้ายี่ห้อดังๆหลายยี่ห้อต้องล้มเลิกการโฆษณาบนโซเชียลมีเดียเพราะเข้าไม่ถึงจริตของผู้คนบนแพลตฟอร์มนั้น โซเชียลมีเดียจึงสามารถให้คุณและโทษได้ในเวลาเดียวกัน การเข้าใจจริตและจิตวิทยาของโซเชียลมีเดียจึงมีความจำเป็นตราบใดที่เรายังต้องการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหาประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อการโฆษณาสินค้าก็ตาม
อ้างอิง
1.Social โดย Matthew Lieberman
2.https://www.isranews.org/isranews-article/55892-online.html
3.The hidden psychology of social networks โดย Joe Federer
4. www.tci-thaijo.org>social_crru>article>download
5.No Filter โดย Sarah Frier
6.https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/76218/-blo-otherknowledge-
ภาพประกอบ
https://www.wsj.com/articles/take-back-your-brain-from-social-media-1485968678