"...เซลล์หัวใจจะไปเหมือนเซลล์ตับหรือเซลล์สมองไม่ได้ เซลล์แต่ละชนิดมีอัตลักษณ์ของตัวเอง ชุมชนก็เช่นเดียวกัน แต่ะชุมชนจะมีอัตลักษณ์ของตัวเองและมีความสมดุล ฉะนั้นชุมชนจึงต้องมีผนัง เช่นเดียวกันเซลล์ที่คัดกรองให้อะไรเข้าได้เข้าไม่ได้ เท่าไร ไม่ใช่การไหลเข้าออกโดยเสรี..."
Self-organized criticality หรือการเกาะเกี่ยวกันสู่จุดวิกฤต คือสาเหตุของการพังทลายของระบบเศรษฐกิจโลกเมื่อโดนไวรัสตัวเล็กนิดเดียว
ถ้าไม่เข้าใจสาเหตุนี้ ก็สร้างระบบเศรษฐกิจแบบเดิม แล้วก็พังทลายอีกๆ ถ้าเข้าใจก็จะคิดถึงระบบเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกัน
การเกาะเกี่ยวกันสู่จุดวิกฤต เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เมื่อสสาร เช่น เมล็ดทราย หรือเกร็ดหิมะ มันมาเกาะเกี่ยวกันใหญ่ขึ้นๆ จนถึงจุดวิกฤต พอทรายอีกเม็ดเดียวหรือเกร็ดหิมะเกร็ดเดียวตกลงไป ทำให้โครงสร้างที่ถึงจุดวิกฤตพังครืนลงมา (ตามรูป)
เกร็ดหิมะเมื่อตกใหม่ๆ ก็แยกกันเป็นเกร็ดๆ แต่เมื่อตกมากเข้าๆ ก็เกาะตัวกันเป็นแผงใหญ่ จนถึงจุดวิกฤต หิมะตกลงไปอีกเกร็ดเดียว หิมะทั้งแผงก็พังครืน ที่เขาเรียกว่า snow avalanche
ตลาดหุ้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อมันเกาะเกี่ยวกันมากเข้าๆ ก็ถึงจุดวิกฤต วันร้ายคืนร้ายมันก็พังครืนโดยไม่ปรากฏสาเหตุ ที่เรียกว่าหุ้นcrash สุดแต่ว่ามันเกิดวันไหน ก็เรียกว่าเป็นวันสีดำ เช่น Black Monday
ระบบเศรษฐกิจที่มันเกาะเกี่ยวกันทั้งโลก พอโดนโควิดเข้าตัวเดียวก็พังครืนทั้งระบบ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ บริษัทเครื่องบินใหญ่ๆ ก็เจ๊ง นักบินและพนักงานเครื่องบินก็ไม่มีงานทำหมดทั้งโลก บริษัทน้ำมันก็เจ๊ง บริษัทท่องเที่ยว ศูนย์การค้า ร้านอาหาร บาร์ไนต์คลับ อาบอบนวด แม้แต่แม่ค้าขายส้มตำหน้าไนต์คลับก็ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่ช้างก็พลอยอดอยากไปด้วย เพราะทั้งหมดถูกนำมาเชื่อมโยงเป็นพวงเดียวกัน
เมื่อก่อนช้างอยู่ในป่า มันก็หากินตามธรรมชาติ เศรษฐกิจของมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ไม่กระทบมัน แต่ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ชีวิตมันถูกโยงเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมื่อมันพังมันก็กระทบช้างด้วย หรือสังคมใยยุคชุมชนเกษตรกรรมที่ยั่งยืนมาได้ 10,000 ปี คงเคยมีไวรัสที่กลายพันธุ์เป็นตัวที่อันตรายต่อมนุษย์ แต่มันก็ระบาดไม่ได้ เพราะมนุษย์ไม่ได้มาอยู่ชิดใกล้ เป็น social distancing โดยธรรมชาติ เมื่อไวรัสเข้าใครสักคนมันก็คงตายไปกับคนๆ เดียว ไม่ระบาดได้ สมัยนี้คนทั้งโลกเชื่อมโยงกัน จึงเห็นว่าโควิด-19 แพล๊บเดียวก็ไปทั่วโลก
นี่แหละที่เรียกว่า Self-organized criticality หรือเกาะเกี่ยวกันทั่วโลกจนถึงจุดวิกฤต โลกไม่มีภูมิคุ้มกัน และถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไปอีก หมดจากโควิด-19 ก็จะมีตัวอื่นที่ร้ายพอๆ กัน หรือร้ายกว่ามาอีกๆ จนกว่ามนุษย์จะเหลือน้อย หรือเกิดจิตสำนึกมากพอที่จะเปลี่ยนให้เป็นโลกที่มีภูมิคุ้มกัน
ชุมชนเข้มแข็งคือระบบการอยู่ร่วมกันที่มีภูมิคุ้มกัน
ชุมชนคือระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลทั้งระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อสมดุลจึงยั่งยืน ชุมชนจึงยั่งยืนอยู่ถึง 10,000 ปี เทียบกับอารยธรรมปัจจุบันซึ่งมีอายุเพียง 500 ปี ก็วิกฤตสุดๆ เพราะเสียสมดุลในทุกมิติ
ชุมชนเป็นหน่วยพื้นฐานทางสังคม (Social basic unit) เทียบได้กับเซลล์ ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของร่างกาย
เซลล์มีการแลกเปลี่ยนกับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ free flow ถ้ามีอะไรผ่านเข้าออกโดยเสรี เซลล์จะตาย ผนังเซลล์จะคัดกรองให้อะไรเข้าเท่าใด เพื่อรักษาอัตลักษณ์และความสมดุลของเซลล์
เซลล์หัวใจจะไปเหมือนเซลล์ตับหรือเซลล์สมองไม่ได้ เซลล์แต่ละชนิดมีอัตลักษณ์ของตัวเอง ชุมชนก็เช่นเดียวกัน แต่ะชุมชนจะมีอัตลักษณ์ของตัวเองและมีความสมดุล ฉะนั้นชุมชนจึงต้องมีผนัง เช่นเดียวกันเซลล์ที่คัดกรองให้อะไรเข้าได้เข้าไม่ได้ เท่าไร ไม่ใช่การไหลเข้าออกโดยเสรี
ลัทธิการค้าเสรี จึงไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นชุมชน และได้ทำลายความเป็นชุมชน และทำลายภูมิคุ้มกันทางสังคม ทำให้มนุษย์ทั้งโลกไม่ปลอดภัย จากระบบเศรษฐกิจ และจากภัยแบบโควิด
ประเทศไทยมีเนื้อที่ 321 ล้านไร่ และสามารถทำการเกษตรผลิตอาหารได้เหลือกินทุกภาคของประเทศ สามารถจัดระบบชีวิตและเศรษฐกิจที่ทำให้ “ทุกคนมีบ้านอยู่ มีอาหารกิน มีครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน”ได้อย่างสบาย
มีภูมิคุ้มกัน หมายถึงคุ้มกันจากภัยทางเศรษฐกิจที่วูบไหววิกฤตบ่อยๆ ทำให้คนไม่มีรายได้ไม่มีงานทำ เพราะในระบบเศรษฐกิจชุมชนนั้นมีเป้าหมายสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ไม่ใช่จีดีพี ชุมขนเข้มแข็งสามารถจัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรค
คนไทยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ควรอยู่ในชุมชนทั้งประเทศประมาณ 100,000 ชุมชน ที่มีประชากรประมาณ 500 - 1,000 คนต่อชุมชน จะเหมือนประชาชนอยู่ในป้อมปราการที่มีความปลอดภัยจากข้าศึก ไม่ว่าโลกจะผันผวนวิกฤตอย่างไรๆ คนไทยก็จะไม่เป็นไร เพราะทุกคนอยู่ในชุมชนที่มีภูมิคุ้มกันให้ทุกคนอยู่สุขสบาย โดยมีบ้านอยู่ มีข้าวกิน ทั้งครอบครัวอบอุ่น มีชุมชนเข้มแข็ง
ชุมชนที่มีหลักประกันพื้นฐานทางชีวิตและเศรษฐกิจดังกล่าว จะไปทำอาชีพอะไรๆ เพิ่มเติมอีกก็ได้ทั้งสิ้น จึงเรียกระบบเศรษฐกิจนี้ว่า “ระบบเศรษฐกิจชุมชนพลังบวก” (Community Economy Plus) พลังบวก หรือ Plus หมายถึงทำอะไรเพิ่มเติมอีกก็ได้ทุกอย่าง ทำอะไรเพิ่มเติมถ้าดีก็เป็นกำไร ถ้าเสี่ยงเพราะโลกผันผวนก็ไม่เป็นไร เพราะมีหลังยันคือภูมิคุ้มกัน ระบบเศรษฐกิจมหภาคก็เข้ามาเชื่อมให้เศรษฐกิจชุมชมเข้มแข็ง ซึ่งจะมีผลดีย้อนกลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจมหภาคซึ่งมีฐานอยู่ในชุมชมที่แข็งแรงและยั่งยืน ไม่ใช่มีฐานอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน แปรผันและวิกฤตง่าย และอาจพากันล้มครืนทั้งระบบ เพราะการเกาะเกี่ยวกันสู่จุดวิกฤตที่กล่าวเมื่อเริ่มต้น
ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงก็จะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง นี่เป็นตรรกะที่เห็นได้ง่าย แบบที่ว่าพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน จะสร้างจากยอดไม่ได้ เพราะจะพังลงๆ เนื่องจากไม่มีฐานรองรับ ที่ผ่านมาเราทำประดุจสร้างพระเจดีย์จากยอด อะไรๆ ก็จะเอาแต่ข้างบน ทั้งนี้เพราะ “อวิชชา” หรือความไม่รู้ หรือความหลง
อวิชชาในสังคมไทยเกิดจากระบบการศึกษาแบบที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ที่ทำมากว่า 100 ปี ทำให้ชนชั้นนำทั้งหมดไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย หรือที่เรียกว่าไม่รู้ภูมิบ้านภูมิเมือง เมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ ไปหลงตามความคิดฝรั่ง ที่ถึงจะเก่ง แต่หลักคิดหลักปฏิบัติเขาผิด คือคิดแบบแยกส่วนทำแบบแยกส่วน จนโลกเสียสมดุลทุกมิติและวิกฤตจนโควิดมา
ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องใช้ภูมิปัญญาบูรณาการ พาประเทศออกจากวิกฤต จากทั้งภัยทางเศรษฐกิจ ภัยแบบโควิด และภัยจากระบบการศึกษาที่ผิด สร้างประเทศไทยที่มีความภูมิคุ้มกัน