"...อย่างไรก็ดี เมื่อผมได้มีโอกาสขอความรู้จากพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ในระหว่างไปร่วมกิจกรรมที่ท้องสนามหลวงในช่วงวันพ่อแห่งชาติ พลเอกบุญสร้างให้แง่คิดว่า ถ้าใช้หลักอาวุโสกับทุกชั้นยศและระดับตำแหน่ง ผู้เพิ่งเข้ารับราชการไม่นานต่างก็จะยังไม่มีผลงานอะไรที่แตกต่างกันมาก ซึ่งจะต่างกับชั้นยศตำแหน่งสูงที่กว่าจะไต่ระดับไปถึงชั้นนั้นก็จะมีทั้งผลงานและความยากง่ายของงานในราชการที่ได้พิสูจน์กันมาแล้วพอประมาณ พลเอกบุญสร้างให้ข้อสังเกตว่า ที่จริงคำว่าอาวุโสนั้น ดูท่าแต่ละวงราชการก็อาจยังมีความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียว..."
....................................
ทีนี้ก็มาถึงประเด็นท้าทายที่สอง คือเรื่องสาระสำคัญเกี่ยวกับ วิธีการพิจารณาความดีความชอบในการเติบโตของข้าราชการตำรวจ
ซึ่งสาระสำคัญในประเด็นนี้ของร่างกฏหมายต่างฉบับ แต่ชื่อเรียกเดียวกันข้างต้น ก็มีความแตกต่างกันพอควร
ตรงนี้แหละที่ทำให้ ฝ่ายนิติบัญญัติต้องสนใจ เมื่อกลางปีที่แล้ว คณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา ที่มีท่านรองประธานวุฒิสภา ท่านศุภชัย สมเจริญ ให้ความสนใจ จึงมอบให้ประธานอนุกรรมการด้านกฏหมายของคณะกรรมการวิชาการ คือท่านสว.กล้าณรงค์ จันทิก นำเรื่องนี้มาคลี่ศึกษา ทำให้พบว่า เฉพาะร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2 ร่าง หลัง โดยยังไม่ต้องหยิบร่างของ พลเอกบุญสร้างมาเปรียบเทียบเลย ก็มีข้อความสำคัญต่างกัน ถึง 30 ประเด็น!!
แต่จุดเปราะบางที่สำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาในข้อกฏหมายรัฐธรรมนูญก็คือ
ประเด็นแตกต่างลำดับที่ 21 ว่าด้วยเรื่องหลักการประเมินและความอาวุโสในการคัดเลือกหรือเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในแต่ละระดับของตำรวจตามร่างมาตรา74 ของร่างฉบับที่ผ่านครม.ว่ามีสาระขัดกับความมุ่งหมายที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ2560 มาตรา 258 ง. (4) หรือเปล่า?
เพราะคำในรัฐธรรมนูญบอกว่า..." ในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้าย(ตำรวจ) ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน...."
แต่ในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านมติครม. มาสู่รัฐสภากำหนดว่าให้นำลำดับอาวุโสมาพิจารณาในการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจแต่ละระดับตำแหน่งไม่เท่ากัน
โดยถ้าเป็นการพิจารณาตำแหน่งระดับรองจเรตำรวจขึ้นไปจนถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาด้วยลำดับอาวุโส ไม่ใช้หลักเรื่องความรู้ความสามารถ!!
ระดับผู้บังคับการถึงผู้บัญชาการ ให้เรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่า 50% ที่เหลืออีกครึ่ง จึงจะใช้ความรู้ความสามารถ!!
ระดับรองผู้บังคับการลงมาจนถึงสารวัตรให้เรียงตามลำดับอาวุโส30%ที่เหลือจึงจะใช้ความรู้ความสามารถ!!
และถ้าต่ำกว่าสารวัตรให้คำนึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน
ประเด็นจึงต้องพิจารณาว่า วิธีนี้จะถือได้ว่าสอดคล้องกับความมุ่งหมายตามคำในรัฐธรรมนูญ2560หรือไม่
เพราะรัฐธรรมนูญบอกให้ใช้ประกอบกัน
ซึ่งสำหรับเราท่าน
ก็คงแปลว่าในการจะเอาใครขึ้น เราคงดูทั้งสองอย่างประกอบกัน
แต่ในร่างกฏหมาย เหมือนจะแปลว่า หมอนี่มาด้วยความรู้ความสามารถโดยข้ามอาวุโสมาได้เลย
ส่วนอีกราย ไม่ได้มีความรู้ความสามารถขนาดนั้น แต่ขึ้นมาตามอาวุโส
แล้วประชาชนจะได้ความมั่นใจเวลาไปติดตามคดี ไปให้ปากคำคดีมากขึ้นมั้ยหนอ
อย่างไรก็ดี เมื่อผมได้มีโอกาสขอความรู้จากพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ในระหว่างไปร่วมกิจกรรมที่ท้องสนามหลวงในช่วงวันพ่อแห่งชาติ พลเอกบุญสร้างให้แง่คิดว่า ถ้าใช้หลักอาวุโสกับทุกชั้นยศและระดับตำแหน่ง ผู้เพิ่งเข้ารับราชการไม่นานต่างก็จะยังไม่มีผลงานอะไรที่แตกต่างกันมาก ซึ่งจะต่างกับชั้นยศตำแหน่งสูงที่กว่าจะไต่ระดับไปถึงชั้นนั้นก็จะมีทั้งผลงานและความยากง่ายของงานในราชการที่ได้พิสูจน์กันมาแล้วพอประมาณ พลเอกบุญสร้างให้ข้อสังเกตว่า ที่จริงคำว่าอาวุโสนั้น ดูท่าแต่ละวงราชการก็อาจยังมีความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
อนึ่ง ในเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้กลับมาใช้หลักอาวุโสนั้น ว่าจริงๆก็คงไม่ถึงกับเป็นหลักปราถนาแรกหรอก เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ2560 กำหนดไว้ว่า ถ้าคณะกรรมการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ครม.ตั้งขึ้น คือหมายถึงชุดพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์นี้ หากทำร่างกฏหมายเสนอไม่ทันในหนึ่งปีนับแต่รัฐธรรมนูญ2560ประกาศใช้ ก็ให้นำหลักอาวุโสมาใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจแทน
รัฐธรรมนูญมาตรา260 วรรคท้ายสุดบอกว่า
ถ้าครบกำหนดเวลา1ปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้(คือเมื่อผ่านวันที่7เมย.2561เป็นอันครบ1ปี เพราะประกาศใช้วันที่6เมย.2560) แล้ว ถ้าการแก้ไขปรับปรุงกฏหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
แปลว่าหลักอาวุโสนี้เป็นดั่งเงื่อนไขบังคับหลังให้ใช้ ถ้าระบบตามกฏหมายใหม่ถูกนำเข้ามาไม่ทันใช้ในหนึ่งปีหลังรัฐธรรมนูญเริ่มมีผล
ระบบอาวุโสจึงเหมือนจะเป็นระบบสำรอง ส่วนจะเป็นสำรองชั่วคราว หรือเป็นสำรองถาวร รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกไว้ตรงๆ
แม้ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่ารัฐธรรมนูญคงไม่ถึงกับปิดตายระบบพิจารณาแบบอื่นถ้าทำให้สัมฤทธิ์เป้าหมายที่รัฐธรรมนูญตั้งเป้าไว้เรื่องกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจ
และบัดนี้ร่างกฏหมายมาถึงรัฐสภาแล้ว
ถึงจะช้ากว่าหนึ่งปีที่รัฐธรรมนูญตั้งเป้าเร่งรัดไว้ก็ตาม
แต่การที่ร่างที่3 คือร่างที่รัฐบาลส่งมายังรัฐสภาคราวนี้ มีวิธีคำนึงถึงอาวุโสต่างไปจากร่างที่2ที่ชุดอ.มีชัยร่างไว้ทีเดียว
รัฐธรรมนูญมาตรา258ง (4)บอก..."ให้....แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ.....ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถ"ประกอบกัน" เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน"....
จึงทำให้มีผู้สงสัยว่า แล้วการทำระบบพิจารณาเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายอย่างไหนจึงจะสอดคล้องกับข้อความตามรัฐธรรมนูญกันแน่
แต่ไม่ว่าอย่างไร
กติกาใดๆย่อมมีข้อยกเว้นแต่เราต้องแน่ใจว่า การบริหารนั้นต้องบริหารด้วยหลักกติกา อย่าให้เอาข้อยกเว้นมาใช้เป็นหลัก
กับอีกสิ่งที่ควรจะยึดให้มั่น คืออย่าเล่นพรรคเล่นพวก กติกากลายเป็นเครื่องมือในการใช้อธิบายตามหลังว่าคนนี้ขึ้นมาด้วยเหตุอะไร คนนั้นถูกย้ายไปโน่นด้วยเหตุอะไร เพราะผู้ใหญ่มีธงไว้แล้ว
แต่จะร้ายกว่านั้น ถ้าผู้ใหญ่ไม่รู้จักคนถูกย้ายเลย แต่ที่ลงนามทั้งโผไปเพราะลูกทีมหน้าห้อง คนใกล้ชิดภายในเป็นฝ่าย"จัดสรร"แทนนาย หรือสอดไส้ให้นาย
อันนี้ต้องเลิกให้ได้
เพราะต่อให้มีกรรมการคุณธรรมไป กว่าจะได้ผลอะไร คนถูกย้ายถูกแซงก็ถูกส่งไปหลังเขาแถวชายแดนเสียแล้ว
ส่วนเรื่องอื่นที่สาระของร่างที่ 2 ต่างจากร่างที่3 อีกราว30ประเด็นก็คงเป็นปกติที่การพิจารณาของรัฐสภาจะถกเถียงกันได้อีกมาก
รวมทั้งเรื่องการยังคงข้อความตามกฏหมายวินัยทหารที่ยังติดคาอยู่ในกฏหมายตำรวจมาตั้งแต่ยุคปลายสงครามโลก ที่บอกว่าหากมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจเลี่ยงได้ ดังนั้นกฏหมายนี้จึงให้อำนาจผู้บังคับบัญชาใช้"กำลังหรืออาวุธ"!! จัดการกับลูกน้องที่ก่อการกำเริบหรือขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรืออาญา นี่อยู่ในร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติรอบนี้ มาตรา106
ข้อความอย่างเดียวกันนี้ที่จริงก็ปรากฏในกฏหมายพรบ.ตำรวจแห่งชาติฉบับ2547 และน่าจะคัดลอกใช้กันมาจากพรบ.วินัยทหาร2476 ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองโน่น
ฟังแล้วเป็นภาษาราชการสงครามมาก!!
ควรจะปรับปรุงได้หรือยัง?
ในฐานะกรรมการวิชาการ ของวุฒิสภาคนหนึ่ง ผมจึงขอนำเกร็ดที่รับรู้มาประมวลย่อเล่าใหม่ให้ผู้สนใจเรื่องการปฏิรูปวงการตำรวจได้ใช้ประกอบเป็นข้อมูลพื้นฐาน ก่อนจะติดตามการอภิปรายกันในรัฐสภาวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์นี้
คือวันนี้นี่แหละครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา กรรมการวิชาการ ของวุฒิสภา