"...มองอย่างสามัญชน เพื่อประโยชน์ในการแก้ “ปัญหาของบ้านเมือง” กฎหมายและขั้นตอนราชการจะทำให้ช้าหรือเร็วก็ทำได้ ให้ออกแนวอภินิหารก็เห็นมาแล้วหลายครั้ง ส่วนคำอ้างว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอนและเป็นอำนาจของหน่วยงาน คงไม่สำคัญเท่าความรับผิดชอบทางการเมืองและอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เช่นนั้นเราจะมีรัฐบาลไปทำไม..."
................................
การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐแม้ถูกระเบียบเป็นไปตามขั้นตอน แต่หาก “ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม” เพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน บ้านเมืองเสียหาย เกิดการเอารัดเอาเปรียบ อย่างนี้ควรเรียกคอร์รัปชันหรือไม่ เพื่อพูดคุยหัวข้อนี้ขอนำสามกรณีดังมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ คดีบอสกระทิงแดง รถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียว และโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟสสอง
คดีบอสกระทิงแดงกับการปฏิรูปตำรวจ – อัยการ..
คำถามที่ประชาชนต้องการคำอธิบายคือ นายตำรวจและอัยการคนไหนบ้างที่มีส่วนร่วมล้มคดี พวกเขาทำได้อย่างไร ใครบงการ
ถึงวันนี้ความคืบหน้าที่สังคมรับรู้มีเพียงข่าวนายตำรวจ 7 นายโดนลงโทษสถานเบาถูกกักยามและว่ากล่าวตักเตือน แสดงว่าตามพยานหลักฐานแล้วพวกเขาทำผิดเพียงคนละเล็กๆ น้อย แต่ผลจากการทำผิดเล็กน้อยตามตำแหน่งหน้าที่ของคนหลายคน เมื่อรวมกันแล้วกลับส่งผลเสียหายร้ายแรงจนเกือบล้มคดีใหญ่สำเร็จ ดังนั้นการวางแผนและทำเป็นขบวนการเช่นนี้ต้องมีผู้รู้เห็นชักใยเบื้องหลังอีกมาก
ส่วนอัยการแค่ตั้งกรรมการสอบสวนยังอลวนไปไม่ถึงไหนเลย ด้านนักการเมืองอดีต สนช. ที่พัวพันยิ่งไม่มีการแต่มีอีกสองประเด็นที่คนไทยต้องมาหาคำตอบกันกล่าวถึง
สังคมต้องการเห็นความชัดเจนและจริงใจจากรัฐบาลมากกว่านี้ ถูกต้องหรือที่อ้างว่าทุกอย่างกำลังดำเนินการตามขั้นตอน ตามสายงานและกรอบของกฎหมาย ผลการสอบสวนของอาจารย์วิชา มหาคุณและคณะจะเปิดเผยทั้งหมดก็ไม่ได้ แถมยังมีคำเปรียบเปรยอีกว่า นายสิบทำผิดจะให้นายพลต้องรับผิดชอบด้วยได้อย่างไร
เรื่องนี้คนที่ไม่ซื่อสัตย์ บิดเบือนกฎหมาย ปกป้องพวกพ้อง คือคนคอร์รัปชัน โกงชาติโกงประประชาชน
ความขัดแย้งและพฤติกรรมน่ากังขากรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียว..
รฟม. และ กทม. เป็นสมบัติของประชาชน จะประมูลหรือต่อสัมปทานรถไฟฟ้า แต่ละครั้งต้องรักษาผลประโยชน์ประชาชน ลองเปรียบเทียบดูว่าช่วงเวลาอย่างนี้หากเราประหยัดหรือหาเงินได้มากขึ้นสักหมื่นล้านบาท ก็มากพอไปซื้อวัคซีนโควิดมาฉีดให้ประชาชนนับสิบล้านคน เอาเงินไปแจกคนที่เดือดร้อนคนละสามพันบาทได้สามล้านกว่าคน
พฤติกรรมที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ของสองโครงการนี้ สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งของนักการเมืองร่วมรัฐบาล การอ้างกฎหมายพิเศษและใช้อำนาจของผู้บริหารหน่วยงานอย่างผิดเพี้ยนไปจากแบบแผนราชการ พฤติกรรมหลายอย่างเชื่อมโยงกันส่อถึงการต่อรองผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางราย
เรื่องนี้ใครที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ไม่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน มุ่งแต่ประโยชน์ทางการเมือง คือคนคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวง
โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟสสอง..
เป็นปมปัญหายืดเยื้อ เพราะ ทอท. ดึงดันจะลงทุนหลายหมื่นล้านบาทขยายสนามบินในรูปแบบที่ขัดแย้งกับความเห็นของสภาพัฒน์ และ ป.ป.ช. รวมถึงสมาคมวิชาชีพ เช่น วิศวกร สถาปนิก วิศวกรที่ปรึกษา
รัฐบาลในเป็นถือหุ้นใหญ่ของ ทอท. ดังนั้นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีรวมถึงปลัดกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ย่อมมีสิทธิ์โต้แย้งเปลี่ยนแปลง แต่ทุกคนกลับนิ่งเฉยไม่แสดงจุดยืนปล่อยให้ ทอท. ให้ข่าวและคืบหน้าต่อไปตามใจชอบ
ทอท. ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย การจะทำอะไรต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ทุกการตัดสินใจต้องโปร่งใส อธิบายทุกเรื่องได้ด้วยความรับผิดชอบ
เรื่องนี้ใครทำให้ประโยชน์ของชาติเสียหาย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง คือคนคอร์รัปชัน โกงชาติโกงแผ่นดิน
อภินิหารของกฎหมาย..
“กฎหมายมีทางออกเสมอ” ดูกรณีชาวบ้าน 1.7 หมื่นรายรับเบี้ยคนชราแล้วรับเงินบำนาญซ้ำซ้อน เกิดปัญหาไม่กี่วันทางราชการหาทางออกโดยแก้กฎระเบียบเสียใหม่ ล่าสุดสำนักงานอาหารและยาเพิ่งแก้ไขระเบียบให้เอกชนยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ป้องกันโควิดได้ภายใน 1 วัน เปิดโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ได้ภายใน 5 วันจากเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ
มองอย่างสามัญชน เพื่อประโยชน์ในการแก้ “ปัญหาของบ้านเมือง” กฎหมายและขั้นตอนราชการจะทำให้ช้าหรือเร็วก็ทำได้ ให้ออกแนวอภินิหารก็เห็นมาแล้วหลายครั้ง ส่วนคำอ้างว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอนและเป็นอำนาจของหน่วยงาน คงไม่สำคัญเท่าความรับผิดชอบทางการเมืองและอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เช่นนั้นเราจะมีรัฐบาลไปทำไม
อ่านถึงตรงนี้ สรุปว่าสามกรณีที่กล่าวเกิดคอร์รัปชันตรงไหนบ้างไหมครับ
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)