"...สิ่งที่พิเศษอย่างหนึ่งในการทำรัฐประหารครั้งนี้ คือกองทัพทหารเมียนมาพยายามทำให้รูปแบบการรัฐประหารอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยกมาตรา 417 ในรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยกองทัพ ระบุว่า ประธานาธิบดีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสามารถถ่ายโอนอำนาจให้กับกองทัพได้ ส่งผลให้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ถูกแทนที่โดยโครงสร้างของกองทัพซึ่งก็ไม่ได้ขัดตามหลักกฎหมาย..."
.........................................
ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครองของเมียนมา กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.ปัจจัยสะสม กล่าวคือเมียนมามีการปกครองด้วยระบอบทหารมายาวนาน ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยแต่ก็ยังควบคุมโดยกองทัพ เพียงแต่ในระยะหลังๆ ฝั่งพลเรือนมีอำนาจมากขึ้น จนกองทัพไม่สามารถควบคุมภูมิทัศน์การเมืองได้ถนัด 2.ปัจจัยกระตุ้นที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชน ทำให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USPD) ที่มีกองทัพหนุนไม่สามารถสู้ได้ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งช่วงเดือน พ.ย. 2563 ทำให้กองทัพตัดวงจรไม่ให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยสามารถสยายปีกได้ต่อไป ด้วยการสร้างรัฐทหารชั่วคราว จับกุมผู้นำ และประกาศสภาวะฉุกเฉิน
“การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา ถูกเปลี่ยนโดยชนชั้นผู้นำทหาร เพราะฉะนั้นจะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้ในเร็วพลัน สิ่งที่รัฐบาลทหารต้องการคือการมีประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2551 ของเมียนมาก็ยังมีตัวแทนจากกองทัพ ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์เข้าไปถ่วงดุลกับรัฐบาลพลเรือน” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว
ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวอีกว่า ฝ่ายกองทัพระบุถึงเหตุผลในการรัฐประหารครั้งนี้ว่า การเลือกตั้งที่จัดโดยรัฐบาล NLD ไม่โปร่งใส เกิดสถานการณ์การสู้รบ และการระบาดของโควิด ที่ทำให้บางพื้นที่ไม่สามาถจัดการเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตามตนเองมองว่าเหตุผลดังกล่าวไม่มีน้ำหนักมากจนต้องทำรัฐประหาร
"สิ่งที่พิเศษอย่างหนึ่งในการรัฐประหารครั้งนี้ คือกองทัพทหารเมียนมาพยายามทำให้รูปแบบการรัฐประหารอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยกมาตรา 417 ในรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยกองทัพ ระบุว่า ประธานาธิบดีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสามารถถ่ายโอนอำนาจให้กับกองทัพได้ ส่งผลให้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ถูกแทนที่โดยโครงสร้างของกองทัพซึ่งก็ไม่ได้ขัดตามหลักกฎหมาย" ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 417 ระบุถึงการประกาศสภาวะฉุกเฉินว่า ต้องเกิดอันตรายต่ออธิปไตยแห่งรัฐ เช่น มีการรุกรานจากกองกำลังต่างชาติ เกิดสงครามกลางเมือง หรือมีเหตุการณ์รุนแรง จึงจะทำได้ แต่ที่ผ่านมาในเมียนมาไม่ได้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
ในเรื่องของความรุนแรงของสถานการณ์นั้น เริ่มมีกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจต่อการทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินถอยหลัง ซึ่งตนเองมองว่าฝ่ายที่ยึดอำนาจในครั้งนี้เตรียมรับมือไว้แล้ว ต่อการจถูกกดดันจากนานาชาติ และการเคลื่อนขบวนของประชาชน ทั้งนี้กองทัพเมียนมามีความช่ำชองในการตั้งรับการประท้วง และรู้จักยุทธศาสตร์ในเมืองเนปิดอว์ ซึ่งเป็นจุดยึดอำนาจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะออกมาประท้วง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบของถนนขนาดใหญ่ และสถานที่ราชการที่ตั้งห่างกันพอสมควร ภูมิทัศน์เหล่านั้นจะเอื้อให้กับกลุ่มกองทัพในการส่งรถถังไปในภูมิทัศน์ที่กว้างกว่า เพื่อล้อมกรอบประชาชน
ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวถึงผลกระทบจากการรัฐประหารต่อประเทศไทยว่า การรัฐประหารอาจทำให้กระบวนการ และกระบวนการติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งก็มีไม่น้อยตามตะเข็บชายแดนไทย – เมียนมาสะดุดลง เนื่องจากกองทัพเข้ามายึดอำนาจ ส่วนเรื่องการเปิด-ปิดด่านการค้าชายแดน ไทยจะได้รับผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าและบริการ ทั้งนี้อาจจะต้องดูถึงสัญญาต่างๆ ที่ภาคธุรกิจและเอกชนไทยเข้าไปติดต่อด้วย ซึ่งจะต้องจับตาดูต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง
สำหรับโรคระบาดโควิด กองทัพไทยได้ตรึงกำลังมากขึ้นเพื่อป้องการหลบหนีเข้าเมืองของผู้ติดเชื้อในเมียนมา ผู้ลี้ภัย และนักกิจกรรมทางการเมืองที่อาจจะลอบเข้ามา อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานที่แน่ชัด ในอนาคตจะต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อว่าจะเป็นอย่างไร
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage