“…แต่แล้วเราก็โดนโควิดอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 ดังนั้นเศรษฐกิจที่กำลังจะเริ่มดีขึ้นก็กลายเป็นว่าถูกกระทบไปอีกรอบ หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าธุรกิจที่เพิ่งหายเจ็บก็โดนไปอีก แล้วก็คงจะลามไปถึงธุรกิจหลายๆ อย่าง ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ไม่มีมาตรการล็อคดาวน์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ล็อคดาวน์ตัวเองไปแล้ว…เหมือนต้องกลั้นหายใจเป็นเวลานานมาก ซึ่งไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว…”
...........................
การระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจทั้งในไทยและทั่วโลก มาตรการควบคุมที่รัฐบาลไทยนำมาใช้ส่งผลอย่างยิ่งต่อธุรกิจในทุกภาคส่วนรวมถึงแรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบางต่างๆ ก่อนที่เศรษฐกิจจะค่อย ฟื้นคืนกลับมาในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ทว่า แต่แล้วก็เกิดการกลับมาของโควิด-19 ระลอกสอง ในช่วงปลายปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาทรุดหนักอีกครั้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.ภัทร โดยวิเคราะห์ถึงภาพรวมของผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ภายหลังจากเกิดวิกฤติโควิดระลอกสองที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและมีความรุนแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 โดยประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 2-3 ปีนับจากนี้ กว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นคืน รวมถึงแนะแรงงานนอกระบบ ควรทำประกันสังคมเพื่อสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งฝากถึงรัฐซึ่งมีงบประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท ควรถูกนำมาใช้เยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึงและจริงจัง
ด้าน นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย อธิบายถึงความเดือดร้อนของแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบในระดับรากลึกของแต่ละชุมชน แต่ละครอบครัว ทั้งฝากข้อเรียกร้องต่างๆ ที่อยากให้รัฐช่วยเหลือ เยียวยา อาทิ นโยบายลดค่าน้ำค่าไฟ เหมือนเมื่อครั้งการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก รวมถึงการควบคุมราคาสินค้า เนื่องจากมีสินค้าที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินควร สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อย ทั้งฝากถึงรัฐและกระทรวงแรงงานให้เยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ซึ่งที่ผ่านมา รัฐไม่ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แต่อย่างใด
เหล่านี้ คือทัศนะที่น่าสนใจต่อทั้งเศรษฐกิจในภาพรวมและความเดือดร้อนของแรงงานนอกระบบ อันเนื่องมาจากวิกฤติโควิดระลอกสอง
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.ภัทร / ภาพจาก https://mgronline.com/
ผลกระทบที่แตกต่างของการระบาดระลอกแรก-ระลอกสอง
@ วิเคราะห์วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระลอกสอง ว่าต่างจากรอบแรกอย่างไรบ้าง ?
พิพัฒน์ : รอบนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคือจำวนผู้ติดเชื้อมากกว่ารอบแรกแล้ว โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน ถ้าหากยังจำได้ ในรอบแรก ตอนที่สั่งปิดเมืองนั้น มีผู้ป่วย 188 คนเท่านั้น ขณะที่ครั้งนี้ บางวันมีผู้ป่วยสูงสุด 800 ราย แต่รัฐบาลกับประชาชนทั่วไปก็ยังไม่ตื่นตระหนกเท่า เพราะฉะนั้น รอบนี้ทั้งรัฐบาลและประชาชน ทั่วไป เข้าใจมากขึ้น และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลดูเหมือนจะเบากว่ารอบที่แล้ว มาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการเชิงพื้นที่ และเศรษฐกิจตามความเสี่ยง ไม่ได้เคอร์ฟิวส์ทั้งประเทศ
ขณะที่ในคราวที่แล้ว บางจังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อเลย แต่ก็โดนเคอร์ฟิวส์ไปด้วย ดังนั้น ในแง่ของผลกระทบจากการระบาดจะส่งผลมาถึงเศรษฐกิจยังไงก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย ซึ่งเท่าที่เห็นคือนโยบายเบากว่า ไม่ได้ปิดเมือง ใช้มาตรการที่เบากว่า ซึ่งสถานการณ์มันก็อาจจะลากยาว ดังนั้น จึงเริ่มเห็นแล้วว่าแม้ไม่ได้สั่งปิดเมือง แต่ก็กระทบเศรษฐกิจแน่ๆ
เช่น มีการปิดธุรกิจบางประเภท อาทิ ปิดร้านอาหาร ช่วงแรกอาจไม่ให้เปิดตอนกลางคืน หรือสั่งงดการเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งประเด็นพวกนี้กระทบแน่ๆ ทั้งต่อธุรกิจอาหาร การท่องเที่ยวในประเทศ การขนส่ง การโรงแรม และธุรกิจต่างๆ กระทบหมด ตัวอย่างเช่น วันนี้ เดิมที คนกรุงเทพฯ ควรจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวไปต่างจังหวัด ก็ได้รับผลกระทบหมด หรือภูเก็ตอาจไม่มีผู้ติดเชื้อเลย แต่ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวไป เพราะนักท่องเที่ยวติดอยู่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น มันก็ส่งผลกระทบ และอาจอยู่กับเราไปอีกสักระยะ
คนส่วนใหญ่ ล็อคดาวน์ตัวเอง
การแพร่กระจายของเชื้อในรอบนี้ดูเหมือนจะรุนแรงกว่า แพร่กระจายไปแล้วมี Cluster (คลัสเตอร์-ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ) ในประเทศมากกว่าครั้งที่แล้ว มันกระทบต่อหลาย Sector ที่เพิ่งจะฟื้นตัวมาจากการที่ปิดเมือง จนไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ ในช่วง พ.ค. 2563 จากนั้นก็ค่อยๆ ทยอยผ่อนปรนมาตรการ ซึ่งคนก็เพิ่งจะเริ่มเดินทาง เริ่มจับจ่ายใช้สอย
ไตรมาสสามของปีที่ผ่านมา ดีกว่าที่คาด เดือน ต.ค. พ.ย.2563 เราเห็นตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนการบริโภค ตัวเลขเป็นบวก ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบปี แต่แล้วเราก็โดนโควิดอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 ดังนั้นเศรษฐกิจที่กำลังจะเริ่มดีขึ้นก็กลายเป็นว่าถูกกระทบไปอีกรอบ หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าธุรกิจที่เพิ่งหายเจ็บก็โดนไปอีกรอบ แล้วก็คงจะลามไปถึงธุรกิจหลายๆ อย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ไม่มีมาตรการล็อคดาวน์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ล็อคดาวน์ตัวเองไปแล้ว ใช้จ่ายน้อยลง ออกไปข้างนอกน้อยลง เดินทางน้อยลง ก็คงกระทบอยู่พอสมควร
รัฐควรรักษาเสถียรภาพในการจ้างงาน
@ เงินกู้ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยังเหลืออยู่อีกสองแสนกว่าล้านบาท มองว่าควรจะนำมาเยียวยาในส่วนไหนอย่างไรบ้าง?
พิพัฒน์ : คือจริงๆ เหลือเยอะกว่านั้นอีกครับ มีหกแสนล้านบาทที่เหลืออยู่ คือแบ่งงบประมาณเป็นสองส่วน จากหนึ่งล้านล้านบาทที่เคยประกาศออกมา มีส่วนที่นำเอาไปใช้เรื่องเยียวยา 5,000 บาทในรอบแรก ก็ยังเหลือแสนกว่าล้านบาท รวมสองส่วนก็น่าจะยังเหลือสามแสนถึงสี่แสนล้านบาท ก็ยังถือว่าเยอะพอสมควร ยังพอใช้อยู่ แล้วก็ควรจะนำมาใช้
โดย Priority (ไพรออริตี้ ) มีอยู่ 3 เรื่องใหญ่
1.ด้านสาธารณสุข ทำยังไงก็ได้ให้เราควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด งบประมาณด้านสาธารณสุขถือว่ามีความจำเป็น ก็อาจจะต้องลดไพรออริตี้ด้านอื่น แล้วนำเอางบส่วนนี้ไปใช้
2.ด้านการเยียวยา ระดับแรก ต้องเยียวยาผ่านประกันสังคม รวมถึงธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ แต่อาจต้องรักษาสถานภาพของลูกจ้างเอาไว้ ไม่เช่นนั้นนายจ้างต้องจ่ายเงินไปเรื่อยๆ หรือเลิกจ้าง ทำยังไงจะให้นายจ้างยังสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้ ก็อาจนำเอาเงินประกันสังคม มาใช้ในส่วนนี้ ในกรณีที่จำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน ถ้าปล่อยไว้นายจ้างไม่สามารถจ้างไหว ก็กลายเป็นว่าในอนาคต ถ้าธุรกิจกลับมาฟื้น แต่ลูกจ้างอาจกลับมาไม่ได้แล้ว ดังนั้น อยากให้ช่วยเหลือเรื่องการจ้างงาน
3.อีกฝั่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือ ลูกจ้างนอกระบบ ที่ไม่ได้มีประกันสังคม ตรงนี้ก็อาจจะต้องหาวิธีที่เข้าไปช่วยเหลือ
ร้ายแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 40
@ เคยมีนักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ระลอกแรกร้ายแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 คุณมองอย่างไร และผลสะท้อนจากวิกฤติโควิดรอบแรกจนถึงรอบนี้ อีกนานไหมกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ ?
พิพัฒน์ : ผมคิดว่า ถ้าโดยรวมวิกฤติโควิดจะแรงกว่าต้มยำกุ้ง เพราะมันกระทบต่อคนทุก Sector (เซ็คเตอร์) เลย ตอนต้มยำกุ้ง อาจจะกระทบเพียงกลุ่มผู้ประกอบการและพนักงาน แต่เกษตรกรและคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้รับผลกระทบเยอะมากนัก แต่ครั้งนี้ มันกลับกัน เพราะไปกระทบกับคนหาเช้ากินค่ำ และคนทำธุรกิจ เหมือนถูกบังคับให้ต้องหยุดประกอบธุรกิจ หยุดชะงักเป็นเวลานาน เหมือนต้องกลั้นหายใจเป็นเวลานานมาก ซึ่งไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง คนหันไปพึ่งภาคเกษตร ภาคส่งออก เศรษฐกิจก็ฟื้นกลับมาได้ แต่ครั้งนี้ถูกควบคุมโดยเชื้อไวรัสที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ ก็ไม่รู้จะจบลงยังไง แล้วก็ถ้าดูในแง่ของตัวเลขปีที่แล้ว ติดลบ 6% ปีนี้ผมคิดว่าอาจจะฟื้นกลับไปไม่ถึงครึ่งของที่หล่นลงมาเมื่อปีที่แล้ว
ดังนั้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีถึงจะฟื้นเศรษฐกิจกลับไปได้เท่าเดิม แสดงว่าลบรายได้ออกเป็นเวลา 2-3 ปีเลย
รออีก 2-3 ปี กว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว
@ กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นคืนมาได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ประชาชนควรประคองตัวเองอย่างไร ?
พิพัฒน์ : ตอนนี้ มี 2-3 เรื่อง
1.ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันว่าทำอย่างไรให้หยุดการแพร่กระจายเชื้อให้ได้ ซึ่งวันนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ พยายามหลีกเลี่ยงการทำตัวเป็น Super spreader (ซูเปอร์สเปรดเดอร์-ผู้ที่แพร่เชื้อออกเป็นวงกว้าง ) หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแน่นๆ เพราะถ้าเราเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ อีกคนหนึ่งก็ทำให้ปัญหานี้ไม่จบ
2. อาจจะต้องมองดูสถานการณ์ ว่าเราอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร เป็นอย่างไร เราควรจะอยู่ต่อไปไหม เช่น สถานการณ์กลุ่มท่องเที่ยว วันนี้ ก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าเราจะปรับอะไร จากเดิมที่ปรับจากรับนักท่องเที่ยวฝรั่ง มาเป็นนักท่องเที่ยวไทย แล้วตอนนี้นักท่องเที่ยวไทยก็ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นต้องคิดว่าจะปรับอย่างไร
3.สำหรับประชาชนแล้ว รัฐเป็น Sector เดียวที่จะช่วยเหลือได้ ควรจะส่งเสียงไปให้ถึงรัฐบาล หรือรวมกลุ่มกันเพื่อส่งเสียงถึงมาตรการที่เหมาะสม ว่าคืออะไร นำเสนอออกไป และอาจจะต้องหาวิธีการปรับตัว เช่น การขายอาหาร วันนี้ช่องทางออนไลน์ก็ช่วยได้มากขึ้น ก็ต้องปรับตัวสำหรับธุรกิจตัวเอง
แนะแรงงานนอกระบบ สมัครเป็นผู้ประกันตน
@ กลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น มอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถแท็กซี่ แรงงานนอกระบบอื่นๆ หรือแม้แต่แรงงานก่อสร้าง มีนโยบายอะไรที่รัฐจะสามารถช่วยได้ ?
พิพัฒน์ : ผมมองว่าวิกฤติรอบนี้ชี้ให้เห็นว่าการทำประกันสังคมเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งต่อลูกจ้าง และรัฐ
สมัยก่อนคนอาจคิดว่ารายได้น้อย รายได้ไม่สม่ำเสมอ จะไปอยู่ในประกันสังคมได้ยังไง วันนี้ก็จะเห็นภาพว่าถ้าเราไม่มีข้อมูลในประกันสังคม รัฐจะไม่รู้เลยว่าจะช่วยได้อย่างไร เช่น กรณีจ่ายเงินชดเชย ยกตัวอย่าง ถ้ามอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง แผงลอย แรงงานนอกระบบต่างๆ ที่ไม่มีประกันสังคม ดังนั้น ผมว่าการแก้ปัญหาระยะยาวคือหาวิธีลงทะเบียนประกันสังคม ฝั่งลูกจ้างเอง หรือคนที่ทำงานนอกระบบ ต้องกลับเข้ามาในระบบเพื่อแสดงตัวว่าเราทำอะไร เป็นใคร จ่าย Contribution เพื่อเป็นการประกัน เขาจะได้รู้ว่าเราอยู่ตรงนี้ เดือดร้อนยังไง จะช่วยอย่างไร เพราะประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณะคือ ความท้าทายประการหนึ่งคือ รัฐไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไรเพราะรัฐไม่รู้ว่าผู้เดือดร้อนอยู่ตรงไหน เดือดร้อนเพราะอะไร ต้องให้คนกลุ่มนี้ เห็นว่า เมื่อเกิดปัญหา เขาจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ นี่คือสิ่งที่ช่วยเขาได้ ซึ่งกรณีการเยียวยาด้วยการแจกเงิน ทุกคนอาจมีคำถามว่าทั่วถึงจริงไหม
@ การรับมือของรัฐต่อโควิดระลอกใหม่มีส่วนใดที่ต้องปรับปรุง ?
พิพัฒน์ : ผมมองว่ามาตรการที่ออกมามีความสมเหตุสมผลมากขึ้น โดยมีการให้อำนาจแต่ละพื้นที่ออกมาตรการ ไม่ได้เป็นการใช้มาตรการเดียวกันทั้งประเทศ มีการใช้มาตรการย่อยๆ ตามความเสี่ยง เช่นธุรกิจที่เสี่ยง และมีความพยายามป้องกันไม่ให้เกิดซุปเปอร์สเปรดเดอร์
แต่ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร และแนวนโยบาย to late เกินไป เช่น บางพื้นที่ ช่วงปีใหม่ กรุงเทพฯ สั่งให้ปิดผับแล้ว แต่เชียงใหม่ไม่ปิด ทำให้มีการระบาดเกิดขึ้น ภาวะแบบนี้กลุ่มที่เสี่ยงมากๆ อาจต้องมีมาตรการที่บังคับใช้ได้จริง เช่น ธุรกิจที่มีคนเข้ามาใช้เยอะๆ ต้องมีมาตรการอะไรมาป้องกัน ในส่วนนี้ต้องมีมาตรการทางสาธารสุข
ผมมองว่าเรื่องการสื่อสารต้องปรับปรุงเพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย / ภาพจาก https://voicelabour.org/
ผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบไม่น้อยกว่า 24.6 ล้านคน
@ วิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่ แรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบมากน้อยเท่าไหร่ จากแรงงานนอกระบบทั้งหมดในประเทศไทย ?
สุจิน : แรงงานนอกระบบ มี 24.6 ล้านคน เจอผลกระทบจากโควิดครั้งนี้คือผลกระทบต่อทั้งอาชีพและรายได้ ทั้งอาชีพค้าขาย วินมอร์เตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ รับจ้างทั่วไป ก็มีผลกระทบจากโควิด ค้าขายไม่ดี แท็กซี่ก็ลูกค้าน้อย มอร์เตอร์ไซค์รับจ้างมีลูกค้าน้อย เพราะคนไม่ค่อยออกนอกบ้าน ครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งที่แล้ว ผลกระทบมากกว่าครั้งที่แล้ว
ตัวเลขแรงงานในภาพรวมมี 24.6 ล้านคน แต่ตอนนี้คาดว่ามีมากขึ้น เพราะมีโรงงานที่ต้องปิดกิจการ พี่น้องเราก็ไปอยู่นอกระบบมากขึ้น โดนผลกระทบในวงกว้าง พี่น้องเราที่เป็นแรงงานนอกระบบถ้าเขามีที่นา มีสวนในต่างจังหวัด เขาก็กลับไปทำไร่ทำสวนได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีที่ทาง เพราะว่าขายที่ขายทางกันหมดแล้ว มาอยู่ในพื้นที่เมืองก็โดนผลกระทบมาก ในชุมชน ของกรุงเทพฯ เช่นค้าขาย ทุกวันนี้เงียบมาก ขายไม่ได้ ลงทุนไปแล้วขายไม่ได้ เขาก็จะโดนผลกระทบแรงงานนอกระบบมีต้นทุนน้อยอยู่แล้ว ลงทุนไปแล้ว ขายไม่ได้ ก็กู้หนี้ยืมสินมา ผลกระทบมาถึงลูก ถึงพ่อแม่บางคนก็แก่มาก คนที่นอนติดเตียงอยู่ก็ต้องดูแล รายได้ก็ไม่พอ ตอนนี้คนในชุมชนต่างๆ เดือนร้อนเยอะ กระทบกันเป็นลูกโซ่
@ แรงงานนอกระบบ กลุ่มไหนเดือดร้อนมากที่สุด ?
สุจิน : อาชีพค้าขายก็เดือดร้อนมาก มอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ คนก็ขึ้นน้อยลง ก่อสร้างก็ทำไม่ได้ในช่วงนี้ รับจ้างทั่วไปก็ได้รับผลกระทบ พอเราค้าขายไม่ได้ กลุ่มรับจ้างทั่วไปก็ไม่มีงาน ปัญหาอย่างนี้รัฐบาลจะจัดการยังไง
แนะรัฐมีมาตรการเยียวยา ค่าน้ำไฟ-ราคาสินค้า-พักชำระหนี้สิน
@ คิดว่ารัฐบาลควรจะมีมาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบอย่างไร ?
สุจิน : การเยียวยาตอนนี้ ที่รัฐเคยช่วยเหลือ มีเรื่องค่าน้ำค่าไฟที่เคยช่วยรอบแรก ครั้งนี้ได้รับผลกระทบแล้วก็อยากให้ช่วยเรื่องค่าน้ำค่าไฟเช่นกัน และอยากให้มีการควบคุมราคาสินค้า เพราะตอนนี้สินค้าบางอย่างก็ฉวยโอกาสขึ้นราคา คิดว่ารัฐควรจัดสรรงบประมาณ ดูแลประชาชนให้ปลอดภัยจากโควิดให้ดีที่สุด เพราะถ้าไปแจกจ่ายอย่างอื่น แต่คนเราสุขภาพไม่ดีก็ช่วยไม่ได้ อยากให้ดูแลเรื่องสุขภาพ ควบคุมราคาสินค้า ดูแลความเป็นอยู่ ครอบครัวดิฉันก็แย่ ลูกตกงานกันหมดแล้ว
จากเสียงสะท้อนจากพี่น้องแรงงานนอกระบบก็อยากให้ช่วยเรื่องค่าน้ำค่าไฟ เหมือนครั้งที่แล้ว ควรช่วยคนที่มีรายจ่ายเยอะ
รวมถึงเยียวยาคนที่มีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถไม่ไหวแล้ว จะมีมาตรการอย่างไร เพราะบริษัทที่เป็นเจ้าหนี้เขาไม่มาลดให้ รัฐบาลควรไปคุยกับบริษัทเหล่านั้น เพื่อลดหนี้ให้ หรือชะลอ พักหนี้ไปก่อนได้ไหม ไม่ควรมีดอกเบี้ยหรือค่าปรับ ไม่ควรจะเพิ่มขึ้น เพราะชีวิตความเป็นอยู่ก็แย่แล้ว
วอนเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 40
@ มีอะไรที่คิดว่ารัฐควรจะให้ความช่วยเหลืออีกบ้าง ?
สุจิน : ฝากประเด็นเรื่องประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ ตามมาตรา 40 เนื่องจาก ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน รัฐบาล ชดเชยเยียวยา เพียงเฉพาะมาตรา 33 และ 39 แต่ไม่เยียวยาหรือชดเชย มาตรา 40 ของแรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาเลย ทั้งที่อยู่ในกฎหมายประกันสังคมเหมือนกัน อยากเรียกร้องไปยังกระทรวงแรงงานว่า ประกันสังคม ควรจะมีมาตรการชดเชยเยียวยา แรงงานนอกระบบที่อยู่ในมาตรา 40 ด้วย
นอกจากนี้ การดูแลประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล อยากให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ว่าจะทำอย่างไรให้เขาผ่านพ้นภาวะนี้ไปได้ เพราะคุณเข้ามาเพื่อประชาชน ต้องดูแลเขาให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตินี้ไปให้ได้ ควรร่วมมือกัน ช่วยกันดูแลประชาชน
………………….
เหล่านี้ คือเสียงสะท้อนที่ฉายภาพให้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากพิษโควิด-19 ระลอกสอง ที่หวังให้รัฐเร่งเยียวยาต่อแรงงานนอกระบบ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงและการรับมือต่อเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนที่อาจตกต่ำซบเซาไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage