"...ไบเดน เป็นตัวแทนของพรรคที่มีค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม จึงเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศของ ไบเดน จะสอดคล้องกับนโยบายของพรรคเดโมแครต ไม่เฉพาะกับประเทศไทย แต่จะรวมถึงสถานการณ์ในฮ่องกง ไต้หวัน หรือกลุ่มอุยกูร์ ในซินเจียงของจีนด้วย เพราะพรรคเดโมแครตจะมองในมุมว่าการต่อสู้ของกลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวแทนประชาธิปไตยตามค่านิยมของสหรัฐ..."
...............................................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเสวนา RoLD Virtual Forum หัวข้อ THE UNITED STATES UNDER BIDEN’S PRESIDENCY : A Test for Rule of Law and Shifting Global Landscape เพื่อพูดถึงสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ นายโจ ไบเดน
ในมุมมองของนักวิชาการอย่าง ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างมีความเห็นตรงกันว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะยังคงมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองเอมริกาและพรรครีพับลิกันต่อไป เพราะได้สร้างระบบชุดความคิดอีกรูปแบบหนึ่ง ฝังรากลึกลงไปในกลุ่มชาวอเมริกันดั้งเดิม จนทำให้เห็นภาพความขัดแย้งในสังคมอเมริกันอย่างชัดเจน
ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ กล่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำที่มีลักษณะเฉพาะ สนใจในเรื่องของธุรกิจ ซึ่งต้องมีผู้ชนะและมีผู้แพ้ในการแข่งขัน ซึ่งต่างจากหลักรัฐศาสตร์ ที่ใช้หลัก win – win จะไม่สร้างศัตรู นั่นทำให้ตลอดการบริหารประเทศของทรัมป์ รวมถึงการลงเลือกตั้ง ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับหลักนิติธรรมมากนัก และด้วยจิตวิทยาการสื่อสารผ่านโซเชี่ยล มีเดีย ของทรัมป์ ก็ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุน มีความเชื่อแบบเดียวกับเขาไปด้วย เช่นเดียวกับที่เขาเคยถูกมองเป็นตัวตลกในการลงสมัครเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน แต่กลับสามารถหยิบยกประเด็นชาตินิยมแบบดั้งเดิมที่นักการเมืองคนอื่นไม่กล้าพูดในสาธารณะออกมานำเสนอ จนทำให้ได้รับความนิยมจากคนอเมริกันดั้งเดิมที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประเทศ และได้เป็นประธานาธิบดี ตนเองจึงเชื่อว่าทรัมป์ยังมีโอกาสที่จะกลับมาลงรับสมัครชิงตำแหน่งในอีก 4 ปีข้างหน้า
ดร.อาร์ม กล่าวอีกว่า การบริหารประเทศของทรัมป์เปลี่ยนแปลงอเมริกาไปในหลายด้าน ทั้งการยกเลิกข้อตกลงต่างๆในองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเรื่องการสู้กับสภาวะโลกร้อน การประกาศสงครามทางการค้ากับจีน การถอนทหารออกจากซีเรีย หรือแม้แต่การไปจับมือพูดคุยยกับผู้นำเกาหลีเหนือ ภายใต้หลักการ America First จะเห็นได้ว่าทรัมป์เป็นผู้นำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมาก
ดังนั้นไม่ควรสรุปว่า ผู้สนับสนุนทรัมป์มาจากเหตุผลเดียวกัน จึงจัดกลุ่มคนอเมริกันที่สนับสนุนทรัมป์ เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ต่อต้านชนชั้นนำ ซึ่งอาจไม่ได้ชื่นชอบทรัมป์ แต่ไม่ชอบตัวเลือกเดิมๆที่มักมีแต่ชนชั้นนำจากทั้งสองพรรค 2.กลุ่มที่สนับสนุนนโยบายของพรรครีพับลีกัน ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดรับชาวต่างชาติ ผู้ลี้ภัย และ 3.กลุ่มที่ชื่นชอบมีความเชื่อในตัวทรัมป์จริงๆ ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มเล็ก แต่ก็เป็นกลุ่มที่สำคัญ
"จากนี้ไปก็ต้องติดตามของประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งกล่าวในพิธีสาบานตนว่า ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ยึดหลักประชาธิปไตยโดยการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง นั่นจะสามารถทำให้คนในกลุ่มที่ 1 และ 2 เปลี่ยนใจได้หรือไม่" ดร.อาร์ม กล่าว
@อเมริกาในยุคของ 'ไบเดน' จะเปลี่ยนแปลงภายในอย่างไร
ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ กล่าวว่า ไบเดน เป็นนักการเมืองมา 40 ปี แต่คนไม่ค่อยรู้จัก และถูกเลือกมาชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะเป็นตัวเลือกเดียวในพรรคเดโมแครต ที่มีโอกาสจะชนะทรัมป์ได้ แต่พรรคเดโมแครตมีฐานเสียงกว้างมาก ในระยะแรกจึงต้องรวบรวมฐานเสียงเหล่านี้ให้ได้ก่อน เพราะในอนาคตอันใกล้อาจจะมีปัญหาเรื่องภายใน เช่น นโยบายภาษี จึงเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เดโมแครตอาจจะต้องเสียเสียงข้างมากในสภาได้ในอีก จากการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ขณะที่ ดร.อาร์ม วิเคราะห์จากการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนของไบเดนว่า ไบเดนจะไม่ได้เข้ามาสร้างความตื่นเต้นอะไรให้กับอเมริกา เพียงแต่จะนำอเมริกา กลับไปอยู่ในจุดเดิมก่อนจะมีทรัมป์ เป็นประธานาธิดี ข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งเรื่องสภาวะโลกร้อนที่เคยยกเลิกไปจะกลับมา และนโยบายสร้างกำแพงที่ชายแดนเม็กซิโกถูกยกเลิกไป ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคโอบามา 2 เพราะคณะทำงานที่เลือกมาเกือบทั้งหมด เป็นคนที่เคยทำงานในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ทั้งนี้จะยังมีหลายนโยบายจากยุคทรัมป์ ที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องสร้างชาตินิยมเพื่อกลับมาเป็นผู้นำโลก ที่ทรัมป์ได้สร้างค่านิยม 'America First' ทำให้ไบเดนทำได้เพียงปรับเปลี่ยนคำว่าค่านิยมนั้น ให้กลายเป็นค่านิยมทางการเมือง ในเรื่องหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย และความภูมิใจในความเป็นอเมริกา
@บทบาทของไทยในยุค 'ไบเดน' ต่อการเมือง-สิทธิมนุษยชน
ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ วิเคราะห์จุดยืนของพรรคเดโมแครตว่า เพราะพรรคเดโมแครตมีรากฐานมาจากนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้สหรัฐอาจจะเปลี่ยนแปลงและแสดงบทบาทต่อเรื่องการเมืองมากขึ้นกว่าในยุคของทรัมป์ ส่วนประเด็นมาตรฐานการดูแลแรงงานต่างด้าว ในยุคของไบเดน อาจมองในเชิงลึก ไปถึงการใช้แรงงานไม่เป็นธรรม การใช้วัสดุในการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยจะต้องเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) อีก
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ แนะนำว่า "ไทยควรเตรียมกระบวนการต่อรองกับสหรัฐในรูปแบบเชิงรุก เข้าไปอธิบายมาตรฐานเกี่ยวกับหลักนิติธรรมของไทยก่อน โดยอาจหาตัวกลางที่จะช่วยสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐให้เข้าใจในปัญหาต่างๆของไทยได้ แต่ต้องทำให้เห็นว่าการต่อรองนี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสหรัฐด้วย"
ขณะที่ ดร.อาร์ม อธิบายจากปรากฏการณ์สมาชิกวุฒิสภาลูกครึ่งไทย-อเมริกัน แทมมี่ ดักเวิร์ธ ทำหนังสือเรียกร้องให้สหรัฐสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยก่อนหน้านี้ ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อ ไบเดน เป็นตัวแทนของพรรคที่มีค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม จึงเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศของ ไบเดน จะสอดคล้องกับนโยบายของพรรคเดโมแครต ไม่เฉพาะกับประเทศไทย แต่จะรวมถึงสถานการณ์ในฮ่องกง ไต้หวัน หรือกลุ่มอุยกูร์ ในซินเจียงของจีนด้วย เพราะพรรคเดโมแครตจะมองในมุมว่าการต่อสู้ของกลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวแทนประชาธิปไตยตามค่านิยมของสหรัฐ
@สหรัฐยุค 'ไบเดน' ยังคงทำสงครามการค้ากับจีน ไทยต้องเลือกข้างหรือไม่?
ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ กล่าวว่า ส่วนที่น่าจะกระทบกับประเทศไทยก่อน คือ ประเด็นของทะเลจีนใต้ การทำสัญญา Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก การทำสัญญาComprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership (CPTPP) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หากไทยอาจจะถูกบังคับให้เลือกข้างระหว่างสหรัฐกับจีน ไทยจึงควรหารือในอาเซียน เพื่อให้การแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้เป็นไปในนามของอาเซียน ซึ่งจะทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองเพียงพอ
"สังคมของอเมริกา เป็นสังคมที่มีเหตุผล ถ้าไทยและอาเซียนสามารถอธิบายได้ว่า ยังมีบางเรื่องที่จะต้องร่วมมือกับจีน เช่น เส้นทางสายไหม การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่กระทบกับสหรัฐ และยังคงความเป็นพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐไว้ อย่างการฝึกคอบร้า โกลด์ ก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังราบรื่นได้" ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ ยืนยัน
ส่วน ดร.อาร์ม เห็นว่า นโยบายในยุค ไบเดน ต่อจีนในเชิงหลักการ เป็นนโยบายที่ไม่เปลี่ยนไปจากยุคของ ทรัมป์ มากนัก เพราะความรู้สึกว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคาม และจะเป็นมหาอำนาจรายใหม่ กลายเป็นความรู้สึกร่วมกันทั้งของเดโมแครตและรีพับลิกัน แต่รูปแบบการรับมือกับจีนในยุคของ ไบเดน จะแตกต่างจากยุคของ ทรัมป์ โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบของ 'สงครามทางเทคโนโลยี (Tech War)' ซึ่งจะส่งผลกระทบใกล้ตัวกับประเทศเล็กๆอย่างประเทศไทยมากกว่ายุคสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย ที่แข่งขันกันไปในอวกาศ
"ไทยจึงต้องรีบวางกลยุทธ์ คิดถึงแนวทางการเจรจาเชิงรุกเพื่อรักษาผลประโยชน์ โดยคำนึงถึงค่านิยมหลักของมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่า อเมริกา มีเป้าหมายทางการเมือง ต้องการกลับไปเป็นเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ต่างๆของโลก เป็นผู้นำในองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนจีน เป็นประเทศที่ไม่ได้พยายามผลักดันแนวคิดทางการเมืองไปสู่เวทีโลก ใช้เป็นค่านิยมภายในประเทศเท่านั้น แต่จะผลักดันแนวทางทางการค้า เช่น เส้นทางสายไหม (One Belt One Road) การเสนอต้นแบบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สะพาน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง และที่อาจจะมีรุกอย่างรวดเร็วในขณะนี้ คือ การขายวัคซีนต้านโควิด ซึ่งไทยอาจต้องถูกบีบให้เลือกระหว่างวัคซีนของอเมริกากับของจีน" ดร.อาร์ม กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage