"...ทั้ง 2 ร่าง มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอให้ สสร.ทั้ง 200 คน มาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมีข้อปลีกย่อย คือ มีการเลือกตั้งทางอ้อมถึง 50 คน และเลือกตั้งทางตรง 150 คน กล่าวคือ ให้มีสัดส่วน สสร.50 คน ที่มาจากการเลือกของรัฐสภา และการแต่งตั้งที่คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา โดย 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน อีก 10 คน มาจากนักเรียน นักศึกษา..."
....................
ภายหลังจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน 2 ร่าง เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง โดยร่างฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลได้รับความเห็นชอบมากที่สุด 647 เสียง ไม่รับหลักกการ 17 เสียง และงดออกเสียง 55 เสียง โดยที่ประชุมสภาได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 45 คน
ทั้งนี้ มีความแตกต่างที่น่าสนใจ ระหว่าง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน อีกทั้งน่าสนใจว่า กรรมาธิการซึ่งที่ประชุมสภาตั้งขึ้นมาพิจารณาจะเอนเอียงไปทางใด
เนื่องจาก ทั้ง 2 ร่าง มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอให้ สสร.ทั้ง 200 คน มาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมีข้อปลีกย่อย คือ มีการเลือกตั้งทางอ้อมถึง 50 คน และเลือกตั้งทางตรง 150 คน กล่าวคือ ให้มีสัดส่วน สสร.50 คน ที่มาจากการเลือกของรัฐสภา และการแต่งตั้งที่คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา โดย 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน อีก 10 คน มาจากนักเรียน นักศึกษา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สัมภาษณ์ความเห็น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ที่แม้เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง สสร. ทางตรงทั้งหมด แต่ก็วิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยของร่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับนายรังสิมันต์ โรม วิเคราะห์ทั้งในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านและในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไข เพิ่มเติม ด้านแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภาก็มีมุมมองที่น่าสนใจ แม้ปฏิเสธไม่รับทั้งร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน
เหล่านี้ คือความเห็นที่มีต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน
สมชัย ศรีสุทธิยากร ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต /ภาพจากhttps://www.songkhlatoday.com/
ข้อดีข้อด้อย ของร่าง สสร.ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล
@ ประเด็น ร่าง สสร. พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอว่า สสร. 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่พรรคร่วมรัฐบาล เสนอว่า 150 คนมาจากการเลือกตั้งทางตรง อีก 50 คน มาจากการเลือกทางอ้อม คุณเห็นด้วยกับกรณีไหน ?
สมชัย : มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ถ้าเป็นแนวทางแรกของทางพรรคฝ่ายค้าน ก็จะได้ สสร. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ส่วนความกังวลใจที่ว่าคนเหล่านี้ อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญในการร่างกฎหมายนะครับ ก็อาจจะใช้วิธีที่ฝ่ายค้านเสนอ คือให้เป็นหน้าที่ของ กรรมาธิการยกร่าง ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยคนนอกที่เป็นนักวิชาการ เป็นผู้มีประสบการณ์ ในการร่างรัฐธรรมนูญมาช่วย อันนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นไปได้ที่จะเป็นแนวทางแบบนี้ ก็แก้ปัญหาได้
ส่วนแนวทางที่สองของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีสัดส่วนมาจากคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีก 50 คน แบบนี้ แม้อาจจะดูว่า เป็นหลักประกันว่าอาจจะได้คนที่มีประสบการณ์เข้ามามากขึ้น แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องความชัดเจน ว่าวิธีการของการได้มานั้น จะได้มาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น 20 คนแรก จาก 50 คน มาจากรัฐสภา ก็หมายความว่ามีการแบ่งสันปันส่วน ระหว่างสส. และ สว. ซึ่งจะแบ่งสันปันส่วนอย่างไร ก็อาจจะมีการแบ่งทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในส่วนดังกล่าวด้วย
หวั่น ผู้มีผลประโยชน์ได้เสีย
สมชัย : ผมว่า ส่วนหนึ่งทำให้มีคนที่มีผลประโยชน์ได้เสีย เข้ามามีส่วนในการยกร่าง เพราะ ส.ส. หรือ สว. คือ ฝ่ายการเมือง ถือว่ามีส่วนได้เสีย แต่ก็จะมีข้อดีตรงที่ว่าจะสามารถเข้าใจถึงสิ่งซึ่งเป็นปัญหาในการทำงานที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน แล้วก็ทำให้ ขั้นตอนที่จะเกิดการยอมรับจากรัฐสภาอาจจะง่ายขึ้น เพราะมีตัวแทนที่เข้ามาช่วยในการยกร่าง ส่วน 20 คนที่มาจากฝ่ายวิชาการ ผมยังไม่เห็นสัดส่วนการออกแบบว่าจะเลือกกันอย่างไร ถ้าหากว่าใช้ที่ประชุมของอธิการบดีมันก็จะเกิดปัญหาว่า ในอดีตเกิดเหตุการณ์ที่สภาพการณ์ที่มีการรวมกันของมหาวิทยาลัยบางส่วน เพื่อให้กลุ่มของตนเองมีตัวแทนเข้ามามาก อันนี้ พูดอย่างอ้อมๆ ก็ต้องมีการจัดสรรสัดส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐ ของเอกชน มหาวิทยาลัยในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค อย่างไร จึงจะทำให้เกิดการกระจายที่ดี ซึ่งอันนี้ยังไม่เห็น สิ่งที่ออกแบบเป็นอย่างไร ถ้าออกแบบดี ก็จะได้คนที่หลากหลายเข้ามาสัดส่วน จากนักเรียน นักศึกษา ในทางปฏิบัติมีปัญหา
@ กรณีการเลือกทางอ้อมของพรรคร่วมรัฐบาล มีสัดส่วนที่มาจากนักเรียน นักศึกษา 10 คน ?
สมชัย : อีกส่วนหนึ่งคือจากนักเรียนนักศึกษาแม้จะเป็นส่วนที่ดีที่สะท้อนว่าเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ แต่ว่าในทางปฏิบัติมีปัญหา ในแง่ของการคัดเลือก ที่มาของการได้มา ให้เป็นหน้าที่ ของ กกต. ในการไปจัดการดำเนินการเลือกตั้งมา ซึ่งผมคิดว่า กกต.เอง ก็ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ และถึงแม้จะได้มาแล้ว คำถามคือ คนเหล่านั้นพร้อมที่จะมาทำหน้าที่อย่างเต็มเวลาหรือไม่ นี่เป็นโจทย์ใหญ่เลยเพราะว่านักเรียน นักศึกษา ต้องเรียนหนังสือ ถ้าหากต้องมีการประชุม สสร. สัปดาห์หนึ่ง 2 ครั้ง หรือถ้าหากไปเป็นอนุกรรมการชุดย่อย ต่างๆ ก็ต้องใช้เวลามากกว่านั้น เขาจะสามารถจะรักษาเวลาตัวเองได้อย่างไร อาจจะทำให้เกิดข้อขัดข้องในการทำงาน เรื่องนี้ ถือว่าความคิดดี แต่อาจขัดข้องในทางปฏิบัติ
ดังนั้น เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างสองแนวทางแล้ว ผมว่าแนวทางที่ฝ่ายค้านเสนอ เป็นแนวทางที่เกิดผลปฏิบัติที่ดูดีกว่า คือ 1 สสร. มาจากการยอมรับของคนทั้งประเทศ แล้วก็ 2.แก้ไขปัญหาเรื่องขาดประสบการณ์ด้วยการมีกรรมาธิการที่มีคนนอกเข้ามาช่วย แล้วก็ลบเสียงครหา ที่ว่าไม่มีเรื่องผู้มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
@ กรณี การเลือกทางอ้อม 50 คน ตามแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาล อาจเป็นการเปิดทางให้ คนของ คสช. เข้ามากี่มากน้อย ?
สมชัย : คนของ คสช. จะถูกแทรกเข้ามาได้ ในสัดส่วนของรัฐสภา เพราะรัฐสภา 20 คนถ้าถูกแบ่งอย่างเป็นธรรม คือ ส่วนของ สว. ก็มาจากคนของรัฐบาลอยู่แล้ว ที่ คสช. เป็นคนแต่งตั้ง พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ก็มีคนของรัฐบาล 2 ใน 3
@ คิดอย่างไรต่อกรณีร่าง สสร. ของพรรคร่วมรัฐบาล เปิดโอกาสให้รัฐสภาเข้ามาตรวจสอบ ร่างรัฐธรรมนูญ ของ สสร. ?
สมชัย : คือกระบวนการนี้ เป็นกระบวนการที่ออกแบบต่างกัน ร่างของรัฐบาล ถ้า สสร. ทำเสร็จ ก็เอาร่างนั้นไปผ่านที่ประชุมรัฐสภา ถ้าสภาเห็นชอบ ก็ถือว่าไม่ต้องประชามติ ทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ได้เลย แต่ถ้าหากว่ารัฐสภาไม่เห็นชอบ ก็ต้องไปทำประชามติ ใช้เสียงประชามติ ตัดสินว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งแนวทางของรัฐบาล ก็ช่วยประหยัดงบประมาณ ถ้าเห็นชอบ ก็ไม่ต้องประชามติ ก็ประหยัดงบประมาณในการทำประชามติ ที่อาจใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนร่างของฝ่ายค้าน ร่างของ สสร.ไม่กลับมาสู่รัฐสภา ไปหยั่งเสียงที่ประชามติโดยตรง ก็มีข้อดีคือ คนทั่วประเทศ ได้ตื่นตัว ได้ลงเสียงประชามติ แต่ก็มีข้อเสียคือ ใช้เงิน 3,000 ล้านบาท ในการลงประชามติ ก็มีข้อดีข้อเสียคนละแบบ แต่ถ้าถามผมแล้ว ถ้าไม่คิดเรื่องประชาชนมีส่วนร่วมมากเกินไป ก็อาจใช้ร่างของรัฐบาล แต่ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบ ก็ค่อยไปทำประชามติ
เห็นด้วย ถ้า สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
@ คุณเห็นด้วยกับกรณีที่ สสร. ทั้ง 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ?
สมชัย : ผมค่อนข้างไปในแนวทางของพรรคฝ่ายค้าน
@ สอบถามถึงแนวทางของการเลือกตั้ง สสร. ?
สมชัย : การเลือก สสร. ผมเข้าใจว่าใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แล้วคำนวณ คือหมายความว่า ทั้งจังหวัดเป็นเขต คือเป็นข้อดีตรงที่ว่าคนที่จะเป็น สสร. จริงๆ ต้องเป็นที่ยอมรับของคนทั้งจังหวัด และเปิดโอกาสให้จังหวัดใหญ่ มี สสร. ได้หลายคน ส่วนข้อเสนอของไอลอว์ ( iLaw ) ที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง อันนั้น ทางปฏิบัติค่อนข้างจะวุ่นวาย อันนั้นอาจจะเป็นหมื่นรายชื่ออยู่ในมือ เลือกเพียง 1 ชื่อ ก็เป็นความวุ่นวายพอสมควร ซึ่งผมว่า ในเรื่องการเลือกตั้งของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ดีแล้วที่เรียงคะแนนสูงสุด ไล่ลำดับลงมา
@ สรุปแล้ว การจะเลือกใช้ สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง อีก 50 คนมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม การจะใช้ สสร.แบบไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง ?
สมชัย : ขึ้นอยู่กับเสียงของการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการฯ ว่ากรรมาธิการฯ จะมีความเห็นไปในทางใด แต่เท่าที่ดูแล้ว สัดส่วนของกรรมาธิการก็เป็นตัวบ่งบอกแล้วแหละครับว่าค่อนข้างเอนเอียงไปในทางฝ่ายรัฐบาล เพราะฉะนั้น แนวโน้มที่ จะเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ก็คือหน้าตาของการมี สสร. ก็จะเป็นไปตามสูตรของรัฐบาลเป็นหลัก
ร่างรัฐธรรมนูญที่อยากเห็น
@ ร่างรัฐธรรมนูญแบบไหน ที่คุณอยากเห็นจาก สสร.?
สมชัย : โอ้โฮ! โจทย์ใหญ่มาก ผมคิดว่า ต้องเป็นการออกแบบการเมืองไทย ที่ทำให้ประชาชน ได้ประโยชน์สูงสุด และต้องไม่เกิดความได้เปรียบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วก็เป็นกลไกที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุล ฝ่ายต่างๆ ได้ นี่คือหลักการเบื้องต้น แค่นั้นเอง ว่ารัฐธรรมนูญ ต้องเป็นกลางและก่อให้เกิดประโยชน์ในสังคมต่อส่วนรวม ดังนั้น กลไก ต่างๆ ต้องมาออกแบบ ไม่ว่ากลไกการได้มา ซึ่ง ส.ส. การได้มาซึ่ง สว. การได้มาซึ่งองค์กรอิสระ การกำกับ ตรวจสอบ ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป นี่ควรเป็นหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องไปถกเถียงกัน
………...........................
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไข เพิ่มเติม /ภาพแนวหน้าจาก https://www.naewna.com/politic/477075
ความจำเป็นที่ สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง
@ ช่วยวิเคราะห์ความต่างของร่าง สสร. พรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
รังสิมันต์ โรม : คือ เรามองว่า เวลาเราพูดถึง สสร. หรือพูดถึงรัฐธรรมนูญ ที่เป็นของประชาชน ประเด็นใหญ่ของเราก็คือ ว่าเรามองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เหตุผลที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ประการที่หนึ่งคือ เราต้องกลับไปที่ต้นตอปัญหาของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเหตุให้เราต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้นตอก็คือรัฐธรรมนูญปี 2560 ทุกคนทราบ ไม่ต้องพูดอย่างเขินอายว่าที่มาของรัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหาในเรื่องของความชอบด้วยประชาธิปไตย คือเป็นการจัดทำโดยคนไม่กี่คนซึ่งหลายครั้งก็จะอ้างว่าคนที่ร่างเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนที่มีประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญ หลายคนเป็นอาจารย์ที่สอนกฎหมายมหาชน หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ว่าทำไมผลลัพธ์ที่ออกมาเรากลับพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ถูกยอมรับมาก ก็เพราะว่ามันถูกตั้งคำถามถึงประเด็นที่มา ว่าสุดท้ายมันคือการต่อท่ออำนาจให้กับ คสช. แล้วเนื้อหาหลายอย่างประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม
เป็นที่มาว่าทำไม สสร. ของ พรรคฝ่ายค้านเราอยากให้มาจากการเลือกตั้ง 100% สสร.บางส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทางตรง อาจเกิดปัญหาทีนี้ถ้าเราให้ สสร. บางส่วนมาจากการแต่งตั้ง หรือมาจากการเลือกกันเองที่ไม่ได้มาจากประชาชน มันก็จะมีปัญหาที่ตามมาว่าถ้าเราไปดูอย่างร่างของรัฐบาล จะมีที่มาเป็นนักศึกษา10 คน ตัวแทนจากรัฐสภา 20 คน ตัวแทนจากอธิการบดี 20 คน เหล่านี้ถ้าเราไปดูตามสัดส่วน ถามว่า โดยโครงสร้างเราก็จะเริ่มเห็นว่าทำไม 50 คน ประชาชนจึงไม่มีความสามารถที่จะไปเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำหน้าที่ สสร. เลยหรือ ซึ่งในมุมแบบนี้ผมก็คิดว่า ไม่มีความจำเป็น ที่ 50 คน นี้ ต้องล็อคเอาไว้
หวั่น การเลือกตั้งทางอ้อม ถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง
รังสิมันต์ โรม : ซึ่งถ้าไปดู เช่น ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดี ถามว่า ความเป็นไปได้ ที่ที่ประชุมอธิการบดีจะเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันจริงหรือ ซึ่งถ้าถามผม ผมว่า โอกาสที่จะได้คนที่คล้อยไปทางรัฐบาล มีมากว่า ไม่ต้องพูดถึง สว. ซึ่ง สว. ไม่ควรต้องมีสิทธิ์เลือก แต่เขาก็ได้สัดส่วนตรงนี้ไป 10 คน มีฝั่งรัฐบาลอีก แม้แต่ฝ่ายนักศึกษาเอง ผมก็ไม่คิดว่า คนแบบคุณฟอร์ด ( นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ) คนแบบคุณรุ้ง ( นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ) คนแบบคุณเพนกวิ้น ( นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ) จะเข้ามาในช่องทางแบบนี้ ดังนั้น โอกาสที่สัดส่วน 50 คน จะกลายเป็นสัดส่วนที่ถูกครอบงำโดยรัฐบาลจึงมีสูงมาก จึงทำให้เป็นไปได้ยากมากที่เราจะเห็น สสร. ถูกยอมรับ และถ้าเราจินตนาการว่า สสร. คือ รัฐสภา เราจะรู้สึกเลยว่า มันจะมี สสร. จำนวนหนึ่งที่มีที่มาคล้ายกับ สว. ชุดนี้ พูดง่ายๆ มีที่มาถึง 1 ใน 4 ที่ถูกล็อคเอาไว้ ซึ่งก็คล้ายกับรัฐสภาที่มีการล็อคเอาไว้ ดังนั้น โครงสร้างแบบนี้ จะเป็นปัญหา และทำให้โอกาสที่ประชนชนจะยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีน้อยมาก
การพิจารณาของกรรมาธิการอาจเอนเอียง
@ การพิจารณาของกรรมาธิการฯ เอนเอียงไปทางร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาล ?
รังสิมันต์ โรม : คือด้วยความที่ผมอยู่ในกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ก็เรียกว่าติดตามอยู่ ตอนนี้ หลายๆ เรื่องที่เราคุยกันยังสรุปไม่ได้ ผมยกตัวอย่างเช่น ประเด็นในเรื่องที่ว่าเราจะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก้ได้ง่ายหรือแก้ได้ยาก จะเป็นประเด็น ว่า หมวด 1 หมวด 2 รวมถึงหมวดที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีการแก้ไขต่อไปในอนาคต หากมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะให้มีการทำประชามติไหม ซึ่งฝั่งรัฐบาล เขาจะบอกว่า จากนี้รัฐธรรมนูญควรแก้ยาก ฝ่ายค้านก็จะบอกว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ง่าย ในส่วน หมวด 1 หมวด 2 และหมวดที่ว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าจะต้องมีการแก้ต่อไป ก็ต้องมีการทำประชามติ นี่คือ มุมมองของฝ่ายรัฐบาล แต่ฝ่ายค้านจะมองว่าไม่จำเป็น ประเด็นเหล่านี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปเลย พูดอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ว่าโดยจำนวนมือที่อยู่ในนั้น ก็ลำบาก ถ้าถามว่า เราใช้การโน้มน้าวให้ฝ่ายรัฐบาลมาเห็นด้วยกับเรามากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่า ถ้ามองไปที่ก้นบึ้งของหัวใจก็เหมือนเขาจะเห็นด้วยกับเรานั่นแหละ แต่ว่า เข้าใจว่าโดยจุดยืนและบทบาทของเขา คงต้องเห็นค้านเรา
@ กรณีที่ ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ให้รัฐสภาตรวจสอบ ร่างรัฐธรรมนูญ ของ สสร. คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ ?
รังสิมันต์ โรม : จริงๆ จะใช้คำว่า รัฐสภาตรวจสอบ อาจจะไม่ถูก ต้องใช้คำว่ารัฐสภาจะเป็นผู้เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถ้ารัฐสภาเห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็ขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบ ก็ไปลงประชามติ ซึ่งฝ่ายค้านเรายังคุยกันไม่ถึงประเด็นนี้ แต่ว่าเราก็มีการพูดคุยกันในฝ่ายค้าน ว่าการทำแบบนี้ มันอาจจะมีประเด็นข้อครหาว่า การที่รัฐสภาใช้ข้อกระบวนการแบบนี้นั้น พอเราไปคำนวณเสียงในมือ ในรัฐสภา แนวโน้มมันเอนเอียงไปทางฝ่ายรัฐบาลมากกว่า พูดง่ายๆ ว่าถ้า สสร. ร่างรัฐธรรมนูญถูกใจก็รับ ถ้าร่างไม่ถูกใจก็ไม่รับ แล้วไปลงประชามติ ซึ่งไปลงประชามติ ก็ต้องไปว่ากันอีกที ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็อาจสูสีที่จะโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นหรือไม่เห็นไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าแบบนี้ ก็อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติได้
@ มีกระแสข่าวว่า การพิจารณาของกรรมาธิการฯ เอนเอียงไปทาง ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล กระแสนี้จริงไหม
รังสิมันต์ โรม : มันแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เกิดจากร่างหลักก็เป็นร่างของรัฐบาลอยู่แล้ว เวลาเราพูดคุย ตัวชี้ขาดอยู่ที่ สว. ถ้าเราถือตามหลักการที่ต้องเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติที่เราเจอคือเขาไม่เป็นกลางเลย ผมนึกไม่ออกว่ามีเรื่องไหนที่เขาเอาด้วยกับฝ่ายค้าน เวลาที่เขาอภิปรายในกรรมาธิการฯ ก็เป็นเรื่องที่เขาเห็นด้วยกับรัฐบาลทั้งหมด
กรรมาธิการมีทั้งหมด 45 คน พรรคฝ่ายค้าน 13 คน จากสว. 15 คน รัฐบาล 17 คน
ความต่างของกรอบเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ
@ การร่างรัฐธรรมนูญของ ฝ่ายค้าน สสร.ต้องร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จภายในกี่วัน ?
รังสิมันต์ โรม : ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 120 วัน
@ ขณะที่ พรรคร่วมรัฐบาลใช้เวลา 240 วัน ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้เวลาน้อยไปไหมกับ 120 วัน ?
รังสิมันต์ โรม : ไอเดียของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ เราอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ได้ใช้โดยไว เราก็ตระหนักถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญที่คั่งค้างมานาน และมันอาจจะต้องเร่งในการแก้ เพราะด้านหนึ่งก็ต้องพูดว่าเมื่อโดนแรงกดดันจากผู้ชุมนุม ก็มีความจำเป็นที่จะต้องรีบในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากการที่ผู้ชุมนุมเขาก็ตั้งประเด็นว่าเขาต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็คำนึงถึงตรงนั้น ก็เลยกำหนดเป็น 120 วัน และพูดกันตรงไปตรงมา 120 วัน หลายๆ เรื่องภาคประชาสังคมเขาก็ทำมาพร้อมแล้วแหละ ใช้ความเร็วหน่อย ในการที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม แต่เราก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าจะต้องเป็น 120 ให้ได้ คือ ทั้งหมดทั้งมวล เป็นแค่โมเดลหนึ่งที่ตั้งเอาไว้ ถ้าต้องขยายกรอบเวลา เราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร อย่าง 180 วัน ก็ได้ แต่ถ้าถึงขนาด 240 วันเราไม่เห็นด้วย เราว่ามันนานไป คือ 240 วัน มันเป็นโมเดลตอนทำรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งวันนี้ เราอยู่ในยุค5 จี แล้ว ยุคนั้นเรายังไม่มี 3 จีด้วยซ้ำไป เราไม่ควรใช้รูปแบบเดิม เราสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาอุดช่องว่างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้
……...........................
แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา/ภาพจากhttps://news.thaipbs.or.th/
ไม่รับทั้งร่างของพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
@ มีความเห็นอย่างไร ต่อร่างว่าด้วย สสร. ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล ?
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ : หมอเป็นคนโหวตไม่รับทั้งมติที่ 1 และ 2 ถามว่าทำไมไม่เอามติเลือกตั้ง สสร. เพราะตัวรัฐธรรมนูญโดยส่วนใหญ่ ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่คนใช้ ตอบว่าที่ผ่านมา เมื่อมีการโหวต สสร. เราต้องย้อนกลับไปดูว่า สสร. เข้ามาแก้ปัญหาด้วยวิธีใด ตอบได้ว่า ไม่ต่างไปจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าเป็นการแต่งตั้งก็ไม่อาจประกันได้ว่าสิ่งที่ร่างออกมาจะเหมาะสม
ขอตอบตรงๆ ไม่ว่าร่างของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายไหนเลย เพราะการที่บอกว่าเลือกตั้งทั้งหมด ก็ไม่สามารถได้คนดีเข้ามาทั้งหมด การแต่งตั้งก็ย่อมมีพวกพ้อง มีความคิดแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เหมือนเป็นการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ เพื่อเอาชนะกันมากกว่า
@ ทางกรรมาธิการฯ ค่อนข้างให้นำหนักไปกับ ร่างของรัฐบาล ที่มีการเลือก 50 คนทางอ้อม มองว่าอย่างไร เพราะ คสช. อาจแทรกแซงได้ ?
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ : มันมีการส่งสัญญาณ ดังนั้นเมื่อ สว.ส่วนนี้ไปเป็นกรรมาธิการฯ บวกกับ รัฐบาล ก็เป็นแนวเดียวกันได้อยู่แล้ว โดยส่วนตัวไม่มีตรงไหนเลยที่เป็นความอิสระ ที่จะทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหา ที่จะมองได้ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ก็เลยไม่ได้เห็นด้วย ไม่ได้สนับสนุน ไม่ได้เห็นต่าง คือ มองว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเต็มที่
@ ถ้าเกิดมีการเลือกตั้ง สสร. ในอนาคต คุณอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน ?
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ : โดยส่วนตัวเห็นว่าปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่นักการเมือง และระบบราชการ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญจะแก้ไขส่วนนี้ได้ ก็ยากนะคะ ไม่เชื่อว่า สสร.จะเขียนรัฐธรรมนูญตรงส่วนนี้ได้ ขณะเดียวกันเรื่องการปฏิบัติงานของราชการ ก็เช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญเขียนไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกรอบหยาบๆ เพราะฉะนั้น คุณภาพคนเป็นปัญหา กฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา ขึ้นอยู่กับคุณภาพคน ทุกภาคส่วน
@ ร่าง สสร. ของพรรคร่วมรัฐบาล ให้อำนาจ รัฐสภาตรวจสอบ ร่างรัฐธรรมนูญของ สสร.คิดว่าเป็นผลดี ผลเสียอย่างไร ?
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ : ส่วนหนึ่ง ถ้าให้รัฐสภาตรวจสอบก็เป็นผลดี แต่ไม่ได้ประกันว่าจะเป็นผลดีทั้งหมด เพราะเวลาตัดสินใจก็เป็นไปอย่างที่สังคมมอง เมื่อมีสัญญาณจากรัฐบาลมา สว. ส่วนหนึ่งก็คงไม่กล้าที่จะขัดหรือเห็นต่าง มันจึงไม่อิสระอย่างเต็มที่ แต่การที่จะให้รัฐสภาตรวจสอบ ก็มีประโยชน์ อย่างน้อยก็ได้พิจารณา แต่จะได้รับการยอมรับหรือไม่ ตอบไม่ได้ค่ะ
ระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ 240 วัน ยังน้อยเกินไป
@ คิดว่า ระยะเวลา 240 วัน ในการร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ยาวนานเกิดไปไหม ?
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ : จากการเห็นการทำงาน ของกรรมาธิการฯ จากการมีส่วนร่วมของภาคต่างๆ เดินหน้าไม่ง่ายเลย 240 วัน เชื่อว่า ไม่น่าจะทำอะไรได้ ทุกคนอยู่ในที่ตั้ง หมายความว่า ไม่ได้มองถึงข้างหน้า ต่างคนต่างรักษาแนวทางของตัวเองไว้ ดังนั้น 240 วัน อาจไม่ได้อะไรเลยก็เป็นได้ค่ะ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/