"...ความชอบทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียของคนคอเดียวกันจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่แสดงการแบ่งขั้วทางการเมืองค่อนข้างชัดเจนและนำไปสู่ความเห็นทางการเมืองและกลุ่มการเมืองที่แสดงออกแบบสุดขั้วอย่างง่ายดายและหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมอเมริกันซึ่งมีสองพรรคใหญ่ผลัดกันครองอำนาจ..."
................................
ข่าวรับปีใหม่ พ.ศ. 2564 คงไม่มีข่าวไหนได้รับความสนใจมากเท่าข่าวการจลาจลในสหรัฐอเมริกา เมื่อประชาชนฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งบางส่วนมีอาวุธ บุกเข้าไปยังอาคารรัฐสภาเมื่อช่วงบ่ายวันพุธ (6 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลรวม 5 คน
การชุมนุมและบุกรุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเกิดขึ้นในขณะที่สมาชิกรัฐสภากำลังประชุมเพื่อรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จนทำให้ต้องยุติการประชุมและปิดอาคารรัฐสภา ทำให้ กรุงวอชิงตัน ดีซี ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 15 วัน
โซเชียลมีเดีย - ตัวเติมเชื้อไฟ
เหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้โซเชียลมีเดียในการให้ข้อมูลบิดเบือนและส่อไปในทางปลุกระดมจนนำมาสู่การจลาจลทางการเมืองซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ถือว่าเป็นต้นแบบแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook YouTube Instagram ฯลฯ จะลบความเห็น คลิป และระงับบัญชีการใช้งานของทรัมป์และกลุ่มสนับสนุนหัวรุนแรง และ Twitter ได้ปิดบัญชีของทรัมป์อย่างถาวรแล้วก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า ข่าวปลอม ข้อความแสดงความเกลียดชังและความเห็นทางการเมืองที่ไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริงจะหมดไปจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้อย่างถาวร เพราะมาตรการที่เจ้าของแพลตฟอร์มสั่งระงับบัญชีของทรัมป์และกลุ่มสนับสนุนเป็นเพียงมาตรการขั้นต้นที่ง่ายที่สุดที่เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถทำได้ในช่วงเวลาฉุกเฉินและเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทวีความมั่งคั่งจากการเจริญเติบโตของธุรกิจการขายความสนใจและการแปลงจิตวิทยาของมนุษย์ให้เป็นเงินโดยไม่ได้ใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาบนแพลตฟอร์มมากเท่าที่ควร ในขณะที่นักการเมืองฉวยโอกาสใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อสร้างความได้เปรียบของตัวเองโดยไม่ได้ตระหนักว่าโซเชียลมีเดียหากไปอยู่ในมือของผู้นำชาติมหาอำนาจของโลกอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีผู้ติดตามบน Twitter มากถึง 88.7 ล้านคนนั้น จะส่งผลกระทบต่อการเมืองระบอบประชาธิปไตยและทำลายเกียรติภูมิของสหรัฐอเมริกามากมายขนาดไหน
ผลข้างเคียง จากโซเชียลมีเดีย
Facebook – ถูกออกแบบมาเพื่อให้อำนาจแก่ผู้คนและสร้างชุมชนบนโลกออนไลน์ แต่ถูกนำไปใช้ทางการเมืองในทางที่ผิดจนนำไปสู่การบิดเบือนประชาธิปไตยและสร้างความเกลียดชัง
Twitter – ถูกออกแบบมาเพื่อการเชื่อมต่อผู้คนและเป็นพื้นที่แสดงความเห็นต่อสาธารณะบนโลกออนไลน์ แต่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเผยแพร่ข่าวปลอมและโหมกระพือความเกลียดชัง
YouTube – ถูกออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เผยแพร่วิดิโอบนโลกออนไลน์ แต่ถูกนำไปใช้ทางการเมืองเพื่อกระตุ้นความคิดสุดขั้วของผู้คน
Instagram – ถูกออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เผยแพร่ภาพและวิดิโอบนอินเทอร์เน็ต แต่กลับสร้างความเครียดและความกังวลให้กับวัยรุ่นและวัยเรียน รวมทั้งถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นกัน
การจลาจลทางการเมืองที่รัฐสภาสหรัฐอเมริกาซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปลุกเร้าของโซเชียลมีเดีย จึงไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของการออกแบบทางเทคโนโลยีโดยตรง แต่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของโซเชียลมีเดีย ที่ทุกคนต่างแย่งกันหาประโยชน์ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆกันและพฤติกรรมต่างๆได้ถูกถ่ายทอดไปยังปัญญาประดิษฐ์เพื่อตัดสินใจภายใต้โมเดลทางธุรกิจที่ขายความสนใจของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จนทำให้ประเทศที่ถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ทางประชาธิปไตยของโลกถูกอิทธิพลของโซเชียลมีเดียสั่งสอนจนต้องหันกลับไปทบทวนว่าเหตุใดเทคโนโลยีที่พลเมืองของตนเองสร้างขึ้นจนมีอิทธิพลควบคุมคนทั้งโลกนั้นได้ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองอย่างคาดไม่ถึงและเป็นความท้าทายระหว่างความสำเร็จทางเทคโนโลยีกับความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพของคนอเมริกัน
ปัญหาข้างต้นล้วนเป็นผลผลิตทางเทคโนโลยีจากแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลของโลกสัญชาติอเมริกัน เช่น Facebook Twitter Instagram และ YouTube ทั้งสิ้นและบริษัทเหล่านี้กำลังใช้และควบคุมกฎที่ตัวเองสร้างขึ้นโดยรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกเอื้อมไม่ถึงจนกลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ทำลายความถูกต้องและความจริงอย่างไม่มีใครคาดคิด
ยุทธศาสตร์โทรโข่ง
นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะลงชิงชัยในการเลือกตั้งต่อจากประธานาธิบดีโอบามา หนึ่งในยุทธศาสตร์หาเสียงของ ทรัมป์ คือการใช้สื่อเพื่อให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยความรวดเร็วและป่าวประกาศให้คนอเมริกันและโลกได้ยินเสียงของตัวเอง นับจากนั้นเป็นต้นมาดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกับการเมืองอเมริกันได้ทวีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นจนแยกกันแทบไม่ออก
ความนิยมชมชอบในการใช้โซเชียลมีเดียของทรัมป์ตลอดสมัยของการเป็นประธานาธิบดีเพื่อการสื่อสารและประกาศศักดาความเป็นผู้นำของโลกจนหลายต่อหลายครั้งทำให้โลกต้องสะเทือนเพราะข้อความที่เขาทวีตผ่านทวีตเตอร์ซึ่งนอกจากแสดงให้เห็นถึงอำนาจของทรัมป์เองแล้วยังแสดงให้เห็นถึงพลังของโซเชียลมีเดียที่มีอำนาจไม่ต่างจากข้อความที่เขาได้ทวีตออกไปและเมื่อเพลี่ยงพล้ำจากการเลือกตั้ง ทรัมป์และพลพรรคกลับแสดงท่าทีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและเริ่มมีการใช้โซเชียลมีเดียโน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อว่ามีการโกงการเลือกตั้งและมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดียของกลุ่มที่สนับสนุนทรัมป์ เช่น กลุ่ม Stop the steal และ QAnon บน Facebook และ กลุ่ม r/DonaldTrump บน Reddit เป็นต้น
ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สื่อดิจิทัลหลากหลายรูปแบบทั้ง การโฆษณาที่มีการโต้ตอบ (Interactive advertisement) การถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ต(Live-streamed video) มีม(Meme) และข้อความสื่อสารส่วนบุคคล คือเครื่องมือสำคัญที่สุดในการหาเสียงของพรรคการเมืองยุคปัจจุบัน เครื่องมือเหล่านี้นอกจากจะถูกใช้เพื่อให้เกิดผลโดยตรงต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว นักการเมืองยังมักนำเครื่องมือทางดิจิทัลเหล่านี้ไปใช้ในการ สร้างความสับสน โจมตี ป้ายสีฝ่ายตรงข้าม เผยแพร่ข่าวลวง รวมทั้งยังมีการนำ บอทการเมือง( Political bot : โปรแกรมอัตโนมัติบนอินเทอร์เน็ตที่สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง) มาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบแก่พรรคของตนเองด้วยการใช้บอทชักนำและควบคุมความเห็นทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียอีกด้วย โซเชียลมีเดียจึงเป็นทั้งเครื่องมือหาเสียงที่มีประสิทธิภาพและในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นอาวุธโจมตีฝ่ายตรงข้ามซึ่งยากที่จะป้องกันได้
โซเชียลมีเดีย - กลุ่มก้อนของคนคอเดียวกัน
โซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาให้ทำงานสอดคล้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพราะผู้ออกแบบรู้ดีว่ามนุษย์มักจะแสวงหาเพื่อนที่มีความเหมือนกับตัวเอง(Homophily)ทั้งความเหมือนทาง เพศ เชื้อชาติ ความเห็น พฤติกรรมและความชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความชอบทางการเมืองมักเป็นประเด็นที่ผู้คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะข่าวการเมืองมักมีสีสันและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาและหากข่าวการเมืองนั้นเป็นข่าวปลอมยิ่งจะได้รับความสนใจมากกว่าข่าวปลอมอื่นๆ จากผลการศึกษาพบว่าข่าวปลอมทางการเมืองสามารถเผยแพร่ได้ ลึก กว้างและเดินทางเร็วกว่าข่าวปลอมอื่นราว 3 เท่าและความเท็จมีแนวโน้มที่จะถูก ทวีตต่อ (Re-tweet) มากกว่าความจริงราว 70 เปอร์เซ็นต์
ความชอบทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียของคนคอเดียวกันจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่แสดงการแบ่งขั้วทางการเมืองค่อนข้างชัดเจนและนำไปสู่ความเห็นทางการเมืองและกลุ่มการเมืองที่แสดงออกแบบสุดขั้วอย่างง่ายดายและหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมอเมริกันซึ่งมีสองพรรคใหญ่ผลัดกันครองอำนาจ
การแบ่งขั้วทางการเมืองของคนอเมริกันได้ซึมซับไปจนถึงการเลือกใช้ยี่ห้อสินค้า เป็นต้นว่า ใครก็ตามที่ถือหางพรรคเดโมแครทมักสวมกางเกงยีน Livi’s ขับรถโฟล์คสวาเกนและดูข่าวช่อง CNN ในขณะที่พวกนิยมพรรครีพับลิกันเลือกที่จะสวมยีน Wrangler ขับรถจากค่าย GM และนิยมดูข่าวช่อง Fox News เป็นต้น
อัลกอริทึม-กลไกพิสดาร
บริษัท Facebook เคยเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้ใช้ Facebook 64 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าร่วมกลุ่มที่แสดงความเห็นรุนแรงบน Facebook (Extremist Facebook Group) ถูกโน้มน้าวด้วยอัลกอริทึมของ Facebook ให้เข้าไปร่วมกลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้
Facebook ยังเปิดเผยด้วยว่า พวก QAnon (ลุ่มทฤษฏีสมคบคิดหัวรุนแรงที่มีความเชื่อว่าทรัมป์กำลังทำสงครามกับเครือข่ายของราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกว่า ดีฟสเตท(Deep state)) มีสมาชิกกลุ่มต่างๆที่เชื่อมโยงกันบน Facebook อยู่ราว 3 ล้านคน จึงเป็นไปได้ว่า Facebook กำลังชักนำให้คนราว 2 ล้านคนเข้าไปร่วมกิจกรรมรุนแรงทางการเมืองของกลุ่ม QAnon ด้วยคำแนะนำของอัลกอริทึมเอง ทั้งนี้ยังไม่นับถึงกลุ่มหัวรุนแรงอีกนับพันนับหมื่นกลุ่มที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบ
การถูกชักจูงให้เข้าไปร่วมในกลุ่มหัวรุนแรงบนโลกออนไลน์อย่างกลุ่ม QAnon และกลุ่มหัวรุนแรงทางการเมืองอื่นจึงมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความรุนแรงในโลกแห่งความจริงได้ไม่มากก็น้อยหากมีแรงกระตุ้นที่มากพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงกระตุ้นจากผู้ทรงอิทธิพลอย่างโดนัลด์ ทรัมป์
มนุษย์กับโซเชียลมีเดีย
วิวัฒนาการของชีวิตมนุษย์ทั้งร่างกายและสมองตั้งแต่บรรพบุรุษยุคแรกกว่าจะมาเป็นมนุษย์เดินดินมีรูปร่างและความคิดอย่างที่เห็นในทุกวันนี้คาดว่าใช้เวลาตั้งแต่ 260,000 ถึง 350,000 ปี ในขณะที่โซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นสื่อชนิดใหม่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี
Facebook เกิดขึ้นเมื่อปี 2004 YouTube เกิดขึ้นเมื่อปี 2005 Twitter เกิดขึ้นเมื่อปี 2006 และ Instagram เกิดขึ้นเมื่อปี 2010 ความไม่สมดุลของวิวัฒนาการของมนุษย์กับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็วเท่ากับการพัฒนาทางเทคโนโลยีเป็นผลให้สมองมนุษย์ไม่คุ้นเคยและไม่สามารถรับมือกับสภาวะแวดล้อมใหม่ภายใต้การควบคุมของโซเชียลมีเดียได้ จนถูกครอบงำและใช้โซเชียลมีเดียเกินกว่าที่จะควบคุมได้และกำลังสร้างปัญหาให้กับคนทั้งโลกอย่างช้าๆโดยแทบไม่มีใครใส่ใจเพราะคนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักต่อประโยชน์ของโซเชียลมีเดียมากกว่าผลในทางลบที่กำลังเข้ามาถึงตัวเองโดยไม่รู้ตัว
โซเชียลมีเดีย – องค์กรซ่อนเงื่อน
เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาความไม่เหมาะสมของเนื้อหา ภาพ เสียง ความรุนแรง ฯลฯ เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เจ้าของแพลตฟอร์มมักอ้างเหตุผลเรื่อง“กฎเกณฑ์ของแพลตฟอร์ม” (Law of Platform ) และ “เสรีภาพในการแสดงออก” (Freedom of expression)หรือมักอ้าง “ บทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฉบับที่ 1” (The first amendment) ของสหรัฐอเมริกาอยู่เสมอ จนทำให้ การระงับบัญชี การลบเนื้อหาออกจากแพลตฟอร์มและมาตรการแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความล่าช้าและเป็นวิธีการที่ซับซ้อนและคลุมเครือที่บุคคลภายนอกไม่สามารถล่วงรู้ได้ จนดูเหมือนว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นบรรดาแพลตฟอร์มเหล่านี้มีเจตนาลอยตัวเพื่อลดความยุ่งยากและไม่ต้องการสร้างปัญหาใดๆกับผู้ใช้ ซึ่งแสดงนัยสำคัญว่าการกระทำเช่นนี้ต้องการรักษาฐานผู้ใช้เอาไว้บนแพลตฟอร์มของตัวเองให้มากที่สุด ปัญหาต่างๆจากการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจึงไม่ได้ถูกแก้ไขด้วยความฉับไว กลายเป็นดินพอกหางหมูและนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงหลายต่อหลายเหตุการณ์รวมถึงการจลาจลทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจึงเป็นเหมือนองค์กรซ่อนเงื่อนที่คนทั่วไปหรือแม้แต่ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลก็ยากที่จะล่วงรู้ถึงความลับในการทำธุรกิจขององค์กรเหล่านี้ได้
การใช้โซเชียลมีเดียในทางไม่สร้างสรรค์ไม่ได้เป็นปัญหาของรัฐบาลของทุกประเทศเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของเจ้าของแพลตฟอร์ม รวมทั้งผู้ใช้โซเชียลมีเดียและผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโซเชียลมีเดียและเป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอบนโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม หากรัฐบาลอเมริกันภายใต้การบริหารของ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ยังนิ่งเฉยโดยไม่ใช้ไม้แข็งจัดการให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้แสดงความรับผิดชอบขั้นสูงสุดต่อ การบิดเบือนความจริง การสร้างความเกลียดชังและการสะสมความโกรธแค้นที่อยู่บนแต่ละแพลตฟอร์มอย่างจริงจังแล้ว โซเชียลมีเดียก็จะยังคงสร้างความปั่นป่วนให้กับโลกต่อไปและอาจแทรกแซงและทำลายระบอบประชาธิปไตยอันน่าหวงแหนของสหรัฐอเมริกาเองและของประเทศอื่นๆทั่วโลกได้ตลอดเวลา
เซอร์ ทิโมที จอห์น เบอร์เนิร์ส-ลี (Sir Timothy John Berners- Lee) ผู้สร้างเครื่องมือท่องโลกอินเทอร์เน็ต (World Wide Web : www) เคยจินตนาการเอาไว้ว่าอินเทอร์เน็ตควรจะเป็นพื้นที่แห่งความ “เสรี เปิดกว้าง และ สร้างสรรค์” แต่จินตนาการของเขายังห่างไกลจากความจริงอยู่มาก เมื่ออินเทอร์เน็ตถูกมนุษย์นำมาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการอำนาจของคนบางกลุ่มโดยขาดความยั้งคิดและเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์กำลังทำลายคุณค่าของอินเทอร์เน็ตลงอย่างยับเยินด้วยพลังของโซเชียลมีเดียและฝันของ เบอร์เนิร์ส-ลี คงจะไม่มีวันเป็นจริงถ้าผู้คนยังไม่หยุดใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการบ่อนทำลายซึ่งกันและกันดังเช่นทุกวันนี้
อ้างอิง
1. https://www.bbc.com/thai/55569424
2. The Psychology of Silicon Valley โดย Katy Cook
3. The Hidden Psychology of Social Networks โดย Joe Federer
4. Computational propaganda โดย Samuel C.Woolley และ Philip N.Howard
5. https://www.wired.com/story/opinion-platforms-must-pay-for-their-role-in-the-insurrection/
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://abcnews.go.com/Health/capitol-hill-riot-prove-covid-19-superspreader-event/story?id=75134968