"...ประเทศไทยเคยมีผู้เสียชีวิต 7 คนเพราะการโกงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้การควบคุมโรคล้มเหลวเมื่อปี 2561 ในต่างประเทศก็ปรากฏคดีโกงวัคซีนสำหรับมนุษย์มาแล้ว จึงหวังว่าเรื่องเลวร้ายแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับเราในสถานการณ์ปัจจุบัน..."
..................
เร็วๆ นี้เราจะเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19 กันแล้ว แต่ในระยะแรกนี้วัคซีนยังไม่เพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ถ้าอย่างนั้นใครสมควรได้ฉีดก่อน ใครที่ต้องรอด้วยเหตุผลอะไร
หลายประเทศได้ประกาศนโยบายให้ประชาชนรับรู้แล้ว (ดูเอกสารประกอบ) ว่ามีการจัดลำดับการฉีดวัคซีนให้ใครก่อนหลังอย่างไร เพื่อจะเกิดประสิทธิภาพในการควบคุมโรคและปกป้องสังคม ความชัดเจนแต่เนิ่นๆ เช่นนี้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานง่าย ลดความขัดแย้ง ทุกฝ่ายสบายใจในความเท่าเทียมเป็นธรรม ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ลดการรั่วไหลโกงกิน ลดโอกาสการนำไปใช้หาเสียงหรือเครื่องมืออวดบารมีของใครบางคนที่จัดแจงแซงคิวให้พวกพ้องของตน
เราลองมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่าใครควร “ได้สิทธิ์ก่อน” โปรดอย่าลืมว่าจนถึงเดือนเม.ย. 2564 ไทยมีวัคซีนสำหรับคนแค่ 1 ล้านคนเท่านั้น โดยผมขอตั้งประเด็นดังนี้
1. บุคลากรทางการแพทย์ นักรบชุดขาวที่คอยดูแลเรา เป็นหมอและพยาบาล ราว 2.5 แสนคน อสม. ราว 1 ล้านคน เจ้าหน้าที่สอบสวนและควบคุมโรคและบุคลากรอื่นจำนวนมากในสถานพยาบาล เช่น ทันตแพทย์ เภสัชกร ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่เวชระเบียน เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉิน คนทำความสะอาด คนขนขยะพิษ ฯลฯ
อาจต้องระบุด้วยว่า “คนที่ทำงานในสถานพยาบาล” จะรวมถึง ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ธุรการ และกรณีนี้รวมสถานประกอบการของเอกชน คลินิก บ้านพักคนชรา ด้วยหรือไม่ แล้วผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขและ สาธารณสุขจังหวัดถือว่ามีจำเป็นก่อนหรือไม่
2. คนที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มคนที่เราควรห่วงใย เช่น ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยบางประเภท คนที่อยู่ในพื้นที่การระบาดรุนแรง เป็นต้น และควรรวมเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ด่านตรวจคนเข้าเมือง
กรณีผู้สูงอายุ อาจต้องตกลงกันว่าจะเริ่มจากคนที่อายุเกิน 85 ปีจำนวน 1.3 ล้านคนก่อน หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเหมือนในหลายประเทศ หรือเหมาหมด 12 ล้านคนที่อายุเกิน 60 ปีตามที่เป็นข่าว
3. บุคคลที่มีความจำเป็นพิเศษ เช่น ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรีและ ครม. ส.ส. - ส.ว. เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความต่อเนื่อง แต่เงื่อนไขนี้สมควรรวมข้าราชการการเมือง ผู้ช่วย – ผู้ติดตามนักการเมือง คณะกรรมการ กรรมาธิการ ในทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาด้วยหรือไม่
4. ประชาชนทั่วไป โดยทยอยเริ่มจากจังหวัดที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรครุนแรงมากไปหาน้อย
ที่กล่าวมาเป็นการพิจารณาจาก “หน้าที่ - อายุ - สุขภาพ - พื้นที่” ซึ่งในทางปฏิบัติอาจต้องยืดหยุ่นด้วยข้อจำกัดของจำนวนวัคซีนที่มีอยู่จริง บุคลากรทำหน้าที่ฉีด การเก็บรักษาการขนส่งและแจกจ่าย
เรายึดหลักว่า “คนไทยต้องมีโอกาสเท่ากัน” แต่ถ้ามีคำขอแบบนี้ล่ะ รับได้ไหม..
- ควรให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเอางบประมาณไปจัดหาวัคซีนมาฉีดให้บุคลากรของตนได้หรือไม่? เพื่อแบ่งเบาภาระรัฐบาลและลดความเสี่ยงในองค์กร
- ควรให้มีระบบโควต้าได้หรือไม่? เช่น แบ่งวัคซีนให้แต่ละจังหวัดนำไปจัดสรรกันเอง
ประเทศไทยเคยมีผู้เสียชีวิต 7 คนเพราะการโกงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้การควบคุมโรคล้มเหลวเมื่อปี 2561 ในต่างประเทศก็ปรากฏคดีโกงวัคซีนสำหรับมนุษย์มาแล้ว จึงหวังว่าเรื่องเลวร้ายแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับเราในสถานการณ์ปัจจุบันครับ
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
#ใครควรได้ฉีดวัคซีนก่อน #คนไทยต้องมีโอกาสเท่ากัน #คอร์รัปชัน
เอกสารประกอบ....
คำแนะนำการจัดลำดับก่อนหลังในการฉีดวัคซีนในสหรัฐอเมริกา https://bit.ly/3nCz9Zy
บทความการจัดลำดับฉีดวัคซีน https://www.nytimes.com/2020/12/01/health/covid-vaccine-distribution-first.html