"...แรงงานข้ามชาติของไทย ส่วนใหญ่เดินทางมาเพราะเพื่อนชวนกันมา ต่อให้มีสัญญาว่าจ้างเขาก็อ่านแล้วไม่เข้าใจ แต่รับรูข้อมูลข่าวสารผ่านการสื่อสารกันเอง เพราะอ่านภาษาไทยไม่ออก ส่วนหน้ากากอนามัยก็ต้องซื้อใส่เอง ซื้อมีราคาแพง นอกจากนั้นยังอยู่กันอย่างแออัด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องมาหารือร่วมกันว่าจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง..."
........................................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ศูนย์เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียมทางสังคม จัดเวทีวิชาการสนทนาสาธารณะความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ 'อนาคตประเทศไทยที่จะไม่ไร้สิ้นแรงงานข้ามชาติและโควิด' เพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคการใช้ดำเนินชีวิตของแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย
@ไม่เข้าใจภาษา ไม่รู้สิทธิ์ประโยชน์ตัวเอง
ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์ปกติ ไทยมีจำนวนแรงงานข้ามชาติมากถึง 4.9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรไทยทั้งหมด แต่ด้วยพิษสถานการณ์โควิด ทำให้เหลือแรงงานข้ามชาติเพียง 2.7 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตกงาน แบกรับภาระหนี้สินไม่ไหว จึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่คนไทยไม่ทำอยู่แล้ว เช่น จำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม , ลูกจ้างทำงานบ้าน , เกษตรกร , ก่อสร้าง รวมถึงเป็นแรงงานอยู่ในธุรกิจค้าขาย
ทั้งนี้ในหลายประเทศมีวิธีการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติในยุคโควิดที่แตกต่างกัน อาทิ สิงคโปร์ จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ตรวจหาเชื้อเชิงรุก และให้กักตัวพร้อมอาหารและอินเทอร์เน็ตฟรี , เกาหลีใต้ นิรโทษกรรมแรงงานไม่มีเอกสาร หรือกำกับให้นายจ้างจัดสรรหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ และเยอรมนี ชดเชยเงินสำหรับการหยุดงานระยะสั้น และยังอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานในการทำภาคการเกษตรตามฤดูกาลได้
“แรงงานข้ามชาติของไทย ส่วนใหญ่เดินทางมาเพราะเพื่อนชวนกันมา ต่อให้มีสัญญาว่าจ้างเขาก็อ่านแล้วไม่เข้าใจ แต่รับรูข้อมูลข่าวสารผ่านการสื่อสารกันเอง เพราะอ่านภาษาไทยไม่ออก ส่วนหน้ากากอนามัยก็ต้องซื้อใส่เอง ซื้อมีราคาแพง นอกจากนั้นยังอยู่กันอย่างแออัด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องมาหารือร่วมกันว่าจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง” ดร.ศยามล กล่าว
ส่วนนายธนิทธิ์ ลอยพิมาย สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมองแรงงานทุกคนเท่าเทียมกัน โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในกลุ่มแรงงานข้ามชาติคือเรื่องภาษาไทย ทำให้การสื่อสารไม่เข้าใจและไม่สามารถใช้สิทธิ์ต่างๆได้ จึงอยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันมุ่งเน้นการสื่อสารให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าใจมากขึ้นโดยอาจจัดให้มีการสอนภาษาไทย หรือการให้ความรู้ด้านภาษาของแรงงานข้ามชาติให้กับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
@แรงงานข้ามชาติสร้างรายได้ 4-6% ของจีดีพี
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าแรงงานข้ามชาติสร้างรายได้ 4-6 % ของจีดีพี ซึ่งถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูง โดยอาชีพที่มีแรงงานข้ามชาติมากเป็น 3 ลำดับแรก คือ ก่อสร้าง การเกษตร และปศุสัตว์ แต่ในทางกลับกัน คนเหล่านี้มีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติ โดนรังเกียจและและถูกล้อเลียนจากทางสังคม
“เราจะต้องหาวิธีทำให้คนในสังคมมองว่า คนเหล่านี้ก็เป็นคนทำงานเหมือนกับคนสัญชาติไทย เพราะในอนาคตโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนไป วัยแรงงานจะมีลดลง และเชื่อว่ายังต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติอีกมาก” รศ.ดร.กิริยา กล่าว
@ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ-วัยทำงานลดลง
นายศิววงค์ สุขทวี นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ในอนาคตไทยไม่เพียงแค่ต้องการแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่เราต้องการแรงงานไทยเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากปัญหาของโครงสร้างประชากรไทยที่จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีกลุ่มวัยทำงานลดลง เราจึงต้องการนโยบายระยะยาวเพื่อรองรับปัญหาจำนวนแรงงานขาดแคลน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแรงข้ามชาติจะยังคงเป็นแรงงานสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็กที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ไทย
ทั้งนี้ทางภาครัฐได้มีการดำเนินงานไว้บ้างแล้ว แต่ก็อยากให้มีการจัดการการเข้าเมือง การขึ้นทะเบียนแรงงาน การให้สัญชาติไทย และการสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และแรงงานข้ามชาติ อย่างเป็นระบบระเบียบและมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติอย่างครอบคลุม แก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติผ่านช่องทางผิดกฎหมาย และลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางสิทธิมนุษยชนที่แรงงานข้ามชาติควรจะได้รับ
“ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ประเทศไทยพบคือ ทำอย่างไรจึงจะมองว่าเขาเป็นเหมือนกับแรงงานไทย เขาไม่ได้เข้ามาแย่งงาน และเราก็ไม่ควรแข่งขันกันเพื่อแย่งงาน แต่ควรพัฒนาฝีมือการทำงานร่วมกัน เพื่อแสดงศักยภาพการที่ดีที่สุดและนำพาไปสู่การยกระดับเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” นายศิววงค์ กล่าว
@ขาดนโยบายระยะยาว รองรับปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ด้าน นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของภาครัฐ เราแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่งมาก แต่ยังขาดความต่อเนื่องในแผนระยะยาว จึงเสนอให้ภาครัฐดำเนินนโยบายที่ควรมีการวางแผนระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว และควรนำหลัก ‘กขคงจ’ มาใช้
ก - กฎหมายที่เป็นธรรมบังคับใช้ได้จริง กล่าวคือผู้บริหารต้องได้รับฟังเสียงข้อเรียกร้องต่างๆ จากประชาชนจริงๆ
ข - ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเชื่อมโยงกันได้จริง กล่าวคือการนำข้อมูลในแต่ละสถานการณ์มาเชื่อมโยงกัน
ค - คุ้มครองสิทธิ์ กล่าวคือการสนับสนุนให้เกิดการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติและสร้างเข้าใจเรื่องสิทธิผลประโยชน์ต่างๆที่ควรได้รับให้กับแรงงาน
ง - งบประมาณ กล่าวคือการจัดให้มีกองทุนกลางเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ
จ - จริยธรรมสิทธิมนุษยชน กล่าวคือการดำเนินงานของภาครัฐในการดูแลแรงงานข้ามชาติต้องธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน
เป็นภาพสะท้อนจากเวทีวิชาการที่เห็นว่าแรงงานต่างชาติเป็นหนึ่งในแรงงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งในปัจจุบัน และจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคต
ส่วนภาครัฐจะให้ความสำคัญเรื่องนี้ในทิศทางใด ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage