"...หลังๆมานี้มีเอาไม้ป่าชายเลนทำเฟอร์นิเจอร์ด้วย คำถามคือ ถ้าเราสามารถเอาเฟอร์นิเจอร์อื่นๆเช่นเก้าอี้นวด เก้าอี้หลุยส์ หรือเตียงผ้าใบมาทำกำแพงกันคลื่นลมและเป็นที่อนุบาลสัตว์ทะเลให้วางไข่เลี้ยงลูกแทนป่าชายเลนได้ การเอาป่าชายเลนไปหั่นเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือไปเผาถ่านก็คงน่าเสียดายไม่มาก..."
..........................................
คุณผู้อ่านทราบมั้ยครับ ว่า ป่าชายหาด กับป่าชายเลนต่างกันยังไง ?
ป่าพรุ จะไม่ผลัดใบ และน้ำที่ขังในป่าพรุนั้น คือน้ำจืด ไม่ใช่น้ำเค็ม!
ในผลการศึกษาเรื่องป่าชายเลน ของคณะอนุกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีพลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานอนุกรรมาธิการ บอกไว้อย่างน่าสนใจว่า
ป่าชายหาดนั้นคือป่าที่เกิดขึ้นในที่ดินทรายความเค็มสูง แต่น้ำทะเลจะท่วมไม่ถึง มักเกิดขึ้นหลังสันทรายตามแนวฝั่ง มีลักษณะเป็นป่าโปร่งไม่ผลัดใบ
ส่วนต้นไม้ในป่าพรุนั้น แม้ไม่ผลัดใบเช่นกัน แต่ดินป่าพรุสมบูรณ์กว่ามาก เพราะเกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันมานาน มีน้ำจืดขังเป็นแอ่งตลอดเวลา พืชในป่าพรุจึงมักมีโครงสร้างพิเศษ เช่น มีรากหายใจโผล่จากดิน
ส่วนพืชในป่าชายเลน จะมีความแปลก มีคุณสมบัติพิเศษ และมีพันธุ์ที่หาได้ยาก ขยายพันธุ์ก็ยาก เพราะต้องยึดตัวเองอยู่ในเลน มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มของทะเลเข้าถึงสลับไปมาตลอดเวลา แถมดินเลนด้านใต้ก็ถูกคลื่นและน้ำขึ้นน้ำลงโยกไปมาตลอด มีสัตว์ประเภท หอย ปู และปลาตีนขุดรูเป็นโพรงอยู่ใต้ต้นไม้เหล่านี้ตลอดเวลา โพรงรากของแต่ละต้นจึงพยายามปรับตัวให้สามารถยึดเกาะได้มากที่สุด เปลือกและแกนไม้ต้องพบกับสภาพการกัดกร่อนของน้ำเค็มได้ดี เดี๋ยวเปียกเดี๋ยวแห้งสลับไปมาโดยไม่มีคำว่าหน้าฝนหน้าแล้ง การงอกของต้นใหม่ต้องเผชิญกับคลื่นจึงทำให้มีทั้งแตกหน่องอกกอและทิ้งผลได้
นับเป็นนิเวศของพืชที่น่าจะมีวิวัฒนาการระดับแชมป์มากๆ
แถมภารกิจนอกเหนือจากการเป็นทั้งโรงเรียน และโรงคลอดอันปลอดภัยให้สัตว์ทะเลนานาชนิดแล้ว ป่าชายเลนยังรับบทเป็นเกราะกำบังแผ่นดินชายฝั่งจากพายุ ทั้งลม และคลื่นในฐานะกำแพงที่ซ่อมตัวเองได้ ขยายกำแพงให้กว้างหรือหนาขึ้นก็ได้
เป็นเหงือกที่ช่วยดักกรองปฏิกูลและสารที่เข้มข้นต่างๆไม่ให้ผ่านจากบกลงทะเล เช่น โลหะหนัก เพราะสิ่งเหล่านั้นจะตกตะกอนไว้ที่บริเวณนี้
ตะกอนดินที่มาถึงปากแม่น้ำได้อาศัยรากและแนวป่าเหล่านี้ก่อตัวเป็นแผ่นดินตะกอนที่งอกขึ้นใหม่
ป่าชายเลนจึงมีสถานะผู้ช่วยเพิ่มพื้นที่ดินให้ประเทศไปด้วย
ป่าชายเลนจึงมีบทบาทสำคัญไปถึงแม้แต่หญ้าทะเล และแนวปะการัง
เป็นที่หลบ ที่อาศัยให้นกทะเล หรือแม้แต่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีกหลากหลาย
เล่ามาแค่นี้ เราก็รู้สึกว่า ป่าชายเลนมีค่ามากๆแล้วใช่มั้ยครับ...
นี่ยังไม่พูดถึงมนุษย์เลยนะครับ ว่าได้ใช้ป่าชายเลนทำที่อาศัย ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำที่จอดเรือหลบพายุ ถีบกระดานจับหอยจับปู เอาเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวไปดรฟต์เฉยๆก็มี ตัดไม้โกงกางกันเป็นสัมปทาน(ดีที่สมัยนายกบรรหารสั่งเลิกสัมปทานไม้ป่าชายเลนทั่วประเทศเมื่อปี2538ไปแล้ว) ราษฏรเอาไม้ในป่าชายเลนมาทำไม้ก่อสร้าง ทำเสาเข็ม ทำไม้ค้ำยัน ทำแพปลา ทำอุปกรณ์ประมงสารพัด เพราะทนต่อการกัดกร่อนได้ดี หมดท่าเข้าก็เอามาทำฟืนเสียก็เยอะ
หลังๆมานี้มีเอาไม้ป่าชายเลนทำเฟอร์นิเจอร์ด้วย
คำถามคือ ถ้าเราสามารถเอาเฟอร์นิเจอร์อื่นๆเช่นเก้าอี้นวด เก้าอี้หลุยส์ หรือเตียงผ้าใบมาทำกำแพงกันคลื่นลมและเป็นที่อนุบาลสัตว์ทะเลให้วางไข่เลี้ยงลูกแทนป่าชายเลนได้ การเอาป่าชายเลนไปหั่นเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือไปเผาถ่านก็คงน่าเสียดายไม่มาก
เหน็บซะหน่อย
แต่เมื่อมองเข้าไปในสังคมวิทยาของมนุษย์แล้ว คนที่เกิดและโตมาในพื้นที่ป่าชายเลนมักจะเป็นคนยากไร้ แม้ไม่ถึงอดอยาก แต่มักจะยากที่จะขนส่งคมนาคมไปมา ยากที่จะเข้าถึงการศึกษา และยากที่จะมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ทำกิน เพราะที่ดินที่ตัวจะใช้นั้น ทั้งถูกทะเลและน้ำขึ้นน้ำลงซัดเคลื่อนไหวไปมา และเขตพื้นที่ป่าชายเลนก็ถูกกำหนดเป็นป่าของรัฐเพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวมและระบบนิเวศชายฝั่งเอาไว้ให้ได้
ซึ่งก็จำเป็น....
ผมเคยเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มคนทำประมงชายฝั่งที่ประสบภัยพายุมรสุมหลายโอกาส สิ่งที่พบทำให้รู้สึกได้เลย ว่าความเป็นอยู่แม้ช่วงไม่ถูกพายุถล่มที่อยู่หลับนอนของพวกเค้าก็ยอบแยบมาก
คนทำประมงขนาดเล็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กลางแดดในเรือลำเล็กๆที่สู้คลื่นสูงไม่ค่อยได้ อุปกรณ์ทำครัวแทบไม่มีอะไรคงทนการกัดกร่อนของไอเกลือทะเลได้ เตาแก้สก็มักจะผุเพราะไอเกลือกัด สู้เตาถ่านไม่ได้ ที่ล้างและตากจานที่เป็นโลหะ สู้กาละมังพลาสติกไม่ได้ ดังนั้นแม้ถูกหวยรวยเบอร์มา เครื่องซักผ้าและจักรยาน ก็จะเขรอะด้วยสนิมในเวลาไม่นาน จะทิ้งก็แพงจะใช้ต่อก็ผุ ฝาเรือนและพื้นบ้านมักจะทำจากไม้แผ่นจากป่าบกซึ่งย่อมไม่ทนต่อนิเวศของทะเล คือชื้นเหนียวเหนอะและโยกเยกไปตามการขึ้นลงของน้ำที่ขยับดินเลนไปมาทุกวัน
ดังนั้นโครงบ้านของผู้อาศัยในป่าชายเลนจึงมักจะดูบูดๆเบี้ยวๆ เพราะเส้นโครงจะต้องแข็งแรงหนาๆ แต่จะให้ลงทุนหนาหมดก็ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ จึงต้องใช้ไม้อัด ไม้กระดานที่พอหาได้มาเชื่อม จึงทำให้บวมนั่นแต่บางนี่ ส่วนที่บางจะผุพังก่อน ทำให้ต้องปะผุกันไปตามโอกาส จะเดินท่อน้ำจืดมาใช้ก็เห็นท่อกันโล่งๆ เกิดแนวสีฟ้าสดของ พลาสติกเอสล่อนพุ่งตัดความเข้มของป่าชายเลนไปมาอย่างหลบสายตาไม่ได้ แถมน้ำขึ้นน้ำลงย่อมทำให้พื้นเลนเปียกแฉะ จะเดินเข้าออกก็ต้องอาศัยไม้กระดานตอกพาดไปมาเป็นช่วงๆ รองเท้าและของใช้ดีๆจึงแทบไม่มีที่จะเก็บจะวาง
ต่างกับบ้านสวน บ้านดอย ที่แม้เงินน้อย แต่พื้นก็ไม่โยกเยก และไม่มีคลื่นของน้ำขึ้นน้ำลงมาสอยไปล่ะ
สาธยายมานี้แทบไม่ต่างจากคนอาศัยใต้สะพานลอยในเมืองเท่าไร
แต่พวกเค้าไม่อดอาหารนะครับ เพราะจับสัตว์ทะเลได้อยู่ แถมอัธยาศัยเป็นมิตร ต้อนรับขับสู้เสียอีก
ทีนี้พอรัฐจำเป็นต้อง ''ยึดคืน ''และ ''ฟื้นฟู'' ป่าชายเลน
ความไม่มั่นคงไม่มั่นใจย่อมเกิดขึ้นระหว่างกันและกันแน่
โจทย์ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา ที่มีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์เป็นประธานจึงมีอยู่ว่า
ทำอย่างไรที่จะให้ทุกภาคส่วน ร่วมมือดูแลรักษาพื้นที่อันซับซ้อนทางนิเวศนี้ ให้เกิดความยั่งยืน
และเราเชื่อว่า ต้นแบบการสร้างความยั่งยืน ต้องเป็นการอนุรักษ์ ควบคู่ กับการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ขณะนี้ป่าชายเลนไทยหายไปถึง54.45% ในช่วงการพัฒนาหกสิบปีที่ผ่านมา
แล้วเราจะคุ้มครอง ฟื้นฟู และดูแล ป่าชายเลนที่เหลืออยู่อย่างไร
เราจะปลูกเพิ่ม เติมป่าให้ชายฝั่งของเราได้เพิ่มแค่ไหน จะทันไหม
เพราะเรามีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือใน 24 จังหวัดติดทะเลรวมๆแล้วเพียง 2.8ล้านไร่
แต่ที่ยังมีสภาพเป็นป่าชายเลนจริงนั้น เพียง 1.5ล้านไร่
ที่เหลือกลายเป็นเมือง เป็นนาเกลือ เป็นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นบ่อปลานากุ้ง และกลายเป็นบ่อร้างเสียแล้ว
ถ้าโรงคลอดและโรงเรียนอนุบาลของสัตว์ทะเลหายไป เราจะเหลืออะไรในทะเลล่ะ นอกจากขยะพลาสติก กับปลาที่หลงๆมาจากทะเลอื่น
ชักท้าทายแล้วมั้ยล่ะครับ?
ป่าชายเลน ป่าพรุ และป่าชายหาด จึงเป็นโจทย์ที่ผมจะสรุปจากงานของคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาเล่าต่อในตอนหน้าครับ
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา