"...การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของไทยลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้มีหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้นจึงเป็นโอกาสหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวได้ จากการเพิ่มช่องทางการลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าไทย และความเสี่ยงโดยรวมที่ลดลงจากการกระจายความเสี่ยง..."
..................
1.บทนำ
เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยมีลักษณะเอนเอียงกับการลงทุนในประเทศ (Home-Bias) แม้จะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบฯ และการผลักดันจาก ธปท. แต่การลงทุนของคนไทยในหลักทรัพย์ต่างประเทศยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (Portfolio Investment Aboard: PIA) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลชุดใหม่ของ ธปท.ที่เริ่มจัดเก็บตั้งแต่ปี 2558 ประกอบกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักลงทุน พบว่า นักลงทุนไทยบางกลุ่มเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนให้มีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เช่น กองทุนรวม บริษัทประกัน และนักลงทุนรายย่อย ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมองว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงสูง
บทความฉบับนี้เป็นงานศึกษาชิ้นแรกๆ ที่สรุปพัฒนาการของการผ่อนคลายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของไทยตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนศึกษาพฤติกรรมนักลงทุนไทยเชิงลึกจากข้อมูล PIA ซึ่งมีความละเอียดสูง เช่น ใครคือผู้ลงทุน ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใด และลงทุนในประเทศใด อย่างไรก็ดี ข้อมูลกองทุนประกันสังคมเพิ่งเริ่มจัดเก็บอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้การวิเคราะห์ช่วงปี 2558 ถึง 2562 จะไม่นับรวมข้อมูลกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นข้อจำกัดของงานศึกษาฉบับนี้
2.ภาพรวมสินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือนไทย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่มากนักเนื่องจากคนไทยนิยมออมในรูปเงินฝากและลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก ส่งผลให้โอกาสในการกระจายความเสี่ยงและการเพิ่มผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนในตลาดการเงินโลกที่กว้างขึ้นและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นมีจำกัด โดย ณ สิ้นปี 2562 สินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือนไทยอยู่ในรูปเงินฝากกับสถาบันการเงินในประเทศร้อยละ 41 และตราสารทุนร้อยละ 19 (รูปที่ 1) ดังนั้น คนไทยจึงยังลงทุนภายในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่
รูปที่ 1 : ยอดคงค้างสินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือนไทย
โดยหากเทียบกับต่างประเทศ คนไทยมี Home-Bias สูงสะท้อนจากดัชนี Home-Bias ของการลงทุนในตราสารทุน (รูปที่ 2 เส้นสีแดง) และตราสารหนี้ (รูปที่ 3 เส้นสีแดง) ที่อยู่ในระดับสูงและปรับลดลงช้ากว่าประเทศอื่นในเอเชียที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกคล้ายคลึงกับไทย อาทิ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้มี Home-Bias ลดลง ส่วนหนึ่งจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนต่างประเทศให้ยืดหยุ่นขึ้น
เช่น ในปี 2559 ได้ผ่อนคลายให้บริษัทประกันชีวิตสามารถลงทุนในตราสารที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ และในปี 2561 ได้ผ่อนปรนให้กองทุนบำเหน็จบำนาญของภาครัฐลงทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน เป็นต้น (พรพินันท์ ฉันทภักดีพงศ์, 2563)
รูปที่ 2 : ดัชนี Home-Bias ของการลงทุนในตราสารทุน ที่มา : กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) และ Trading Economics คำนวนโดยผู้เขียน
รูปที่ 3 : ดัชนี Home-Bias ของการลงทุนในตราสารหนี้ ที่มา : กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) และ Trading Economics คำนวนโดยผู้เขียน
3.พฤติกรรมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย
3.1 ภาพรวมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
ภาพรวมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของคนไทยมีการเติบโตเกือบเท่าตัวและโครงสร้างนักลงทุนไทยกลุ่มหลักไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเพิ่มขึ้นจาก 48 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 เป็น 76 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2562 (รูปที่ 4 ) การลงทุนของคนไทยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผ่านนักลงทุนสถาบันในประเทศ ได้แก่ กองทุนรวม บริษัทประกัน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งนิยมจัดสรรเงินให้ผู้เชี่ยวชาญไปลงทุนอีกต่อผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศ อีกทั้งนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านตัวแทนหรือลงทุนโดยตรงด้วยตนเองมีสัดส่วนน้อยมาก ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากนัก
รูปที่ 4: การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำแนกตามนักลงทุนไทย ที่มา : ที่มา: ข้อมูลบัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (PIA) คำนวณโดย ธปท. (ไม่รวมข้อมูลสำนักงานประกันสังคม)
โครงสร้างนักลงทุนไทยที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเฉลี่ยช่วงครึ่งแรกปี 2563 ซึ่งรวมข้อมูลกองทุนประกันสังคม (รูปที่ 5) ประกอบด้วย (1) กองทุนรวม ร้อยละ 64.4 (51.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) (2) บริษัทประกัน ร้อยละ 14.1 (11.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) (3) กองทุนประกันสังคมร้อยละ 8.8 (7.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) (4) กบข. ร้อยละ 4.7 (3.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) (5) บุคคลธรรมดาลงทุนผ่านตัวแทนการลงทุนร้อยละ 3.9 (3.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) (6) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพร้อยละ 0.4 (0.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) และ (7) อื่น ๆ ร้อยละ 3.7 ของยอดคงค้าง (2.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.)
รูปที่ 5: โครงสร้างนักลงทุนไทยในหลักทรัพย์ต่างประเทศ( ครึ่งแรกปี 2 3 และรวมข้อมูลกองทุนประกันสังคม) ที่มา : ข้อมูลบัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (PIA)
หลักทรัพย์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยม คือ ตราสารหนี้และหน่วยลงทุน (รูปที่ 6) โดยมีสัดส่วนการลงทุนในช่วงครึ่งแรกปี 2563 ดังนี้ (1) ตราสารหนี้ร้อยละ 37.3 (2) หน่วยลงทุนร้อยละ 29.3 ซึ่งส่วนใหญ่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนและลงทุนแบบผสม ขณะที่นโยบายลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวหรือลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมีน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดคงค้างหน่วยลงทุนทั้งหมดของคนไทย
สำหรับสัดส่วนหลักทรัพย์ที่เหลือ คือ (3) ฝากเงินในต่างประเทศ (FCD) ร้อยละ 27.3 โดยส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่นิยมลงทุนในระยะสั้น เช่น กองทุนที่มีกำหนดอายุโครงการ (term fund) เพื่อแสวงหาผลตอบแทนและใช้เป็นแหล่งพักเงินเพื่อรอจังหวะลงทุน ประเทศที่นิยมฝาก ได้แก่ กาตาร์ ฮ่องกง มาเก๊า และสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ (4) ตราสารทุน (หุ้น) ร้อยละ 5.0
โดยมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นบริษัทต่างประเทศแม้มีมูลค่าไม่มากแต่เติบโตในอัตราสูง สอดคล้องกับดัชนีราคาตลาดหุ้นทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น โดยคนไทยนิยมลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เช่น โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ รวมถึง อุปกรณ์และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์ COVID-19 และ (5) อื่น ๆ ร้อยละ 1.1 เช่น อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนนิติบุคคลเอกชน (Private Equity) เป็นต้น
รูปที่ 6 : การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำแนกตามผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่มา : ข้อมูลบัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (PIA) คำนวณโดย ธปท. ไม่รวมข้อมูลสำนักงานประกันสังคม
ความนิยมในการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภทมีประเทศปลายทางที่แตกต่างกัน สำหรับตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เงินฝาก คนไทยนิยมลงทุนใน จีน ฮ่องกง รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากให้ผลตอบแทนเฉลี่ยโดยรวมสูงกว่า รวมถึงได้รับการจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) ที่ดี ด้านหน่วยลงทุนคนไทยนิยมลงทุนในลักเซมเบิร์ก และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศศูนย์กลางทางการเงินที่ไปลงทุนต่อในทวีปยุโรปและอเมริกา ขณะที่การลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศกระจุกตัวในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในระยะต่อไป นักลงทุนควรพิจารณากระจายการลงทุนในหุ้นประเทศอื่นมากขึ้น ตลอดจนกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนเติบโตสอดคล้องกับพื้นฐานธุรกิจ เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
3.2 เจาะลึกพฤติกรรมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนแต่ละกลุ่ม
กองทุนรวมลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 48.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 (รูปที่ 7) โดยประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนกองทุนรวมทั้งหมดลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งกองทุนรวมส่วนใหญ่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก เกือบทั้งหมดลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับที่ลงทุนได้ ( Investment Grade) และมักป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX hedging) ในสัดส่วนสูงเพื่อรักษาระดับผลตอบแทนให้คงที่ ตามลักษณะพื้นฐานของตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาลงทุนที่แน่นอนและได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยสม่ำเสมอ ขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพียงบางส่วนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น
รูปที่ 7 : ฐานะการลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวมไทย ที่มา : บัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (PIA)
มีข้อสังเกตว่ามูลค่าเงินลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากผู้จัดการกองทุนรวมทราบล่วงหน้าว่าจะมีกฎหมายภาษีใหม่ ซึ่งกำหนดให้กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ของไทยและต่างประเทศชำระภาษีรายได้จากดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 (เดิมไม่ถูกจัดเก็บภาษีนี้) ส่งผลให้กองทุนรวมทยอยปรับตัวโดยหันไปลงทุนในกองทุนหลัก (MasterFund) ในต่างประเทศเพียงกองเดียวมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากกฎหมายภาษีใหม่ดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2562 ทั้งนี้ ช่วงครึ่งแรกปี 2563 ที่มีการระบาดของ COVID-19 กองทุนรวมส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนใหม่ในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อรอดูทิศทางในสภาวะที่ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกมีความผันผวน
บริษัทประกันลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการลงทุน 11.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของสินทรัพย์รวมบริษัทประกัน ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และกระจายการลงทุนไปยังประเทศที่หลากหลาย โดยเกือบทั้งหมดลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว (รูปที่ 8) เพื่อให้สอดคล้องกับภาระผูกพันของสัญญาและการจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันบางส่วนปรับแผนการลงทุน โดยลงทุนในตราสารทุนและหน่วยลงทุนมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนและสอดคล้องกับลักษณะผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิต ลิงค์) นอกจากนี้ พบว่าพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ของกลุ่มบริษัทมีสัดส่วนที่สูงเช่นเดียวกับกองทุนรวม
ล่าสุดคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ปรับเกณฑ์การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ โดยเพิ่มเพดานการลงทุนในต่างประเทศเป็นร้อยละ 30 จากเดิมที่ร้อยละ 15 ของสินทรัพย์ลงทุน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2563 ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นจากหลักทรัพย์ต่างประเทศ และเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารเงินลงทุนของกลุ่มบริษัทประกัน (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, 2563) จึงคาดว่ากลุ่มบริษัทประกันจะออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นในระยะต่อไป
รูปที่ 8 : ฐานะการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทประกันไทย ที่มา : บัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (PIA)
กองทุนประกันสังคมมีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของเงินกองทุนประกันสังคม ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 จากเพดานการลงทุนเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 13 ของเงินกองทุน (ตารางที่ 1) และล่าสุดคณะกรรมการประกันสังคมปรับเพิ่มเพดานการลงทุนเป็นไม่เกินร้อยละ 15.3 (23 กรกฎาคม 2563) ทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า (ราชกิจจานุเบกษา, 2563)
กบข. มีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23 ของสินทรัพย์รวม กบข. ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 (รูปที่ 9) จากเพดานการลงทุนเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของสินทรัพย์รวม โดยส่วนใหญ่ กบข. จะจัดสรรเงินให้ผู้เชี่ยวชาญไปลงทุนอีกต่อผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นว่า กบข. ลงทุนในตราสารทุนและสินทรัพย์ทางเลือกอื่นมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2561 เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้น และล่าสุด คณะกรรมการของ กบข. ปรับเพิ่มเพดานสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (15 เมษายน 2563) เป็นไม่เกินร้อยละ 40 จึงคาดว่า กบข. จะออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า
รูปที่ 9 : ฐานะการลงทุนในต่างประเทศของ กบข. ที่มา : บัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (PIA)
นักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านตัวแทนลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 3.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ซึ่งมีมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับนักลงทุนสถาบันแต่เติบโตในอัตราสูง โดยเฉพาะปี 2561 ที่มูลค่าการลงทุนเติบโตก้าวกระโดด เนื่องจากตัวแทนการลงทุนในปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนที่หลากหลายและเข้าถึงง่าย อีกทั้งยังมีตัวแทนการลงทุนรายใหม่เข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้นในตลาดการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth Management) ซึ่งให้บริการลูกค้ารายใหญ่ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ในด้านผลิตภัณฑ์การลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารทุนและหน่วยลงทุน (รูปที่ 10) ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนรายย่อยมีความคล่องตัวและมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้และไม่ถูกจำกัดนโยบายการลงทุน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มกองทุนรวมและบริษัทประกันที่นิยมลงทุนในตราสารหนี้
รูปที่ 10 : ฐานะการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านตัวแทน ที่มา : บัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (PIA)
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศน้อยที่ 0.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหน่วยลงทุนและตราสารหนี้ (รูปที่ 11) โดยกองทุนประเภทที่มีนายจ้างหลายรายร่วมกันจัดตั้ง (pooled fund) หรือ "กองทุนร่วม" ซึ่งเป็นรูปแบบกองทุนที่มีสินทรัพย์มากกลับมีสัดส่วนลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ลงทุนกลุ่มอื่น เนื่องจากมีบริษัทจัดการลงทุนเพียงไม่กี่รายที่เพิ่มแผนการลงทุนต่างประเทศในนโยบายหลักการลงทุน
รูปที่ 11 : ฐานะการลงทุนในต่างประเทศของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มา: บัญชีแสดงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (PIA)
โดยสรุป การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากผู้ลงทุนจากเงินออมภาคสมัครใจเป็นหลัก เช่น กองทุนรวม บริษัทประกัน และนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านตัวแทนในประเทศ ซึ่งการที่นักลงทุนกลุ่มนี้ลงทุนจากเงินออมภาคสมัครใจ ทำให้มูลค่าเงินลงทุนและแผนการลงทุนปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นตามปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ผลตอบแทนการลงทุน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ
ขณะที่ผู้ลงทุนจากเงินออมภาคบังคับ ได้แก่ กบข. และกองทุนประกันสังคม มีสัดส่วนน้อยที่ร้อยละ 13.5 ของยอดคงค้างการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด การจัดสรรพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้ในผลิตภัณฑ์การเงินต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารกองทุนซึ่งอาจให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและรักษาเงินต้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ล่าสุด คณะกรรมการของ กบข. และกองทุนประกันสังคมได้ปรับเพิ่มเพดานสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ จึงคาดว่าผู้ลงทุนกลุ่มนี้จะลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า แม้เพดานใหม่นี้จะยังต่ำกว่าการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขนาดใหญ่ของประเทศในกลุ่ม OECD ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 59 ของมูลค่ากองทุนทั้งหมด (OECD, 2019)
4.แนวทางส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธปท. และภาครัฐ ผ่อนคลายกฎระเบียบเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกอย่างต่อเนื่องและทำมาค่อนข้างมากแล้วในหลายด้าน (รูปที่ 12 และบทความในกรอบแนบท้าย) ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่นักลงทุนไทย เพื่อช่วยให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นเรื่องที่ “ลงทุนได้ ลงทุนง่าย และลงทุนเป็น” สำหรับทุกคน รวมถึงนักลงทุนมีความคุ้นเคยกับอัตราแลกเปลี่ยน จากการที่คนไทยสามารถเปิดและฝากบัญชี FCD ในประเทศได้เสรี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) ลงทุนได้ : ธปท. ผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่สำคัญใน 4 มิติ ได้แก่ (1) เพิ่มประเภทผู้ลงทุนสถาบันเป็น 10 ประเภท6/ ในปี 2558 จากเดิมที่มี 6 ประเภทในปี 2546 เพื่อรองรับความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้น (2) ขยายขอบเขตหลักทรัพย์ โดยเปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงินในปี 2563 (3) ยกเลิกวงเงินจัดสรรสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. ในปี 2563 จากเดิมที่กำหนดไว้ 150,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และ (4) เพิ่มวงเงินลงทุนให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ลงทุนผ่านตัวแทนการลงทุนได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี แต่จะไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศหากลงทุนผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
ในระยะข้างหน้า ธปท. อาจพิจารณาผ่อนปรนกฎระเบียบอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับคนไทยในการลงทุนต่างประเทศและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงขยายขอบเขตหลักทรัพย์ เช่น ให้สามารถซื้อประกันสกุลเงินตราต่างประเทศกับบริษัทประกันในไทยได้
2) ลงทุนง่าย : ที่ผ่านมา ธปท. สนับสนุนให้คนไทยลงทุนได้ง่ายขึ้นใน 3 มิติ ได้แก่ (1) นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศ หรือลงทุนด้วยตนเองโดยตรงก็ได้ (2) ธปท. ได้ปรับปรุงระบบการลงทะเบียนกับ ธปท. ให้ใช้งานง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การส่งเอกสารหลักฐานผ่านอีเมล์แทนการส่งเอกสารในรูปแบบกระดาษ และ (3) ธปท. ผ่อนปรนให้คนไทยเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้เสรี ทำให้คนไทยมีกระเป๋าเงินเพื่อพักเงินตราต่างประเทศ ทั้งเพื่อรอออกไปลงทุนและเพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ ภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางการเงินใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้คนไทยลงทุนได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เช่น เสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินและให้บริการผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายรายได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งช่วยให้ขยายกลุ่มลูกค้านักลงทุนได้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
3) ลงทุนเป็น : ธปท. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่นักลงทุนไทย (financial literacy) ทั้งด้านการลงทุนและวินัยทางการเงิน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การให้ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายและเข้าใจง่าย ตลอดจนการสร้างความคุ้นเคยกับอัตราแลกเปลี่ยนให้กับประชาชน เช่น การอนุญาตให้โอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี ไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานและวัตถุประสงค์การโอนเงินระหว่างบัญชี FCD เป็นต้น
5.บทสรุป
การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของไทยลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้มีหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้นจึงเป็นโอกาสหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวได้ จากการเพิ่มช่องทางการลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าไทย และความเสี่ยงโดยรวมที่ลดลงจากการกระจายความเสี่ยง
โดยปัจจุบัน ธปท. และภาครัฐได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศอย่างเป็นองค์รวม ดังนั้น ในระยะข้างหน้า ผู้เขียนคาดว่าจะเห็นเงินทุนไหลออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น คนไทยมี Home-Bias น้อยลง นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้กับคนไทยในการรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
โดย รัตติยากร ลิมัณตชัย เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท.
กัญฐณา โสภณพนา ผู้วิเคราะห์ ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน สายตลาดการเงิน ธปท.
อารยา ทองธีรภาพ ผู้วิเคราะห์ ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน สายตลาดการเงิน ธปท.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage