"... ถ้าหากว่าเราเห็นว่าคำพิพากษาฉบับไหนไม่มีเหตุผล เราก็มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งความเห็นของเราว่าคำพิพากษาฉบับนั้น ขาดเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด หรือตั้งคำถามต่อสาธารณชนได้ว่า เรามีความเห็นว่าคำพิพากษานั้น ไม่ควรเป็นเช่นนั้น ไม่ควรเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุใด แบบนี้ทำได้ หรือเราจะวิจารณ์ผู้พิพากษาหรือวิจารณ์ศาล ทำได้ แต่ว่าจะแสดงความคิดเห็นในลักษณะเป็นการดูหมิ่น หรือเหยียดหยามผู้พิพากษา หรือว่าศาลไม่ได้..."
.......................................
ขอบเขตความเหมาะสมในการวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในสังคมไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณี ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ อยู่อาศัยในบ้านพักราชการทหาร ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) หรือไม่
โดยนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง โดยกำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของประยุทธ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ ตั้งแต่เมื่อใด
ประเด็นสำคัญที่พิจารณามีหลายประการ อาทิ 1.พิจารณาระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ข้อ 5 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองต้องมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ข้อ 5.1 ข้าราชการสังกัดกองทัพบก มีชั้นยศพลเอก ข้อ 5.2 เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงในกองทัพบก ทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว 2. คำชี้แจงของ ผบ.ทบ. ที่ชี้แจงว่า ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. อยู่ จึงเป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง โดยอาศัยระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ข้อ 5 และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เกษียณตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2557 แต่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ยังคงมีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าว เนื่องจากเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูง และทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้วตามข้อ 5.2 หาใช่อาศัยในบ้านพักรับรอง ในฐานะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงสถานะเดียวไม่
3.ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดให้ และได้รับการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปา เป็นไปตามดุลพนินิจของกองทัพบกมีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 แล้ว โดยระเบียบดังกล่าวใช้บังคับมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2548 ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรีโดยที่นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดให้บริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำประเทศ ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ และมีหน้าที่จัดการดูแลความปลอดภัยให้แก่นายกรัฐมนตรี และครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ การจัดบ้านพักรับรองที่มีความปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างสภาพสุขกาย สุขใจ การปฏิบัติภารกิจบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักให้แก่ผู้นำประเทศกรณีดำรงตำแหน่ง เหล่านี้ เป็นต้น
(อ่านประกอบ : ประยุทธ์รอด! ศาล รธน.ชี้อาศัยบ้านพักทหารไม่ขัดรัฐธรรมนูญ-เหตุนายกฯคือผู้นำประเทศ)
ทั้งนี้ ภายหลังการอ่านคำวินิจฉัยสิ้นสุดลง ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย อาทิ เกิดการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวของกลุ่มที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎร มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และล้อการทำหน้าที่ของศาล นอกจากนี้ หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ( เพนกวิ้น ) มีการโพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาเกี่ยวกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ วันที่ 3 ธ.ค. ส.ต.ท.มนตรี แดงศรี ผู้อำนวยการกลุ่มงานนิติการ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้เดินทางมาเข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หลังโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กตัวเอง พาดพิงศาลรัฐธรรมนูญจนเกิดความเสื่อมเสีย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน ( iLaw ) เพื่อถกถามถึงประเด็นสำคัญว่าด้วยขอบเขต ความเหมาะสม ในการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าแบบใดจึงถือว่าหมิ่นศาล และแบบใดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำได้
รวมทั้ง ร่วมกันวิเคราะห์ถึงประเด็นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลากหลายแง่มุมที่ล้วนน่าสนใจ
ดังความเห็นโดยละเอียด ดังต่อไปนี้
1.ขอบเขต ความเหมาะสมของการวิจารณ์คำวินิจฉัยศาล
@ จากกรณีที่มีนิติกรศาลรัฐธรรมนูญ ไปแจ้งความ ปอท. กล่าวหาว่านายพริษฐ์ ชิวารักษ์ โพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายหมิ่นศาล ตามกฎหมายอาญามาตรา 198 สำหรับประชาชน สาธารณชนแล้ว ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์ที่จะไม่ให้เกิดข้อกล่าวหาว่าหมิ่นศาล ในแง่ของความเหมาะสม อยู่ตรงไหน ?
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ /ภาพจากhttps://mgronline.com
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ : ต้องแยกแยะเรื่องนี้ตามกฎหมายอาญาของเรา กฎหมายห้ามมิให้ดูหมิ่นศาลหรือดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี แต่ว่าประชาชน มิสิทธิ์ที่จะวิจารณ์คำพิพากษาได้ กฎหมายไม่ได้ห้ามวิจารณ์คำพิพากษา กฎหมายห้ามเฉพาะดูหมิ่นศาล หรือดูหมิ่นผู้พิพากษาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราเห็นว่าคำพิพากษาฉบับไหนไม่มีเหตุผล เราก็มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งความเห็นของเราว่าคำพิพากษาฉบับนั้น ขาดเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด หรือตั้งคำถามต่อสาธารณชนได้ว่า เรามีความเห็นว่าคำพิพากษานั้น ไม่ควรเป็นเช่นนั้น ไม่ควรเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุใด แบบนี้ทำได้ หรือเราจะวิจารณ์ผู้พิพากษาหรือวิจารณ์ศาล ทำได้ แต่ว่าจะแสดงความคิดเห็นในลักษณะเป็นการดูหมิ่น หรือเหยียดหยามผู้พิพากษา หรือว่าศาลไม่ได้
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำที่กล่าวหา ผู้กระทำเขามีเจตนาที่จะดูหมิ่น และการกระทำของเขาเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศาลและผู้พิพากษาหรือไม่ ถ้าหากว่าเขาเพียงแต่แสดงความคิดเห็นต่อผู้พิพากษาก็ไม่มีความผิด แต่ถ้าหากว่าไปแสดงอาการหรือถ้อยคำ ในลักษณะที่ดูหมิ่น ทำให้สาธารณชนหรือคนทั่วไป หรือทำให้ผู้ที่รู้เห็น รู้สึกว่าศาลหรือผู้พิพากษา ขาดศักดิ์ศรี อันนี้เป็นการดูหมิ่น ถ้าเป็นการดูหมิ่นก็มีความผิด ถ้าหากว่าทำให้เขาด้อยค่า ด้อยความนับถือ แบบนี้ดูหมิ่น แต่ถ้าวิจารณ์ว่าสิ่งที่กระทำนั้น ไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ แบบนี้ทำได้ แต่ว่าให้ระวังเอาไว้ วิธีที่ดีที่สุดคือวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ทำเป็นประจำ เพราะการสอน ต้องสอนว่าคำพิพากษา มีข้อดี หรือข้อไม่ดีอย่างใด ในทางวิชาการนั้น ทำได้
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / ภาพจากhttps://voicetv.co.th/
รศ.สมชาย : ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ต้องตัดสินวินิจฉัยประเด็นทางการเมือง เพราะฉะนั้น เมื่อตัดสินประเด็นปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมือง มันก็ย่อมมีประเด็นปัญหาที่ทำให้เกิดข้อความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ผมคิดว่า ในหลายประเทศการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาล ไม่ใช่แค่ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขององค์กรตุลาการ เป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ หมายความว่า เราต้องไม่ไปด่าพ่อล่อแม่ศาล ไปด่าบุพการีของผู้พิพากษาหรือไปด่าด้วยคำหยาบคาย แต่ถ้าเกิดเป็นการพูดด้วยเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาอันนี้ควรจะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดได้โดยปกติ และก็เป็นไปตามกระบวนการ ถ้าเกิดมีใครไปด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือด่าในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัย สถาบันตุลาการก็สามารถใช้กฎหมายตามปกติที่มีอยู่มาปกป้องคุ้มครองตัวเองได้ แต่ปัญหาที่ผ่านมา ผมว่ากระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาก็เกิดขึ้น แต่ที่น่าเสียดายที่ในหลายกรณีศาลรัฐธรรมนูญควรตอบด้วยเหตุผล แต่น่าเสียดายที่ไม่ถูกตอบ แล้วพอหลังรัฐธรรมนูญ 60 ศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มบทบัญญัติเพิ่มเกี่ยวกับการวิจารณ์ไม่สุจริต หยาบคาย ซึ่งเป็นปัญหา เพราะการวิจารณ์หยาบคายมันชัดเจนในความหมาย แต่การวิจารณ์โดยไม่สุจริต ผมคิดว่ามันค่อนข้างยากต่อการตีความว่าอะไรสุจริต อะไรไม่สุจริต เนื่องจากเป็นศาลที่วินิจฉัยทางการเมือง ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญควรต้องพร้อมจะรับฟังสาธารณะ
ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับคำว่าคำวินิจฉัยมีเหตุ มีผลมากน้อยขนาดไหน สาธารณชน เห็นพ้องด้วยหรือไม่ ผมว่าการที่ศาสลรัฐธรรมนูญ จะเป็นหลักของความไว้วางใจได้ต้องวางอยู่บนหลักของการใช้เหตุและผล
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) /ภาพจาก https://www.posttoday.com/
พ.ต.อ.วิรุตม์ : คือการวิจารณ์ไม่ผิดอยู่แล้ว แต่ที่เขาไปแจ้งความ บางคนอาจจะพูดจาเกินเลยไปในลักษณะของการหมิ่นศาล ประเด็นที่เขาไปแจ้งความเป็นเรื่องของการหมิ่นศาล ไม่ใช่ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งผู้ที่ทำอาจจะไม่รู้ไปใช้คำหยาบ พูดจาลักษณะหมื่นศาล แต่ถ้าคำวิจารณ์ด้วยความสุจริต ไปดำเนินคดีไม่ได้ ไม่ใช่วิจารณ์โดยไม่มีตรรกะ หรือหยาบคาย แบบนั้นทำไม่ได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาไปแจ้งความใครแบบไหน ประเด็นอยู่ที่ว่าคำพูดที่หมิ่นศาลนั้นเป็นอย่างไร
ศาลรัฐธรรมนูญ โดยหลักแล้วต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้กระทั่งคำสั่ง คำพิพากษาของศาลก็ทำได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ต้องแยกแยะระหว่างการหมิ่นศาล กับการวิพากษ์วิจารณ์ศาล และการละเมิดอำนาจศาลไม่เกิดขึ้นง่ายๆ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการควบคุมความสงบเรียบร้อยบริเวณศาล เป็นหลัก เช่นในห้องพิจารณาคดี อาคารศาล บริเวณศาล คือ การละเมิดอำนาจศาล ต้องไปทำให้เกิดผลกระทบต่อคดีเป็นหลัก
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน ( iLaw ) /ภาพจาก https://www.law.tu.ac.th/
ยิ่งชีพ : การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลโดยสุจริต มีเหตุมีผล ไม่ไปโจมตีผู้พิพากษาเป็นรายบุคคล เป็นสิ่งที่ทำได้ และควรจะทำอยู่แล้ว ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีขึ้นเพื่อคุ้มครองศาล เพื่อไม่ให้มีการใช้กระแสสังคมกดดันศาล ให้พิพากษา วินิจฉัยไปในทางใดทางหนึ่ง กรณีนี้ วินิจฉัยไปแล้ว มันกลับไม่ได้แล้ว มันก็ไม่สามารถจะใช้กระแสสังคมไปมีอิทธิพลอะไรเหนือศาลได้
2.การขัดกันของผลประโชน์ : สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย
@ กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ราย วินิจฉัยกรณีบ้านพักรับร้อง พลเอก ประยุทธ์ ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี มีความเห็นอย่างไร ?
ยิ่งชีพ : ไอลอว์ติดตามกระบวนการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่แรก ก็เห็นว่าปัญหาหนึ่งที่เราเสนอให้แก้ไข คือที่มาของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่ง ตอนนี้ ตุลาการ 9 คน 7 ใน 9 ก็มาจากการคัดเลือกของ สว. ชุดนี้ หรือไม่ก็จากการคัดเลือกของ สนช. ชุดที่แล้ว ทีนี้คดีนี้ มาตรา 184 เป็นมาตราที่เราไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะมันเป็นเรื่องรายละเอียด การขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้น ก็ไปว่ากันในเรื่องกฎหมายว่าด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นก็ได้ แต่ก็ไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องการไปรับประโยชน์จากหน่วยงานราชการเพื่อไม่ใช่คนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีผลประโยชน์ทับซ้อนมันก็เป็นเรื่องที่เป็นหลักการที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือเปล่า พอเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มันก็เลยกลายเป็นคดีนี้ก็ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญไป อะไรแบบนี้ เป็นต้น แล้วโดยการตีความมันไม่ได้ยากอะไร ว่ามีการรับประโยชน์จากหน่วยงานราชการหรือเปล่า มันก็เห็นชัดเจนตรงไปตรงมาอยู่แล้ว
ตัวสำคัญอยู่ที่มาตรา 184 มันตีความไม่ได้ยากอะไร มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ตัวอักษรเขียนไว้อยู่แล้ว และตีความได้ง่ายๆ ไม่ว่าคุณจะเรียนกฎหมายมาหรือไม่ ก็เห็นไปในทางเดียวกัน
@ เรื่องมาตรา 184 มีเสียงวิจารณ์ว่าไม่ควรวินิจฉัยออกมาเป็นแบบนี้ คุณมีความเห็นอย่างไร ?
รศ.สมชาย : เฉพาะกรณีบ้านพักคุณประยุทธ์ที่อยู่ในกองทัพ ผมคิดว่าแบบนี้ ผมคิดว่าถ้าสมมติเราเทียบกับคดีอื่นๆ สิ่งที่เราจะเห็นได้ชัดคือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีคุณสมัคร สุนทรเวช ที่โดนคำวินิจฉัยของศาลให้พ้นจากตำแหน่งไป หรือกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สมัยที่คุณนภดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอีกหลายคดี เวลาจะพิจารณาว่าการกระทำของรัฐมนตรีขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สิ่งที่เราจะเห็น ก็คือว่าเขาจะมุ่งพิจารณาที่หลักการทางรัฐธรรมนูญ เป็นหลักก่อน กรณีคุณสมัคร เขาก็พิจารณาหลักการทางรัฐธรรมนูญเป็นหลักก่อน แล้วก็บอกว่าการกระทำของคุณสมัครขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตัวบทที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ครอบคลุมไปไม่ถึง ศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้วิธีการตีความเพื่อให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ครอบคลุมไปถึง แต่ถ้าเรามาดูกรณีของคุณประยุทธ์ กรณีที่เราเห็นชัดเจนก็คือว่า ศาล รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญไปที่การพิจารณาระเบียบของกองทัพเป็นหลัก ว่าการกระทำของคุณประยุทธ์เป็นไปตามระเบียบของกองทัพหรือเปล่า หรือมันเป็นไปโดยไม่ตรงกับคำถาม ว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ที่มีการพูดถึงกันคือ ประเด็นการขัดกันของผลประโยชน์ คือหมายความว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปรับผลประโยชน์จากทั้งของเอกชนและของรัฐ
สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้เลยก็คือ การกระทำดังกล่าวมันเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับผลประโยชน์ที่มาจากหน่วยงานรัฐหรือไม่ ผมคิดว่านี่เป็นหลักการที่สำคัญ ที่ต้องถูกวินิจฉัยว่าทำไมรัฐธรรมนูญต้องถูกเขียนแบบนั้น เพราะเนื่องจากเขากังวลว่ารัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจทางการเมือง ถ้าไปรับผลประโยชน์จากเอกชนหรือหน่วยงานรัฐก็ตาม มันอาจจะนำไปสู่การตัดสินใจในเชิงนโยบายที่อาจจะเอื้อประโยชน์ ให้กับทั้งของเอกชนและหน่วยงานรัฐ ซึ่งกรณีเช่นนี้ เนื่องจากเป็นกองทัพบก เราจะตอบได้อย่างไรว่าเวลาที่คุณ ประยุทธ์ หรือรัฐบาล ไปตัดสินเรื่อง อย่างเช่น สมมติกองทัพบกอยากซื้อเครื่องบิน ก็เห็นได้ชัดถึงการขัดกันของผลประโยชน์ คือ คุณประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ต้องไปตัดสินเรื่องขององค์กรที่ตนเองไปรับประโยชน์มา ซึ่งน่าเสียดายที่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่วินิจฉัยให้ชัดเจนว่า ไอ้เป้าประสงค์ ความต้องการของรัฐธรรมนูญมาตรานี้นั้น เป็นอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญเพียงไปวินิจฉัยว่า คุณประยุทธ์อยู่ตามระเบียบของกองทัพบกหรือไม่ ซึ่งอันนั้น มันเป็นเพียงประเด็นปลายมาก
@ มีความเห็นอย่างไร ต่อคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ?
พ.ต.อ.วิรุตม์ : ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เน้นเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ทำคุณประโยชน์ใช่ไหม หมายความว่ากรณีอยู่บ้านหลวง ไม่ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ใช่ไหม ไม่ได้พิจารณาประเด็นกฎหมาย ป.ป.ช.ใช่ไหม มันก็ตลกน่ะนะ ความจริงควรต้องพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นนี้ แต่เขาก็วินิจฉัยข้ามไปในประเด็นที่ว่าเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ และอยู่ได้ตามระเบียบราชการ จึงทำให้ประเด็นหลักคาอยู่ อาทิ ไม่วินิจฉัยประเด็นรับผลประโยชน์เกิน 3,000 บาท อันนี้ก็งงๆ ทั้งที่หากเป็นลักษณะรับผลประโยชน์หรือทรัพย์สินอื่นใดเกิน 3,000 บาท ก็ต้องตีความว่าการเข้าไปอยู่เป็นการรับผลประโยชน์ไหม ค่าน้ำค่าไฟอีกหลายปีก็เป็นหลายแสน เป็นล้านบาท ซึ่งศาลไม่ได้วินิจฉัยตรงนี้ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่คาใจ
@ มีความเห็นอย่างไรต่อกรณีคำวินิจฉัยกรณี บ้านพักรับรอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ : คือคำวินิจฉัยยังไม่มีฉบับเต็มออกมา มีแค่ตามข่าว ซึ่งเขาก็แจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษาใน สองประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นว่าการที่ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไปอยู่ในบ้านพักอาศัย ซึ่งต่อมาแปรสภาพมาเป็นบ้านพักรับรอง แล้วเป็นการรับประโยชน์ที่ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือเป็นการรับประโยชน์นอกเหนือจากกิจการงานนั้นหรือไม่ นี่เป็นข้อที่ 1
ข้อที่ 2 การกระทำดังกล่าว ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ตอบว่า ไม่ แต่อันนี้มีข้อที่เราจะต้องพิจารณาในคำวินิจฉัยฉบับเต็มว่า มีข้อที่ประชาชนหรือ คนทั่วไปอาจจะสงสัยได้ว่าการที่หน่วยราชการจะแปรบ้านพักอาศัย ให้เป็นบ้านพักรับรองนั้น หน่วยงานราชการ ทำได้หรือไม่ เพราะว่าบ้านพักอาศัย ก็คือ บ้านพักของราชการ ถูกไหมครับ ใช้งบของราชการ เพื่อที่จะให้ผู้ดำรงตำแหน่งได้พักอาศัยอยู่ แต่อยู่ดีๆ ใช้งบประมาณสำหรับบ้านพักอาศัยสำหรับข้าราชการ ไปเป็นบ้านพักรับรอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์คนละวัตถุประสงค์กับบ้านพักรับรองของข้าราชการ อันนี้ ทำได้หรือไม่ ซึ่งเผอิญ คนที่แปลงบ้านพักอาศัยมาเป็นบ้านพักรับรองก็คือเป็นผู้บัญชาการทหารบก คนเดียวกับที่เป็น นายกรัฐมนตรี ที่ได้อยู่อาศัยในบ้านพักรับรองนั้นด้วย ดังนั้น นี่เป็นข้อที่ควรติดตามในฉบับเต็มต่อไป เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันว่า หลักการใหญ่ของการดำรงตำแหน่งของราชการ จะต้องทำให้สาธารณชนเชื่อว่าตนเองปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีส่วนได้เสียขัดกับหน้าที่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นผู้บัญชาการทหารบก หรือเป็นหัวหน้าส่วนราชการ เราจะต้องงดเว้น หรือไม่อนุมัติอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ในฐานะส่วนตัวด้วย ถ้าทำอย่างนี้ก็ต้องถูกตั้งข้อสงสัยเป็นธรรมดา และต้องอธิบายให้ได้ชัดเจนว่า อันนี้ ไม่ใช่เรื่องมีประโยชน์ได้เสียขัดกับตำแหน่งหน้าที่
เพราะถ้าหากว่า อธิบายไม่ชัดเจน หน่วยราชการอื่น เขาจะทำบ้าง อย่างนี้ จะทำได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น บ้านพักในอุทยานแห่งชาติ มันก็มีบ้านพักราชการ กับบ้านพักรับรอง อยู่ดีๆ หน่วยงานเขาจะเปลี่ยนบ้านพักรับรอง เป็นบ้านพักราชการ หรือเปลี่ยนบ้านพักราชการ เป็นบ้านพักรับรอง อย่างนี้ จะทำได้ไหม แล้วถ้าคนที่ทำเป็นคนที่อยู่อาศัยเองซะด้วยมันก็จะทำให้เกิดข้อสงสัย เป็นข้อสงสัยที่มีเหตุควรจะต้องได้รับคำชี้แจงและคำอธิบายว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรจะต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีส่วนได้เสียขัดกับตำแหน่งหน้าที่
3.การวินิจฉัยคดีขององค์กรตุลาการ
@ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การดำรงตำแหน่งของพล.อ. ประยุทธ์ ส่งผลอะไรหรือไม่ ?
รศ.สมชาย : ผมคิดว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทิศทางแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นก็คือ มันจะยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าสังคมการเมืองไทย เป็นการร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างกลุ่มชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม คือกรณีที่มีคำวินิจฉัยแล้วทำให้คุณประยุทธ์ได้ประโยชน์
ผมคิดว่าไม่ใช่กรณีแรก กรณีวินิจฉัยเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ระบบการปกครองที่เป็นอยู่ตอนนี้ มันกลายเป็นเรื่องของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง สร้างเครือข่ายและพยายามจะมีอำนาจเหนือสังคม ซึ่งผมคิดว่าภาพแบบนี้มันจะถูกต้องย้ำลงไปเรื่อยๆ และไม่เป็นธรรม ว่าถ้ามีศาลรัฐธรรมนูญก็คาดหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะวางตัวเป็นกลางและวินิจฉัยไปตามหลักวิชา เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่ง ผมว่าความไว้วางใจที่ทั้งประชาชนมีต่อศาลรัฐธรรมนูญและคุณประยุทธ์ มันก็คงจะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ผมคิดว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์เขาต้องการล้มองค์กรที่ชี้ขาดข้อพิพาท คือหมายความว่า เขาก็ยังต้องการมีศาลอยู่ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลยุติธรรมก็ได้ แต่มากกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เขาคงต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับองค์กรตุลาการที่เมื่อวินิจฉัยอะไรออกมาแล้ว มันพอจะทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า คำวินิจฉัยนั้นมันเกิดขึ้นบนหลักวิชา บนความเป็นกลาง บนความเป็นอิสระจากฝ่ายต่างๆ ผมคิดว่านี่สำคัญ เพราะสังคมการเมืองไทย จะออกจากความขัดแย้งได้ ต้องมีองค์กรตุลาการที่เป็นกลางและเป็นธรรม
@ มองอย่างไรต่อบทบาทของพลเอกประยุทธ์ในประเด็นจริยธรรม ภายหลังจากคำวินิจฉัยนี้ ?
ยิ่งชีพ : ผมว่าปัญหามันเท่าเดิมนะ ปัญหาของคนที่มองว่าการดำรงอยู่ในตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ ไม่ชอบธรรม ก็มีมาตั้งนานแล้ว แล้วก็หลายเรื่อง ไม่ว่าเรื่องระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมา เรื่องการสืบทอดอำนาจ จาก คสช. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมี สว. 250 คน ค้ำยันอำนาจให้ตัวเอง หรือว่าการคัดเลือกองค์กรอิสระให้มาตัดสินตัวเอง เรื่องโครงสร้างทั้งหมด ไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว เรื่องบ้านพักทหาร และศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นเพียงแค่ก้าวเล็กๆ ในภาพใหญ่ทั้งหมดที่คนจะมองต่อพลเอกประยุทธ์
@ การดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ของ พล.อ. ประยุทธ์ ส่งผลอะไรหรือไม่ ?
พ.ต.อ.วิรุตม์ : เนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลกึ่งการเมือง ไม่ใช่ศาลยุติธรรมที่จะวินิจฉัยอะไรก็จะเอาตัวบทกฎหมายมาใช้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างจะใช้หลักเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เป็นภาษารัฐศาสตร์ อย่างกรณีของคุณประยุทธ์ คนก็คาใจว่าไม่ได้ตอบในประเด็นหลักว่ารับประโยชน์เกิน 3,000 บาทหรือไม่ แล้วก็ไปเน้นเรื่องระเบียบของกองทัพ แล้วก็มองว่าทำได้ เพราะเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ ไปเน้นแต่ประเด็นเหล่านั้น
นี่ก็เป็นปัญหาภายในที่ต้องพูดจากันเหมือนกัน เพราะมันเป็นระเบียบที่แฝงไว้ด้วยความฉ้อฉลนะ พูดกันตรงๆ
คือการทำคุณประโยชน์ให้กองทัพ มันไม่จำเป็นต้องเป็น พลเอก หรือ ผบ.ทบ. แต่จ่า ดาบ ข้าราชการผู้น้อยก็ทำประโยชน์ได้ แต่ทำไมไม่ได้รับการยกเว้น เพราะฉะนั้น ระเบียบต่างๆ หรือระเบียบบางอย่าง อย่าถือเป็นสาระที่ยึดถือว่าชอบธรรม เพราะการทุจริตฉ้อฉลเมื่อไปในในระดับสูงแล้วก็เป็นการฉ้อฉลบางอย่าง คือมีการออกระเบียบรองรับ เช่นการนำของหลวง นำคนของหลวงออกไปใช้ เป็นต้น
..................................
เหล่านี้ คือ เสียงสะท้อนและการวิเคราะห์บางแง่มุมของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ที่มีต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นบ้านพักรับรองที่ยังคงส่งผลสะเทือนและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในหลายแง่มุมกระทั่งทุกวันนี้
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน
ว่าด้วย สงคราม (ความคิด) การแต่งกายชุดไปรเวท...ไปโรงเรียน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage