หลังจบสิ้นกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมอย่างเป็นทางการของนักเรียนมัธยมศึกษาหลายโรงเรียน กลุ่มภาคีนักเรียน KCC และกลุ่มที่เรียกตนเองว่านักเรียนเลว ร่วมกันรณรงค์แต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน ปรากฏว่ามีผู้สนใจร่วมกิจกรรมดังกล่าวจำนวนไม่น้อย ทว่า ก็เกิดผลกระทบกับนักเรียนในบางโรงเรียนที่เกิดปรากฏเป็นข่าวว่าบ้างถูกครูเรียกอบรม บ้างถูกเรียกเข้าห้องปกครอง
แต่นอกจากข่าวสารที่ปรากฏแล้ว เบื้องหลัง นัย และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้ ลึกลงไปแล้ว มีอะไรที่ซ่อนอยู่มากกว่าเพียงแค่เรื่องของการแต่งกายชุดไปรเวท ไปโรงเรียน
.......................
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนภาพถึงการตั้งคำถามท้าทายระบอบสังคมอำนาจนิยมและปิตาธิปไตย ความลักลั่นของระบอบการศึกษาไทย ทั้งวิพากษ์ว่าโรงเรียนคือสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ ขณะที่ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ร่วมวิเคราะห์ถึงแง่มุมและผลสะเทือนของการนัดหมายกันสวมชุดไปรเวท ของกลุ่มนักเรียนในครั้งนี้ ว่าแม้แต่นิสิตในรั้วมหาวิทยาลัยยังให้การยอมรับ
เปิดเผยรายละเอียดนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป
@ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ/ภาพจากhttps://www.thaipost.net
ระบบการศึกษาของไทย : โรงเรียนคือสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์
@ กรณีนักเรียนรณรงค์สวมชุดไปรเวทไปโรงเรียน สะท้อนภาพอะไรของระบอบการศึกษาไทยบ้าง ?
รศ.ดร.อนุสรณ์ : กรณีนี้ ประการแรก มันก็เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อระเบียบวินัยที่เป็นอำนาจในการควบคุมตรวจตรา หรือบังคับเด็กๆ ที่อยู่ในโรงเรียน แต่จะว่าไปกรณีนี้ถ้าเราจะดูก็เป็นผลพวงที่เป็นระบบการศึกษาไทยที่อาจจะเรียกว่า "สังคมอำนาจนิยมและปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่"
ประการที่สอง คือ เป็นความขัดแย้งของการเมืองร่วมสมัยซ้อนทับเข้าไปอีก กลับมาดูที่ระบบการศึกษา คือ ระบบ การศึกษาของไทย หรือโรงเรียนมันคือสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถจะสลัดหลุดมาได้จากทางสถาบัน
กฎระเบียบ มันมีไว้ควบคุม เวลาเข้าสู่องค์กรหรือสถาบันที่บังคับ เช่น สถาบันทางการศึกษา ถ้าเราดูอย่างตะวันตก ในแง่หนึ่ง อาจจะอยู่ในศาสนจักร แล้วค่อยๆ คลี่คลายตัวออกมาในทางโลก แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้น ในตะวันตก คือมันคลี่คลายมาตามลำดับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ คลี่คลาย ผ่อนคลายมากขึ้น อาจมีโรงเรียนในสังกัดสถาบันทั้งหลายแหล่ที่มีลักษณะเช่นนั้น โรงเรียนนายร้อยอะไรก็ว่าไป แต่ถ้าโรงเรียนโดยทั่วไป ไม่ใช่ว่าตะวันตกเป็นตัวตั้งนะ แต่หมายถึงที่เราเห็นจาก ตะวันตก ปัจจุบันนี้ ในยุโรป หรืออเมริกา ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นประถม หรือ มัธยม โดยทั่วไป จะไม่มีเครื่องแบบแล้ว เป้าหมายคือการกระตุ้นบุคคลให้ได้ใช้สติปัญญาและเหตุผลในการพิจารณา ดังนั้น ในเมื่อระเบียบวินัย และกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถ ที่จะอธิบายได้ว่า มันจะสมประโยชน์ให้กับการกระตุ้นให้คิด ตั้งคำถาม หรือใช้สติปัญญาได้อย่างไร มันก็ค่อยๆ หายไป
แต่สังคมไทยมันมีความลักลั่น ก็คือว่า ในด้านหนึ่ง โรงเรียนก็ต้องการบ่มเพาะสติปัญญาให้สามารถคิดได้อย่างมีเหตุผล มีวิจารณญาณ ในขณะเดียวกัน ก็มีระเบียบวินัยพวกนี้กดทับไว้ ซึ่งไม่อาจอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ว่ามันจะพอกพูนสติปัญญาได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่า ถ้าระบอบการศึกษาของเราเองก็จำลอง โดยวางอยู่บนตะวันตก มันก็เกิดการเปรียบเทียบว่าในสังคมตะวันตกก็สามารถแต่งกายอย่างไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแต่งกายในเครื่องแบบ เขาก็ประสบความสำเร็จทางการศึกษา เหตุใด สังคมไทย เด็กไทยจึงจำเป็นต้องอยู่ตรงนี้ นี่คือความลักลั่น เมื่อเกิดความเปรียบเทียบ
เมื่อก่อนเด็กไทยถูกกดทับไว้อย่างมาก การดื้อแพ่งหรือกระด้างกระเดื่อง ไม่ชัด อาจเห็นเพียงการหลบหลีกโดยยุทธวิธีส่วนตัว หลีกเลี่ยงการถูกตรวจ แบบไหน ก็ว่าไป
หรือถ้าเป็นกรณีที่ผู้ปกครองมีความสามารถหน่อย ก็อาจส่งเด็กไปเรียนนานาชาติที่แต่งกายผ่อนคลายได้ ไว้ผมรองทรงได้ หรือหากมีเงินมากหน่อยก็ส่งไปเรียนต่อไปอยู่ไฮสคูลในต่างประเทศ แต่เด็กส่วนใหญ่ก็ยังถูกกดทับเรื่อยมา เราจึงยังเห็นความกระด้างกระเดื่องอยู่ แต่ว่ามันไม่เกิดขึ้นขณะนั้น ทำไมมันมาเกิดขึ้นตอนนี้
ประการแรก เพราะมันมีเงื่อนไขเฉพาะทางการเมืองเข้ามาอีกด้านหนึ่ง ทำให้คำถามกระด้างกระเดื่องก่อนหน้านี้ ที่อาจหลบหลีก พลิกแพลง ไม่ได้ท้าทายโดยตรง ก็กลายมาเป็นการท้าทายด้านตรงมากขึ้น เพราะความขัดแย้งทางการเมืองตอนนี้ มีข้ออ้างของระเบียบวินัย ให้คนคุมประพฤติ แต่ปัญหา คือคนที่อ้างให้คนอื่นคุมประพฤติ หรืออยู่ในระเบียบวินัย เขาไม่ได้อยู่ในระเบียบวินัย หรือทำตาม กฎเกณฑ์ ซึ่งเด็กเขาก็เห็น ว่าคนที่มีอำนาจในบ้านเมืองตอนนี้ ขึ้นมาสู่อำนาจได้ด้วยการที่อาจจะเรียกว่าฉีกกติกาสูงสุดของประเทศก็ได้ ไม่ได้เคารพกติกาอะไร แล้วก็มีอภิสิทธิ์ 1 2 3 4 5 จะทำผิดอะไรก็เอาผิดไม่ได้ เขาก็เห็นอยู่ตำตา ว่ามีการละเมิดกฎเกณฑ์อยู่เต็มไปหมด แล้วผู้ใหญ่จะมาใช้กฎเกณฑ์กับเขาได้อย่างไร
ประการสอง ที่เกิดโดยตรงกับเขา คือ กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ซึ่งจะเป็นคู่กรณีทางการเมือง ที่นักเรียนเขาเข้าไปปะทะด้วย ขณะที่พื้นที่ของการเคลื่อนไหวข้างนอกในทางการเมือง ที่ก็ไปในแนวทางเดียวกับ กลุ่มราษฎร ก็ดี กลุ่มประชาชนปลดแอก ก็ดี กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็ดี แม้จะไปทางเดียวกันแต่นักเรียนเขาก็มีโจทย์เฉพาะของเขา ในขณะเดียวกัน แนวปะทะใหญ่ของพวกเขาไม่ใช่ตรงนั้น เพราะโจทย์ที่พวกเขาต้องพบเจออยู่ทุกวันคือ ในโรงเรียน เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นการตั้งคำถามกับระบอบใหญ่ที่ ระบอบข้างในก็ต้องถูกตั้งคำถามด้วย จึงเป็นคล้ายๆ กับว่า การดื้อแพ่ง ต่อระเบียบ ที่มีเป็นคำถามมาอย่างต่อเนื่องว่ามันมีเหตุผลอะไรในการรองรับ ว่าจำเป็นจะต้องใส่ทำไมเครื่องแบบ มันเกื้อกูลการเรียนอย่างไร และมันมีตัวอย่างให้เห็นว่าประเทศที่เราเคยไปทำตามเขา เขาก็ประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ใส่เครื่องแบบทางการศึกษา
และมันมีแรงกระตุ้นข้างนอกเข้ามา มันจึงมีการเคลื่อนไหว มันก็จะมีเรื่องอื่นๆ อีก นอกจากเครื่องแบบ ก่อนหน้านั้น ก็มี ทรงผม เป็นต้น ที่ต้องการควบคุมร่างกายของผู้คน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมว่า มันคือ สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์สากลและสังคมไทยยังสลัดตัวเองไม่หลุดจากการเป็นสถาบันที่ตรวจตรา แล้วมันก็มาปะทุขึ้นเมื่อเงื่อนไขทางการเมืองปรากฏขึ้น
ชุดไปรเวทช่วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
@ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมไปรเวทมีการสะท้อนว่า ชุดนักเรียนแก้ความเหลื่อมล้ำได้หรือ ?
รศ.ดร.อนุสรณ์ : คือ ต้องมองความเหลื่อมล้ำใน 2 ลักษณะด้วยกันคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ควบคุมกับผู้ถูกควบคุม ซึ่งในกรณีนี้ เครื่องแบบมันเอื้อให้ถูกควบคุมจากคนที่อ้างตัวว่ามีอำนาจหรือเป็นผู้ใหญ่มาควบคุม แต่ส่วนนี้ ความสัมพันธ์ในทางอำนาจมันไม่มีแน่ๆ อยู่แล้ว การคงสิ่งนี้ไว้ คือการรักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจไว้
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกควบคุมหมายถึงนักเรียนเสมอกันจริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นที่สองนี้ นักเรียน ก็สามารถซื้อหาราคาค่างวดของเครื่องแต่งกายที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเขาหาความแตกต่าง ถ้าจะจำแนกสถานะทางชนชั้นเศรษฐกิจ ก็ทำได้ ดังนั้น เครื่องแบบไม่ได้เป็นตัวช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่อย่างใด ตรงกันข้าม บางกรณี พ่อแม่ อาจต้องเพิ่มภาระขึ้นมา ด้วยการมีชุดเครื่องแบบ จากที่ควรจะมีเพียงชุดที่ใส่เมื่อไหร่ก็ได้ ก็เป็นการเพิ่มภาระเข้ามา ก็เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองเข้าไปอีก อีกอันที่ตามมาคือ เด็กกำลังตั้งคำถาม กับความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม สิ่งที่จะตามมาจากนี้ก็คือ อะไรก็ตามที่เขามองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ความชอบธรรมในสังคมลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น เราอาจจะเห็น ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กแต่งตัวได้อย่างอิสระภายใต้หลักคิดว่าทลายความเหลื่อมล้ำ หรือกฎที่จะควบคุมให้เสมอกัน ฉะนั้น อะไรก็ตามแต่ ที่จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ มันจะทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมภายใต้กระแสนี้
นอกจากนี้ ไปรเวทช่วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะเครื่องแบบ ควบคุมเพศสภาวะ อัตลักษณ์ทางเพศ ในการที่จะให้ใส่ชุดที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องแบบ มันจะเปิดโอกาสให้ตัวของเด็กที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือ เพศสภาวะอย่างไร ได้มีโอกาสเลือกเครื่องแต่งกายที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ หรือเพศสภาวะของเขาได้มากกว่า
รมว.ศึกษาฯ ควรปฏิบัติตามหลักสากล
@ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ควรทำอย่างไร มีนโยบายอย่างไรต่อกรณีนี้ ?
รศ.ดร.อนุสรณ์ : ควรเป็นไปตามหลักสากล เพราะสิ่งที่นักเรียนเรียกร้อง ไม่ได้ประหลาดอะไร ถ้าเราไปดูประเทศที่เขาประสบความสำเร็จทางการศึกษาทั้งในยุโรปตะวันตก อเมริกา ที่เราดูเขาเป็นต้นแบบ เขาก็ให้อิสระ และสังคมเขาก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการแต่งกายแบบนั้นจะลดศักยภาพหรือจำกัดการเรียนรู้ของเด็กแต่อย่างใด ไม่ได้ทำให้เด็กวอกแวก ใช้สมาธิอยู่กับความสวยความงาม เพราะการใช้ความสวยความงามก็ทำได้ภายใต้เครื่องแบบที่เราก็เห็นการพลิกแพลงต่างๆ นานา ดังนั้น จะดีกว่าไหมถ้าให้เขาเรียนรู้ที่จะเลือกว่าจะแสดงออกตัวเองผ่านเครื่องแต่งกายอย่างไร ตั้งแต่เนิ่นๆ ให้เขาใช้ความคิดวิจารณญาณ ให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเองแทนที่จะไปกดทับเขาเอาไว้
@ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล /ภาพจากhttps://www.brighttv.co.th
ในทรรศนะของนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
@ การที่กลุ่มนักเรียนเชิญชวนให้ใส่ชุดไปรเวท โดยยืนยันว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ ในมุมของ เนติวิทย์ มองว่าอย่างไร เป็นการยกระดับการชุมนุมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาไหม ?
เนติวิทย์ : เป็นการยกระดับแน่นอน เป็นการทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จริงๆ ก็เกิดขึ้น ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ว่าในประเทศ ไทย เราถูกแช่แข็งภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มานานมาก ทำให้เด็กรู้สึกหวาดเกรง ในการที่จะแสดง สิทธิเสรีภาพของพวกเขา นี่จึงเป็นครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ที่มีนักเรียนจำนวนมาก แสดงความขัดขืน ต่อสิ่งที่ครอบงำพวกเขามานานกว่าครึ่งทศวรรษนี้
@ ระบอบการศึกษาไทย ที่ไม่ได้เอื้อต่อการใส่ชุดไปรเวท เหล่านี้มันสะท้อนภาพอะไร ?
เนติวิทย์ : มันแสดงให้เห็นถึงการไม่ปรับตัวในระบอบการศึกษาของเรา ชุดไปรเวทนี่พูดจริงๆ มันไม่ได้เป็น เรื่องใหญ่เรื่องโต ผู้หลักผู้ใหญ่ส่วนมาก ก็จบจากมหาวิทยาลัย หรือได้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศมาแล้ว พวกเขาน่าจะเห็นว่าการแต่งชุดนักเรียน มันมีผลน้อยมากที่จะทำให้การเรียน การศึกษาดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องสนใจ คือการรับฟังนักเรียน การเอาใจใส่ดูแล แต่สิ่งที่พวกเขาทำกลับไปเคร่งครัดเรื่องเครื่องแบบ ไปเอาเป็นเอาตายเรื่องพวกนี้
พูดไปเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยมันล้มเหลว แสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาและ ผอ. รวมไปถึงทั้งหมดอื่นๆ ไม่มีวิสัยทัศน์ แม้จะมีการศึกษาไปดูงานต่างประเทศ แต่สรุปว่า ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาล้มเหลวทั้งหมด เพราะไม่ได้ทำให้ครูมีความเข้าใจเด็กมากขึ้นเลย และแทนที่เด็กจะได้เข้าใจครูมากขึ้น แทนที่ครูจะสนใจพวกเขามากขึ้น ครูกลับไปสนใจเรื่องหยุมหยิมเท่านั้นเอง
ความเหลื่อมล้ำในสังคม แก้ไม่ได้ด้วยเครื่องแบบ
@ กรณีที่มีการหยิบยกชุดความคิดขึ้นมาว่าการสวมชุดนักเรียน ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ในความเป็นจริง การสวมชุดไปรเวทนั่นต่างหาก น่าจะคือความเท่าเทียมที่แท้จริง ?
เนติวิทย์ : คือความเท่าเทียม มันไปหาเอาจากชุดไม่ได้ ต้องพูดอย่างนั้นเลย มันมีหลายคนยกประเด็นขึ้นมา ว่าชุดนักเรียนมีความเหลื่อมล้ำหลายมิติ เช่น ถ้าคุณอยู่เตรียมอุดม หรือคุณปักเข็มพระเกี้ยว คุณดูดีกว่าเด็กโรงเรียนวัดเยอะเลย หรือคุณใส่ชุดเครื่องแบบโรงเรียนนานาชาติ หรือใส่ชุดโรงเรียนเอกชน ก็ดูดีกว่าโรงเรียนอื่นๆ มันก็เป็นลำดับขั้นไป
เพราะฉะนั้น มันก็เหลื่อมล้ำอยู่ดี เราต้องยอมรับว่ามันมีความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมันไม่ได้แก้ได้ด้วยเครื่องแบบ มันเอามาหลอกตาเราอยู่ดี ว่าเราเท่ากัน ซึ่งถ้ามันเท่ากันจริง มันจะไปมีการหลอกตา บูลลี่กันได้ยังไง
ถ้าเราเท่ากัน ทำไมครูเลือกปฏิบัติ กับเด็กคนนึงดีกว่าอีกคนนึง และถ้ามันดี ทำไมครูไม่แต่งด้วยล่ะ เด็กเขาก็ถาม ทำไมมหาวิทยาลัยบางที่ อย่างจุฬาฯ บางคณะก็อนุญาตให้แต่งชุดไปรเวทมาได้ แล้วเด็กก็เกิดคำถาม โรงเรียนเราไม่ต้องการเจริญ เพื่อให้เด็กๆ พร้อมไปมหาวิทยาลัยเลยหรอ ดังนั้น ชุดนักเรียนมันไม่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ มันเกี่ยวกับคนมีอำนาจอยากกดพวกเราไว้
ควรใส่ชุดไปรเวทให้เป็นปกติ แต่ต้องมีการวางแผนที่ดี
@ จากการทำกิจกรรมครั้งนี้ คิดว่าการสวมชุดไปรเวทควรมีอย่างต่อเนื่องไหม ?
เนติวิทย์ : ใส่ให้มันเป็นปกติ พยายามใส่ให้มันเป็นปกติเลย คือ หลายๆ ที่ในโลกนี้ ตอนแรกนะหลายเรื่องก็ดูเป็นไปไม่ได้ อย่างคนขาวคนดำก็เคยต้องนั่งแยกกัน แล้วก็มีวัยรุ่นคนขาวคนดำเข้าไปนั่งในร้าน รณรงค์ ทำให้เขาเท่ากัน ก็เหมือนกัน ตอนแรกเราอาจจะดูเป็นตัวประหลาด ตอนแรกเขาอาจจะหัวเราะเรา เขาอาจจะกลัว แล้วเขาก็จะเริ่มพ่ายแพ้กับเรา
@ แล้วถ้าเด็กๆ บางคนกลัวฝ่ายปกครอง จะแก้ปัญหายังไง ?
เนติวิทย์ : คือ ผมก็ไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องทำเหมือนกันหมด แต่น้องอาจต้องมองดูภาพรวมว่า เมื่อทำแล้ว มันไม่ได้หมายความว่าทุกคนชมหรือ ทำแล้วสบายไม่มีปัญหา แต่มันจะมีคนไม่ชอบเราเสมอในสิ่งที่เราพยายามเปลี่ยนแปลง เราอาจจะถูกตักเตือน ถูกตัดคะแนน ถูกบูลลี่ ในโรงเรียน ถูกครูบูลลี่ มันมีราคาที่ต้องจ่าย ผมไม่ได้บอกว่า ต้องเสี่ยงไปเลย แต่อาจจะต้องมีการวางแผน เช่น ติดต่อไปที่กลุ่มนักเรียนเลว ติดต่อไปที่กลุ่มนักเรียนอื่นๆ แล้วลองดูกันว่าเราจะ เวิร์คเอาต์ ยังไง ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องคิด
@ คือควรทำอย่างมีจังหวะก้าว ?
เนติวิทย์ : ต้องหาด้วย ไม่ใช่เสี่ยงอย่างเดียว อาจจะไม่คุ้มก็ได้
@ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และระบอบการศึกษาไทยควรมีทีท่าอย่างไรต่อกรณีชุดไปรเวท ?
เนติวิทย์ : ผมก็คิดว่ารัฐมนตรีล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่เขาเกี่ยวข้องกับการบริหารโรงเรียนเอกชนมาก่อน แต่ก็คิดไม่ได้ ไม่รู้เพราะอะไร เขาต้องปรับตัว คือ ผู้ใหญ่ไทยเป็นแบบนี้หลายคน ไม่ยอมเป็นครู แม้จะมีคำพูดว่าผิดเป็นครู แต่เขาก็ไม่อยากเป็นครู คือ กระทรวงศึกษาธิการเป็นที่ที่เข้ามาบริหารคนจำนวนมาก หลายแสน หลายล้านคน และแม้มีเจตนาที่ดี เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ก็จะมีฟีดแบ็คที่แตกต่างจากนักเรียน ถ้ารัฐมนตรีคิดว่า สิ่งที่เราคิดอาจจะapplyไม่ได้กับเด็กทุกคน เพราะธรรมชาติ เพราะบุคลิกของนักเรียนต่างกัน เขาจึงต้องรับฟังสิ่งที่นักเรียนเลว และนักเรียนกลุ่มอื่นๆ เสนอ แต่นี่ผมว่าล้มเหลวเลย มันแสดงให้เห็นว่านี่แหละเป็นกระทรวงการศึกษาที่ควรปฏิรูป
ส่งผลสะเทือนถึงรั้วมหาวิทยาลัย : เนติวิทย์และเพื่อน แต่งไปรเวทไปสอบ
@ ในกรณีที่หากนักเรียนหาจังหวะก้าวร่วมกันได้ ในการสวมชุดไปรเวทไปโรงเรียนมันจะยิ่งสามารถทลายกรอบอะไรลงมาได้อีกบ้าง ?
เนติวิทย์ : ใช่ คือ มันเปลี่ยนแปลงเยอะมาก สิ่งที่นักเรียนทำมันไม่ได้จุดประกายแค่นักเรียน ตอนนี้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า ทำไมนักเรียนเขากล้าหาญ แล้วมหาวิทยาลัยของเรายังบังคับให้ใส่นั่นใส่นี่ นี่แม้กระทั่งจุฬา ฯ ผมมีสอบ ผมก็จะแต่งชุดไปรเวทไปสอบ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นเลย ว่า คือมหาวิทยาลัยผมตอนนี้ เขาอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทมาได้นะ แต่ทำไมสอบแล้วยังต้องใส่ชุดนิสิต เขาก็คิดกัน ดังนั้น สอบคราวนี้ ไม่ใช่แค่ผมแล้ว แต่มีหลายคนที่เขาก็คิดๆ กัน และยอมถูกตัดคะแนนนะ นิสิตบางคณะยอมเลย เพราะเขาเห็นนักเรียนทำ เราเคยบอกว่าโรงเรียนเป็นคุกตอนนี้นักเรียนเขาทลายคุกแล้ว แล้วทำไมเรายังจะอยู่ในคุกที่ชื่อมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมันต้องเป็นเสรีภาพ
@ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ /ภาพจาก https://www.bic.moe.go.th/
ชุดนักเรียน" ยังจำเป็น-ลดเหลื่อมล้ำ
อนึ่งก่อนหน้านี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Nataphol Teepsuwan - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" ระบุว่า กรณีเครื่องแบบนักเรียน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการศึกษา ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากครอบครัวใด หรือมีฐานะอย่างไร ก็จะอยู่ในกรอบกฎกติกาและบริบทของโรงเรียนนั้นๆ อย่างเท่าเทียมกัน ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้เครื่องแบบนักเรียนถือเป็นเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกับนักเรียน เปรียบเหมือนเครื่องแบบของแพทย์ที่มีเสื้อกาวน์ ซึ่งเป็นการบ่งบอกอาชีพ หรือแสดงถึงสถานะ แม้แต่ชุดข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัท หรือแม้แต่สื่อ ก็ยังมีเครื่องแบบของตัวเองที่บ่งบอกถึงอาชีพ หรือต้นสังกัดสำนักงานของหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัท เป็นเครื่องแบบที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคคลที่สวมใส่
“ชุดนักเรียนก็เป็นการแสดงออกถึงสถานะของความเป็นเด็กนักเรียน และเป็นเรื่องของการบ่มเพาะลักษณะนิสัยของการสร้างความมีระเบียบวินัย การยอมรับในกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มิฉะนั้น การแต่งชุดไปรเวทจะกลายเป็นเรื่องของแฟชั่น และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแตกต่าง”
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองทั่วประเทศทางออนไลน์ ยืนยันว่า ผู้ปกครองร้อยละ 61 ยังต้องการให้มีชุดเครื่องแบบของเด็กนักเรียน และผู้ปกครองร้อยละ 47 คิดว่าหากให้ใส่ชุดอะไรก็ได้ไปโรงเรียน จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น และสร้างความกดดันให้กับผู้ปกครองในการใช้จ่ายเพื่อซื้อเสื้อผ้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีถึงร้อยละ 75 คิดว่าจะทำให้เกิดการ Bully เกี่ยวกับการแต่งกายที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การอยู่ร่วมกันนอกจากสิทธิและเสรีภาพแล้ว เรื่องของหน้าที่และกติกาของสังคมก็จะต้องพึงมี เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขครับ
นายณัฏฐพล ยังระบุด้วยว่า ได้วางแนวทางตั้งแต่มารับตำแหน่งว่า กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาทั้งระบบ ด้วยการเพิ่มความรู้ ทักษะ และสมรรถนะของบุคคล โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาของประเทศเป็นหัวใจสำคัญ เชื่อว่าทุกคนรับรู้ได้จากนโยบายที่ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ และสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่
รมว.ศธ. ระบุว่า เคยได้ชี้แจงไปหลายครั้ง ตั้งแต่วันแรกที่น้อง ๆ ออกมาเรียกร้องหลาย ๆ เรื่อง ก็ได้การตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงน้องๆ นักเรียนด้วย ซึ่งหลายข้อเรียกร้องกำลังจะได้ข้อสรุป ขาดเพียงการรับฟังจากผู้ที่ต้องนำมาปฏิบัติจริงจากข้อสรุปมติที่ประชุม
“เป็นความจริงที่ว่าการจะออกนโยบายต่าง ๆ มานั้น ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ระยะเวลา ความพร้อมในการปฏิบัติ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงจากแรงกดดันของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ เรามีกระบวนการในการรับฟังและการตัดสินใจที่เหมาะสม”
ยืนยัน "เครื่องแบบนักเรียน" ลดเหลื่อมล้ำ
รมว.ศธ. ยืนยันว่า ฟังเสียงเรียกร้องจากน้อง ๆ ทุกเรื่อง แต่ก็ต้องฟังเสียงจากทุก ๆ ฝ่าย เรื่องใดที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางการศึกษาจะดำเนินการทันทีทุกเรื่องตามความเหมาะสม
..................
เหล่านี้ คือเสียงสะท้อนจาก รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ และนายเนติวิทย์ นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคำชี้แจงของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อกรณีการรณรงค์สวมชุดไปรเวทของกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในความสนใจของสังคมในขณะนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage