"...ผ่านป่าไผ่ที่ล้มตายพร้อมกันเกือบหมด จึงได้ความรู้ว่าไผ่มีอายุเฉลี่ย 80 ปี ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะตอน จะชำ จะแยกหน่อมันไปปลูกที่ไหน พอต้นแม่อายุถึง 80 ปี ต้นลูกต้นหลานที่แยกออกมาและนำไปปลูกที่ไหนๆ ก็จะตายพร้อมๆ กันด้วย..."
..........................
ปีถัดๆมา ผมได้รับการเชิญชวนให้มาเป็นประธานกิจกรรมนำปีนเก็บขยะที่เขาหลวง...ในอุทยานแห่งชาติสุโขทัย ซึ่งเป็นภูสูงชัน ชื่อเดิมในสมัยสุโขทัยเรียก “เขาสรรพยา” เป็นแหล่งสมุนไพรรักษาตัวของชาวกรุงสุโขทัยมาแต่โบราณ
เขาหลวงมีป่าครบทุกชนิด...ทั้งป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงอาศัยฟังจากเจ้าหน้าที่อุทยานมาเล่าต่อ
หนึ่งเดือนก่อนปีน ผมทยอยเปิดดูคลิปในอินเตอร์เน็ตที่แชร์กันเรื่องปีน “เขาหลวง” จึงชักตะหงิดๆ ว่า…ท่าจะเอาเรื่อง เพราะทุกคลิปบอกว่าชันมาก…
มีผู้แนะนำเพิ่มว่า ขาขึ้นใส่รองเท้าผ้าใบทั่วไปนั่นแหละ…แต่ขาลงควรพิจารณาใช้รองเท้าหัวเปิด เล็บจะได้ไม่จิกชนกับหัวรองเท้าตัวเองให้ระบมเปล่าๆ
ผมเลยพกรองเท้าแตะหัวเปิดรัดส้นมาคู่หนึ่งน้ำหนักเบาๆ ใส่เป้ไว้…ส่วนขาขึ้นผมต้องทำหน้าที่ประธานกล่าวในพิธีต่อหน้าแขกเหรื่อผู้ใหญ่จึงใส่รองเท้าผ้าใบปกติปีนขึ้น
ในพิธีเปิดกิจกรรม ผมระบุวัตถุประสงค์เสร็จสรรพว่ามาเก็บขยะ…จากนั้นปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกแล้วพาคนสักร้อยเศษปีนเขากัน
เดินขึ้นเพียง 10 นาทีแรกผ่านไป…ทางราบก็หายเรียบ มองไปข้างหน้ามีแต่ชัน…และชัน…แหงนคอมองไม่เห็นอะไร…นอกจากต้นไม้ใหญ่…เขียวไปหมด…เห็นหัวคนข้างหน้าเล็กลงๆ…หันหลังกลับลงล่างก็เห็นแต่หัวเล็กลงๆ เรียงเป็นแถวแคบๆ ตลอดทาง เนื่องจากป่าสมบูรณ์มาก ทางป่าจึงแคบ
ภูกระดึงมีจุดพักเป็นชั้นๆให้พักขาเรียก"ซำ"แต่ที่เขาหลวงเรียกว่า “แคร่” เพราะจะมีแคร่ไม้ไผ่ตัวเล็กๆ ให้นั่งพอพักขาได้สักแป๊บ
จริงดังที่เจ้าหน้าที่บอกไว้…ไม่เห็นมีขยะระหว่างทาง…และทางก็ชันอย่างเล่าขาน เหงื่อไหลย้อย เป้ที่แบกอยู่ชักหนักขึ้นเรื่อยๆ…แต่ยังมีเสียงนักเรียนสาวๆ แซวกันเองเป็นกลุ่มๆ สนุกสนาน…ไปต่อจนถึงจุดพักชมวิวที่สอง…จึงได้รู้ว่าตัวเองไต่มาสูงเท่านกตัวใหญ่ๆ บินแล้ว ข้างล่างมองไปได้ไกลทีเดียว โชคดีที่ฝนไม่ตก…แต่แดดก็ส่องไม่ค่อยถึงเรา เพราะป่าปรกไว้หมด…สมบูรณ์ดีมาก…เดี๋ยวๆ ก็มีกิ้งกือตัวยาวกว่าคืบและอ้วนกว่าหัวแม่โป้ง เดินที่พื้นให้คอยหลบเป็นครั้งคราว…มีตั๊กแตนสีเขียวสดลายสวยมาเกาะตามตัว…เป็นเสน่ห์ในการเดินป่าที่ได้เห็นของแปลกตาไปเรื่อยๆ
เราเติมน้ำดื่มได้จากประปาภูเขา ซึ่งไหลมาจากตาน้ำธรรมชาติ เย็นสดชื่น...ไต่ไปอีกพักเดียว เสียงแซวของเด็กๆเริ่มเป็นเสียงถอนหายใจ...แถวเริ่มขาดแล้ว…พวกปีนช้าเริ่มรั้งท้าย แต่เจ้าหน้าที่อุทยานจะแบ่งคนมาปิดท้ายสุด รอเก็บตกให้หมด
ถึงจุดพักครึ่ง…เราเอาข้าวห่อออกมาทาน…
จากจุดพักครึ่งนี้ จนท. บอกว่า ถ้าไม่ไหวให้ลงเขากลับเลย อย่าดันทุรังไปต่อเพราะความช่วยเหลือจะเข้าได้จำกัด ที่นี่เจ้าหน้าที่จะงดมิให้นักท่องเที่ยวที่เพิ่งมาถึงอุทยานออกปีนสู่ยอดเขา
หลังบ่ายสาม เพราะอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาเมื่อไหร่ ต้นไม้ที่ปรกป่าทึบนี้จะเหมือนฟ้ามืดไปเลย ทั้งๆ ที่ในบริเวณอีกด้านของภูเขาจะยังมีแดดดีอยู่ก็ตาม เพราะเงาของภูเขาจะทับลงมาตามทางปีนขึ้นจนมืดหมด...
เราปีนไต่จากความชัน 45 องศาบ้าง 60 องศาบ้าง มาเรื่อยๆ…
เหงื่อที่ไหลออกมาตอนนี้ทำให้เราเหมือนคนเพิ่งอาบน้ำ ผ่านป่าไผ่ที่ล้มตายพร้อมกันเกือบหมด จึงได้ความรู้ว่าไผ่มีอายุเฉลี่ย 80 ปี ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะตอน จะชำ จะแยกหน่อมันไปปลูกที่ไหน พอต้นแม่อายุถึง 80 ปี ต้นลูกต้นหลานที่แยกออกมาและนำไปปลูกที่ไหนๆ ก็จะตายพร้อมๆ กันด้วย…
เราปีนผ่านต้นไทรงามที่คงมีอายุนับร้อยๆ ปี ต้นใหญ่งามสง่า แวะพักทักเจ้าหน้าที่อุทยานที่มานั่งรอช่วยผู้ปีนที่ขาเริ่มสั่นๆ แล้วให้พักขาและดื่มน้ำ เติมเกลือแร่
จนถึงเนินชันสุดท้าย ชื่อติดหูครับ… “มอตะคริว"
ได้ยินเสียงพวกที่ไต่ถึงยอดเหนือมอตะคริวแล้ว รู้ว่าที่หมายอยู่แค่เอื้อม…เหมือนจะขึ้นบันไดหนีไฟอาคารสักชั้นสองชั้นเท่านั้น…ไม่น่าจะหนักหนา แต่เราก็เชื่อผู้นำทางที่แนะว่าควรหยุดพัก…สนทนาสัพเพเหระสักครู่…แล้วออกปีน...
เมื่อปีนไต่ขึ้นไปได้เหลือเกือบ 10 ก้าวสุดท้าย…ตะคริวมาเลย ผมได้แต่อมยิ้ม สมชื่อจริงๆ
เจ้าหน้าที่อุทยานเล่ายิ้มๆ ว่า เพราะเราปีนมาไกล 4 กิโลเมตรเศษ ทางชันตลอด จุดนี่น่าจะเป็นช่วงที่ชันที่สุดจึงมีโอกาสเป็นตะคริวได้ง่าย
เราขึ้นถึงยอดแบบผ่อนคลายใช้เวลา 3 ชั่วโมงเศษ ส่วนอาสาสมัครคนสุดท้ายกว่าจะขึ้นมาถึงใช้เวลาไปเกือบ 6 ชั่วโมง ฟ้าเกือบมืด แต่ก็ปลอดภัยทุกคน
เล่ามาตั้งนาน…ยังไม่ได้ขยะสักชิ้น…
รออ่านตอนต่อไปนะครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา