"...ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา ศาล และอัยการ จากการรับสินบนในการทำคดี เช่น รับเงินเพื่อปล่อยตัวผู้กระทำผิดรับเงินเพื่อล้มคดี การทุจริตในกระบวนการยุติธรรมนั้นมีผลกระทบร้ายแรงกว่าที่คิด เพราะเมื่อคนผิดลอยนวล คนถูกถูกตัดสินให้เป็นคนผิด ผู้คนจะไม่เชื่อถือกฎหมาย บ้านเมืองก็จะสั่นคลอนได้ คดีต่างๆจะถูกตัดสินความถูกต้องด้วยเงินและผลประโยชน์ไม่ใช่หลักการตามข้อกฎหมายอีกต่อไป..."
.......................
คอร์รัปชันเกิดขึ้นใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในหมู่ข้าราชการและนักการเมืองเท่านั้น แต่มันแฝงอยู่ทุกที่ทุกอาชีพ เพราะช่องทางนั้นมีเสมอหากคนคิดจะโกง และแม้จะเป็นคนส่วนน้อยในวงการแต่ก็ทำให้วิชาชีพนี้มัวหมองได้
นี่คือตัวอย่างคอร์รัปชันในวิชาชีพ 5 วงการ> นักข่าว: ครู: หมอ: นักกฎหมาย: นักบัญชี
นักข่าว..
การทุจริตคอร์รัปชันในวงการสื่อเกิดขึ้นเมื่อคนคิดไม่ซื่อพยายามหาประโยชน์จากพื้นที่สื่อทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นเป้าหมายของกลุ่มคอร์รัปชันหรือเป็นฝ่ายลงมือทำผิดจรรยาบรรณเสียเอง เช่น รับเงินจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นค่าเขียนโจมตีศัตรูหรือคู่แข่งฝ่ายนั้นๆ การแกล้งขู่จะเขียนให้เสียหาย โดยถ้าอีกฝ่ายยอมจ่ายก็จะไม่เขียนหรือเปลี่ยนทางมาเขียนสนับสนุนแทน
นอกจากนี้สื่อยังอยู่ในสภาพที่อาจถูกติดสินบนทั้งโดยอ้อมและโดยเจตนา เช่น การได้รับของแจกในงานแถลงข่าว การได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงหรู หรือไปดูงานต่างประเทศซึ่งเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีโดยที่คนให้อาจมีจุดประสงค์แฝงให้สื่อต้องเขียนข่าวนั้นๆ เพราะความเกรงใจ ที่ชัดเจนกว่านั้นคือการให้ ‘ซองขาว’ หรือการแจกเงินในงานแถลงข่าวเพื่อซื้อพื้นที่สื่อ การทุจริตในวงการสื่อมวลชนทำให้การทำงานของสื่อมักโน้มเอียงเพราะมูลค่าของผลตอบแทน ในที่สุดแล้ว คนที่ควรเป็นปากเสียงของประชาชนกลับกลายเป็นคนรับใช้ผู้ให้ผลประโยชน์จนสูญเสียอุดมการณ์สื่อที่ยึดมา
ครู..
เมื่อการทำงานของแม่พิมพ์ของชาติไม่ใสสะอาดอย่างที่ควรเป็นคนที่ควรเป็นผู้ให้กลับกลายเป็นคนแสวงหาประโยชน์ด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น การจงใจไม่สอนหนังสือในชั้นเรียนตามปกติแต่ถ้าเด็กมาเรียนพิเศษด้วยจึงจะยอมสอนและบอกข้อสอบ การใช้ตำแหน่งและอำนาจเพื่อหาประโยชน์โดยมิชอบ เช่น สร้างหลักฐานเท็จเพื่อเบิกเงินราชการ เรียกรับเงินฝากเด็กหรือฝากคนเข้าทำงาน เรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบแข่งขันโดยอ้างว่าจะช่วยให้สอบผ่าน
ในส่วนการบริหารงานครูระดับสูงซึ่งมีอำนาจจัดซื้อของใช้ในโรงเรียนอาจเลือกใช้บริการบริษัทที่ให้ ‘เงินทอน’ ผลคือครูได้เงิน แต่โรงเรียนและเด็กนักเรียนอาจได้รับของไม่มีคุณภาพ ใช้งานไม่ได้จริง เมื่อคนที่ควรเป็นต้นแบบของเยาวชนกลับเป็นคนทำผิดจริยธรรมเสียเอง คำถามสำคัญคือ เด็กนักเรียนจะได้เรียนรู้คุณธรรมและความซื่อสัตย์แบบไหนจากแม่พิมพ์ชำรุด
หมอ..
สำหรับวงการแพทย์ การทุจริตเกิดขึ้นได้ใน 2 ส่วน คือส่วนการบริหารและการรักษาคนไข้ ในส่วนแรก การทุจริตอาจมาจากการจัดซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ โดยกลุ่มแพทย์ที่มีอำนาจจัดซื้อเลือกสั่งของกับบริษัทที่มี ‘เงินทอน’ ให้ ในส่วนการรักษา เมื่อมีสิ่งล่อใจจากภายนอก ผลประโยชน์ทับซ้อนอาจทำให้แพทย์ไม่คำนึงถึงคนไข้เป็นอันดับแรกอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น การเลือกจ่ายยาที่ตัวเองได้ค่าคอมมิชชันจากบริษัทยาหรือได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่อจากผู้แทนยาบ่อยๆ การเสนอและโน้มน้าวให้คนไข้รับการตรวจร่างกายด้วยเครื่องมือต่างๆ เกินจำเป็น ทำให้คนไข้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ในหนังสือ “ผิดเป็นครู” จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ยังปรากฏกรณีแพทย์รักษาเกินอาการ โน้มน้าวให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดจนทำให้เสียชีวิตในภายหลังหรือหลอกให้รักษาตัวนานๆโดยวินิจฉัยโรคให้ร้ายแรงเกินจริง เมื่อคิดบนฐานจรรยาบรรณแพทย์ การกระทำทั้งหมดนี้คือคอร์รัปชัน และความเสียหายก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวเงิน แต่สามารถลุกลามถึงชีวิต
นักบัญชี..
นักบัญชี คือคนดูแลบันทึกรายการของธุรกิจที่แสดงผลประกอบการบริษัทว่ากำไรหรือขาดทุนนอกจากกำไร การทำธุรกิจต้องคำนึงถึงการทำงานด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น รวมทั้งรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศที่ทำธุรกิจอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน การมุ่งทำธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้หุ้นมีราคาดึงดูดนักลงทุนก็สามารถนำไปสู่การสร้างข้อมูลเท็จเพื่อทำให้คนเห็นว่าบริษัทที่มีกำไร และเจริญเติบโตต่อเนื่อง เรียกว่า การตกแต่งบัญชี โดยอาจเป็นการบันทึกรายรับปลอม การปกปิดหนี้สิน ในขณะที่ผู้ตรวจสอบบัญชีก็อาจสมยอมให้มีการทุจริตได้ การทุจริตนี้มีผลเสียกับผู้ใช้งบการเงิน เช่น ผู้ปล่อยกู้นักลงทุน สร้างความเสียหายถึงขั้นทำให้บริษัทล้มละลายได้ ทั้งยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ในบางครั้งยังมีการตกแต่งบัญชีให้กำไรน้อยลงเพื่อหลบหลีกภาษีอีกด้วย การทุจริตของนักบัญชีจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจที่ไม่ซื่อสัตย์ไม่รับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคม
นักกฎหมาย..
ในกลุ่มอาชีพนักกฎหมายซึ่งควรยึดหลักความถูกต้อง ผลประโยชน์สกปรกก็มีน้ำหนักเพียงพอจะทำให้ตาชั่งแห่งความยุติธรรมเอียงกระเท่เร่ได้เช่นกัน ในส่วนทนายความซึ่งเป็นเอกชน การทุจริตมักเกิดในรูปแบบที่ทนายรับว่าความให้คู่ความรายหนึ่งแต่กลับรับเงินและให้ความช่วยเหลือคู่ความฝ่ายตรงข้าม ถือเป็นความไม่ซื่อสัตย์และผิดมารยาททนายความ
แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา ศาล และอัยการ จากการรับสินบนในการทำคดี เช่น รับเงินเพื่อปล่อยตัวผู้กระทำผิดรับเงินเพื่อล้มคดี การทุจริตในกระบวนการยุติธรรมนั้นมีผลกระทบร้ายแรงกว่าที่คิด เพราะเมื่อคนผิดลอยนวล คนถูกถูกตัดสินให้เป็นคนผิด ผู้คนจะไม่เชื่อถือกฎหมาย บ้านเมืองก็จะสั่นคลอนได้ คดีต่างๆจะถูกตัดสินความถูกต้องด้วยเงินและผลประโยชน์ไม่ใช่หลักการตามข้อกฎหมายอีกต่อไป
ประเด็นสำคัญของบทความนี้คือ ถ้าเราไม่ใส่ใจ บ้านเมืองจะเต็มไปด้วยคนโกง แล้วคนไทยนี่แหละที่ต้องเดือดร้อน ดังนั้นมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วยการต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกันครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากนิตยสาร ‘a day’ Volume 14 #158 October,2013 ผู้เขียน> สลิลา มหันต์เชิดชูวงศ์, ธารริน อดุลยานนท์, กันตพร สวนศิลป์พงศ์
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)