"...ก่อนหน้านี้ การจัดซื้อดาวเทียมมูลค่า 7.8 พันล้านบาท กลายเป็นโครงการแรกที่ใช้ข้อตกลงคุณธรรมแต่ผู้สังเกตการณ์ทั้ง 6 ท่านต้องลาออกเมื่อปฏิบัติหน้าที่ไประยะหนึ่ง เพื่อประท้วงการกระทำหลายอย่างที่เจตนาขัดกติกาและขาดธรรมาภิบาล ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ที่ ป.ป.ช..."
..........................................
“โกงกฎหมาย”
เราจะเอาชนะคอร์รัปชันได้อย่างไร หากกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้วแต่บางหน่วยงานกลับจงใจไม่ปฏิบัติตามโดยไม่กลัวความผิด แย่ไปกว่านั้นบางหน่วยงานยังสามารถถอนโครงการจัดซื้อฯ ขนาดใหญ่ของตนออกจาก “ข้อตกลงคุณธรรม” ได้หลังจากดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่งและถูกคณะผู้สังเกตการณ์ยื่นหนังสือทักท้วงหรือสอบถามไป เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลบางอย่างที่ถูกตรวจพบ ทั้ง 11 โครงการที่กล่าวถึงนี้ มีมูลค่ารวมกัน 47,064 ล้านบาท ประกอบด้วย
กลุ่มแรก โครงการที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ โดยไม่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุมเลยกว่า 1 ปี และกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างรอหน่วยงานเหล่านั้นตอบกลับ จำนวน 4 โครงการ รวมมูลค่า 19,957 ล้านบาท ได้แก่
1. โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวน รอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันออก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 466.94 ล้านบาท
2. โครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมชลประทาน วงเงิน 2,349 ล้านบาท
3. โครงการเช่ารถจักรเพื่อการขนส่งของ รฟท. จำนวน 50 คัน พร้อมการซ่อมบำรุงรักษา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 13,941.12 ล้านบาท
4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ ในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วงเงิน 3,200 ล้านบาท
กลุ่มที่สอง โครงการของกองทัพบกและกองทัพอากาศ ที่ถอนตัวหรือได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันไม่ต้องเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม โดยอ้างว่า “มีเงื่อนไขหรือสัญญากับเอกชน” ห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลความลับแก่บุคคลที่ 3 จำนวน 4 โครงการ รวมมูลค่า 12,595 ล้านบาท
1. โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก (เครื่องบินกริพเพน Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วง 2) ของ ทอ. วงเงิน 3,700 ล้านบาท
2. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4) ของ ทอ. วงเงิน 2,450 ล้านบาท
3. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 ของ ทอ. วงเงิน 5,095 ล้านบาท
4. โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ของ ทบ. วงเงิน 1,350 ล้านบาท
กลุ่มที่สาม สองโครงการของ กทม. กำลังเตรียมถอนตัวจากข้อตกลงคุณธรรม คือ โครงการกำจัดขยะโดยเตาเผาเขตหนองแขม มูลค่า 6,712 ล้านบาท (ไม่รวมรายได้จากค่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากการเผาขยะ) และโครงการกำจัดขยะเขตอ่อนนุช มูลค่า 1,046 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการได้ประกาศผู้ชนะการประมูลไปแล้วเมื่อเดือน ม.ค.และ มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ การจัดซื้อดาวเทียมมูลค่า 7.8 พันล้านบาท กลายเป็นโครงการแรกที่ใช้ข้อตกลงคุณธรรมแต่ผู้สังเกตการณ์ทั้ง 6 ท่านต้องลาออกเมื่อปฏิบัติหน้าที่ไประยะหนึ่ง เพื่อประท้วงการกระทำหลายอย่างที่เจตนาขัดกติกาและขาดธรรมาภิบาล ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ที่ ป.ป.ช.
เชื่อว่าปัญหาคงไม่หยุดแค่ 11 โครงการนี้ ความเหลื่อมล้ำในการใช้อำนาจอย่างโปร่งใสที่เกิดขึ้นในหน่วยงานเหล่านี้เชื่อว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงก็น่าจะรู้เห็นด้วย
คนกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ถ้าบริสุทธิ์ใจก็ควรทำตามกติกาไม่จ้องหาลูกเล่นปกปิดโน่นนี่ ไม่ “โกงกฎหมาย โกงความไว้วางใจของประชาชน” ไม่อย่างนั้นเราจะเอาชนะคอร์รัปชันได้อย่างไร!!!
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
หมายเหตุ
1. “ข้อตกลงคุณธรรม” เริ่มนำมาใช้ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันถูกใช้เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันคอร์รัปชันตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มีโครงการมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปที่ใช้มาตรการนี้ 125 โครงการ รวมมูลค่า 1.82 ล้านล้านบาท (1/12/63) ในจำนวนนี้จัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 70 โครงการ พบว่าช่วยให้ภาครัฐประหยัดได้ 86,778 ล้านบาท คิดเป็น 24.83%
2. ในจำนวน 125 โครงการ เป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) 3 โครงการ โครงการ EEC 7 โครงการ เป็นโครงการที่ผู้สังเกตการณ์เข้าปฏิบัติหน้าที่ในโครงการตั้งแต่การจัดทำทีโออาร์ 79 โครงการ อีก 46 โครงการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่หลังจัดทำทีโออาร์เสร็จแล้ว
3. ข่าว:เผย 12 โครงการร่วม ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ปีงบ 64-ซื้อเครื่องบินโจมตีเบา 4.5 พันล.เข้าด้วย