"...เวลานี้ร่างพระราชบัญญัติ การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์( ที่สนช. ทำคลอดออกมาไม่ทันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี2562 )กำลังถูกตระเตรียมเสนอเข้ารัฐสภาให้ผ่านออกมาได้ทันใช้ช่วงสิ้นปี2564 และแม้ผ่านออกมา กฏหมายนี้ก็จะครอบคลุมถึงเฉพาะ65%แรกของขยะอันตรายเท่านั้นนะครับ แต่ก็ยังดี เพราะแค่หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นี่ สังคมเรายังดึงกลับมาทำลายให้ถูกวิธีได้เพียงราว 1%เท่านั้น...(ใช่ครับ อ่านว่า หนึ่งเปอร์เซ็นต์!!)..."
....................................
ในขยะทั่วไปของไทย สัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดถึง64% เป็นขยะที่ย่อยสลายได้เพราะขยะไทยมักจะเป็นเศษอาหารและวัตถุดิบในครัว และจากใบไม้กิ่งไม้ เปลือกผลไม้ เศษข้าวเศษแกง
ส่วนขยะที่รีไซเคิลได้ จะมีปะปนอยู่ในกองขยะราว30% ได้แก่กล่องเครื่องดื่ม เศษพลาสติกแก้ว กระดาษ กระป๋อง เศษโลหะ ยางรถยนต์ อลูมิเนียม
รวมสองหมวดข้างต้นก็94%ของขยะทั้งหมดไปแล้ว
การรีไซเคิล ทั้งสองหมวดข้างต้นจึงเป็นทางเลือกที่ควรส่งเสริมอย่างยิ่ง
ขยะที่ย่อยสลายได้ในหมวดแรกจึงเป็นส่วนสำคัญของการผลิตปุ๋ย ซึ่งยังไงๆก็มีเกษตรกรอยากได้ไปใช้ประโยชน์แน่
ส่วนขยะในหมวดที่สองก็ควรรีไซเคิลนำกลับมาหลอมแล้วทำผลิตภัณฑ์ใหม่คืนมาใช้งานให้มากที่สุด
แล้วอีก6%ที่เหลือในกองขยะไทยคืออะไร
อนุกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา ซึ่งมี สว.ดร.บุญส่ง ไข่เกษเป็นประธาน อธิบายไว้ว่า ขยะของไทย มีราว3%ที่เป็นขยะทั่วไปที่ไม่ย่อยสลาย แต่ก็ยังรีไซเคิลไม่ได้อย่างคุ้มค่า เพราะต้นทุนการจัดการจะสูง เช่นห่อพลาสติกใส่ขนม ถุงผงซักฟอก ห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงและพลาสติกถนอมอาหาร
แต่นับว่าคนไทยมีนวัตกรรมที่น่าสนใจหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมา หลอดดูดที่ทำความสะอาดแล้วสามารถนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆแล้วยัดแทนไส้หมอนใช้กับผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับ เพราะอากาศจะถ่ายเทได้ดี
พลาสติกถนอมอาหารที่ใช้แล้วสามารถนำมาหลอมแล้วผลิตเป็นรองเท้าบู้ทยางใช้ในห้องปฏิบัติการและห้องผ่าตัด
กล่องบรรจุเครื่องดื่มประเภทUHT สามารถล้างทำความสะอาดหย่อนใส่ถังที่ห้างสะดวกซื้อต่างๆเพื่อส่งกลับไปให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งภา ยามยาก เอาไปอัดเป็นหลังคาแบบลอนสำหรับบ้านชั่วคราวที่จัดให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมใช้งาน เพราะเบาและกันฝนได้ดีแถมลดความร้อนจากแดดได้ดีกว่าหลังคาสังกะสีมาก
ชุมชนบางแห่งใช้ซองกาแฟที่เป็นหลอดยาวแนวๆทรีอินวันมาถักจนเป็นตะกร้าบ้าง เป็นกระเป๋าบ้าง แม้จะไม่ใช่วิธีสำเร็จรูปในการขจัดขยะได้เป็นกองภูเขา แต่อย่างน้อยพลาสติกซองเล็กซองน้อยเหล่านี้ก็จะไม่ไปร่วงกระจายตามพงหญ้าที่ไหนล่ะ
แต่ที่เล่ามาก็ยังมีคนสามารถเอาซองขนมซองกาแฟเล็กๆเหล่านี้ไปใช้งานได้น้อยมากอยู่ดี ขยะ3%นี้จึงปรากฏให้เราเห็นง่าย กระจายทั่วเพราะเบา ลมพัดปลิวง่าย เก็บยังไงก็มีให้เห็นไปเรื่อย
นี่ดีว่ารัฐบาลก่อนเลือกตั้งโดยพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว. ทรัพยากรธรรมชาติฯได้เคยสื่อสารจนเอกชนผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดได้ร่วมกันหยุดใส่แผ่นพลาสติกใสบางๆที่ปิดผนึกระหว่างฝาเกลียวกับขวดเครื่องดื่ม เพราะเจ้าพลาสติกใสบางๆนี้แหละที่ทิ้งใส่ถังไปก็ไม่เคยอยู่ในถัง ลมพัดเบาๆก็ปลิวแล้ว แค่นี้ก็ลดขยะหมวดนี้ไป500ตัน/ปี
ทีนี้มาดูจุดที่น่าห่วงจริงๆใน3% ของขยะไทย นั่นคือ ของเสียอันตรายจากชุมชนนี่แหละครับ
ปีหนึ่ง ๆ ไทยมีขยะที่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าราว 4แสนตัน คิดเป็นเกินครึ่งของขยะหมวดนี้ คือราว65% ส่วนที่เหลืออีก35%คือกระป๋องสเปรย์สารเคมีและสี ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่รถยนต์ หลอดไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ของเคมี ตั้งแต่กาว ตัวทำละลาย สารทำความสะอาด น้ำกรด หรือด่างเข้มข้น สารปราบศัตรูพืช ตลับหมึกพิมพ์ น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ฯลฯ
เวลานี้ร่างพระราชบัญญัติ การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์( ที่สนช. ทำคลอดออกมาไม่ทันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี2562 )กำลังถูกตระเตรียมเสนอเข้ารัฐสภาให้ผ่านออกมาได้ทันใช้ช่วงสิ้นปี2564 และแม้ผ่านออกมา กฏหมายนี้ก็จะครอบคลุมถึงเฉพาะ65%แรกของขยะอันตรายเท่านั้นนะครับ แต่ก็ยังดี เพราะแค่หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นี่ สังคมเรายังดึงกลับมาทำลายให้ถูกวิธีได้เพียงราว 1%เท่านั้น...(ใช่ครับ อ่านว่า หนึ่งเปอร์เซ็นต์!!)
ส่วนอะไรที่ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังต้องสู้หาทางจัดการกันต่อไป
โดยรวมทั้งหมดของขยะอันตรายของไทยนั้น เราเพิ่งแยกมากำจัดให้ถูกวิธีได้เพียง16%ครับ
อีก84% ยังปะปนอยู่ในกองขยะและตามพื้นที่ลับตา
อันนี้น่าห่วงมากครับ
เพราะซึมรั่วลงดินได้ สลายตัวเข้าสู่ระบบแหล่งน้ำบนดินและใต้ดินได้แล้วในที่สุดก็จะเป็นพิษอันตรายร้ายแรง ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต่างจากซากเน่าของหมาแมว ผ้าอ้อมเด็กผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และถุงขยะอืดบวมด้วยเครื่องแกงที่อาจดูน่าขยะแขยงสะอิดสะเอียน แต่เจ้าขยะอันตรายนี่น่ากลัวกว่าแยะ
ผมเก็บขยะมาหลายรูปแบบหลายสถานที่ จึงออกจะตกใจที่พายเรือเก็บได้พวกกระป๋องสเปรย์กำจัดแมลงสาป สีสเปรย์ผุเก่า ซองพลาสติกที่แกะแล้วของสารปราบศัตรูพืช ซึ่งรูปร่างมันอาจไม่น่าตกใจเมื่อเทียบกับเจอเฟอร์นิเจอร์ เบาะนอน หมอนเก่าๆลอยน้ำมา แต่สาระข้างในของมันคือสารพิษอันตรายกว่ามาก
งานขยะจึงไม่พึงติดใจกับความแขยง แต่ต้องมีความรู้ มีการสังเกตเรียนรู้ เพื่อจะได้ย้อนคิดหาทางแก้ไขป้องกัน