"....ประเด็นการทุจริตวัคซีน ถ้าหากเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมันไม่ได้กระทบแค่กับสุขภาพของประชาชนในประเทศเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อไปถึงภาพพจน์ของประเทศด้วย เพราะว่าประเทศไทยได้ไปมีข้อตกลงกับทางร่วมในโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งโดยองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เอาไว้แล้วในเรื่องของการผลิตวัคซีนเพื่อแจกจ่าย ..แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการทุจริตที่จะเกิดขึ้น และต้องมีการเฝ้าระวังนั้นก็คือ การทุจริตในขั้นตอนการแจกจ่ายวัคซีนมากกว่าการทุจริตในเรื่องของราคาขายวัคซีนกัน เพราะว่าเราก็มีข้อตกลงเรื่องวัคซีนกับทางสากล หรือก็คือเราอิงราคาวัคซีนเอาไว้กับทาง COVAX ไปแล้ว..."
...........................................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประจำประเทศอังกฤษ ที่ชื่อว่า THE UNSPOKEN COVID-19 VACCINE CHALLENGES - DISTRIBUTION AND CORRUPTION หรือแปลเป็นไทยว่าความท้าทายของวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่เคยถูกพูดถึง กับปัญหาเรื่องการแจกจ่ายและการทุจริต
(อ่านประกอบ:ความเสี่ยง! การจารกรรม-ทุจริต และใช้วัคซีนโควิดเป็นอาวุธควบคุมภูมิศาสตร์การเมืองโลก)
ล่าสุด นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงบทบาทขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เกี่ยวกับประเด็นการป้องกันการทุจริตวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมา ACT มีบทบาทในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับโควิด-19 มาโดยตลอด โดยในช่วงแรกมีการตรวจสอบว่ามีเรื่องที่เป็นคดีขึ้นไปสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งก็มีตัวเลขคดีที่เกี่ยวกับงบประมาณโควิด-19 เป็นหลักร้อยคดี
ต่อมามีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 4 แสนล้านบาท สิ่งที่ ACT ได้ดำเนินการคือ การสร้างเว็บไซต์แอปพลิเคชั่น ชื่อภาษาไทยว่า “จับโกงงบโควิดด้วย ACT AI” โดยจะเป็นการดึงข้อมูลเพื่อให้ประชาชนรับทราบว่า งบโควิด 4 แสนล้านบาทถูกใช้ไปยังไงบ้าง มีหน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องบ้าง ประชาชนทุกคนก็สามารถเข้ามาค้นได้ว่าจะได้รับประโยชน์อะไรจากงบ 4 แสนล้านบาทดังกล่าวบ้างหรือไม่ พร้อมทั้งเปรียบเทียบงบประมาณในพื้นที่ระหว่างโครงการด้วย
ส่วนประเด็นการทุจริตในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับวัคซีนโควิดที่อาจเข้าไปไม่ถึงกลุ่มเสี่ยง หรือวัคซีนอาจจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างความนิยมทางการเมืองได้ นั้น เรื่องนี้ถือว่าเกี่ยวกับความเป็นความตาย ซึ่งแม้ว่าในแอปพลิเคชั่นของ ACT จะสามารถตรวจสอบในรายละเอียดเรื่องงบประมาณได้ แต่ในประเด็นเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนว่ามันจะไปยังไง เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในฐานข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งจะต้องรอให้ถึงเวลาให้มีการนำเข้ามาแล้ว จะมีการวางระบบแจกจ่ายวัคซีนกันอย่างไร
นายมานะ ระบุว่า "ตรงนี้ถ้าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้มีการเปิดเผยและมีข้อมูลตรงนี้ ทาง ACT ก็สามารถนำเอาข้อมูลมาเปิดเผยให้ประชาชนและสื่อมวลชนดูได้ แต่ถ้าสถาพัฒน์ไม่มีข้อมูล ACT ก็คงต้องขอให้กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลออกมาเพื่อที่ ACT จะได้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบ AI ต่อไป"
"ส่วนในอนาคต ACT จะต้องมีการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยเหลือเพื่อเฝ้าระวังในประเด็นการทุจริตวัคซีนหรือไม่ นั้น เรื่องนี้เป็นไปได้สูงมาก ถ้าหากมีประเด็นทุจริต ทาง ACT ก็คงจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการด้วย เพราะไม่ใช่ว่านักธุรกิจหรือใครๆจะสามารถเข้ามาดูทุกเรื่องได้"
ส่วนจะมีการใช้ข้อตกลงคุณธรรมกับการตรวจสอบการใช้จ่ายในด้านวัคซีนด้วยหรือไม่นั้น นายมานะ กล่าวว่า "เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้"
"ที่ผ่านมา ACT ได้พยายามบอกมาเสมอว่าเรื่องงบโควิดนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับชีวิต และปากท้องของคนไทย แต่ว่าเกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรมนั้นมันถูกตัดงบประมาณลง"
"เราได้รับแจ้งว่าโครงการที่เป็นเมกะโปรเจกต์ในช่วงนี้อาจจะไม่ได้ทำข้อตกลงคุณธรรมเพิ่ม ไม่มีงบประมาณให้ ซึ่งตอนนี้เขามีเพิ่มมาอีก 15 โครงการ แต่ว่ามันไม่เกี่ยวกับโควิดเลย ซึ่งองค์กรเราก็ได้แจ้งไปทางกรมบัญชีกลางแล้วว่าถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิดจะให้ใช้ข้อตกลงคุณธรรมก็ได้ โดยผู้สังเกตุการณ์ทุกคนจะทำงานให้ฟรีไม่ต้องมีค่ารถหรือเบี้ยประชุมใดๆทั้งสิ้น"
"สรุปก็คือถ้าไม่มีเงิน เราก็สามารถทำให้ฟรีได้ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบกลับมาว่าเขาจะเปิดช่องให้หรือไม่"
นายมานะ กล่าวย้ำด้วยว่า "เรื่องวัคซีนนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในปีหน้านั้นทุกคนล้วนแล้วแต่จะมีความต้องการวัคซีนกันทั้งนั้น และวัคซีนนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ฉีดแล้วมันก็หายไป ดังนั้นจึงสามารถที่จะทุจริตวัคซีนได้ง่ายมาก"
"ยกตัวอย่างเช่นประเด็นเรื่องการกักตุนวัคซีน การยักย้ายถ่ายเท และเอาวัคซีนปลอม หรือเอาน้ำเกลือมาใส่ให้วัคซีนมาใส่แทนวัคซีนตัวจริงก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีที่หน่วยงานในประเทศไทยซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศในบทบาทขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แล้วก็ไปทุจริตวัคซีนโดยเอาเกลือแร่ไปฉีดให้กับประชาชน แล้วก็เอาวัคซีนไปขายให้กับพ่อค้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นตัวอย่างเทียบเคียงให้เห็นว่าวัคซีนนั้นสามารถจะโกงกันแบบนี้ก็ได้"
"ประเด็นการทุจริตวัคซีน ถ้าหากเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมันไม่ได้กระทบแค่กับสุขภาพของประชาชนในประเทศเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อไปถึงภาพพจน์ของประเทศด้วย เพราะว่าประเทศไทยได้ไปมีข้อตกลงกับทางร่วมในโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งโดยองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เอาไว้แล้วในเรื่องของการผลิตวัคซีนเพื่อแจกจ่าย
"แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการทุจริตที่จะเกิดขึ้น และต้องมีการเฝ้าระวังนั้นก็คือ การทุจริตในขั้นตอนการแจกจ่ายวัคซีนมากกว่าการทุจริตในเรื่องของราคาขายวัคซีนกัน เพราะว่าเราก็มีข้อตกลงเรื่องวัคซีนกับทางสากล หรือก็คือเราอิงราคาวัคซีนเอาไว้กับทาง COVAX ไปแล้ว"
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวอีกว่า "เรื่องที่น่าจะต้องติดตามต่อไปก็คือการที่กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าจะมีการฉีดวัคซีนกันล็อตแรก 13 ล้านคน โดยกรมควบคุมโรคนั้นจะได้กลุ่มเสี่ยงจริงหรือไม่ ทั้งหมดจะถึงมือผู้ประชาชนจริงหรือไม่ และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ไปถึงมือพ่อค้า ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าวัคซีนนั้นน่าจะต้องมีการแจกฟรีตามข้อตกลงนานาชาติ
เมื่อถามย้ำว่า ควรจะต้องติดตามด้วยหรือไม่ว่าจะมีเอกชนรายใดเข้ามามีส่วนร่วมในการแจกจ่ายวัคซีนนี้บ้าง?
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า เท่าที่ดูนั้นไม่จำเป็นจะต้องให้เอกชนเข้ามาเกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีน เพราะว่าทุกวันนี้เครือข่ายในระบบสาธารณสุขทั้งของกระทรวงสาธารณสุข ทหาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมไปถึงของกรุงเทพมหานครทุกวันนี้มีความใหญ่โต และมีศักยภาพในการแจกวัคซีนเพียงพออยู่แล้ว
"เชื่อว่าตอนนี้ยังไม่มีทุจริตในเรื่องราคา แต่วันข้างหน้าหลังจากผ่านพ้นการซื้อวัคซีนจาก COVAX ไปแล้ว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงเช่นกันในประเด็นการทุจริตในเรื่องของราคา"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage