"...นอกจากพฤติกรรมที่ว่านี้ยังไม่มีคำเรียกชัดๆ ให้คนเข้าใจได้ง่ายว่าคือการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึงหรือมองไม่ออกว่า การยื่นข้อเสนอขอมีเพศสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่กับเหยื่อ เกี่ยวอะไรกับคอร์รัปชัน ยิ่งหน่วยงานตรวจสอบคอร์รัปชันยิ่งน่าจะแล้วใหญ่ เพราะไม่เคยมีคดีใดที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกเอาผิดเพราะยื่นขอเสนอขอมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้แก่เหยื่อมาก่อนเลย นั้นแสดงให้เราเห็นว่า ความตระหนักและเข้าใจพฤติกรรมคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามยังเอื้อมไปไม่ถึงเรื่องนี้ และลงเอยด้วยการที่เหยื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม คนผิดยังลอยนวลทำหน้าที่ต่อไป..."
....................................
รายงาน Global Corruption Barometer : ASIA ฉบับล่าสุดของ Transparency International ระบุว่าไทยเป็นชาติทวีปเอเซีย 3 อันดับแรกที่มีการเรียก/รับ สินบนด้วยเซ็กส์ แทนการจ่ายเงิน หรือแทนการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ โดยมีอินโดนีเซียและศรีลังกานำหน้าไทยเท่านั้น ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบว่าไทยมีอัตราคนที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยรับทราบเรื่องนี้จากคนใกล้ตัวมาก่อน อยู่ที่ 15 % ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเซียที่ 8 %
ก่อนหน้านี้ TI ได้ออกรายงานฉบับพิเศษที่เจาะลึกเรื่องนี้และเผยข้อมูลที่ทีมวิจัยได้รวบรวมเคสที่เคยขึ้นจำนวนมากและชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างคอร์รัปชันกับการคุกคามทางเพศ โดยได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ เช่น
เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจบีบบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เป็นสินบน มักเกิดโดยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในสถาบันศึกษา ตำรวจ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และ เจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานให้บริการแก่ประชาชน
เหยื่อส่วนใหญ่ที่ถูกกระทำ มักจำยอมเพื่อข้อเสนอแลกเลี่ยนที่เจ้าหน้าที่รัฐลุแก่อำนาจสัญญาว่าจะให้ เช่น ใบอนุญาตทำงาน การปล่อยตัวจากข้อหายาเสพติด(ทั้งที่ทำจริงหรือโดนยัดยา) หรือ การทำผิดกฎหมายต่างๆ หรือ แม้กระทั่งในบางกรณีในบางประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนกับน้ำ อาหาร ที่พักอาศัย ส่วนในโรงเรียนสถานศึกษามักเกิดขึ้นเพื่อ “แลกเกรด” จากครูผู้สอนวิชา และครูพวกนี้หากทำบ่อยๆนานวันเข้าก็จะได้ใจ หันไปล่วงละเมิดเด็กคนอื่นๆ ต่อไป ในส่วนกลุ่มเหยื่อที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งพนักงานสัญญาจ้าง หรือลูกจ้างชั่วคราวมักเจอข้อเสนอจากหัวหน้าหน่วยงานยื่นข้อแลกเปลี่ยนให้ได้บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ หรือได้รับการเสนอชื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
การคุกคามทางเพศ (Sexual extortion) หรือ ที่ศัพท์บัญญัติใหม่สมาสว่า Sextortion ถือเป็นรูปแบบการให้สินบนแบบหนึ่งที่ไม่ได้จ่ายด้วยทรัพย์มีค่า (non-monetary forms of corruption) แต่จ่ายด้วยการมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐโดยที่เจ้าตัวจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
พฤติกรรมการแสวงหาความสุขบนความทุกข์นี้มักเกิดขึ้นกับคนที่ด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน หรือคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง และเพศที่ถูกกระทำนั้นเกิดขึ้นได้ทุกเพศสภาวะทั้ง ผู้หญิง ผู้ชาย ทรานเจนเดอร์ ก็ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการบังคับใช้กฎหมายเป็นผู้กระทำ/ยื่นข้อเสนอ โดยใช้อำนาจหน้าที่เป็นข้อแลกเปลี่ยนบีบบังคับให้เหยื่อจำยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ผลกระทบของ Sextortion นั้นร้ายแรงกว่าการจ่ายสินบนด้วยทรัพย์สินมีค่า เพราะของนอกกายไม่ตายหาใหม่ได้ แต่การจ่ายสินบนด้วยร่างกายนั้นเป็นตราบาปที่กระทบกระเทือนจิตใจผู้ถูกกระทำอย่างยาวนาน บางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้าหวาดระแวงไปทั้งชีวิต บางก็ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ บางก็ต้องหนีออกจากระบบการศึกษาไม่เรียนต่อ หรือ ทิ้งหน้าที่การงาน เรียกว่าทำลายชีวิตคนๆ หนึ่งทั้งเป็นก็ว่าได้
ที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้น ตัวบทกฎหมายในหลายประเทศ ไม่มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ไปทำการคุกคามทางเพศด้วยการบีบบังคับอย่างชัดเจน แม้แต่กฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามคอร์รัปชัน ก็มิได้ตีความรวมถึงพฤติกรรมการกระทำผิดในลักษณะนี้ ทั้งๆ ที่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อแสวงผลประโยชน์เข้าตนเอง ที่ชัดเจนรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ เป็นเพราะทัศนคติและการรับรู้กระบวนการยุติธรรมมักมอง คอร์รัปชันเป็นอาชญากรรมทางการเงิน
ในด้านกระบวนการยุติธรรม พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่เหยื่อไม่มีการแจ้งความเอาผิดเรื่องลักษณะ เป็นเพราะการที่เหยื่อตกอยู่ในภาวะจำยอมเพราะมีชงักคดีความผิดอื่น หรือ กลัวผลกระทบต่อตนเอง จึงทำให้เหยื่อส่วนใหญ่ไม่กล้าแจ้งความ หรือเปิดเผยเรื่องราวให้เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมเข้าไปตรวจสอบ ในรายที่กล้าเปิดเผย กลับโดนสังคมลงทัณฑ์กล่าวโทษเหยื่อมากกว่าเจ้าที่ผู้กระทำผิด
Sextortion ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่พฤติกรรมฉ้อฉลที่มีมานานและมักโดนสังคมมองข้าม หรือหากถูกกล่าวถึงในหน้าข่าวก็มักจะอยู่ภายใต้การใช้ความรุนแรงทางเพศ หรือ การข่มขืนแทน โดยที่มูลเหตุการข่มขืนเริ่มจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐก่อให้เกิดการคุกคามทางเพศ ซึ่งตรงกับนิยามของคอร์รัปชัน
นอกจากพฤติกรรมที่ว่านี้ยังไม่มีคำเรียกชัดๆ ให้คนเข้าใจได้ง่ายว่าคือการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึงหรือมองไม่ออกว่า การยื่นข้อเสนอขอมีเพศสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่กับเหยื่อ เกี่ยวอะไรกับคอร์รัปชัน ยิ่งหน่วยงานตรวจสอบคอร์รัปชันยิ่งน่าจะแล้วใหญ่ เพราะไม่เคยมีคดีใดที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกเอาผิดเพราะยื่นขอเสนอขอมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้แก่เหยื่อมาก่อนเลย นั้นแสดงให้เราเห็นว่า ความตระหนักและเข้าใจพฤติกรรมคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามยังเอื้อมไปไม่ถึงเรื่องนี้ และลงเอยด้วยการที่เหยื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม คนผิดยังลอยนวลทำหน้าที่ต่อไป
ท้ายรายงานฉบับนี้เสนอทางแก้ไขปัญหาว่า จะต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมและปฎิรูปกฎหมายให้ครอบคลุม รวมไปถึงช่องทางแจ้งเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ และหากมีกรณีการคุกคามทางเพศจะต้องสืบสวนหาต้นตอว่ามาจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่ไปบีบบังคับเหยื่อหรือไม่ ถ้าใช่ ฐานความผิดที่ละเมิดต้องลงโทษตามกฎหมายปราบปรามคอร์รัปชันด้วย นอกจากนี้รัฐควรเปิดให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้เข้ามามีบทบาทตรวจสอบและเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำการสำรวจข้อมูลกับประชาชนกลุ่มเสี่ยงด้วยคำถามที่เหมาะสม เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลเรื่องนี้ให้มีมากและเป็นระบบ
เมื่ออ่านรายงานฉบับนี้จบ เกิดคำถามแรกขึ้นว่า สังคมไทยมีการคอร์รัปชันเพื่อแลกการมีเพศสัมพันธ์มากแค่ไหน ?
พอลองค้นในอินเตอร์เนตก็พบว่ามีหลายคดีที่ปรากฎในข่าว แต่ความคืบหน้าในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ปรากฎชัดว่าลงโทศคนผิดได้หรือไม่ เช่น กรณีที่เกิดกับนักศึกษาที่ลำปาง (https://today.line.me/th/v2/article/1n3v83) หรือ กรณีที่มุกดาหารเจอตำรวจยัดยาบ้าและยื่นข้อเสนอขอมีเซ็กส์แลกปล่อยตัว (https://www.77kaoded.com/news/suchai/8657) ทั้งสองกรณีเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ให้เราเห็น และยังมีอีกกี่กรณีที่ยังไม่ปรากฎออกมา
กิตติเดช ฉันทังกูล
ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
.......................................
อ่านเพิ่มเติม
https://www.transparency.org/en/publications/breaking-the-silence-around-sextortion
https://images.transparencycdn.org/images/GCB_Asia_2020_Report.pdf
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Meel Tamphanon