"...หากพนักงานสอบสวนยังดำเนินการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น และการควบคุมตัวผู้ต้องหาจะเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ พนักงานสอบสวนย่อมต้องร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้ศาลใช้อำนาจและดุลพินิจตรวจสอบถึงความจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน หากศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหานั้นต่อไปในระหว่างสอบสวน ศาลก็จะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปและพนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เพื่อการสอบสวนอีกไม่ได้..."
................................
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 68 กำหนดถึงการสิ้นผลของหมายจับไว้ 3 กรณี คือ
1. เมื่อสามารถจับกุมตัวบุคคลตามหมายจับได้
2. เมื่อความผิดอาญาตามหมายจับนั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 95 ซึ่งเป็นอายุความในการฟ้องคดีอาญา ในกรณีที่ไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมาภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย หรือ ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 98 ซึ่งเป็นอายุความในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นยังไม่ได้รับโทษ หรือรับโทษแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วนแล้ว หลบหนี แล้วยังไม่ได้ตัวบุคคลนั้นมารับโทษจนล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมาย เช่น อายุความในการฟ้องคดีสำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตาม ป.อ. มาตรา 295 มีกำหนด 10 ปี ดังนั้น เมื่อความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามหมายจับได้ขาดอายุความแล้ว หมายจับย่อมสิ้นผลไปในทันที
3. เมื่อศาลที่ออกหมายจับได้เพิกถอนหมายจับ ซึ่งศาลมีอำนาจเพิกถอนหมายจับได้หลายกรณี เช่น จากเหตุที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัว
ในที่นี้จะกล่าวถึงกรณีที่หมายจับสิ้นผลจากการที่จับกุมตัวบุคคลตามหมายจับได้ โดยเมื่อสามารถจับกุมบุคคลตามหมายจับได้แล้ว หมายจับย่อมสิ้นผลไปในทันที จะนำหมายจับฉบับเดิมมาจับบุคคลนั้นซ้ำอีกไม่ได้
ในทางปฏิบัติพบว่า พนักงานสอบสวนที่ต้องการได้ตัวผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่น จะมีหนังสือขออายัดตัวผู้ต้องหาไปยังสถานที่ที่คุมขังผู้ต้องหาไว้ในคดีอื่นนั้น ซึ่งในกรณีของการขออายัดตัวผู้ต้องหาในคดีอื่นโดยพนักงานสอบสวนนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขออายัดตัวผู้ต้องหาไว้ในบันทึกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0004.6/9610 ลงวันที่ 16 กันยายน 2546 ว่า การขออายัดตัวผู้ต้องหาจะต้องมีหมายจับไปดำเนินการควบคู่ไปด้วย ในกรณีที่ขออายัดตัวผู้ต้องหาไม่ได้เนื่องจากไม่มีหมายจับ แล้วผู้ต้องหาถูกปล่อยตัวไป ก็ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหามาพบเพื่อสอบสวนดำเนินคดีแทน
ในการขออายัดตัวผู้ต้องหาในคดีอื่นนี้ ศาลฎีกาได้เคยวางแนวคำวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2541 ว่า การที่พนักงานสอบสวนที่ทำเรื่องขออายัดตัวผู้ต้องหา ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้แก่ผู้ต้องหา แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา รวมทั้งได้สอบคำให้การผู้ต้องหาไว้ด้วยแล้วนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการขออายัดตัวผู้ต้องหาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องถือว่าพนักงานสอบสวนได้จับผู้ต้องหาแล้ว หรือผู้ต้องหาถูกจับแล้วตั้งแต่ขณะนั้น ถึงแม้ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่น และพนักงานสอบสวนในคดีนี้เพิ่งได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีในภายหลังก็ตาม
ดังนั้น ตามแนวคำพิพากษาฎีกานี้ หากพนักงานสอบสวนที่ทำเรื่องขออายัดตัวผู้ต้องหาพร้อมกับหมายจับ ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้แก่ผู้ต้องหา แจ้งสิทธิของผู้ต้องหา รวมทั้งได้สอบคำให้การผู้ต้องหาแล้ว ย่อมถือว่าได้มีการจับตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การอายัดตัวอย่างเดียวเท่านั้น และเมื่อสามารถจับกุมบุคคลตามหมายจับได้แล้ว หมายจับนั้นย่อมสิ้นผลไปในทันที โดยไม่ต้องให้มีการเพิกถอนหมายจับอีก แต่ทั้งนี้ การสิ้นผลไปของหมายจับ ต้องพิจารณาแยกตามแต่ละหมายจับเป็นรายคดี ต่างกรรมต่างวาระ ไปด้วย
หลังจากที่หมายจับสิ้นผลแล้ว การควบคุมตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาต่อไป ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วางหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้ว่า จะควบคุมเกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้ โดยจะควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
ดังนั้น หากพนักงานสอบสวนยังดำเนินการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น และการควบคุมตัวผู้ต้องหาจะเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ พนักงานสอบสวนย่อมต้องร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้ศาลใช้อำนาจและดุลพินิจตรวจสอบถึงความจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน หากศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหานั้นต่อไปในระหว่างสอบสวน ศาลก็จะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปและพนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เพื่อการสอบสวนอีกไม่ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326-327/2505 (ประชุมใหญ่))
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล
ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากไทยรัฐ