"...ในระยะสั้น ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วนจากวิกฤติโควิด19 ที่จำเป็นต้องสร้างอาชีพ เพื่อรองรับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 กลับสู่ภาคเกษตรอย่างปัจจุบัน การส่งเสริมการปลูกผักเพื่อขายลูกค้ากลุ่มที่มีความต้องการสม่ำเสมอ อาทิ โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นมาตรการที่ให้ผลเร็ว (quick win) เนื่องจากผักเป็นพืชอายุสั้น (ทำเงินได้เร็ว) และใช้พื้นที่น้อย (ต้นทุนไม่สูง และใช้แรงน้อยซึ่งผู้สูงอายุทำได้) รวมทั้งช่วยให้เด็กและผู้ป่วยมีผักอินทรีย์ที่สดใหม่ และปลอดภัยรับประทาน..."
..................
บทนำ
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ได้สร้างวิกฤตทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถรับมือโควิด19 ได้ดีจนทั่วโลกให้การยอมรับ ทั้งด้านควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จนสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเพื่อให้หน่วยธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงรูปแบบการทำธุรกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายใต้วิถีปกติใหม่ ทำให้แรงงานมีโอกาสได้รับผลกระทบมากและกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยาก เช่น แรงงานในธุรกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน เนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรง และแรงงานในธุรกิจที่ปรับไปใช้ automation
ในกระบวนการผลิต รวมถึงแรงงานสูงอายุและแรงงานทักษะน้อย แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องกลับถิ่นฐานของตนเพื่อประกอบอาชีพเป็นการถาวร ดังนั้น คำถามเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ เราจะปลดล็อกข้อจำกัดที่ทำให้ภาคเกษตรวนเวียนอยู่ในโลกเก่าเพื่อเปิดรับ และนำพาแรงงานรุ่นใหม่ไปทำการเกษตรที่ยั่งยืนบนวิถีปกติใหม่ได้อย่างไร หากเราสามารถปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้เป็นแหล่งจ้างงานต่อเนื่องจะช่วยให้ประชาชนสามารถอาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในภูมิลำเนาของตน ไม่ต้องเข้ามาแออัดทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยรักษาระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) ตามวิถีปกติใหม่
บทความนี้เสนอแนวทางปลดล็อกข้อจำกัดของเกษตรโลกเก่า เพื่อรองรับแรงงานส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโควิด19 มาสู่เกษตรที่ยั่งยืนบนวิถีปกติใหม่ ซึ่งประกอบด้วย (1) การบริหารจัดการน้ำตามความหลากหลายของพื้นที่ (area-based) (2) การบริหารจัดการผลกระทบจากความเสี่ยงสภาพอากาศด้วยประกันภัยพืชผลและเพิ่มผลิตภาพด้วย Open Data ข้อมูลภาคเกษตร (3) การปลดล็อกข้อจำกัดและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการปรับปรุงกระบวนการผลิตของเกษตรกรในระดับพื้นที่ (4) การเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรงผ่าน platform ตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ และ (5) มาตรการสร้างอาชีพภาคเกษตรเพื่อรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ที่ให้ผลเร็ว
1.การบริหารจัดการน้ำตามความหลากหลายของพื้นที่
ที่ผ่านมา ภาคเกษตรไม่สามารถเป็นแหล่งจ้างงานที่ต่อเนื่อง คนในภาคเกษตรส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำการเกษตรได้เฉพาะฤดูฝน เพราะพื้นที่เกษตรร้อยละ 83 อยู่นอกเขตชลประทาน (รอยล จิตรดอน, 2561) อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีน้ำต้นทุนที่ดี ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยถึงปีละ 7.5 แสนล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และแหล่งน้ำใต้ดินที่มีศักยภาพปีละ 4.1 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่ใช้ประโยชน์จากน้ำฝนได้เพียง 4 หมื่นล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 5.7) และน้ำใต้ดิน 0.35 หมื่นล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 0.5) เท่านั้น (สุเมธ ตันติเวชกุล, 2559) (ดังรูปที่ 1) หากบริหารจัดการให้ดีก็สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกมาก ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำประมาณปีละ 1 แสนล้าน ลบ.ม.
แนวทางบริหารจัดการน้ำและการสนับสนุนจากภาครัฐควรเป็นวิธีใหม่ให้สมกับวิถีปกติใหม่ การพัฒนาแหล่งน้ำควรมีความหลากหลายตามพื้นที่ (area-based) และให้ความสำคัญกับพื้นที่นอกเขตชลประทานมากขึ้น กล่าวคือ แนวทางพัฒนาแหล่งน้ำควรต้องสอดคล้องกับศักยภาพและลักษณะทางกายภาพของแต่ละพื้นที่ เน้นการเชื่อมแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และแหล่งน้ำของครัวเรือนทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อกระจายพื้นที่รับน้ำและลดการพึ่งพาน้ำจากแหล่งเดียว ทำให้คนในพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยต่อยอดจากแผนการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แนวทางพัฒนานี้ต้องอาศัย
(1) การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการกับคนในพื้นที่เพื่อให้ได้โมเดลแหล่งน้ำที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ (2) การหารือกับคนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางการบรรเทาผลกระทบ (3) การร่วมทุนระกว่างรัฐกับชาวบ้านเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการประสานประโยชน์ระหว่างภาครัฐ เอกชน และคนในพื้นที่
โดยมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ พื้นที่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ในภูมิภาคต่างๆ เช่น โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ตามแนวพระราชดำริ ที่สามารถแก้ปัญหาชาวบ้านบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด จนชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐในการอนุญาตให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดใช้เครื่องจักรและชาวบ้านร่วมออกแรงในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าเพื่อให้มีน้ำทำเกษตรตลอดทั้งปี เป็นการสร้างรายได้จากพืชทางเลือก ลดเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านต้องบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ
ตัวอย่างของการหารือผู้เกี่ยวข้องทั้งเรื่องประโยชน์ ผลกระทบจากการดำเนินงานและแนวทางการบรรเทาผลกระทบ คือ โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในฤดูฝนและแล้งซ้ำซากในฤดูแล้งในพื้นที่อำเภอกมลาไสย และอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่หารือโมเดลการพัฒนากับประชาคมหมู่บ้าน 53 แห่ง แนวทางการนำดิน 5 ล้านคิวบิกเมตรที่เกิดจากการขุดลอกหนองน้ำไปถมในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และพื้นที่รอบหนอง 2,039 ไร่ แม้จะลดปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ผลกระทบคือดินที่ได้จากการขุดลอกชั้นลึกๆ จะขาดแร่ธาติที่จำเป็นส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร และหารือการปรับสภาพ และเติมอินทรียวัตถุในดินจนชาวบ้านในพื้นที่เห็นชอบ หลังจากนั้นภาครัฐโดยกองทัพบกจึงดำเนินการตามข้อสรุปจากประชาคม และส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่บริหารจัดการการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาแหล่งน้ำ โดยอาศัยค่าบริการจากผู้ใช้น้ำ
เมื่อได้โมเดลแหล่งน้ำที่เป็นที่ยอมรับจากคนในพื้นที่และส่วนราชการในพื้นที่แล้ว รูปแบบการลงทุนโครงการควรปรับเปลี่ยนมาเป็นการร่วมจ่ายระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐลงทุนในโครงสร้างส่วนกลางที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ขณะที่ชาวบ้านต้องร่วมลงทุนโครงสร้างย่อยที่เป็นส่วนบุคคล เชื่อมต่อกับโครงสร้างส่วนกลาง เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกรับผิดชอบต่อต่อส่วนที่ตนเองเป็นเจ้าของช่วยยืนยันว่าโครงการดังกล่าวสร้างตรงตามความต้องการ และเป็นประโยชน์จริง ทั้งนี้ ภาครัฐอาจสนับสนุนโดยให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษและมีระยะปลอดหนี้ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถดำเนินการส่วนต่อขยายในพื้นที่ของตน ซึ่งทำให้มีเงินหมุนเวียนและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก
2.การบริหารจัดการผลกระทบจากความเสี่ยงสภาพอากาศด้วยประกันภัยพืชผล และเพิ่มผลิตภาพด้วย Open Data ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องภาคเกษตร
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราประสบภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น เริ่มจากมหาอุทกภัยปี 2554 ตามมาด้วยภัยแล้งปี 2558 และภัยแล้งล่าสุดปี 2562 ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จากแนวโน้มดังกล่าว ประกอบกับการที่ทั่วโลกยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามแผนที่วางไว้ ทำให้เชื่อได้ว่าโอกาสเกิดภัยธรรมชาติสูงและรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรมากกว่าในอดีตเป็นอันมาก
ประกันภัยพืชผลเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยดังกล่าว โดยบริษัทประกันเป็นตัวกลางรวบรวมเบี้ยประกันภัยจากผู้ประกันภัยมาชดเชยให้ผู้ประสบภัย โดยใช้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงทั้งเชิงพื้นที่และชนิดสินค้าเกษตรในการแสวงหากำไร ที่ผ่านมา ตลาดประกันภัยพืชผลไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก (1) ต้นทุน (transaction cost) ในการตรวจสอบและจ่ายเงินชดเชยความเสียหายสูง และ (2) ไม่มีระบบข้อมูลสำหรับประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี, 2559) จึงทำให้บริษัทประกันภัยต้องคิดเบี้ยประกันสำหรับความไม่แน่นอนในส่วนนี้สูงเกินจริง จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรทำประกัน
น่ายินดีที่ปัจจุบัน 6 หน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนาระบบประกันภัยพืชผล โดยบูรณาการข้อมูลทั้งจากข้อมูลภาคสนามและข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งทดลองใช้ mobile application ตรวจสอบความเสียหายเพื่อจ่ายเงินชดเชย (ทีมวิจัยภาคเกษตรและระบบการเงินภาคเกษตร, 2563) ดังรูปที่ 2
ความร่วมมือนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนการตรวจสอบและการประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ได้ดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้เบี้ยประกันลดลงและเกษตรกรเข้าถึงประกันภัยพืชผลมากขึ้น และภาครัฐมีเครื่องมือทางเลือกในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายได้ตรงจุดมีประสิทธิภาพ
จากตัวอย่างข้างต้นของการมีฐานข้อมูลที่ดีขึ้นที่นำไปใช้ประกันความเสี่ยงได้ดีขึ้น ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถขยายผลความร่วมมือดังกล่าวไปสู่การทำฐานข้อมูล open data ด้านกายภาพของพื้นที่ และภาวะการผลิตและการตลาด อาทิ ชุดดิน ศักยภาพแหล่งน้ำ พยากรณ์อากาศ ความเสี่ยงเชิงพื้นที่ และแนวโน้มการผลิตและการตลาดให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ก็น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางขึ้น เช่น เกษตรกรและภาคเอกชนสามารถใช้วางแผนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือต่อยอดเป็น mobile application ที่สนับสนุนการผลิตและการตลาด อาทิ application บริหารจัดการแปลงเพาะปลูก หรือเชื่อมโยงข้อมูลตลอดโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ก็จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรไทยอีกมาก ดังตารางที่ 1 (ณรงค์ศักดิ์, ศุภาชัย, สุเมธ, และเกียรติคุณ, 2562)
3.การปลดล็อกข้อจำกัดและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการปรับปรุงกระบวนการผลิตของเกษตรกรในระดับพื้นที่
การปรับปรุงกระบวนการผลิตเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพผลผลิต ที่ผ่านมา สามารถแยกกระบวนการย่อยออกเป็นสองขั้น คือ (1) ปลดล็อกข้อจำกัดส่วนบุคคล และ (2) การปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ดังต่อไปนี้
3.1 การปลดล็อกข้อจำกัดส่วนบุคคล ประเทศไทยมีงานวิจัยด้านเกษตรมากมาย แต่น่าเสียดายที่ผลงานเกือบทั้งหมดไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริงในแปลงของเกษตรกร ทั้งนี้ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การเข้าไม่ถึงหรือไม่เข้าใจ ความเคยชินกับการผลิตรูปแบบเดิม หรือข้อจำกัดด้านการเงิน ข้อจำกัดเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดย หลายวิธี โดยตัวอย่างการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-Based) ที่กลุ่มบริษัทเบทาโกรดำเนินการมากว่า 10 ปี (รูปที่ 3) ชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาข้างต้นด้วยวิธีการต่อไปนี้
3.1.1 การสร้างความเชื่อมั่น (trust) ในตัวผู้จัดกระบวนการว่า มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขอุปสรรคร่วมกับเกษตรกรอย่างแท้จริง หากหน่วยงานภาครัฐ ธ.ก.ส. และภาคประชาสังคมร่วมกันเป็นทีมเข้าไปทำงานกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้มาก หลังจากนั้นค่อยจัดการกับข้อจำกัดด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการเงิน ตามลำดับ
3.1.2 สังเคราะห์คู่มือการเพาะปลูกตามหลักวิชาของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบ check list ที่เข้าใจง่าย เพื่อให้นักจัดกระบวนการในพื้นที่ใช้สื่อสาร และจัดกระบวนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เบทาโกรเก็บจากครัวเรือนเกษตรที่ร่วมโครงการ 230 ครัวเรือนใน 9 ตำบลจากทุกภูมิภาคของประเทศ (สมบูรณ์ สุเมธ และณัฐอร, 2563) พบว่า การปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ (check list) ในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับกายภาพของพื้นที่ การเลือกช่วงเวลาเพาะปลูกที่เหมาะสม การตรวจดินและใช้ปุ๋ยสั่งตัด การตรวจแปลง การจัดการวัชพืชและโรคระบาด และการเลือกช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น การวางแผนเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ยังช่วยลดความผันผวนของผลผลิตได้อีกด้วย ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยและความเสี่ยงด้านการผลิตของเกษตรกรลดลง
3.1.3 การจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องผ่านการปฏิบัติจริงและชี้ให้เห็นผลเชิงประจักษ์ในพื้นที่ของเขาเอง เมื่อคนเราต้องทดลองแนวทางใหม่ย่อมกังวลว่าผลลัพธ์อาจไม่ดีเท่าเดิม ทีมงานสามารถจัดการเรื่องดังกล่าวได้หลายวิธี เช่น การให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่เพียงส่วนหนึ่งมาทดลองแนวทางใหม่ซึ่งนอกจากลดขนาดความเสียหายที่อาจเกิดจากแนวทางใหม่แล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างแนวทางใหม่กับแนวทางเดิมว่าวิธีไหนดีกว่ากัน
เมื่อเกษตรกรเห็นผลสำเร็จที่เกิดจากการกระทำด้วยตนเองก็จะทำให้เขาเกิดความมั่นใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเชื่ออย่างแท้จริง การใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น การชดเชยส่วนต่างหรือความเสียหายจากการทดลองวิธีใหม่ หรือการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ก็มีส่วนช่วยลดข้อจำกัดในการปรับกระบวนการผลิตของเกษตรกร
3.1.4 การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การมีแหล่งจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ อาทิ เมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพ หรือแม่ปุ๋ยเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำมาผสมเป็นปุ๋ยสั่งตัดตามลักษณะดินในพื้นที่ของตน และการจัดกิจกรรมทางสังคม เช่น การแข่งขันหรือยกย่องเกษตรกร
ที่สามารถพัฒนาได้ก้าวหน้าที่สุด ก็มีส่วนสร้างกระแสสังคมในการกระตุ้นให้เกษตรกรพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
3.2 การปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เมื่อเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ได้เห็นผลสัมฤทธิ์จากการปรับปรุงกระบวนการผลิต ก็จะมีความเชื่อมั่น
สูงขึ้นและอาจจะถึงขั้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มผลิตภาพ ดังเช่น บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ที่ใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming System) ในการจัดระบบน้ำและใส่ปุ๋ย หรือการติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศในแปลงเพาะปลูกเพื่อวัดอุณหภูมิ ความชื้น ความร้อน และแสงแดดแบบเรียลไทม์ เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมของแปลงให้เหมาะสม
นอกจากนั้น ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพ อาทิ การใช้ระบบตรวจวัดปริมาณแมลงเพื่อวิเคราะห์การแพร่ระบาดและสั่งการโดรนช่วยพ่นสารกำจัดได้ทันท่วงที และการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ (Harvesting robot/machine) ในการเก็บเกี่ยวพืชผล ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดของเกษตรกรสูงอายุในการทำการเกษตร
4. การเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรง ผ่าน platform ตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์
วิถีปกติใหม่ในด้านการตลาด พบว่า ช่วงวิกฤตโควิด19 ที่ผ่านมา การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และบริการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคกลายเป็นพฤติกรรมปกติใหม่ของผู้บริโภค ช่องทางดังกล่าวเป็นช่องทางใหม่ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคทดแทนพ่อค้าคนกลาง ช่องทางออนไลน์นนี้เกษตรกรสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง และสามารถทำงานร่วมกับเจ้าของ platform ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้า และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีผู้พัฒนา platform ดังกล่าวอยู่พอสมควร อาทิ (1) Farmbook ที่เป็น platform สนับสนุนการบริการจัดการฟาร์มแบบครบวงจร ตั้งแต่วางแผนการผลิต ติดตามการเพาะปลูก ระบบบัญชี คลังสินค้า ตลอดจนการตลาด หรือ (2) A-FarmMart (หน้าเว็บไซต์ตามรูปที่ 4) ซึ่งเป็นช่องทางขายสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปออนไลน์ (คล้าย LAZADA และ Shopee) ที่เกิดจากความร่วมมือของ ธ.ก.ส. กับเอกชน และเครือข่ายสหกรณ์ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ
หากหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมกับเครือข่ายดังกล่าวในการผลักดันให้ online platform เป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศใช้ซื้อสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ก็จะเป็นหัวจักรสำคัญที่จะเชื่อมต่อให้การตลาดสามารถนำการผลิตได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่องตรงตามความต้องการของตลาด
5.มาตรการสร้างอาชีพภาคเกษตรเพื่อรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ที่ให้ผลเร็ว
การปลดล็อคข้อจำกัดที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อนำไปสู่ภาคเกษตรที่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับกระบวนการและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ แต่ในระยะสั้น ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วนจากวิกฤติโควิด19 ที่จำเป็นต้องสร้างอาชีพเพื่อรองรับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 กลับสู่ภาคเกษตรอย่างปัจจุบัน การส่งเสริมการปลูกผักเพื่อขายลูกค้ากลุ่มที่มีความต้องการสม่ำเสมอ อาทิ โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นมาตรการที่ให้ผลเร็ว (quick win) เนื่องจากผักเป็นพืชอายุสั้น (ทำเงินได้เร็ว) และใช้พื้นที่น้อย (ต้นทุนไม่สูง และใช้แรงน้อยซึ่งผู้สูงอายุทำได้) รวมทั้งช่วยให้เด็กและผู้ป่วยมีผักอินทรีย์ที่สดใหม่ และปลอดภัยรับประทาน
ในเบื้องต้น รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขในการสำรวจความต้องการทั้งปริมาณ ช่วงเวลา คุณภาพ และราคาผัก ที่โรงเรียน และโรงพยาบาลใช้เป็นประจำ รวมทั้งแจ้งความประสงค์เป็นลูกค้าหลักในระบบผ่าน A-FarmMart platform เพื่อให้ ธ.ก.ส. และเครือข่ายสหกรณ์การเกษตร ลูกค้า ธ.ก.ส. ทราบและร่วมกันวางแผนการผลิตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ตน และต้นทุนค่าขนส่ง การดำเนินการนี้จะช่วยให้สหกรณ์การเกษตรและเกษตรกรเกิดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง
6.สรุป
หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ทุกภาคส่วน (ไม่ใช่เฉพาะภาคเกษตร) ต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีปกติใหม่ เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนพืช และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งใช้เทคโนโลยี และเครื่องมือทางการเงินในการจัดการผลกระทบจากความเสี่ยงสภาพอากาศ สหกรณ์การเกษตรต้องปรับตัวเข้ากับธุรกิจออนไลน์และปรับปรุงการบริหารจัดให้มีประสิทธิภาพ และตรงเวลา
หน่วยงานภาครัฐต้องปรับกระบวนการสู่การทำงานร่วมกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องโดยพัฒนาให้ตรงความต้องการของพื้นที่โดยเฉพาะการจัดการน้ำ และ
ธ.ก.ส. ต้องปรับตัวจากการเน้นสนับสนุนสภาพคล่องมาสู่การเน้นสนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการผลิต พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าของตนปรับปรุงกระบวนการผลิต ไม่ว่าวิถีปกติใหม่จะเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นไร การเปิดรับความปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างต่อเนื่องเท่านั้นที่จะรับประกันความอยู่รอดและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทย
คณะผู้จัดทำ : ณัฐพล ภัททกวงศ์, บัญญัติ คำบุญเหลือ, เกียรติศักดิ์ พระวร, สุเมธ พฤกษ์ฤดี, พิทูร ชมสุข และ สมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage