"...ขอให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งใดที่เป็นการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อทุกประเภทเนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในเชิงเปรียบเทียบด้วยตนเอง ดังนั้นการออกกฎระเบียบใดๆ เพื่อระงับหรือจำกัดสิทธิในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งไม่สมควรในการกำกับดูแลสื่อในระบอบประชาธิปไตย..."
...............................................................
@แถลงการณ์คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง ขอให้ยุติการแทรกแซงและปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน
ตามที่มีเหตุการณ์การชุมนุมของประชาชน เยาวชน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ซึ่งโดยภาพรวมเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามได้มีการใช้กำลังของรัฐต่อผู้ชุมนุมในการกระชับพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และ ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ข้อ 2 (ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือ ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่วสาทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร) โดยมีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 ให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตรวจสอบ และให้ระงับการออกอกาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของสื่อ 4 แห่ง ได้แก่ Voice TV ประชาไท The reporters และ The STANDARD รวมถึงเพจของนักกิจกรรมคือ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH นั้น
คณาจารย์ของคณะวารสารศสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระชับพื้นที่ของรัฐ และต่อประกาศและคำสั่ง ดังกล่าว จึงขอเรียกร้อง ดังนี้
1. ขอให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งใดที่เป็นการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อทุกประเภทเนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในเชิงเปรียบเทียบด้วยตนเอง ดังนั้นการออกกฎระเบียบใดๆ เพื่อระงับหรือจำกัดสิทธิในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งไม่สมควรในการกำกับดูแลสื่อในระบอบประชาธิปไตย
2. ขอให้รัฐบาลให้เสรีภาพสื่อได้ทำหน้าที่อย่างอิสระการเลือกปฏิบัติในการสั่งระงับหรือจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อบางราย ไม่อาจเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยแก่รัฐ แต่ยิ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการคัดกรองช่องทางการนำเสนอจากรัฐมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในทางปฏิบัติหากรัฐพบว่าสื่อใดนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง รัฐควรชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ ส่วนสื่อที่ละเมิดกฎหมาย รัฐสามารถใช้กฎหมายพื้นฐานที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในการดำเนินคดี
3. ขอให้สื่อนำเสนอเนื้อหาข่าวการชุมนุมอย่างรอบด้านขอให้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสถาบัน นำเสนอเนื้อหาข่าวการชุมนุมและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านปราศจากการชี้นำต่อประชาชน เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปสู่การเพิ่มความขัดแย้งและใช้ความรุนแรง
4. ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงและอำนวยการจัดพื้นที่การเจรจาที่ปลอดภัยกับผู้ชุมนุมจากการที่รัฐใช้กำลังเข้ากระชับพื้นที่กับผู้ชุมนุม จนเกิดการบาดเจ็บทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในทุกกรณี รวมทั้งแสดงการรับทราบข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และอำนวยการจัดพื้นที่การเจรจาที่ปลอดภัยกับผู้ชุมนุมโดยด่วน ในส่วนของผู้ชุมนุม เมื่อรัฐรับทราบข้อเสนอของผู้ชุมนุมแล้ว ขอให้ผู้ชุมนุมพิจารณาชะลอการชุมนุมไว้ชั่วคราวและเข้าร่วมเวทีการเจรจากับฝ่ายรัฐ เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธีร่วมกัน
คณาจารย์ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทน และร่วมมือกันอย่างที่สุด เพื่อพัฒนาสังคมประชาธิปไตยของไทยให้เติบใหญ่มั่นคงต่อไป
@แถลงการณ์ร่วม เรื่อง การตรวจสอบ-ระงับสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมที่มีความละเอียดอ่อน
ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ ของสื่อมวลชน อันประกอบด้วย วอยซ์ทีวี และหรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV ประชาไทดอทคอม The Reporters และ The Standard ตามความทราบแล้วนั้น
6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการที่อ้างอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของสื่อมวลชน ในสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน จึงขอยืนยันจุดยืนดังต่อไปนี้
1. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันจุดยืนคัดค้านการปิดกั้นหรือคุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใด
2. การตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ระบุว่า “… การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้…”
ทั้งนี้ รัฐบาลจะสามารถใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ก็เพียงการห้ามเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน เฉพาะในประเด็นที่ละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้งเท่านั้น แต่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่เกินกว่าเหตุ
3. การปิดกั้นสื่อในลักษณะนี้ ย่อมเป็นความพยายามในการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าว ออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับการอาศัยความเป็นสื่อมวลชนบิดเบือนข้อเท็จจริงและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งกระทำการใด ๆ ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยความครบถ้วนรอบด้าน โดยนำเสนอความจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา
สุดท้ายนี้ การแสดงจุดยืนของทั้ง 6 องค์กรสื่อ เป็นไปตามหลักการของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำแถลงการณ์ฉบับนี้ไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
19 ตุลาคม 2563