"...นโยบาย ผบ.ตร. ที่ให้มีการ “ทบทวน” หลักเกณฑ์ในการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สามารถป้องปรามและระงับยับยั้งอาชญากรรม อุบัติเหตุจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ถือเป็นโอกาสอันดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กลับมา ”ตั้งหลัก” และหลักที่จะใช้ยึดโดยเฉพาะการตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด ด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ก็ขอให้ “เร่งรัดดำเนินการทบทวน” (ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์) และเน้นให้เกิดการบังคับใช้ที่ “โปร่งใส ใช้เทคโนโลยี ใช้ข้อมูลและการบังคับเชิงบวก”..."
.....................
จากข่าวที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ท่านใหม่ แถลงนโยบายวันแรกของการปฏิบัติหน้าที่ว่าจะมีการ “ทบทวนใหม่” เรื่องการตั้งจุดตรวจและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ของการตั้งจุดตรวจ ทั้งจุดตรวจทั่วไป ด้านยาเสพติต ด้านจราจร รวมไปถึงจุดตรวจเมาขับ เพื่อลดการเข้าใจผิด การเผชิญหน้าหรือปะทะกันของตำรวจและประชาชน ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ จนอาจส่งผลต่อการภาพลักษณ์ของตำรวจในการปฏิบิติงานได้ ซึ่งทางโฆษก สตช.ก็ได้ออกมาเน้นย้ำเรื่องการ “ทบทวน” หลักเกณฑ์ในการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สามารถป้องกัน ระงับยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน https://www.naewna.com/local/522555
ที่ผ่านมาการตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด มีประชาชนบางส่วนมองว่า ไม่ได้ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามเจตนารมย์ของกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ ที่มีการใช้กล้องติดรถยนต์ กล้องมือถือ แชร์ภาพ-คลิป ของการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ที่อาจจะทำให้เกิดคำถามหรือข้อสงสัยของแนวทางปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้ และบางส่วนอาจจะเลยไปถึงเรื่องของการหาผลประโยชน์ หรืออื่น ๆ ทำให้เรื่องการตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด กลายเป็น “จุดอ่อน” ของภาพลักษณ์ตำรวจ
ในความเป็นจริง “จุดตรวจ-จุดสกัด” ถือเป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่จะป้องปรามและสกัดการกระทำความผิดที่อาจส่งผลต่อประชาชนทั่วไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ป้องปรามและตรวจจับ กรณีลักลอบขนยาเสพติด ขโมยรถยนต์หรือกระทำผิดต่าง ๆ โดยเฉพาะกรณี “คนเมาขับ” จุดตรวจเมาในจำนวนและตั้งได้ถูกที่ถูกเวลา ได้ช่วยป้องปรามนักดื่มที่จะขับขี่ไม่ให้มาก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน เพราะทราบกันดีว่ากว่า หนึ่งในห้า (ร้อยละ 20%) ของผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต พบมีการดื่มร่วมด้วย (และถ้าเป็นช่วงเทศกาลฯ จะพบถึงร้อยละ 53 ที่มีแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด) ไม่เฉพาะคนเมาขับ แต่จุดตรวจ-จุดสกัด เช่นการตรวจหมวกนิรภัย ก็ช่วยกระตุ้นให้สัดส่วน (%) ผู้สวมหมวกเพิ่มขี้น ทำให้เมื่อเกิดเหตุกับรถจักรยานยนต์ ช่วยลดความรุนแรงและเสียชีวิต (หมวกนิรภัย ช่วยลดการบาดเจ็บศีรษะ 72%, ลดการตาย 39%)
ในระหว่างที่มีการชะลอเพื่อให้มีการ “ทบทวน” จุดตรวจ-จุดสกัด ก็มีความเสี่ยงต่อผู้ที่ฝ่าฝืนจะไม่ถูกตรวจจับ เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบกับผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนทั่วไป เพราะโดยเฉพาะก็มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 30-40 คน/วัน โดยส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงหลัก (เร็ว เมาขับ หรือไม่สวมหมวกนิรภัย) ร่วมด้วย ดังนั้น ในโอกาสที่จะมีการ “ทบทวน” การตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด ตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทาง ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และเครือข่าย จึงมีข้อพิจารณาเพื่อใช้ประกอบแนวทางการทบทวนวิธีปฏิบัติ โดยฉพาะจุดตรวจ-จุดสกัด ที่ช่วยป้องปรามให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ดังนี้
1) เร่งพิจารณา “ทบทวน” อย่างเร่งด่วน ควรไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพราะการปล่อยให้บนถนนไม่ต้องมีจุดตรวจ-จุดสกัด อาจจะทำให้มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายบนถนนมากขึ้น ที่สำคัญคือไปสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนที่กระทำตามกฎหมายและประชาชนทั่วไป เพราะช่วงนี้ออกพรรษา มีการกลับมาดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ช่วงปลายปีก็มีการท่องเที่ยวเดินทางมากขึ้น
2) ส่งเสริมให้มีการนำ “เทคโนโลยี” และ “ระบบสนับสนุน” มาใช้ประกอบเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส อาทิเช่น
a. การติดตั้งกล้อง cctv ในจุดที่มีการปฏิบัติงานหรือกล้องประจำรถสายตรวจหรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งความโปร่งใสทั้งกับประชาชนและตำรวจที่ทำหน้าที่
b. นำระบบเทคโนโลยีตรวจจับ (Red light camera, speed camera, etc.) และออกใบสั่งอิเลกโทรนิกส์ (Police Ticket Management PTM) มาใช้ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะฐานความผิดที่ทำให้เกิดความรุนแรง เช่น การฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ขับเร็ว ฯลฯ
c. นำงบที่ได้จากค่าปรับมาสนับสนุนการจัดหาเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ (รวมทั้งค่าดูแลรักษา) และค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อลดกระแสต่อต้านการตั้งด่านเพื่อสินบนนำจับ ทั้งนี้อาจพิจารณาตั้ง “กองทุนเพื่อการบังคับใช้อย่างประสิทธิภาพ” เพื่อความโปร่งใสของการบริหารจัดการงบค่าปรับ
3) มีการพัฒนาและจัดการข้อมูล ที่จะช่วยให้ “จุดตรวจ-จุดสกัด” สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเข่น
a. การจัดการข้อมูล “ระบบตรวจสอบความผิดซ้ำ” (ทุกวันนี้การตรวจสอบความผิดซ้ำ โดยเฉพาะข้อหาเมาขับ ยังต้องอาศัยระบบตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งไม่ทันใช้ประกอบสำนวนส่งฟ้องศาลแขวง ที่กำหนดไว้ 48 ชม.) รวมถึงความผิดในข้อหาอื่น ๆ ที่สามารถสืบค้นประวัติอื่น ๆ คะแนนการตัดแต้ม ฯลฯ ได้
b. การใช้ข้อมูลเพื่อระบุกลุ่มเป้าหมาย พิกัดและช่วงเวลา เพื่อช่วยให้การตั้งจุดตรวจที่มีประสิทธิภาพป้องปราม ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรับรู้ว่าถ้ากระทำผิดก็ไม่รอด และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น สวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ทำใบขับขี่ เมาไม่ขับ ฯลฯ
c. รวมทั้งการใช้ข้อมูลเพื่อกำหนด “ค่าเป้าหมาย” (ตัวชี้วัด) ในการบังคับใช้ และใช้ข้อมูลเพื่อ “กำกับติดตาม” การปฏิบัติงานของระดับต่าง ๆ
d. การพัฒนาข้อมูลสอบสวน “สาเหตุเชิงลึก” ที่ไม่เพียงการระบุ “ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” แต่มีรายละเอียดที่ครอบคลุมสาเหตุด้านอื่น ๆ ทั้งยานพาหนะ ถนนและสภาพแวดล้อม ฯลฯ (มีข้อมูลสาเหตุเชิงลึกในจุดเกิดเหตุซ้ำ ๆ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องป้องกันแก้ไข ไม่ให้มีโค้งร้อยศพ แยกวัดใจ ฯลฯ)
4) การบังคับ “เชิงบวก” โดยตำรวจประจำจุดตรวจ มีการเสริมด้วยการเตือนด้วยความห่วงใยและสื่อสารเพื่อสร้างแนวร่วมจากผู้ใช้รถใช้ถนนที่ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี (ตามแนวทาง Behavior Base Safety : BBS ) อาทิเช่น
a. ประชาชนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น สวมหมวกนิรภัย ซึ่งถ้าตำรวจมีการชื่นชมคนที่สวมหมวกนิรภัย (อาจจะใส่เป็นประจำหรือใส่บ้างไม่ใส่บ้าง) จะพบว่ากลุ่มเหล่านี้พร้อมจะเป็นแนวร่วมในการปฏิบัติตามกฎหมายและยังพร้อมจะเตือน/บอกคนใกล้ชิดสวมหมวกเพิ่มขึ้น
b. สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนก็มีการสอดแทรกเรื่อง “ความสำคัญของพฤติกรรมที่ดี และความห่วงใย” เช่น เรียกตรวจ (1) ทำไมไม่หมวก (2) ทราบไหมว่าถ้าไม่ใส่หมวกจะเกิดอะไรขึ้น (3) ที่เตือนเพราะเป็นห่วง
c. มีการบูรณาการจุดตรวจ-จุดสกัด กับทางพื้นที่เพื่อให้หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ได้เช้ามามีส่วนร่วมในการตั้งจุดตรวจ (ไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ)
5) มาตรการและกลไกที่เข้ามาเสริมอื่น ๆ .. นอกจากการเน้นเรื่องความโปร่งใส ใช้เทคโนโลยี ใช้ข้อมูลและเสริมเรื่องการบังคับใช้เชิงบวกแล้ว การตั้งจุดตรวจ-จุดสกัดที่เกิดประสิทธืภาพในการบังคับใช้ ในระดับพื้นที่จะมีมาตรการและกลไกที่เข้ามาเสริม ที่สำคัญได้แก่
a. อนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมาย ในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางนถนนจังหวัด (ศปถ.จังหวัด) โดยมีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นประธานและมีภาคีทั้งภาครัฐและภาคสังคมร่วมเป็นกรรมการ ถือเป็นตัวช่วยให้ปัญหาหรือข้อขัดแย้งจากการตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด ของทางตำรวจภูธรจังหวัด ถูกหยิบยกมาหารือและแก้ไขในระดับพื้นที่ แม้จะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการนี้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็พบว่ามีการใช้กลไกของอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายเพียงบางจังหวัด
b. ในระดับอำเภอ จะมีกลไก ศปถ.อำเภอ หรือศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ ที่นายอำเภอเป็นประธาน และผู้กำกับการเป็นคณะกรรมการฯ ก็เป็นกลไกที่สามารถนำข้อขัดแย้งของการตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด มาหาข้อยุติหรือใช้กำกับติดตาม ได้เช่นเดียวกัน
นโยบาย ผบ.ตร. ที่ให้มีการ “ทบทวน” หลักเกณฑ์ในการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สามารถป้องปรามและระงับยับยั้งอาชญากรรม อุบัติเหตุจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ถือเป็นโอกาสอันดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กลับมา ”ตั้งหลัก” และหลักที่จะใช้ยึดโดยเฉพาะการตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด ด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ก็ขอให้ “เร่งรัดดำเนินการทบทวน” (ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์) และเน้นให้เกิดการบังคับใช้ที่ “โปร่งใส ใช้เทคโนโลยี ใช้ข้อมูลและการบังคับเชิงบวก”
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก : https://news.gimyong.com/article/6590