"...บทบาทสำคัญของภาครัฐด้านหนึ่งคือการสร้างกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวของตลาด (market failures) เช่น การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มผลิตภาพ การเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่เดิมได้โดยง่าย การลดอุปสรรคและต้นทุนจากกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ล้าสมัย ซ้ำซ้อน และไม่จำเป็น รวมถึงการลดความลักลั่นขัดแย้งของนโยบายและกฎเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง..."
................
หมายเหตุ : ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2563 "ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง : Restructuring the Thai Economy" ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2563
ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่งานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีความท้าทายยิ่ง
เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่มีใครทราบว่าวิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อใดและจะจบลงอย่างไร การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิดจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ชีวิตวิถีใหม่และธุรกิจวิถีใหม่ในโลกหลังโควิดหลายอย่างจะต่างไปจากเดิม
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ทำให้เราเห็นปัญหาต่างๆ ของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมายาวนานชัดเจนขึ้น และโควิด 19 ได้ส่งผลให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมถอยของผลิตภาพ (productivity) การขาดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูง และการขาดภูมิคุ้มกันในหลายระดับของสังคมไทย
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ปัญหาเหล่านี้จึงต้องแก้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกันเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมาต่อเนื่อง หลายครั้ง หลายเวที แต่ก็ยังไม่เกิดผลจริง หัวข้อของงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้จึงต้องการตอบโจทย์ว่า “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง”
ท่านผู้มีเกียรติครับ
คนไทยจะกินดีอยู่ดีได้อย่างยั่งยืน ระบบเศรษฐกิจไทยต้องมีรากฐานที่ดีอย่างน้อย 3 ด้าน คือ
(1) คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ (2) คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือสูง และ (3) การกระจายผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องทั่วถึง ไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงขึ้น
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้แสดงให้เห็นความอ่อนแอทั้ง 3 ด้านนี้เพิ่มขึ้น ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค
ประการแรก ด้านผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน
ในระดับจุลภาค ธุรกิจไทยจำนวนมากทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำ ซึ่งมีเหตุผลมาจากการขาดแรงจูงใจและแรงกดดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยี นอกจากนี้ การโยกย้ายแรงงานและทุนจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูงยังถูกจำกัดด้วยปัจจัยหลายประการ
เช่น กฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่ล้าสมัยและเอื้อต่อธุรกิจขนาดใหญ่ การผลิตและห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรมถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ขาดการแข่งขันกันระหว่างธุรกิจอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่อาจจะมีนวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่เดิมได้
ในบางภาคเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเอกชนยังต้องแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจที่มีข้อได้เปรียบหลายด้านด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขาดพลวัต การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของประเทศไทยถูกลดทอนลง
ในระดับมหภาค โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการผลิตและบริการแบบดั้งเดิมอยู่มาก ในขณะที่การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสำหรับโลกใหม่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้บทบาทของผู้ผลิตไทยในห่วงโซ่อุปทานยังจำกัดอยู่ในกิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ในขณะที่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะที่เน้น
การวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นฐานยังไม่พัฒนาอย่างแพร่หลาย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีพื้นฐานดี ได้เปรียบประเทศอื่นในหลายอุตสาหกรรม
ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำและขาดความสามารถในการรับมือกับภัยต่างๆ
เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข เพราะโลกจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความไม่แน่นอนในมิติใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศแปรปรวน และการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ที่จะเพิ่มสูงขึ้น
ในระดับจุลภาค ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางทางการเงิน ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะ SMEs มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการออมและสินเชื่อ ทำให้ไม่มีแหล่งเงินสำรองไว้ใช้ในยามวิกฤติ รวมทั้งไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มจากสถาบันการเงินในระบบได้ในสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน
นอกจากนี้ แรงงานและผู้ประกอบการจำนวนมากยังอยู่นอกระบบ ไม่มีกลไกของภาครัฐที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง แรงงานเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดด้านทักษะและความสามารถในการปรับตัวเมื่ออาชีพที่ทำอยู่เดิมได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด
ในระดับมหภาค โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงเศรษฐกิจต่างประเทศมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกสินค้าและบริการเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
แต่การพึ่งพิงดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางและได้รับผลกระทบรุนแรงในยามที่เศรษฐกิจโลกสะดุดลง ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศจากวิกฤตโควิด 19 ครั้งนี้
ประการที่สาม ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยกระจุกตัวสูง และมีความเหลื่อมล้ำสูงในหลายมิติ
คนไทยต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางโอกาสตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความรู้น้อย มีทุนทรัพย์น้อย มักจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นมาก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา บริการสุขภาพ และทรัพยากรต่างๆ แตกต่างกัน เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5 ในขณะที่เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีเกือบทั้งหมดมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
ความเหลื่อมล้ำในช่วงปฐมวัยนี้ได้ส่งผลต่อไปยังโอกาสในการทำงาน การประกอบกิจการ และรายได้ที่แตกต่างกัน ความได้เปรียบเสียเปรียบยังสั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดช่วงอายุ และส่งผ่านต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย
ความเหลื่อมล้ำสูงในมิติต่างๆ สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ ในภาคครัวเรือน ประชากรที่มรายได้สูงสุดร้อยละ 1 แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันถึงร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมดของประชากรทั้งประเทศ
ส่วนในภาคการผลิต ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดร้อยละ 5 ครองส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 85 ของรายได้จากการผลิตนอกภาคเกษตรทั้งหมด ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เป็นทั้งอาการและสาเหตุของปัญหา ที่นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ทางสังคมอีกมาก
นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวเชิงพื้นที่สูง ผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดต่อหัว (gross provincial product per capita) ของจังหวัดที่สูงสุด สูงกว่าจังหวัดที่ต่ำที่สุดถึง 18 เท่า
ท่านผู้มีเกียรติครับ
สถานการณ์โควิด 19 ได้ซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น ครัวเรือน แรงงาน และผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างมาก มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดชั่วคราวและอุปสงค์ที่หดตัวลงแรงทำให้ SMEs จำนวนมากต้องปิดกิจการ
ส่วนธุรกิจที่ยังดำเนินการอยู่ก็มียอดขายลดลง ธุรกิจจำนวนมากต้องเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการจ้างงาน ครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตินี้ ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการปรับตัวและการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ อยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงทุน การพัฒนาทักษะ หรือการใช้เทคโนโลยี วิกฤติครั้งนี้จึงซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ โครงสร้างตลาดในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก วิกฤตโควิด 19 จะทำให้หลายอุตสาหกรรมทั่วโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (excess capacity) สูงต่อเนื่องไปอีกหลายปี หากกำลังการผลิตส่วนเกินนี้ไม่ถูกจัดการหรือโยกย้ายไปสู่ภาคการผลิตอื่น ผลิตภาพรวมของระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะยิ่งลดต่ำลงอีก รวมทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการผลิตเหล่านี้จะมีทุนลดลงเรื่อยๆ ขาดภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับการเผชิญกับภัยและความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต
เราไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดผลได้จริง ชีวิตวิถีใหม่ และธุรกิจวิถีใหม่หลังโควิด 19 จะต่างไปจากเดิมมาก การแข่งขันจะสูงขึ้นเพราะทั้งโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจไทยต้องสามารถจัดสรรโยกย้ายทรัพยากรไปสู่ธุรกิจที่มีผลิตภาพสูงให้ได้ ต้องเน้นที่การสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานอย่างจริงจัง
ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดการพึ่งพิงภาคเศรษฐกิจใดภาคเศรษฐกิจหนึ่งมากจนเกินไป รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการกระจายทรัพยากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพสูงขึ้น มีภูมิคุ้มกันดีขึ้น และมีความเหลื่อมล้ำลดลง เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน สำหรับทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด 19 และการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่คนไทยในระยะยาว
(วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.)
ท่านผู้มีเกียรติครับ
การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สำเร็จนั้นต้องทำงานร่วมกันทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค นโยบายในระดับมหภาคต้องกำหนดทิศทางในภาพใหญ่ให้ชัดเจน ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดและสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจปรับตัวไปในทิศทางที่ควร
ในขณะเดียวกัน มาตรการในระดับจุลภาคของหลายหน่วยงานต้องประสานและบูรณาการกันเพื่อลดอุปสรรคในการปรับตัวของแรงงานและธุรกิจ เอื้อให้เกิดนวัตกรรมได้โดยง่าย ลดความซ้ำซ้อน ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และลดการสร้างความบิดเบือน ลักลั่น และไม่เป็นธรรมในระบบ
บทบาทสำคัญของภาครัฐด้านหนึ่งคือการสร้างกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวของตลาด (market failures) เช่น การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มผลิตภาพ การเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่เดิมได้โดยง่าย การลดอุปสรรคและต้นทุนจากกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ล้าสมัย ซ้ำซ้อน และไม่จำเป็น รวมถึงการลดความลักลั่นขัดแย้งของนโยบายและกฎเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง
นอกจากนี้ ภาครัฐยังจะมีส่วนสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล การส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะอย่างเปิดกว้าง และการกระจายโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
เราต้องตระหนักว่า นโยบายด้านมหภาคหรือนโยบายในภาพใหญ่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจได้จริง ในระดับจุลภาค ครัวเรือน แรงงาน และผู้ประกอบการ ต้องได้รับความช่วยเหลือให้ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วด้วย แรงงานต้องสามารถพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกใหม่ ผู้ประกอบการต้องสามารถปรับตัวรับการแข่งขันที่สูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำงาน และลดการพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภาครัฐในระยะยาว
บทบาทของภาครัฐที่สำคัญ คือ ต้องสร้างและสนับสนุนกลไกที่จะช่วยให้แรงงานและผู้ประกอบการจำนวนมากสามารถพัฒนาผลิตภาพและทักษะได้อย่างรวดเร็ว ต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมให้คนปรับวิถีชีวิตและวิถีการทำธุรกิจ ต้องลดต้นทุนในการปรับตัวของแรงงานและผู้ประกอบการ รวมไปถึงจัดหากลไกที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการที่กำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตด้วย
ท่านผู้มีเกียรติครับ
การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องจำเป็นและต้องเริ่มทำทันทีเพื่อให้เกิดผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผมคิดว่าการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 นี้ มีข้อควรคำนึงถึงที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นต้องสอดคล้องกับทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงและยังไม่มีใครทราบว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ในขณะที่ทุนของครัวเรือนและธุรกิจลดลงเรื่อย ๆ และทรัพยากรของภาครัฐก็มีจำกัด การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลายเรื่องจะต้องใช้ทรัพยากรเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต การทำธุรกิจวิถีใหม่และการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวไปในทิศทางที่สอดรับกับโลกใหม่ก็ต้องใช้ทุน
ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม ให้เกิดสมดุลทั้งการเยียวยาหรือประคับประคองในช่วงสั้น และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและวิถีการทำธุรกิจสำหรับระยะยาว
การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ดี ทำให้เรามีโอกาสที่จะเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและวิถีการทำธุรกิจได้เร็วกว่าอีกหลายประเทศ เราต้องปรับน้ำหนักจากการให้ความช่วยเหลือเพื่อเยียวยา มาให้น้ำหนักกับการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับโลกใหม่หลังโควิดเพิ่มขึ้น การให้เงินเยียวยาของภาครัฐแก่
ผู้ตกงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงยังจำเป็น
แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ และการปรับตัวไปสู่วิถีการทำธุรกิจที่มีศักยภาพสูงในโลกยุคหลังโควิด
นอกจากนี้ เนื่องจากวิกฤตโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันมาก ภาครัฐจึงควรลดการออกมาตรการช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแหเป็นการทั่วไปสำหรับทุกคน
แต่ต้องเน้นไปให้ตรงจุดกับกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพราะแรงงานและผู้ประกอบการแต่ละรายมีความสามารถในการฟื้นตัวและการปรับตัวที่แตกต่างกัน การช่วยเหลือทุกคนด้วยมาตรการแบบเป็นการทั่วไปจะทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วถูกใช้แบบเบี้ยหัวแตก ขาดประสิทธิผล
และไม่คุ้มค่า
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และอาจไม่สามารถคัดสรรกลุ่มผู้ประกอบการที่สมควรได้รับความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง หลายเรื่องภาครัฐจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการเอง แต่ต้องอาศัยกลไกตลาดเป็นตัวช่วยในการคัดกรอง ติดตาม และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนกลไกตลาดเหล่านั้นให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
ปัญหาหนึ่งที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกหลายรอบที่ผ่านมา คือการที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ ไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ด้วยตนเองถ้าความช่วยเหลือจากภาครัฐยุติลง หรือที่เรียกกันว่า zombie firms
การให้ความช่วยเหลือที่มากเกินควรแก่ธุรกิจเหล่านี้มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจหลายประการ เพราะนอกจากจะทำให้ธุรกิจเหล่านั้นขาดแรงจูงใจในการปรับตัวและพัฒนาผลิตภาพแล้ว กลไกการแข่งขันจะถูกบิดเบือนด้วย เพราะธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้จะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินคงอยู่ต่อเนื่อง คอยตัดราคา ทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวเองหรือมีศักยภาพสูงอยู่รอดได้ยากด้วย
ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะสูญเสียทรัพยากรที่ควรนำไปใช้ส่งเสริมแรงงานและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ทำให้การจัดสรรทรัพยากรขาดประสิทธิภาพ ผลิตภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจลดลง และความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอยลง
ประการที่สอง การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงถ้าเราไม่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งได้ จึงจำเป็นต้องลดอุปสรรคในการโยกย้ายทรัพยากร
วิกฤติโควิดทำให้อุปสงค์ในหลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปอย่างถาวร การโยกย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินไปภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีศักยภาพสูงกว่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น การทำให้กระบวนการโยกย้ายทรัพยากรมีต้นทุนต่ำลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป
ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าการโยกย้ายทรัพยากรข้ามธุรกิจหรือข้ามภาคเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย มีต้นทุนสูงและใช้เวลานาน อุปสรรคที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับโลกใหม่ รวมถึงการออกกฎเกณฑ์ในอดีตที่มักเอากรอบอำนาจทางกฎหมายของหน่วยงานผู้ออกกฎเป็นตัวตั้ง ส่งผลให้เรื่องของโลกใหม่ที่อาจจะครอบคลุมหลายหน่วยงานเกิดขึ้นได้ยาก
นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนและไม่ยืดหยุ่นพอในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผลของกฎระเบียบที่ยุ่งยากยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจและสังคมอีกด้วย เพราะผู้ประกอบการ SMEs จะมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้สูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่มาก
ความพยายามหนึ่งที่จะลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นของไทยคือโครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดําเนินการและการอนุญาตที่ไม่จําเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดําเนินธุรกิจของประชาชน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โครงการ Regulatory Guillotine จากการศึกษามากกว่า 1,000 กระบวนงานของราชการ พบว่ามีถึง 424 กระบวนงานที่ไม่จำเป็น สามารถตัดออกไปได้ และอีก 472 กระบวนงานที่ควรได้รับการปรับปรุง
หลังจากงานศึกษาชิ้นนี้ออกมา ก็เป็นที่น่ายินดีว่ามีบางหน่วยงานเห็นความสำคัญและรับไปปรับปรุงกฎเกณฑ์อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีกระบวนงานอีกจำนวนมากที่ยังรอการแก้ไขอยู่ ภาครัฐต้องเร่งปรับแก้และยกเลิกกฎเกณฑ์กระบวนการทำงานเหล่านี้ ซึ่งมักต้องอาศัยการทำงานร่วมกันข้ามหน่วยงาน
ผมเชื่อมั่นว่าการเร่งปรับแก้และยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านี้ จะเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว โดยไม่สร้างภาระให้แก่งบประมาณของรัฐบาล
ประการสุดท้าย ท้องถิ่นต่างจังหวัดจะต้องเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในชนบทต่างจังหวัดเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ ประชากรวัยทำงานจำนวนมากต้องทิ้งภูมิลำเนาต่างจังหวัดเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่จนเกิดครอบครัวโหว่กลางทั่วไป ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ มากมาย ทั้งปัญหาแรงงานสูงอายุในภาคเกษตร ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ ตลอดจนปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำ
แต่วิกฤติโควิดได้ทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นั่นคือการย้ายกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดของแรงงานมากกว่าหนึ่งล้านคน แรงงานเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเป็นพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่างจังหวัด และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมชนบท ยกระดับผลิตภาพในภาคเกษตรและวิสาหกิจชุมชน เป็นโอกาสในการเพิ่มทั้งอุปทานและกำลังซื้อในท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นจะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เศรษฐกิจไทยโดยรวมสามารถและลดการพึ่งพิงส่วนกลางและเมืองหลักต่าง ๆ ลง
การส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในท้องถิ่นต่างจังหวัดจำเป็นต้องทำแบบครบวงจรและต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นกลไกสำคัญ เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะช่วยตอบโจทย์ทั้งด้านข้อมูล การตลาด ระบบลอจิสติกส์ การเข้าถึงสินเชื่อ การโอนเงินชำระเงิน ตลอดจนบริการด้านสาธารณสุขและคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้แก่คนในท้องถิ่นชนบทได้อีกมาก
การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่นี้ มีความท้าทายหลากหลายมิติ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เนื่องจากแต่ละพื้นที่จะมีบริบทไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องเร่งการกระจายอำนาจทั้งในการตัดสินใจโครงการต่างๆ และงบประมาณสนับสนุน รวมทั้งเปิดกว้างให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและการดำเนินการ แทนที่หน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นส่วนใหญ่
ท่านผู้มีเกียรติครับ
วิกฤติโควิด 19 ครั้งนี้ เป็นความท้าทายที่ใหญ่มากสำหรับพวกเราทุกคน โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หลายประเทศได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจกันอย่างจริงจังมาตั้งแต่ก่อนการเกิดโควิด 19 การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงไม่ได้เป็น “ทางเลือก” หากแต่เป็น “ทางรอด” ของประเทศไทย
ที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน
เรามีเวลาไม่มาก ทรัพยากรของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกำลังร่อยหรอลง เราได้ถกเถียงกันเรื่องแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในหลายเวที ต่อเนื่องกันมาจนหลายแนวคิดตกผลึก คำถามที่สำคัญของเวลานี้ จึงไม่ใช่แนวคิดว่าจะปรับโครงสร้างไปในทิศทางใด แต่จะต้องเน้นว่า ทำอย่างไร การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงจะเกิดได้จริง
ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณคณะผู้วิจัย ผู้วิจารณ์บทความ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เสวนาทุกท่าน ที่ให้เกียรติมาร่วมงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาวิชาการประจำปีนี้ จะจุดประกายความคิดให้พวกเราทุกคนได้เห็นแนวทางปฏิบัติที่จะนำไปขับเคลื่อน ทำให้การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำลง และคนไทยแต่ละคนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage