"...อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. มาจากการคำถามพ่วงในประชามติที่มีผู้เห็นด้วยมากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วยถึง 4 ล้านเสียง เรื่องนี้อยู่ในบทเฉพาะกาลพ้น 5 ปีเขาก็ไป ไม่ต้องมีอำนาจ ส.ว.แบบนี้อีก ผมเห็นว่า ควรแก้ไขรายมาตรา ที่ต้องดูเป็นเรื่องๆไป ส่วนตั้ง สสร. ผมไม่เห็นด้วย นพ.เจตน์ กล่าว..."
------------------------------------------------------
15 ชั่วโมงของการอภิปรายร่วมกันของรัฐสภากับวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ยังคงวนเวียนถึงการชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลถึงประเด็นตั้ง-ไม่ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
ฟากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างนำเสนอไปในทิศทางเดียวกันว่า สสร.คือทางออกของความขัดแย้งในปัจจุบัน และปฏิบัติการครั้งนี้จะสำเร็จได้ต้องมีเสียง 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือ 84 เสียง ในการสนับสนุนญัตติดังกล่าว
การอภิปรายตลอดทั้งวันของฝั่ง ส.ส. จึงเสมือนการเชื้อเชิญให้ ส.ว.เห็นพ้องต้องกัน เพื่อเปิดทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมือง
ขณะที่เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังคงอภิปรายอย่างอิสระ ปรากฎภาพทั้งหนุน ทั้งค้าน การแก้ไข รธน. โดยมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
@ยอมรับหลักการเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า
นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. สนับสนุนให้มีการแก้ไข รธน.รายมาตรา เพราะไม่เชื่อว่า การแก้ไข รธน.ด้วยวิธีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ จะทำให้ประเทศยุติความขัดแย้ง เพราะจากประวัติศาสตร์การเมือง ทุกครั้งที่มีการแก้ไข รธน. ก็มักจะสร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ และทั้งหมดเป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ มากกว่า ‘เหตุผล’
“ไม่เกี่ยวกับว่าผมจะโหวตรับหรือไม่รับ แต่ผมเชื่อว่า รธน.ต้องแก้ไขได้ และต้องแก้ไขได้ไม่ยากเกินไป แต่ผมก็เห็นด้วยว่า การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ อาจนำมาซึ่งความพอใจ แต่ก็นำมาซึ่งความขัดแย้งที่ไม่มีวันสิ้นสุดด้วยเช่นกัน” นายมณเฑียร กล่าว
นายมณเฑียร กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมีทั้งสิ่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยใน รธน.ปี 2560 แต่ในการทำประชามติก็ตัดสินใจให้ความเห็นชอบ เพราะต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้า เช่นเดียวกับครั้งนี้ก็จะโหวตรับหลักการ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อป้องกันไม่ให้ การไม่แก้ไข รธน. ทำให้เกิดความชอบธรรมหรือเป็นเหตุให้เกิดการสิ้นอายุ รธน.ด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
@อ้างประชามติ 16.8 ล้านเสียงหนุนอำนาจ ส.ว.
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ไม่ต้องการให้กงล้อประวัติศาสตร์หมุนย้อนกลับไปเหมือนปี 2555 ซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 291 รธน.ปี 2550 เปิดทางให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน จนในขณะนั้น มีคำนิยามว่าทำให้เกิดวาทกรรม ‘สร้างลูกมาฆ่าแม่’
นอกจากนั้นยังเห็นว่าการใช้เงิน 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อทำประชามติ 2 ครั้ง เลือกตั้ง สสร. 1 ครั้ง ดูจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศที่มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
นพ.เจตน์ กล่าวด้วยว่า ที่มาของการให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นพวงจากคำถามพ่วงในการทำประชามติ รธน.ปี 2560 ซึ่งมีคนให้ความเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10.6 ล้านเสียง ดังนั้นการพิจารณาแก้ไข รธน.ควรคำนึงถึงสิ่งนี้ และไม่เห็นด้วยที่จะให้ตั้ง สสร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
“อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. มาจากการคำถามพ่วงในประชามติที่มีผู้เห็นด้วยมากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วยถึง 4 ล้านเสียง เรื่องนี้อยู่ในบทเฉพาะกาลพ้น 5 ปีเขาก็ไป ไม่ต้องมีอำนาจ ส.ว.แบบนี้อีก ผมเห็นว่า ควรแก้ไขรายมาตรา ที่ต้องดูเป็นเรื่องๆไป ส่วนตั้ง สสร. ผมไม่เห็นด้วย” นพ.เจตน์ กล่าว
@ชี้ช่องประชามติ 2 ครั้งกันถูกร้องศาล รธน.
พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ยืนยัน พร้อมลาออกจากตำแหน่ง หากเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ตั้ง สสร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ พร้อมอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ก่อนและหลังยกร่าง รธน.
โดยยกตัวอย่าง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2555 ซึ่งมีผู้ร้องขอให้วินิจฉัย กรณีที่รัฐบาลในขณะนั้นได้แก้ไขมาตรา 291 รธน.ปี 2560 เพื่อเปิดทางตั้ง สสร. โดยศาลระบุตอนหนึ่งว่า
“อำนาจในการสถาปนา รธน.เป็นอำนาจของประชาชน รธน.ฉบับดังกล่าวได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ขีดเส้นใต้ร้อยเส้นตรงนี้ว่าถ้าจะมีการแก้ไข รธน. ก็ต้องถามประชาชนผ่านการทำประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมี รธน.ฉบับใหม่หรือไม่” พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ต.เฉลิมชัย ย้ำว่า หากทำตามแนวทางที่จะต้องทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง ก็จะมีอีกขั้นตอนที่สภาจะรอพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้ว แต่ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภา ยังไม่นับรวมกรณีที่ต้องยุบสภาก่อนการเลือกตั้ง ที่จะต้องจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีก 3-4 ฉบับ นั่นหมายความว่าทั้งหมดยังต้องใช้เวลาอีกมาก และเป็นเรื่องที่รัฐสภาต้องหารือกันว่าจะดำเนินการเรื่องเหล่านี้อย่างไรต่อไป
@บาปตกอยู่ที่ ส.ว. เพราะ รธน.แก้ไขยาก
นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายยืนยันว่าไม่สามารถรับหลักการแก้ไข รธน.ได้ เพราะประเทศกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโรควิด ขณะเดียวกันไม่มีใครพูดเลยว่าแก้ไข รธน.เวลานี้ ประชาชนจะได้อะไร หายเดือดร้อนหรือไม่ อีกทั้งการแก้ไขก็ทำได้ยาก จนคนกล่าวหาว่าเป็นเพราะ ส.ว. เป็นเงื่อนไขที่ทำให้แก้ยาก
“รัฐธรรมนูญไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่เขากำหนดให้แก้ยาก เพราะไม่ใช่กฎหมายทั่วไป บาปเคราะห์ก็มาลงที่ ส.ว.หมด จะปิดสวิตซ์ ส.ว. และมี ส.ส.หลายคนบอกว่าถ้าไม่ยอมให้แก้ จะเกิดปฏิวัติรัฐประหาร ไม่รู้ว่าเตือนหรือขู่ การปฏิวัติรัฐประหารไม่ได้ทำกันง่าย ๆ ทหารก็รักประชาธิปไตยเหมือนกัน ผมรู้ดี เขาไม่อยากทำหรอก เวลาพูดถึงเรื่องนี้ก็พูดแต่ปลายน้ำ ไม่พูดถึงต้นน้ำ กลางน้ำว่าเป็นอย่างไร” นายจเด็จ กล่าว
นายจเด็จ เชื่อว่า การใช้เงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาทในการแก้ไข รธน.เวลานี้ ไม่มีใครกล้าพูดว่าเงินจำนวนนี้จะถูกจ่ายเพื่อความเป็นประชาธิปไตย เพราะมาจากภาษีของทุกคน ส่วนที่บอกว่า ถ้าไม่แก้ รธน.อุณหภูมิทางการเมืองความขัดแย้งจะสูงขึ้นนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าไม่จริง ถ้าแก้ รธน.แล้ว โควิดดีขึ้น การทำมาหากิน การลงทุนดีขึ้น ก็ขอให้รีบแก้ ดังนั้นต้องต่อมีเหตุผล อย่าเอาแต่ใจตัวเอง เพราะบ้านเมืองกำลังมีปัญหา
@เลือกตั้ง สสร.อาจเจอปัญหาซื้อเสียง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า การได้มาซึ่ง ส.ว.ได้ผ่านกระบวนการมาแล้วหลายรูปแบบ เช่น รธน.ปี 2540 เป็น ส.ว.เลือกตั้ง แต่ฐานเสียง พื้นที่ เป็นเหมือน ส.ส. จนถูกข้อครหาว่าเป็น ‘สภาผัวเมีย’ ส่วน รธน.ปี 2550 ถ้า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งดี เขาคงไม่เปลี่ยนวิธีแบ่งสัดส่วนให้เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง มาจากการสรรหาครึ่งหนึ่ง สุดท้ายเจอปัญหา ‘ปลาสองน้ำ’ ทำงานร่วมกัน มีแต่ปัญหา
ล่าสุดปี 2560 ที่มาของ ส.ว. มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดขึ้นได้เพราะความเห็นพ้องของประชาชน แต่สุดท้ายบ้านเมืองก็มองว่าปัญหาเช่นเคย เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการออกแบบที่มาของ ส.ว.แต่ละครั้ง ถูกพิจารณาตามเงื่อนไขแต่ละช่วงเวลาตามความเหมาะสมของสถานการณ์บ้านเมือง
ขณะที่กระแสเรียกร้องให้ตั้ง สสร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และมีกระแสเรียกร้องต่อไปว่า ที่มาของ สสร.มาจากการเลือกตั้งเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ทำให้นึกภาพได้ว่า ถ้าใช้วิธีนี้ สสร.ก็จะมาจากพรรคการเมือง เพราะมาจากฐานเสียงการเลือกตั้ง และอาจเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็น สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งและพบการซื้อเสียงมากที่สุด
@แฉยกร่างใหม่หวังแทรกแซง-ถ่วงเวลาคดีทุจริต
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า เหตุการณ์วันนี้คล้ายกับ 8 ปีก่อน การเมืองไทยวนเวียนอีกแล้ว มีผู้ชุมนุม 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งกดดันให้แก้ไข รธน. ส่วนอีกฝ่ายก็ค้านไม่ให้แก้ทุกมาตรา หลายคนอ้างถึงประชาชน เอะอะอ้างถึงประชาชน วันนี้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หาไม่ยาก ถ้านำเสนอปัญหาได้อย่างแท้จริง แต่คำถามคือ วันนี้ตอบกันได้หรือไม่ว่า รธน.ฉบับนี้มีปัญหาอะไร
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวได้อ่านรายงานของอนุกรรมาธิการแก้ไข รธน.ชุดที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐเป็นประธาน จึงได้รู้ชุดความคิดว่า หากปล่อยให้มีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะมีการเสนอให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำงตำแหน่งทางการเมืองใน 30 วัน แต่ให้ไปฟ้องที่ศาลอุทธรณ์เป็นศาลชั้นแรก และถ้าจะฎีกาก็ให้ฎีกาโดยองค์คณะที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นการแก้ไขหลักการ รธน.ปราบโกง อีกทั้งยังพบว่า มีการเสนอให้สามารถเรียกผู้พิพากษา ตุลาการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมาแถลงข้อเท็จจริงในสิ่งที่ทำหรือศึกษาอยู่ได้
“สิ่งนี้กำลังบอกว่า ถ้าไม่พอใจ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. ก็จะใช้สภาแทรกแซงใช่หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรายงาน 278 หน้าของนายไพบูลย์ อย่างนี้ก็รู้ว่าทำไมถึงอยากแก้ไข รธน.โดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แทนที่จะแก้รายมาตรา” นายสมชาย กล่าว
@‘คำนูณ’หนุนตั้ง สสร.-ตัดอำนาจเลือกนายกฯ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ตนเองจะลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. และจะเห็นชอบร่าง รธน.ญัตติที่ 4 ตัดอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ชุดแรก โดยมีเหตุผลว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ ฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องต้องกัน และต้องจับตาดูว่า เสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว.ที่ต้องใช้ 84 เสียงจะมีเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้การแก้ไข รธน.จะต้องมีการทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้งและอาจจะ 3 ครั้ง สุดแท้แต่ว่าร่างแก้ไข รธน.จะออกมาเป็นอย่างไร และไม่อาจหักใจที่จะโหวตให้ตกไปตั้งแต่วาระแรก
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยและไม่อาจทำใจลงมติเพื่อตัดทางของประชาชน การโหวตเห็นชอบคือการให้กุญแจกับประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้าน ให้เขาตัดสินใจว่าจะเปิดเข้ามาในบ้านเพื่อหารือถึงกิจการบ้านเมืองที่มีความสำคัญ หรือเห็นว่ายังไม่ต้องหารือให้เป็นอย่างนี้ไปก่อน และเป็นสาเหตุที่จะโหวตให้ตั้ง สสร. ส่วนประเด็นอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็สนับสนุนให้ตัดทิ้งได้ เพราะถ้านายกรัฐมนตรีไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนมากของ ส.ส.สุดท้ายก็บริหารบ้านเมืองไม่ได้เช่นเคย
อ่านประกอบ :
รัฐสภาเริ่มถกแก้ไข รธน.ฝ่ายค้าน-รัฐบาลเห็นพ้องตั้ง สสร. ไม่แตะหมวด 1-2
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage