คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสวนาหัวข้อ “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย” สุรชาติ บำรุงสุข ชี้เป็นการสู้กันของเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม-มองสถานะปีกขวาในการเมืองไทยหลังรัฐประหารปี 2549 เปรียบการเมืองไทยมีสี่เสา-สามจั่ว-สองคาน โดย ‘สี่เสา’ หมายถึง อนุรักษ์นิยม จารีตนิยม เสนาบดี และทุนนิยม ‘สามจั่ว’ คือ อุดมการณ์ คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ‘สองคาน’ หมายถึงเสนาธิปไตย และตุลาการธิปไตย-ด้านผศ.ดร.พิชญ์ ชี้ การรัฐประหารที่ผ่านมา เปรียบเหมือนออกบัตรเชิญโดยปัญญาชน เกิดปัญญาชน ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารออกมาสร้างความชอบธรรม ให้กับรัฐประหารอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
..............................
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ที่อาคารสำราญราฏร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาหัวข้อ “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย” เสวนาโดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจาร์ประจำภาควิชาปกครอง ญาณิศา วรารักษพงศ์ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาปกครอง
ใจความตอนหนึ่งของการเสวนา ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวว่าการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นครั้งแรกของรัฐประหารในยุคแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการต้องการตัดตอนรัฐธรรมนูญ 2540 และการขึ้นมามีอำนาจของพรรคไทยรักไทย ถ้านำเอาตารางเวลาหรือไทม์ไลน์ของการรัฐประหารไทยเปรียบกับการเมืองในเวทีโลก จะพบว่ามีโจทย์ที่ซ้ำซ้อนกันอยู่หลายอย่าง
“นั่นคือ การสู้กันของสองพลังในสังคมไทย อาจเป็นพลังเก่าและใหม่ หรือสองพลังที่สู้กันไม่จบ คือเสรีนิยม และอนุรักษ์ นิมยม การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 มีมิติใหม่ๆ ต่างจากการรัฐประหารในปีก่อนๆ” ศ.ดร.สุรชาติ ระบุ
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เปิดโจทย์ ใหม่ เพราะถ้าถอยกลับไปรัฐประหารยุคก่อนหน้านั้น เรามักจะถามกันว่ารุ่นไหนคุมกองกำลัง แต่ไม่ใช่ทั้ง จปร. 5 หรือ จปร. 7 การรัฐประหารปี 2549 และการรัฐประหารโดย รสช.ในปี 2534 ในยุคนั้น สงครามคอมมิวนิสต์จบแล้ว ไม่มีปัจจัยนอกประเทศ รองรับ ต่างจากเมื่อก่อน มีโจทย์เรื่องภัยคอมมิวนิสต์ แต่การรัฐประหารในปี 2534 และ 2549 จึงไม่มีภัยคอมมิวนิสต์
"เมื่อมองในแง่มุมการเมืองร่วมสมัย การรัฐประหารปี 2549 คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของการเมืองไทย หากใช้คำที่แรงและตรง การรัฐประหารปี 2549 คือจุดเริ่มต้นของ หายนะของสังคมการเมืองไทย เพราะมันทิ้งปัญหา และผลพวงสืบเนื่องชุดใหญ่ รัฐประหารปี 2549 คือ ปฏิกิริยาย้อนกลับ เนื่องมาจากเขาไม่คาดคิดว่า รัฐธรรมนูญ 2540 นำมาสู่การเกิดระบบ 2 พรรคได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เป็นรัฐบาลผสม รัฐประหารในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยการปูทาง เปรียบเสมือนต้องการคนทำถนน ให้รถวิ่ง ไม่เหมือนการรัฐประหารสมัยก่อน ยึดคือยึด แต่รัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 คือการใช้พลังในสังคม การรัฐประหารสองครั้งนี้ เหมือนฝ่ายอนุรักษ์นิยม พยายามจะกุมอำนาจ” ศ.ดร.สุรชาติ ระบุ และกล่าวเปรียบเปรยสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันด้วยว่า หากมองสถานะปีกขวาในการเมืองไทย หลังรัฐประหารปี 2549 ปีกขวาไทยคือจารีตนิยม
“ถ้ามองเป็นแบบนี้ เราเริ่มเห็นการสร้างบ้านของปีกขวาไทย บ้านหลังนี้มีสี่เสา มีสามจั่ว มีสองคาน และหนึ่งพื้น ‘สี่เสา’ หมายถึง อนุรักษ์นิยม จารีตนิยม เสนาบดี และทุนนิยม ‘สามจั่ว’ คือ หน้าจั่วต้องสวย เพราะเอาไว้โชว์ สามจั่วในที่นี้ หมายถึง อุดมการณ์ คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
‘สองคาน’ หมายถึง 'เสนาธิปไตย' และ 'ตุลาการธิปไตย' ซึ่งในระบอบเผด็จการ คานหลักคือเสนาธิปไตย
“แต่ในการเปลี่ยนแปลงของศตวรรษที่ 21 คือการเข้ามามีบทบาทของตุลาการ ขณะที่คนรุ่นผมที่เป็นปีกซ้าย มันจบไปนานแล้ว คนเดือนตุลาคมจบไปแล้ว ยืนอยู่บนชุดความคิดที่ตนเองมี ปัญญาชนที่ออกมาปกป้องรัฐประหาร กลายเป็นอดีตคนที่เคยเข้าป่า” ศ.ดร.สุรชาติ ระบุและกล่าวด้วยว่ามีการสร้างวรรณกรรมหรือวาทกรรม หลังรัฐประหาร 2549 คือ ตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งใช้ผิดความหมาย เนื่องจาก ตุลาการภิวัฒน์ มีความหมายที่แท้คือการใช้อำนาจตุลาการเพื่อขยายอำนาจประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 คือการเข้ามามีบทบาทอำนาจของตุลาการธิปไตย ไม่ใช่ตุลาการภิวัฒน์
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า “เสนาธิปไตยและตุลาการธิปไตย คือคานบ้านที่ใหญ่ที่สุด เป็นสภาวะการบ้านการเมืองไทยที่เราเห็น” ศ.ดร.สุรชาติระบุและกล่าวว่า ปัจจุบัน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่”
"วันนี้ มองเห็นพลังเก่าและพลังใหม่ เราเห็นการนำของคนนิวเจน การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2563 คือมิกซ์เจน มีคนหลายรุ่นเข้ามาร่วม ม็อบเมื่อวันที่ 16 ส.ค.เปิดประเด็นเรื่องใหญ่คือเพศสภาพ ในโลกที่เปลี่ยนแปลง และยืนยันจุดยืนทางการเมืองที่ไม่เอาทหาร การชุมนุม 16 ส.ค. น่าสนใจ คือมีประเด็นเรื่อง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย”
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวอีกว่า "ทำอย่างไรที่การเปลี่ยนผ่านจะไม่มีความรุนแรง เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญและการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราต้องตัดสินใจร่วมกัน ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องเปิดรับผู้ที่ไม่ขวาจัด หรือแม้แต่ต้องเปิดรับคนฝ่ายขวาที่มีเหตุผล มาเข้าร่วมด้วยกัน เพื่อเห็นอนาคตด้วยกัน ฝ่ายประชาธิปไตยต้องเปิดรับปีกขวาด้วย โดยหวังว่าจะเป็นโอกาสของการสร้างการเมืองใหม่ นอกจากนี้ ต้องปฏิรูปสี่อย่างคือ ปฏิรูปทหาร ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปสถาบันยุติธรรม และปฏิรูปองค์กรที่ไม่อิสระ ประเด็นที่ต้องเรียกร้องผ่านการชูสามนิ้ว จึงเปรียบเสมือนบานประตูแรกที่ต้องเปิดออกไปสู่ประเด็นการปฏิรูปต่างๆ วันนี้ ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องคิดถึงอนาคตของสังคมไทยที่พวกเราต้องอยู่ด้วยกัน และออกแบบระบบการเมืองที่เราต้องเอื้อกันเพื่อเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว
พร้อมระบุด้วยว่า ตกลงทหารจะทำอะไร ทหารจะทำรัฐประหารหรือไม่ จริง ๆ แล้ว ความยากของการรัฐประหารนั้น มีความยากอยู่ที่หลังการยึดอำนาจเสร็จแล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งที่ถูกทิ้งร้างไว้ในโลกและการเมืองโลก
“เนื่องจากภูมิทัศน์ในการเมืองไทยก็เปลี่ยน เราเริ่มเห็นความเติบโตของคนรุ่นใหม่ในทางความคิด ไม่ใช่แค่สถาบันทหารที่ต้องคิดและเปลี่ยนแปลง สถาบันรัฐสภาก็ต้องคิด การชุมนุมวันเสาร์ที่ 19 ก.ย.นี้ ผมว่า ส่งผลกระทบแน่ๆ ต่อโลกชุดเก่าของคนยุคเก่า และรัฐประหารคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายเก่า” ศ.ดร.สุรชาติ ระบุ
ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า "ข้อสังเกตรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 คือเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี ต่างจากการทำรัฐประหารในบางครั้ง เกิดในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี แต่ครั้งนั้นเศรฐกิจดี และมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ การต้านโกง และสภาวะที่เราเรียกว่าระบอบทักษิณ มีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ และมีการกำเนิดวาทกรรมคนดี”
ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวอีกว่า การรัฐประหารก่อนหน้านั้น ในสังคมไทย ไม่มีวาทกรรม 'คนดี' อาทิ รัฐประหารโดย รสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ในปี 2534 ก็ไม่มีวาทกรรมคนดี แต่รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ครั้งนั้น ปะติดปะต่อกันแล้วมีลักษณะของการที่เปรียบเสมือนการออกบัตรเชิญ เกิดมวลชนขนาดใหญ่ แย่งชิงทางการเมืองระหว่างมวลชนที่มาจากการเลือกตั้ง และมวลชนอีกฝ่ายที่มีขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การรัฐประหารครั้งต่อมา หลัง ปี2549 ไม่ว่าเสื้อเหลือง หรือ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มวลชนจริงๆ น้อยกว่าคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่กลุ่มคนที่เลือกตั้งกลับไม่มีพลัง
การรัฐประหาร 2549 จึงเป็นแม่แบบ ทำให้มีการขับเคลื่อนมวลชน มีบัตรเชิญ มีการบังคับเชิญ และมีเรื่องต่อเนื่องหลังจากนั้น ซึ่งตนเคยเขียนบทความที่พูดถึงข้อถกเถียงบางประการ เรื่องทหารกับการเมือง เรื่องทหารอาชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม
“ถ้าทหารที่เป็นทหารมืออาชีพ เขาจะไม่แทรกแซงทางการเมือง การป้องกันทหารไม่ให้แทรกแซงการเมือง คือ การจัดความสัมพันธ์ให้พลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร ซึ่งประเทศไทยก็พยายามออกแบบให้พลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร แต่ทำไมทหารไทย ไม่อาจอยู่ใต้พลเรือนได้" ผศ.ดร.พิชญ์ระบุ และกล่าวด้วยว่า ทหารอาชีพอาจมีความมั่นใจในตนเองที่เกี่ยวกับมุมมองความเข้าใจของเขาที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม ทำให้พวกเขาไม่พอใจ ถ้าอิสระของเขาถูกแทรกแซง
“สำหรับไทย ทหารอาชีพในเมืองไทย คือทหารที่ชำนาญการรัฐประหารเป็นอาชีพ การรัฐประหารยังมีการออกบัตรเชิญโดยปัญญาชน ถ้าเราอ่านสัญญาณแบบนี้ นี่ถือเป็นเงื่อนไขที่เราต้องทำความเข้าใจ"
“ในการทำการรัฐประหาร 2549 มีความสำคัญคือ นอกจากมวลชน และปัจจัยที่พูดไม่ได้แล้ว คือเกิดปัญญาชน ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารออกมาสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหารอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อย่างมหัศจรรย์ อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งผมไม่เคยเชื่อว่ามันจะมีแบบนี้อยู่” ผศ.ดร.พิชญ์กระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการรัฐประหาร2549 นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปรียบเป็นตัวแสดงทางการเมือง ไม่ใช่ ปัญญาชนที่สนับสนุนรัฐประหาร ซึ่งมีปัญญาชนจำนวนมากที่สนับสนุน เช่น การอ้างว่าเพื่อรักษาประชาธิปไตยกลับมา
อย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารรอบนั้น มีสิ่งที่ต้องชมเชย คือคณะรัฐประหารไม่ได้ปราบปรามนักศึกษา และมีพื้นที่ให้นักศึกษาประท้วงได้ทันทีที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ไม่มีการปราบปรามนักศึกษา ไม่มีการจับกุมในมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวด้วยว่า วาทกรรมที่ว่ารัฐประหารไม่มีความรุนแรงนั้นไม่จริง เนื่องจาก หากมองย้อนกลับไป เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 มีการใช้ความรุนแรง ก่อนเกิดการรัฐประหารอย่างเป็นระบบ การรัฐประหาร 2549 ก็มีความพยายามจะใช้ความรุนแรง การทำรัฐประหารทำเป็นขบวนการ คนที่มีอำนาจ ทำให้เป็นอย่างนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ถูกพูดถึงมากนักคือ เงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่สำคัญก่อนที่จะมีการรัฐประหาร เงื่อนไข คือความคาดหวังของกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ ต่อการเมืองก็ยังมีมาตลอด และวันนี้ก็ยังไม่สิ้นสุดลง
ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า“ศัตรูของประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาธิปไตยที่ขาดคุณภาพด้วย มุมมองรัฐศาสตร์ในโลกตะวันตก มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ใช่การปูทางให้เผด็จการ แล้วอ้างว่าต้องใช้วิธีนี้เพราะเลี่ยงไม่ได้ มันยังมีทางอีกร้อยแปดหนทางที่จะพัฒนาประชาธิปไตย” นักวิชาการรายนี้ระบุ และกล่าวว่าสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ต้องหาให้เจอคือ การหาประชาธิปไตยที่ดีขึ้น ซึ่งการวิพากษ์ประชาธิปไตยย่อมต้องทำได้ ขณะเดียวกัน เงื่อนไขการล้มประชาธิปไตย ก็มักใช้เงื่อนไขที่นำเอาคำว่าประชาธิปไตยมาใช้เป็นข้ออ้างทั้งนั้น เพื่อออกนอกกติกา ดังนั้น ต้องระมัดระวัง ผศ.ดร.พิชญ์ระบุทิ้งท้าย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage