“หมาเฝ้าบ้าน เป็นโมเดลการทำงานแบบทีม เป็นหมาหมู่ เป็นหมาเฝ้าบ้าน เราใช้ยุทธวิธีหมาหมู่ ทำงานเป็นทีมแล้วทำบทสรุปออกมา มีทั้งหมาดมกลิ่น และส่งให้ทีมขุดคุ้ย เป็นหมาที่มีความรู้ความสามารถ แล้วทีมขุดคุ้ยก็สรุปข้อมูล โดยเราไม่ไปแตะประเด็นที่ต้องชี้ผิดชี้ถูก โดยเราไม่สรุป แต่เรามีทีมผลิตคอนเทนต์ที่มีพลังทางสังคม มีโซเชียลมีเดีย มีแฟนเพจ เป็นกระแสสังคมหลายๆ เรื่องราว”
.................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดเวทีพูดคุยหัวข้อ “จับโกงโคตรง่ายแค่ปลายนิ้ว - Power of Data” สาระสำคัญคือการใช้พลังด้านข้อมูลข่าวสารในยุคเทคโนโลยีที่ฉับไวมาใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบความโปร่งใสและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน โดยช่วงเริ่มต้นงาน เป็นการจัดรูปแบบออนไลน์อีเวนท์ พูดคุยผ่านการสัมภาษณ์สดที่ไม่เปิดเผยหน้าตาของเจ้าของเพจ CSI LA -ตัวแทนจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน รวมทั้งมีการสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ที่เน้นการสร้างวัฒนธรรมไม่ยอมจำนนต่อการคอร์รัปชัน ให้ประชาชนเข้ามาเป็นอาสาสมัคร พัฒนาแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันจากหลากหลายภาคส่วน
(อ่านประกอบ : ACT ผุดเครื่องมือ'Ai'จับทุจริตงบฟื้นฟูโควิดฯ 4 แสนล.-ชวน ปชช.ร่วมตรวจสอบ )
ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว มีใจความตอนหนึ่งที่น่าสนใจ จากตัวแทนจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน, ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่นำเสนอประโยชน์จาก Thai People Map and Analytics Platform หรือ TP Map เครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งเสนอระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ หรือ อีเมนซ์ (eMENSCR) เพื่อประเมินผลหน่วยงานภาครัฐ-และผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ดูแลโปรเจ็กต์ ACT Ai เชื่อมั่นในโอกาสความเป็นไปได้ ปัญหาคอร์รัปชันจะแก้ไขได้ โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและจากทุกภาคส่วน
มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้
หมาเฝ้าบ้าน
นายพิภู พุ่มแก้วกล้า ผู้ดำเนินรายการ สัมภาษณ์ตัวแทนเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน
ตัวแทนจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน กล่าวว่า การทำเพจดังกล่าวเปรียบเสมือนการเปิดโปงพลังทางสังคม อาทิ จุดเริ่มต้นมีที่มาจาก เปิดโปงการก่อสร้างถนนที่สร้างไม่แล้วเสร็จสักที “หมาเฝ้าบ้าน เป็นโมเดลการทำงานแบบทีม เป็นหมาหมู่ เป็นหมาเฝ้าบ้าน เราใช้ยุทธวิธีหมาหมู่ ทำงานเป็นทีมแล้วทำบทสรุปออกมา มีทั้งหมาดมกลิ่น และส่งให้ทีมขุดคุ้ย เป็นหมาที่มีความรู้ความสามารถ แล้วทีมขุดคุ้ยก็สรุปข้อมูล โดยเราไม่ไปแตะประเด็นที่ต้องชี้ผิดชี้ถูก โดยเราไม่สรุป แต่เรามีทีมผลิตคอนเทนต์ที่มีพลังทางสังคม มีโซเชียลมีเดีย มีแฟนเพจ เป็นกระแสสังคมหลายๆ เรื่องราว”
ตัวแทนเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน กล่าวถึงกรณีศึกษาจากการตรวจสอบของเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านที่เป็นกระแสสังคม อาทิ เคสการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ตรวจสอบว่าอะไร ดูโปรไฟล์ ช่วงระหว่างศึกษาดูงานที่ต่างประเทศไปทำอะไรมาบ้าง ก็พบว่ามีไปดูงานนิดหน่อย แล้วก็ไปเที่ยวแม่น้ำเทมส์ เราก็ดูว่าไม่ใปทำงานแล้ว ไปเที่ยวแม่น้ำเทมส์ งบประมาณมาจากไหน
นอกจากนี้ก็มีเคสอื่นๆ ที่สร้างอิมแพคต่อสังคม อาทิ เคสทุจริตงบประมาณอาหารกลางวัน “จากการทำข้อมูลของเรา เราเปิดประเด็นเรื่องนี้อย่างจริงจัง นานมาก เพื่อที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้คนตรวจสอบ เพื่อให้สื่อตรวจสอบ ให้สังคมเฝ้าระวัง สิ่งที่เราได้คือ มีผู้ปกครองจำนวนมากที่เขาหันมาสนใจว่าลูกเขากินอะไรตอนเที่ยง ท้ายที่สุดแล้ว กรณีนี้ก็มีคนรับผิดชอบ โดนไล่ออกจากราชการ เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นผลชัดเจน” ตัวแทนเพจรายนี้ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่าคนในสังคมควรช่วยกัน สร้างพลัง ให้ทุกคนเป็นหมาเฝ้าบ้านได้นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐมาลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบ ถ้าภาครัฐมีการตรวจสอบทุจริตประเด็นต่างๆ ที่ร้องเรียน ก็จะทำให้ได้ศรัทธากลับมาจากประชาชน
ตัวแทนจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านกล่าวด้วยว่างบประมาณตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 กว่า 400,000 ล้านบาท มีข้อสังเกตคือเร่งรีบในการใช้งบประมาณ แต่ละหน่วยงาน มีเวลาทำรายงานเสนอโครงการแค่ 1-3 วัน ไม่ได้ตรวจสอบ หรือสอบถามจากประชาชนมากพอ
ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ กล่าวว่า มีความหวัง ที่การโกงจะหมดไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีเครื่องมือที่ชี้วัดได้ว่า แต่ละพื้นที่ในประเทศ จะมีประเด็นปัญหาใดที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้ ที่ผ่านมา บางครั้ง หน่วยงานรัฐทำงานโดยขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การดำเนินการระหว่างภาครัฐขาดความร่วมมือกันต่อเนื่อง
“วันนี้ ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมาก ข้อมูลเป็นตัวชี้วัด นำไปสู่ยุทธศาสตร์ที่ตรงประเด็นมากขึ้น ถ้าประชาชนมีข้อมูลที่เข้าถึง ตรวจสอบได้ ประชาชนจะมีพลังไปตรวจการโกงได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน การจัดทำข้อมูลที่ทั่วถึงจะทำให้ยุทธศาสตร์ภาครัฐ นำไปสู่การพัฒนาได้มากขึ้น" ดร.วันฉัตรระบุและยกตัวอย่าง Thai People Map and Analytics Platform คือระบบ Big Data ของภาครัฐที่สามารถระบุได้ว่าคนจนนั้นอยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้างหรือ TP Map ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่บอกว่าคนจนอยู่ที่ไหน จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนอย่างไร ถ้าเรามีการแก้ปัญหา TP Map เราจะบอกได้ว่า งานนี้ที่รัฐทำจะสามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็สามารถใช้ข้อมูลจาก TP Map ในการแก้ปัญหาความยากจนได้
ดร.วันฉัตร กล่าวว่า นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติหรือ อีเมนซ์ ( Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform : eMENSCR) ซึ่งเป็นระบบติดตามประเมินผลหน่วยงานภาครัฐ ที่อยากแนะนำให้ทุกคนเข้าไปดึงข้อมูลเพื่อนำไปใช้ได้
รวมทั้งเสนอว่า “ข้อมูลงบประมาณตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 กว่า 400,000 ล้านบาท โครงการเหล่านี้ควรต้องรายงานผล ผ่านอีเมนซ์
ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ดูแลโปรเจ็กต์ ACT Ai
ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า วันนี้ ตนมองเห็นโอกาสว่าเป็นไปได้ ที่ปัญหาการคอร์รัปชันจะแก้ไขได้ โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและจากทุกภาคส่วน ต้องมีข้อมูลที่โปร่งใส ที่ผ่านมามีอุปสรรคเรื่องความโปร่งใสของข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลยาก เราจึงยังไม่มีความหวัง แต่วันนี้ เราพร้อมมาก วันนี้ เป็นก้าวแรก เป็นจุดเริ่มต้น “วันนี้ เราต้องการหลักฐานที่ชัดเจน คือข้อมูลทางการจากราชการ กล่าวได้ว่า ถ้าเปรียบการตรวจสอบคอร์รัปชันเป็นหมาก็ต้องกัดเป้าหมายได้อย่างแม่ยำ ขณะเดียวกันมีโล่ที่ป้องกันไม่ให้คนที่เข้าถึงข้อมูลมีอันตราย และสิ่งสำคัญที่สุดประการที่สาม คือมีการที่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ด้วยปลายนิ้ว” ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ระบุ
ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ACT เสนอการพัฒนาแอพลิเคชันที่จะรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างไว้ในที่เดียว มีกระทั่งข้อมูลการประมูลงาน ข้อมูลการชนะประมูล ซึ่งประชาชนสามารถเสิร์ชหาข้อมูลได้เลย โดยวันนี้ เรานำข้อมูลที่เคยเปิดเผย มาต่อยอดใช้เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ทั้งคำพิพากษาหรือแม้แต่การชี้มูลความผิดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งมีข้อมูลข้อตกลงคุณธรรม โดยจะเชื่อมโยง ข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น หากต้องการสืบค้นว่าใครชนะประมูลงานนี้ กรรมการบริษัทเป็นใคร เคยถูกชี้มูลความหรือผิดหรือไม่ ก็สามารถสืบค้นได้ สำหรับงบประมาณตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 กว่า 400,000 ล้านบาท ก็ต้องไม่มีการรั่วไหล เงินทุกบาท ทุกสตางค์ ต้องใช้อย่างคุ้มค่า
ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า จับโกงงบโควิด-19 ที่ใช้งบสูงถึง 4 แสนล้านบาท ด้วยแอพลิเคชัน Act ai จะประกอบด้วย 4 ฟังก์ชันสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันง่ายขึ้น คือ การทำแผนที่แสดงรายละเอียดโครงการ ระบบติดตามสถานะโครงการ ปุ่มแสดงความคิดเห็น และเชื่อมโยงหน่วยงานรับร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส และระบบช่วยคัดกรองโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานภายในสิ้นปี 2563 นี้ทาง covid19.actai.co ซึ่งแอพลิเคชันนี้จะรวบรวมข้อมูลจากสภาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย โดยเฉพาะข้อมูลว่างบประมาณแต่ละส่วนทั้งในภาพรวม และในรายละเอียดนั้น เงินงบประมาณ ไปตกอยู่ที่ใคร หน่วยงานใด มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง รวมทั้งมีการเชื่อมต่อข้อมูล แพลตฟอร์มระหว่างกัน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเข้าไปสืบค้นข้อมูล
“เราต้านโกงได้ด้วยปลายนิ้วของเราจริงๆ เราทุกคนจะทำให้รู้ว่าการคอร์รัปชันและคนโกงจะไม่มีที่ยืนในสังคมไทย” ผศ.ดร.ต่อภัสสร์กล่าวทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่น
นับจากนี้ ต้องติดตามว่าเครื่องมือดังกล่าว หากพัฒนาแล้วเสร็จ พร้อมใช้งาน จะส่งเสริมหรือสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐได้มากน้อยเพียงใด!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage