"...น่าสังเกตว่ากรณีนี้ฝ่ายไทยและบริษัทเอกชน ตกลงกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้ใช้อนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ ประเด็นคือ ทำไมเราต้องอ่อนข้อให้เอกชนขนาดนั้น และทำไมนักลงทุนต่างชาติจึงไม่มั่นใจในระบบยุติธรรมของไทยมากเช่นนั้น..."
.......................................
คดีเหมืองทองอัครากรณีนี้มีประเด็นแยกเป็นส่วนๆ ไป
1. คดีเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย คดีนี้ไทยจะเพลี่ยงพล้ำเหมือนคดีโฮปเวลล์? หรือชนะเหมือนคดีคลองด่าน
การต่อสู้ทางกฎหมายแยกเป็นขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ กับขั้นตอนการนำคำวินิจฉัยของอนุญาโตลุการมาฟ้องบังคับในศาลไทย
ขั้นตอนแรกมองว่าไทยมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะเขาอ้างว่าการที่เราใช้ ม. 44 จะเพื่อยุติหรือเลิกสัมปทาน เป็นวิธีที่ไม่เป็นธรรมเพราะเขาไม่มีโอกาสเจรจา ชี้แจงหรือแก้ไข อีกทั้งสาเหตุของไทยที่ให้ยุติสัมปทานคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง ที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ใช่ประเด็นกรณีติดสินบนเจ้าหน้าที่
ขั้นตอนที่สองนี้ รัฐบาลอาจยกเหตุการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้สัมปทานมาต่อสู้ เช่นเดียวกับคดีคลองด่านและคดีทางด่วนบางนา - บางปะกง
2. คดีบริษัทติดสินบนข้าราชการและนักการเมือง เชื่อว่า ป.ป.ช. จะเอาคนผิดมาลงโทษได้ ผลที่ตามมาคือ “บริษัท” (นิติบุคคล) และตัวผู้บริหารต้องรับผิดด้วย ตามกฎหมายใหม่กรณีนี้นอกจากโทษอาญาแล้วยังมีโทษปรับสูง 1 ถึง 2 เท่าของผลประโยชน์ที่บริษัทได้รับไปตลอดอายุสัมปทานด้วย เช่น สมมุติว่าบริษัทจะได้ประโยชน์หมื่นล้านบาท ป.ป.ช. อาจเรียกค่าปรับมากถึงสองหมื่นล้านบาทก็ได้
3. ข้อมูลการติดสินบนที่มาจากตลาดหลักทรัพย์ ออสเตรเลีย ตามที่คุณสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. พูดถึงนั้น เป็นข่าวที่ทราบกันมาก่อนหน้ามีคำสั่ง คสช. นานพอสมควร แต่เข้าใจว่าทางราชการต้องใช้เวลา ความพยายามและความรอบคอบอย่างมากในการหาข้อมูลจนมั่นใจ
4. ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่สิงคโปร์ หลักทั่วไปถือเป็นเรื่องสมควรแล้วที่รัฐบาลต้องสู้เต็มที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดินและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงมากเพราะเป็นการต่อสู้ในต่างประเทศก็ตาม ส่วนจะแพงเกินไปหรือไม่ ควรเปรียบเทียบกับมาตรฐานทางธุรกิจจากนักกฎหมาย นักธุรกิจ นักลงทุนระหว่างประเทศ ดีกว่าจะใช้ความรู้สึกไปตัดสิน แต่หากภายหลังพบว่าการปฏิบัติหน้าที่นั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือคอร์รัปชัน ก็สามารถไล่เบี้ยค่าเสียหายคืนภายหลังได้
5. น่าสังเกตว่ากรณีนี้ฝ่ายไทยและบริษัทเอกชน ตกลงกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้ใช้อนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ ประเด็นคือ ทำไมเราต้องอ่อนข้อให้เอกชนขนาดนั้น และทำไมนักลงทุนต่างชาติจึงไม่มั่นใจในระบบยุติธรรมของไทยมากเช่นนั้น
6. มาช่วยกันหาข้อมูลบริษัทคู่กรณีกลุ่มนี้ดูว่า ที่ผ่านมามีข้าราชการเกษียณรายใดไปเป็นลูกจ้างหรือกินเงินเดือนที่ปรึกษาจากบริษัทนี้บ้าง ถ้ามีคงอธิบายอะไรดีๆ ได้อีกมาก
ขอขอบคุณ ป.ป.ช. ที่แถลงความคืบหน้าให้ประชาชนทราบเสียที แต่ที่ผมไม่เข้าใจคือ ทำไมที่ผ่านมาจึงมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามปล่อยข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไทยแพ้คดีแล้ว แถมต้องจ่ายค่าเสียหายมากตั้งหลายหมื่นล้านบาท ข่าวที่ไม่เป็นจริงเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองเลย ทำไปเพื่ออะไรครับ