"...ความเห็นต่างเป็นไปอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แค่เยาวชนกับผู้ใหญ่ แม้ในหมู่ผู้ใหญ่เองก็มีความเห็นต่างกัน แสดงว่าสังคมกำลังมีปัญหาและต้องการทางออก ความเห็นต่างจึงเป็นต้นทุนทางสังคมที่ทำให้มีทางเลือกและทางออก ที่หลากหลายโดยประชาชนทุกระดับมีส่วนร่วม..."
จากปรากฏการณ์ชูสามนิ้ว และผูกริบบิ้นขาวของเยาวชนไทยและกลุ่มคนหนุ่มสาวในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในมุมมองทางจิตวิทยานั้น ผมได้สรุปมาเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาการเมืองกับสังคมไทยในปัจจุบันและจิตวิทยาคนหนุ่มสาว ดังนี้
ความสนใจทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาสะท้อนอะไร
- ท่าทีสังคมพึงมีต่อนักเรียนนักศึกษา
- ความเห็นต่างเป็นโอกาสที่ดีของการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ
- ข้อเสนอแนะ
1) การที่นักเรียนนักศึกษามีบทบาททางสังคมและการเมืองครั้งนี้สะท้อนถึง
- พัฒนาการของวัยในการค้นหาอัตลักษณ์ซึ่งรวมถึงอัตลักษณ์ทางสังคมและการเมืองด้วย
จึงไม่ควรมอบทางลบ เช่น วาทกรรม “ชังชาติ”
- การเรียนรู้ของวัยนี้ที่สามารถหาข้อมูลและแนวคิดเพื่อการเรียนรู้และตัดสินใจ
จึงไม่ควรกล่าวหาว่าเด็กถูกครอบงำสนับสนุน
- การสื่อสารที่สามารถทำให้เกิดพลังและการรวมตัวอย่างรวดเร็ว
จึงไม่ควรระแวงว่าได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
2 ) เมื่อเข้าใจธรรมชาติทางจิตวิทยาดังกล่าว สังคมควรมีท่าทีอย่างไร
- เริ่มจากความเข้าใจว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวมีแนวคิดออกไปทางอุดมคติ (idealistic) ที่สะท้อนการพัฒนาอัตลักษณ์ ขณะที่ผู้ใหญ่จะมีลักษณะเชิงปฏิบัติ (practical)ที่มาจากประสบการณ์ ดังนั้นการเรียนรู้จากกันและกันจะทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจความตั้งใจของเยาวชน และเยาวชนก็ยอมรับผู้ใหญ่มากขึ้น แม้จะไม่เห็นด้วยกับ ความคิดเห็นกันทั้งหมด
- มีท่าทีรับฟัง โดยไม่ใช้อำนาจ การกดดัน หรือกระทำความรุนแรงใดๆ เพราะเป็นทั้งสิทธิของเยาวชนที่จะเรียนรู้ความคิดเห็น และเป็นเรื่องดีที่เยาวชนมีความคิดเห็น ความสนใจและความตื่นตัวทางสังคมและการเมือง
3) ความเห็นต่างทางสังคม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในวงกว้างสังคมไทย และเป็นสัญญาณการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ
- ความเห็นต่างเป็นไปอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แค่เยาวชนกับผู้ใหญ่ แม้ในหมู่ผู้ใหญ่เองก็มีความเห็นต่างกัน แสดงว่าสังคมกำลังมีปัญหาและต้องการทางออก ความเห็นต่างจึงเป็นต้นทุนทางสังคมที่ทำให้มีทางเลือกและทางออก ที่หลากหลายโดยประชาชนทุกระดับมีส่วนร่วม
- บทเรียนของไทยเราและทั่วโลก ล้วนชี้ว่าการสร้างความเกลียดชังความเห็นต่างด้วยวาทกรรมลบจะนำ ไปสู่การใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดวิกฤตและความถดถอยของสังคมขนานใหญ่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเปิดใจกว้างรับฟังและเรียนรู้จากกันและกันโดยไม่สร้างความเกลียดชัง
ข้อเสนอแนะ
สังคมไทยกำลังอยู่บนทาง 2 แพร่ง ระหว่างการถอยหลัง หากมีการสร้างความเกลียดชังและใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะกับเยาวชนคนหนุ่มสาว กับการก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะซึ่งเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาไทยไปเท่าเทียมอารยประเทศ การจะไปข้างหน้าได้จึงควร
1) มองความแตกต่างของวัยเป็นเรื่อง idealistic vs practical ที่ต้องเรียนรู้จากกันและกันมากกว่าสร้างhate speech ให้เกลียดชังกัน
2) ผู้ปกครองและครูเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและรู้จักเยาวชนเป็นอย่างดี ควรเป็นบุคคลแรกที่แสดงถึงความเปิดใจกว้าง รับฟัง ให้โอกาส ซึ่งในมุมกลับก็จะช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้ที่จะมีบทบาททางสังคมและการเมือง อย่างสร้างสรรค์
3) ช่วยกันลดกระแสการสร้างความเกลียดชัง โดยเฉพาะที่ผ่านสื่อสังคมทั้งหลายด้วยวิธี 2 ไม่ 1 เตือน (ไม่ผลิตและไม่ส่งต่อ ข้อความสร้างความเกลียดชัง และเตือนการสื่อสารเหล่านี้ด้วยเหตุผล) เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะทำให้สังคมไทยถอยหลังครั้งใหญ่
4) รัฐควรรับฟังและเปิดรับทั้งกับเยาวชนและความเห็นต่างของฝ่ายต่างๆอย่างแท้จริงไม่ใช่แค่ลดกระแสเฉพาะหน้าอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในอนาคต เพราะรัฐไม่ได้รับความไว้วางใจว่าตั้งใจจะแก้ปัญหา
https://www.facebook.com/100002804364667/posts/2586431311460322
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐออนไลน์