“...เราเชื่อว่าการลงทุนในระบบ compliance และมาตรการป้องกันการทุจริตและป้องกันการให้สินบนที่มีประสิทธิภาพยังควรเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความใส่ใจเสมอ โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติอย่างเช่นในปัจจุบัน เพราะไม่ว่าธุรกิจจะต้องปรับตัวมากน้อยเพียงไหนก็ตาม แต่หากมีการกระทำความผิดเกิดเป็นคดีความขึ้นแล้ว ย่อมไม่คุ้มค่ากับผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดตามมา…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทความเขียนโดย นางสาวพัสสา วโรตมะวิชญ พนักงานไต่สวนระดับกลาง สำนักงาน ป.ป.ช.ถึงมาตรการและข้อเสนอแนะในการป้องกันการรับ/ให้สินบนของภาคเอกชนช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีรายละเอียด ดังนี้
----
ในช่วงที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่จากโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งในมิติทางด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้การขับเคลื่อนงานของภาครัฐและเอกชนต่างชะลอตัว หรือต้องหยุดชะงักไป รวมทั้งยังต้องมีการรัดเข็มขัดและจัดสรรงบประมาณอย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารกิจการ
ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น แน่นอนว่าในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ผู้ประกอบการทั้งหลายย่อมให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การเร่งปรับเปลี่ยนประเภทหรือรูปแบบการทำธุรกิจและการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ อย่างเหมาะสมเพื่อจัดการเรื่องโรคระบาดและหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินต่อ รวมไปถึงการเร่งหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อหารายได้เข้าองค์กร อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่าในสถานการณ์วิกฤติที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผู้ประกอบการต้องตัดสินใจอย่างฉับพลันนั้น ความเสี่ยงในเรื่องของการทุจริตให้สินบนอาจเกิดขึ้นรวดเร็วตามไปด้วย เช่น การปรับเปลี่ยนลักษณะธุรกิจ อาจทำให้องค์กรของท่านต้องหาบริษัทผู้ร่วมทำธุรกิจรายใหม่เพื่อให้กิจการเดินหน้าต่อได้อย่างเร่งด่วน ซึ่งท่านอาจไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ประกอบการรายนี้มีประวัติอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกับ เจ้าพนักงานรัฐหรือไม่ หรือมีมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมในการทำธุรกิจมากน้อยเพียงใด
จุดนี้เอง หากไม่มีการตรวจสอบให้ดี อาจเป็นช่องโหว่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น และนำเอาปัญหาต่างๆ มาสู่องค์กรจนอาจต้องกลายเป็นคดีความได้ ดังนั้น ในยุคของการทำธุรกิจท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากการระบาดของไวรัส COVID-19 นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงอยากให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนในการตรวจสอบและขันน็อตมาตรการป้องกันการทุจริตและการให้สินบนอย่างเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยาวหลังวิกฤติครั้งนี้ ผ่านพ้นไป โดยมาตรการที่สำนักงาน ป.ป.ช. อยากแนะนำให้ภาคธุรกิจให้ความสนใจและเร่งดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น
• การเน้นย้ำนโยบายและเจตนารมณ์ของผู้บริหารสูงสุดในการต่อต้านการทุจริตและการให้สินบน
นอกจากการวางกลยุทธ์เพื่อเร่งหารายได้เข้าองค์กร ผู้บริหารสูงสุดมีหน้าที่สำคัญในการเน้นย้ำนโยบายและเจตนารมณ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาลเพื่อให้พนักงานยึดมั่นเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไปแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย โดยแม้ว่าการหารายได้จะเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กร แต่ผู้บริหารต้องทำให้มั่นใจว่ารายได้เหล่านั้นต้องไม่ได้มาจากการทุจริต
• การประเมินความเสี่ยงในการทุจริตให้สินบน
เมื่อธุรกิจมีความจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ซึ่งอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงสายการผลิต เปลี่ยนแปลงฐานลูกค้า เปลี่ยนแปลงคู่สัญญา หรือเปลี่ยนแปลงเป้าหมายในการทำธุรกิจ ความเสี่ยง ในเรื่องของการทุจริตและการให้สินบนอาจเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น องค์กรจึงจำเป็นต้องมีการประเมินความเสี่ยงในเรื่องของการทุจริตและการให้สินบนเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถจัดทำมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการกับความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้น
• การนำเอามาตรการป้องกันสินบนไปปรับใช้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอาจทำให้องค์กรต้องมีการปรับเปลี่ยนผู้ร่วม ทำธุรกิจ เช่น ที่ปรึกษา ตัวแทน ดังนั้นองค์กรควรมีการตรวจสอบสถานะของผู้ร่วมทำธุรกิจเหล่านี้รวมทั้งขอคำมั่นหรือกำหนดในสัญญาว่าจะต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการให้สินบน
• การจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับพนักงาน
ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่หลายองค์กรมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านและมีการสื่อสาร ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นนั้น เป็นช่วงที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องการต่อต้านการทุจริต และการให้สินบน โดยอาจจัดเป็นหลักสูตรภาคบังคับผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้พนักงานทุกคนมีโอกาสเข้าร่วม ได้อย่างสะดวกและทั่วถึง
สุดท้ายนี้ เราเชื่อว่าการลงทุนในระบบ compliance และมาตรการป้องกันการทุจริตและป้องกันการให้สินบนที่มีประสิทธิภาพยังควรเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความใส่ใจเสมอ โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติอย่างเช่นในปัจจุบัน เพราะไม่ว่าธุรกิจจะต้องปรับตัวมากน้อยเพียงไหนก็ตาม แต่หากมีการกระทำความผิดเกิดเป็นคดีความขึ้นแล้ว ย่อมไม่คุ้มค่ากับผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดตามมา และผู้ประกอบการก็ไม่อาจอ้างความจำเป็นในช่วงวิกฤติเพื่อเป็นข้อยกเว้นให้พ้นความรับผิดได้ ดังนั้น การสร้างระบบภายในที่ดี ก็เปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันตัวเราให้แข็งแรงรอดพ้นจากความเจ็บป่วย
ไม่ประมาท การ์ดอย่าตกในยุคการทำธุรกิจแบบ New Normal แล้วเราจะผ่านพ้นภาวะวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการป้องกันการให้สินบน เจ้าพนักงานของรัฐของสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ที่เว็บไซต์ www.nacc.go.th/abas
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage