"...ปัญหาทั้งสิ้นทั้งปวงอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ทั้งเจ้าหน้าที่และกระบวนการ ว่าเที่ยงธรรมหรือเบี่ยงเบนไปตามอำนาจเงิน อิทธิพลทางการเมือง ปืน กระแสสังคม ฯลฯ หรือไม่..."
ข้อสังเกตเรื่องการรณรงค์คดีบอส
ติดตามดูแล้วพบว่า แต่ละกลุ่มมีจุดมุ่งหมายและข้อเรียกร้องที่ต่างๆกัน
1.สังคมหรือประชาชนเน้นเรื่องการเอา’บอส อยู่วิทยา’มาขึ้นศาลให้ได้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา “คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น” จึงมีแรงกดดันสูง แม้มีผลยืนยันหลักการ ทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากระบวนการยุติธรรม (ต่อหน้ากฎหมาย)
แต่ก็อาจมีผลบางด้านทำให้กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวอยู่แล้ว บิดเบี้ยวยิ่งขึ้นไปอีก เช่น อาจละเมิดหลัก presumption of innocence หรือเข้าใจหลักนี้ผิดไป
เรื่องที่ว่าโคเคนที่พบเกิดจากการเสพไม่ใช่การทำฟันเป็นหลักฐานใหม่ สามารถตั้งขอหาใหม่ฐานเสพยาเสพติดได้ ให้นายกรัฐมนตรีหรืออัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดีใหม่เพื่อฟ้องบอสได้ ฯลฯ
2.ตำรวจโยนความรับรับผิดให้อัยการ อัยการโยนความรับผิดให้ตำรวจ และในที่สุดฝ่ายบริหารจะโยนเผือกร้อนผลักภาระให้ศาล
3.ในทัศนะของผม กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล แต่การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดก็ต้องยึดหลักการ Fair Trial
4.การเอาบอสมาดำเนินคดีจนได้ ไม่ว่าโดยวิธีใด อาจมีผลดีที่ตอบโจทย์ที่ว่า ผู้กระทำผิดต้องไม่ลอยนวลพ้นผิด ต้องไม่มีสองมาตรฐาน
แต่อาจมีผลเป็นการบ่อนทำลายหลักการของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และจะมีผลของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ อย่างยั่งยืน มั่นคงเพียงใด?
5.ดังนั้น เราควรเน้นการใช้สถานการณ์เพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยิ่งกว่าการตามกระแส “เอาบอสมาลงโทษให้ได้”
การดิ้นรนวิ่งเต้นของผู้ตกเป็นผู้ต้องหานั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดก็วิ่งเต้น เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ว่า จะให้ความเป็นธรรมแก่ตนได้หรือไม่
ปัญหาทั้งสิ้นทั้งปวงอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ทั้งเจ้าหน้าที่และกระบวนการ ว่าเที่ยงธรรมหรือเบี่ยงเบนไปตามอำนาจเงิน อิทธิพลทางการเมือง ปืน กระแสสังคม ฯลฯ หรือไม่
คดีบอสเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมชั้นเจ้าพนักงานคือ ชั้นสอบสวนและชั้นอัยการที่เบี่ยงเบน บิดเบือน มีความบกพร่อง ฉ้อฉลอย่างร้ายแรง
โปรดอย่าลืมว่า แม้แต่คดีบอส ซึ่งเป็นคดีดัง สื่อและสังคมจับตาอยู่ตลอดเวลา ยังเบี่ยงเบนได้ถึงเพียงนี้
คดีที่ตาสีตาสา ไม่ว่ากรณีเป็นผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย ที่สังคมไม่ได้ให้ความสนใจ กระบวนการยุติธรรมจะบิดเบือนเบี่ยงเบนได้เพียงใด
6.ดังนั้น ในขณะที่หยิบกรณีบอสมารณรงค์ ต้องเน้นการขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ที่บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมต้องถูกลงโทษ และกระบวนการยุติธรรมต้องถูกปฏิรูปทั้งระบบตามหลักยุติธรรมสากล
สมชาย หอมละออ
ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก AmarinTV