บทสรุปสุดท้ายที่ออกมาสั่นคลอนระบบยุติธรรมอย่างรุนแรง เพราะคนในสังคมเข้าใจมาโดยตลอดว่าคดีรับฟังเป็นยุติแล้วว่านายบอสผิดแหงๆ เนื่องจากในชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว เหลือเพียงการตามจับตัวมาฟ้อง ซึ่งผ่านมา 8 ปี ยังตามจับตัวไม่ได้ เช่นนี้แล้วมีคำสั่งกลับคำสั่งเดิมเป็นสั่งไม่ฟ้องและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ออกรับลูกไม่แย้งยังกะเตี๊ยมกันมา
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 นายเชาว์ มีชวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ 'ทนายเชาว์ มีขวด' วิพากษ์วิจารณ์กรณีอัยการสูงสุดประเทศไทย สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทกลุ่มเครื่องดื่มกระทิงแดง ในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หลังขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.2555
....................
คดี “บอส กระทิงแดง” กฎหมายวิปริตหรือ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บาป คำถามที่ กมธ.กฎหมายยุค สนช.-อัยการ-สพนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ต้องตอบ
คดีนาย “บอส” หรือ วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทตระกูลดัง เครื่องดื่ม “กระทิงแดง” ขับรถสปอร์ตเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ทำให้ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐเสียชีวิต บนถนนสุขุมวิท เมื่อคืนวันที่ 3 ก.ย. 2555 ที่จริงคดีอุบัติเหตุเหตุทำนองนี้มีอยู่ทุกวันและส่วนใหญ่ถ้าตกลงกันได้เรื่องค่าเสียหาย ศาลก็จะรอการลงโทษเกือบทุกราย
แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่อื้อฉาวระดับโลกก็เพราะผู้ต้องหาเป็นทายาทตระกูลดังระดับอภิมหาเศรษฐีของเมืองไทย ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ มีการใช้เทคนิคทางกฎหมายโดยการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐประวิงยื้อคดีถึง 5 ปีจนทำให้คดีขาดอายุความไปหลายข้อหา คงเหลือเพียงข้อหาขับรถชนคนตายที่ยังไม่ขาดอายุความ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ผมขอไล่เรียงเหตุการณ์สำคัญเฉพาะข้อหาขับรถชนคนตาย ดังนี้
1. เม.ย.60 ศาลออกหมายจับบอส หลังเลื่อนนัด 7 ครั้งไม่พบอัยการตามหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีนี้จะหมดอายุความ 3 ก.ย.70
2. มีการใช้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยุติธรรมยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เป็นเครื่องมือรื้อคดีนี้สอบใหม่ อ้างมีผู้ขอความเป็นธรรม ก่อนสรุปว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ว่านายบอสไม่มีความผิด ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดทบทวนคำสั่งฟ้องนายบอส
3. อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมจำนวน 2 ปากตามข้อเสนอความเห็นของ กมธ.ยุติธรรมยุค สนช.ที่กล่าวอ้างขึ้นใหม่ ทั้งที่พยาน 2 ปากนี้ไม่เคยให้การกับพนักงานสอบสวนมาก่อน เพิ่งปรากฏตัว ปี 2562 ภายหลังวันเวลาเกิดเหตุนานถึง 7 ปี ซึ่งปกติพยานลักษณะนี้ ไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือรับฟังได้ แต่อัยการกลับรับฟังคำพยานเช่นนี้
4. มีคำสั่งกลับคำสั่งเดิมเปลี่ยนจากคำสั่งฟ้องมาเป็นสั่งไม่ฟ้องนายบอส โดยเชื่อพยานหลักฐานใหม่ที่ กมธ.กฎหมาย สนช.ส่งให้ สตช.ไม่แย้งทำให้คดีถึงที่สุด
บทสรุปสุดท้ายที่ออกมาสั่นคลอนระบบยุติธรรมอย่างรุนแรง เพราะคนในสังคมเข้าใจมาโดยตลอดว่าคดีรับฟังเป็นยุติแล้วว่านายบอสผิดแหงๆ เนื่องจากในชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว เหลือเพียงการตามจับตัวมาฟ้อง ซึ่งผ่านมา 8 ปี ยังตามจับตัวไม่ได้ เช่นนี้แล้วมีคำสั่งกลับคำสั่งเดิมเป็นสั่งไม่ฟ้องและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ออกรับลูกไม่แย้งยังกะเตี๊ยมกันมา
สำหรับผมเรื่องนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ คดียุติหรือยัง
และส่วนที่สองการตามหาตัวไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังการยุติความเป็นธรรมครั้งนี้
ในส่วนของคดีความนั้นคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการไม่ได้ตัดสิทธิ ทายาทผู้เสียหายที่จะนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลโดยตรงได้อีกช่องทางหนึ่ง
แต่คดีนี้ทราบว่ามีการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายให้กับทายาทผู้ตายจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและอาญาแล้ว ช่องทางที่จะทวงความยุติธรรมให้กับคนตายจึงแคบลง
แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้ทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายระงับไป เพราะบันทึกตกลงเรื่องค่าเสียหายเป็นเรื่องของการเยียวยาในทางแพ่งที่นำมาประกอบดุลพินิจให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษเท่านั้น
ดังนั้นหากทายาทติดใจที่จะดำเนินคดีอาญาก็สามารถฟ้องศาลด้วยตัวเองได้ เพราะคดีนียังไม่ขาดอายุความ
"ผมจึงขอเรียกร้องไปยังทายาทดาบตำรวจวิเชียรผู้ตาย ให้ออกมาใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงกันให้กระจ่าง ไม่ต้องไปยึดติดกับบันทึกข้อตกลงเพราะคดีอาญาแผ่นดินจะบันทึกกันอย่างไรก็ยอมความกันไม่ได้ เนื่องจากเรื่องมันมาไกลถึงขั้นสังคมต้องแตกหักกับความเชื่อมั่นต่อสถาบันอัยการ
เพราะฉะนั้นท่านต้องใช้สิทธิในความเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีเองต่อศาลเพื่อทวงความยุติธรรมให้กับดาบตำรวจวิเชียรอย่างถึงที่สุด และช่วยสร้างความกระจ่างให้กับสังคม ถ้าท่านไม่มีทนาย ผมอาสาว่าความให้"
ส่วนที่สองการตามล่าหาไอ้โม่ง เสนอ 4 ข้อทางออกให้ดำเนินการดังนี้
1. ให้อัยการสูงสุดเปิดเผยพยานหลักฐานทั้งหมดพร้อมทั้งแจงรายละเอียดถึงที่มาของพยานหลักฐาน ความเห็นของพนักงานสอบสวนและอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนทั้งหมด
2.ให้สอบสวนพฤติการณ์การสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดผู้สั่งคดีว่าการสั่งคดีโดยสุจริตตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้รองอัยการสูงสุดท่านนี้เคยสั่งไม่อุทธรณ์คดีนายโอ๊คพานทองแท้ กรณีทุจริตฟอกเงินปล่อยกู้แบงค์กรุงไทยมาแล้ว ทั้งที่ตนเองไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจการสั่งคดีชีขาดความเห็นแย้งเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวเฉพาะตำแหน่งของอัยการสูงสุด มอบอำนาจกันไม่ได้ตามคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดที่ 41/2533 ซึ่งผมเคยเรียกร้องให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หรือทำคำร้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งที่เป็นโมฆะดังดังกล่าว และในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ผมจะไปยื่นหนังสือต่ออธิบดีดีเอสไออย่างเป็นทางการที่สำนักงานดีเอสไอ ถนนแจ้งวัฒนะด้วย หลังจากที่ชี้ช่องให้แล้วแต่ท่านยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการ
3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมไม่มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟัองทั้งที่เคยมีความเห็นควรสั่งฟ้องตาม พยานหลักฐานเดิม ซึ่งมีความน่าเชื่อถือให้รับฟังมากกว่า
4. รัฐบาล ซึ่งตอนนี้หนีไม่พ้นข้อครหา เพราะมีการใช้คณะกรรมาธิการกฎหมาย ยุคสนช.ซึ่งมีชื่อน้องชายพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมาธิการ รื้อคดีสอบเองจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของคดี ทำให้เกิดคำถามว่ามีบิ๊กคนไหนเข้าไปสร้างกระบวนการฟอกผิดเป็นถูกให้กับทายาทมหาเศรษฐีหรือไม่
"เรื่องนี้ท่านจะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะหากไม่รีบหาตัวผู้ใช้อำนาจผิด บิดเบือนความจริงมาลงโทษ ผมเกรงว่านอกจากระบบยุติธรรมสั่นคลอนแล้ว รัฐบาลของพวกท่านจะพังครืนลงมาในไม่ช้านี้"
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage