"...ต้องดูเป็นรายกรณี ยกตัวอย่างในอโกด้า โรงแรมเดียวกัน แต่ราคาแตกต่างกัน เพราะมีทั้งราคาที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการ หรือบางกรณีจองกับโรงแรมได้ส่วนลดที่มากกว่าจองผ่าน OTA อย่างไรก็ตามได้กำชับเรื่องนี้ไปแล้วว่าการซื้อผ่าน OTA ต้องเป็นราคาที่ได้ส่วนลดจากมาตรการแล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีบางโรงแรมที่ขึ้นราคา ซึ่งเราได้ประสานกับ OTA ให้ช่วยตรวจสอบ เพราะเขามีฐานข้อมูลย้อนหลังว่าราคาห้องพักเป็นอย่างไร..."
‘เราเที่ยวด้วยกัน’ โครงการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติกรอบงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อจัดโปรโมชั่น กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หวังพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวกลับมาขับเคลื่อนได้ก่อน หลังจากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอย่างหนัก
โดยเป็นการสนับสนุนค่าที่พักให้ 40% ต่อคืน กำหนดเพดานส่วนลดไม่เกินคืนละ 3,000 บาท และจำกัดสิทธิไม่เกิน 5 คืนต่อคน อีกทั้งยังสนับสนุนเงินให้ประชาชนอีกคืนละ 600 บาท เพื่อใช้เป็นค่าอาหารและค่าท่องเที่ยว พร้อมเพิ่มเป็นคืนละ 900 บาท หากประชาชนเลือกที่จะเที่ยวในช่วงวันธรรมดา และยังมีส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบินให้อีก 40% สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อที่นั่ง เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาจับจ่าย ท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนี้
และเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้กรอบเวลา 4 เดือน โดยเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 15 ก.ค. และจะสิ้นสุดโครงการ 31 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตามการเดินหน้าโครงการผ่านไปไม่ถึง 15 วัน ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ก็มีคำถามที่หลายคนยังสงสัย ทั้งราคาห้องพักที่เพิ่มขึ้น หรือบางแห่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ประกอบการฉวยโอกาสชิงขึ้นราคา
หรือแม้กระทั่งทางเลือกในการจองห้องพักที่มีอย่างจำกัด แค่ 3 ช่อทาง คือ 1.ติดต่อกับห้องพักโดยตรง 2.จองผ่านอะโกด้า (Agoda) 3.จองผ่าน แอสเซนด์ แทรเวิล (Ascend Travel)
ทำไมห้องพักบางแห่งถึงแพงขึ้น ? และเหตุใด ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ จึงเปิดช่องทางจองห้องพักช่องทางออนไลน์หรือ OTA (Online Travel Agent) ได้เฉพาะผู้ประกอบการ 2 แห่งนี้ ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ไขคำตอบกับ ‘ยุทธศักดิ์ สภสร’ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’
@จองผ่านโรงแรม-ซื้อกับ OTA ราคาต่างกัน
ต้องดูเป็นรายกรณี ยกตัวอย่างในอโกด้า โรงแรมเดียวกัน แต่ราคาแตกต่างกัน เพราะมีทั้งราคาที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการ หรือบางกรณีจองกับโรงแรมได้ส่วนลดที่มากกว่าจองผ่าน OTA อย่างไรก็ตามได้กำชับเรื่องนี้ไปแล้วว่าการซื้อผ่าน OTA ต้องเป็นราคาที่ได้ส่วนลดจากมาตรการแล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีบางโรงแรมที่ขึ้นราคา ซึ่งเราได้ประสานกับ OTA ให้ช่วยตรวจสอบ เพราะเขามีฐานข้อมูลย้อนหลังว่าราคาห้องพักเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างถ้าเคยขาย 1,000 บาท แล้วมาขาย 1,200 บาท แบบนี้ไม่ถูกต้อง
@รร.ในเครือต่างประเทศ ราคาขึ้นตามปริมาณความต้องการ
อีกประเด็นคือ จะมีเครือของโรงแรมต่างประเทศ ถ้ามีความต้องการจองห้องพักเพิ่มขึ้น ราคาที่พักก็จะแพงขึ้นเป็นตามกลไกของเครือบริษัทนั้น เราก็ขอให้ทางอโกด้าเป็นคนคุยกับเครือผู้บริหารโรงแรมต่างประเทศให้ เพราะที่ไทยเขาไม่มีอำนาจตัดสินใจ ก็เขาใจว่าเขากำลังพยายามทำอยู่ แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติของเขา แต่เราก็อยากให้เขาเข้าใจว่าในสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ควรเอาเปรียบประชาชน
@แจงเหตุต้องจองผ่านอโกด้า หรือ แอสเซนด์ แทรเวิล
ผมเข้าใจว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวค่อนข้างมีความคุ้นชินในการจองห้องพักผ่าน OTA อยู่แล้ว และผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีเว็บไซต์ให้จองผ่านระบบของตัวเอง ในส่วนของ ททท.เรารับผิดชอบงานด้านประชาสัมพันธ์ ส่วนการออกแบบระบบ และการตัดสินใจเลือก OTA ให้เข้าร่วมโครงการ เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่จะเข้ามาดูความถูกต้องของโครงการทั้งหมด
@ยัน OTA ไม่ได้ค่าคอมฯ-สศค.เป็นเจ้าของโครงการ
เท่าที่ทราบเขาแทบไม่ได้รับอะไรเลย เพราะเราไม่ให้ค่าคอมมิชชัน หรือค่านายหน้า เข้าใจว่าเขาได้แค่เฉพาะเรื่องของค่าธุรกรรมการชำระเงิน 2% ที่เป็นไปตามระบบอยู่แล้ว เป็นเรื่องของข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินผ่านแอปพลิเคชัน ’เป๋าตังค์’ เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ไม่มี ส่วนการคัดเลือกผู้ประกอบการว่าทำไมถึงเลือกใช้แค่ 2 บริษัทนี้ คงต้องให้ทาง สศค.เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด
@ลงดาบผู้ประกอบการฉวยโอกาส ตัดสิทธิ์-ติดบัญชีดำ
1.ตรวจสอบเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ ของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ราคาที่พักต้องไม่สูงกว่าราคาที่ผู้ประกอบการเสนอผ่านช่องทางของผู้ให้บริการจองห้องพักและการท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) โดยใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 3 วัน
2.หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการเข้าร่วมโครงการ จะพิจารณายกเลิกการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการรายนั้นทันที และให้คืนเงินแก่ผู้จองหากได้ชำระเงินไปแล้ว พร้อมตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการของรัฐและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ ททท.
3.สุ่มตรวจราคาของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งที่จองผ่านโรงแรมและโอทีเอ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการเข้าร่วมโครงการอย่างเคร่งครัด
4.เปิดช่องทางการร้องเรียน/แจ้งข้อมูล ผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com , สายด่วน ททท. 1672 และ www.เที่ยวปันสุข.ไทย
อ่านประกอบ :
แห่จองสิทธิ์'เราเที่ยวด้วยกัน'วันแรก 3.6 ล้าน-เตือนโรงแรมแอบอัพราคาถูกตัดชื่อทิ้งทันที
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage