"..."ซูม ไทยรัฐ"ย้ำตอนท้ายว่า จุดยืนของสื่อมวลชน ไม่มีวันเปลี่ยน ผมก็เชื่ออย่างนั้น เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราต่อไป ไม่ว่าจะมีใครมาเยี่ยม ซึ่งเราก็เข้าใจเจตนาที่ดีของนายกฯ อะไรที่ทำแล้วดี ก็ให้กำลังใจ แต่หากมีอะไรขึ้นมา ก็ต้องตำหนิติติง วิพากษ์วิจารณ์ ก็เป็นสิ่งที่ในความเป็นสื่อของทุกฉบับ ของพวกเราทุกคน มีจิตวิญญาณอย่างที่บิ๊กตู่บอก เรื่องนี้มันมีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน เพื่อสร้างบรรทัดฐานของสังคม พวกเราก็ต้องช่วยกันรักษาสิ่งนี้ไว้..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2563 กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนินออนไลน์ ของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความเรื่อง นสพ.มีจิตวิญญาณ เปิดบทสนทนา นายกฯ เดินสายคุยสื่อ (http://www.tja.or.th/component/content/article) มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
*****************
@ เปิดบทสนทนา นายกฯ เดินสายคุยสื่อ
“ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมพูดคุยกับกองบก.สื่อเครือไทยรัฐ ทางนายกรัฐมนตรี บอกว่า ตัวผม ยังไงๆ ผมก็ชอบหนังสือพิมพ์ ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์มีจิตวิญญาณ ท่านใช้คำแบบนี้ รุ่นหลัง สื่อที่เป็นอย่างอื่น พวกสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียลมีเดีย ทางนายกรัฐมนตรี ก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าไม่เหมือนมาอ่านหนังสือพิมพ์ ที่มีจิตวิญญาณ ที่ได้ความคิด ได้อะไรต่างๆ มีการโต้แย้ง มีการชื่นชม หรือเห็นแย้งอะไรต่างๆ
นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าเป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะอ่านแล้วรู้สึกเหมือนมีชีวิตชีวา ไม่เหมือนเวลาอ่านจากพวกโซเชียลฯ ก็จะอ่านเร็วๆ อ่านผ่านไป แต่หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่นายกฯบอกว่าอ่านแล้วชอบ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่นึกถึง ถึงมาพบกับสื่อสิ่งพิมพ์”
สมชาย กรุสวนสมบัติ-หรือ”ซูม ไทยรัฐ”คอลัมนิสต์ชื่อดังจากนสพ.ไทยรัฐ บอกเล่าบทสนทนาตอนหนึ่งระหว่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับกองบก.ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ในภารกิจเดินสายพบสื่อของนายกรัฐมนตรี ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา
การเดินสายพบสื่อมวลชนหลายสำนัก ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม" ที่ยกทีมไปยังสำนักงานของหนังสือพิมพ์ ซึ่งทุกแห่งต่างก็มีสื่อแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมอยู่ด้วยร่วม 10 ฉบับ
ถึงตอนนี้(14 ก.ค.) นายกรัฐมนตรี ได้จบภารกิจดังกล่าวแล้ว หลังนำทีมงานส่วนตัวในตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมด้วย ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ เดินสายไปคุยกับสื่อหลายค่าย
อาทิเช่นบางกอกโพสต์-ไทยโพสต์-เครือเนชั่น -ไทยรัฐ-เดลินิวส์-เครือมติชน -แนวหน้า -ผู้จัดการ ที่พบว่าส่วนใหญ่ พลเอกประยุทธ์ ก็จะใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมงหรือไม่เกิน 90 นาที โดยเนื้อหาในการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่าง นายกรัฐมนตรีกับตัวแทนกองบรรณาธิการข่าว-ผู้บริหารสื่อ ก็พบว่าสื่อหลายสำนักได้มีการถ่ายทอดประเด็นสำคัญๆ ออกมาผ่านสื่อของตัวเองให้เห็นตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากการประมวลข้อมูลที่ได้รับ พบว่า พลเอกประยุทธ์ ได้บอกกับสื่อหลายสำนัก ว่า ที่เดินสายพบสื่อหลายแห่ง ไม่ได้เป็นเรื่องของการเมือง แต่เป็นเพราะหลังจากนี้ เห็นได้ชัดว่า ประเทศมีปัญหาวิกฤตหลายเรื่องที่หนักหน่วง รอให้รับมือแก้ไขปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากผลกระทบเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาล ต้องปรับรูปแบบการทำงานแบบ new normal ด้วย โดยเฉพาะการทำงานที่จะต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย เพื่อร่วมกัน แก้ปัญหาประเทศ และขับเคลื่อนประเทศไปตามแนวทาง การทำงานแบบ “รวมไทยสร้างชาติ “ที่เคยประกาศไว้ โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ไปฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากบางภาคส่วนมาแล้ว จึงต้องการฟังความเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล จาก ฝ่ายสื่อมวลชนบ้างว่าสื่อมองภาพรวมประเทศไทยและปัญหาประเทศต่อจากนี้อย่างไร มีอะไรที่รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญ และต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น และอะไรที่เห็นว่ารัฐบาล ควรทำโดยเร่งด่วน โดยหลังได้รับฟังข้อมูลต่างๆ แล้ว ก็จะนำข้อเสนอแนะ ความเห็น ต่างๆ จากสื่อแต่ละแห่งไปประมวล วิเคราะห์สรุปผล เพื่อนำไปขับเคลื่อนทำงานต่อไป
บทบาท-ท่าทีดังกล่าวของพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี-อดีตหัวหน้าคสช. ที่ใช้วิธีการเดินสายพบสื่อมวลชน จากที่ก่อนหน้านี้สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรกร่วมห้าปี ที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหาร ไม่เคยใช้วิธีการดังกล่าว ท่าทีของพลเอกประยุทธ์ในครั้งนี้ ตลอดจน บทสนทนา ระหว่างพลเอกประยุทธ์ กับกองบก.ของสื่อแต่ละค่าย เป็นเรื่องน่าสนใจไม่ใช่น้อย
“สมชาย กรุสวนสมบัติ-คอลัมนิสต์ชื่อดัง” เจ้าของนามปากกา “ซูม” หรือที่รู้จักกันในนาม ”ซูม ไทยรัฐ” บอกเล่าเรื่องราวการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ”สื่อเครือไทยรัฐ”ผ่าน“ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน” ไว้ว่า วันที่พลเอกประยุทธ์และคณะเดินทางมายังสำนักงานไทยรัฐเมื่อ9 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยภาพรวมก็ถือว่า เป็นภาพที่อบอุ่น โดยพลเอกประยุทธ์ก็มามาดใหม่ ซึ่งวันดังกล่าว มีผู้บริหาร -กองบรรณาธิการข่าวสื่อในเครือไทยรัฐทั้งสามสื่อ ทั้ง”กองบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ -ไทยรัฐทีวี-ไทยรัฐออนไลน์”มาร่วมต้อนรับพูดคุยด้วย
โดยในส่วนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ไปร่วมพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ ส่วนใหญ่จะเป็นคอลัมนิสต์ ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยได้เจอกับนายกรัฐมนตรี หลายคนก็เห็นพลเอกประยุทธ์ผ่านจอทีวีและสื่อต่างๆ ตั้งแต่สมัยเป็นผบ.ทบ.จนทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้วก็เป็นนายกรัฐมนตรีมาหลายปี ก็ร่วม 5-6 ปี เราก็จะมองภาพที่ออกมาว่าเป็นคนดุ ขี้โมโห ดุ พูดตัดบท ตอนแรกเราก็หนักใจในการจะไปคุยด้วย เพราะครั้งนี้เป็นการได้ร่วมพูดคุยกันครั้งแรก
..พลเอกประยุทธ์ ก็มาแบบอัธยาศัยไมตรีที่ดีเลย มาแบบที่เราไม่เคยเห็นในทีวี ก็มีการทักทายปราศรัยกัน ก็ดูเหมือนนายกรัฐมนตรี ก็รู้จักพวกเรา อ่านติดตามพวกเราอยู่ เช่นตอนมีการแนะนำคนที่มาร่วมพูดคุยด้วยในห้องรับรอง ก็ไล่แนะนำทีละคน เช่น บอกว่าคนนี้ ซูม ไทยรัฐ นายกรัฐมนตรี ก็พยักหน้า แล้วก็ยิ้ม หรือบอกว่าคนนี้ ลิขิต จงสกุล นายกรัฐมนตรีก็ยิ้มเลย ก็แสดงว่านายกรัฐมนตรี ก็ติดตามอยู่ นายกรัฐมนตรี ก็เรียกพี่หมด ภาพรวมก็เป็นบรรยากาศที่ดี เพราะนายกรัฐมนตรีมาแบบยิ้มแย้มแจ่มใส ก็ทำให้การพูดคุยกันวันนั้น บรรยากาศ ก็เป็นกันเอง
“ซูม ไทยรัฐ”เล่าต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีบอกในการพูดคุยกันว่า มาครั้งนี้ถือเป็น new normal โดยย้ำว่า ไม่ได้ต้องการคิดจะเอาใจสื่อ หรืออะไร แต่เป็นการบริหารแนวใหม่ โดยนายกฯบอกว่าหลังผ่าน วิกฤตโควิดฯ แล้ว รัฐบาลจะต้องปรับเปลี่ยนการบริหารงาน เพราะภารกิจหลังจากนี้ใหญ่มาก หนักกว่าที่หลายคนคิดในการฟื้นฟูประเทศ นายกรัฐมนตรีก็บอกว่า จะทำงานแบบใหม่ วิธีการทำงานแบบใหม่ก็คือ จะเน้นการเปิดรับฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ เช่นตัวแทนภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ รวมถึง"สื่อมวลชน"อย่างพวกเรา นายกรัฐมนตรีย้ำว่า จะเปิดรับฟังหมด แล้วนำความเห็น ข้อมูลทั้งหมด มาประมวลและบูรณาการ เอาความคิดที่ดี ไปใช้ ไปทำ เพราะอย่างที่นายกรัฐมนตรีบอก คือการฟื้นฟูประเทศ หลังจากนี้ ทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีภาคส่วนอื่นๆมาช่วยด้วยเพราะอย่าง ภาคเอกชน -ธุรกิจ-ธนาคาร นายกรัฐมนตรีก็ไปรับฟังหมดแล้ว ตอนนี้เลยถึงรอบที่มาฟังความเห็นทัศนะจากสื่อมวลชน
"ซูม-ไทยรัฐ"เปิดเผยไว้ด้วยว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมพูดคุยกับกองบก.สื่อเครือไทยรัฐ ทางนายกรัฐมนตรี บอกว่า
"ตัวผม ยังไงๆ ผมก็ชอบหนังสือพิมพ์ ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์มีจิตวิญญาณ ท่านใช้คำแบบนี้ รุ่นหลัง สื่อที่เป็นอย่างอื่น พวกสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียลมีเดีย ทางนายกรัฐมนตรี ก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าไม่เหมือนมาอ่านหนังสือพิมพ์ ที่มีจิตวิญญาณ ที่ได้ความคิด ได้อะไรต่างๆ มีการโต้แย้ง มีการชื่นชม หรือเห็นแย้งอะไรต่างๆ นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าเป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะอ่านแล้วรู้สึกเหมือนมีชีวิตชีวา ไม่เหมือนเวลาอ่านจากพวกโซเชียลฯ ก็จะอ่านเร็วๆ อ่านผ่านไป แต่หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่นายกฯบอกว่าอ่านแล้วชอบ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่นึกถึง ถึงมาพบกับสื่อสิ่งพิมพ์ ทางนายกรัฐมนตรี ก็พูดอยู่ตอนหนึ่งว่า ก็พอทราบอยู่ว่า ปัจจุบันธุรกิจหนังสือพิมพ์ก็อาจมีปัญหา แต่นายกฯก็บอกว่าก็ยังเห็นความสำคัญของหนังสือพิมพ์"
..พอมันเริ่มจากตรงนั้นมา ก็เลยทำให้บรรยากาศ ก็เลยค่อนข้างอบอุ่น จากนั้น หลังนายกรัฐมนตรีแจ้งวัตถุประสงค์ในการเดินสายคุยกับสื่อเสร็จ นายกฯก็ถามว่า พวกเรามีอะไรจะเสนอแนะ กับปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นอย่างไร มีอะไรที่เห็นว่าควรต้องทำ ต้องขับเคลื่อน วิธีการขับเคลื่อนควรทำอย่างไร นายกรัฐมนตรี ก็ตั้งประเด็นไว้แบบนี้ แล้วก็ให้พวกเราคุยกัน
“ซูม ไทยรัฐ”บอกเล่าต่อไปอีกว่า จากนั้น พวกเราก็เสนอความคิดเห็นกันไป ก็มีการให้ความเห็นกันไปคนละ 1-2 ความเห็น เช่นบางคน ก็ให้ความเห็นว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินสายไปยังสื่อค่ายๆต่างแบบนี้ ทำไม ไม่ไปหาฝ่ายค้านบ้าง ไปคุยกับฝ่ายค้าน ทำเซอร์ไพรส์ ไปคุยกับฝ่ายค้าน นอกจานกี้ บางคนก็ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลที่ได้รับมา ทำให้มองดูแล้ว เศรษฐกิจในประเทศหลังจากนี้ มันแย่กว่าที่คิด รัฐบาลควรต้องไปประเมินใหม่เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตัวเลขต่างๆ จะได้แก้ปัญหาถูกจุด
(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี /ภาพจากไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/content/752736)
...พวกเราไทยรัฐ บางคนก็ให้ความเห็นว่าเรื่องการแจกเงินกับคนที่เดือดร้อน ที่ผ่านมา รัฐบาลทำถูกเป้าหรือไม่ บางคนรวยแล้วก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือ นายกรัฐมนตรีก็พยายามชี้แจง ก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไป ก็เป็นบรรยากาศที่ดี โดยตลอดเวลาของการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ก็พบว่า นายกรัฐมนตรี ก็จดไว้ตลอด จนช่วงท้าย ๆ พวกเราบางคน ก็เสนอว่า ตอนโควิดฯ ก็มีการตั้งศูนย์ ศบค. ที่มี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน มาแถลงรายงานต่อประชาชนทุกวันเรื่องตัวเลขการติดเชื้อโควิดฯ ในประเทศไทย ก็เป็นที่สนใจของประชาชนมาติดตามทุกวัน
ในวงสนทนา เราก็เสนอว่า ก็ทำลักษณะแบบนี้ กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศหลังจากนี้ เช่นให้มีวอร์รูมเลย ให้มีศูนย์ขึ้นมา คล้ายๆ ศบค. แต่ให้เป็นวอร์รูมเศรษฐกิจ ให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือกลไกของครม.เศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ครม.เศรษฐกิจมันใหญ่อาจอุ้ยอ้าย ก็เหมือนกับ ศบค. ที่ความดังของศบค.ไม่ได้อยู่ที่ ศบค. แต่อยู่ที่คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิดฯ ในศบค.ที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน เราก็เสนอให้เอา format ดังกล่าวไปทำกับเรื่องเศรษฐกิจ
...ผมก็บอกกับนายกรัฐมนตรีว่ารูปแบบดังกล่าว เคยทำมาแล้วสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำแล้วมันสำเร็จ ตอนที่พลเอกเปรม ลดค่าเงินบาท ตอนเป็นนายกฯ ตอนนั้น พลเอกเปรม ก็ตั้งศูนย์เฉพาะกิจแบบนี้ขึ้นมา เราก็เสนอว่าควรต้องมี เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จะฟื้นฟูอย่างไร กันแบบวันต่อวัน แล้วก็หาโฆษกมาชี้แจงที่เก่งๆ เหมือนแบบตอนนี้ที่หมอทวีศิลป์ กลายเป็นขวัญใจ พอเราเสนอแบบนี้ นายกรัฐมนตรี ก็จดยิกเลย แล้วก็บอกว่าผมจะรับไปเคลียร์ แล้วก็จะตั้ง จากนั้น วันรุ่งขึ้น 10 ก.ค. ที่นายกรัฐมนตรีประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่นายกฯ เป็นประธาน และมีการตั้ง“ศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” รับมือวิกฤต “โควิด” ก็ปรากฏว่าเอาแบบที่เราเสนอไปเลย ก็เป็นผลพวงที่ได้จากที่ได้มาคุยแลกเปลี่ยนกับไทยรัฐ
“โดยภาพรวม ที่ได้คุยกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่นายกรัฐมนตรีก็ให้เกียรติ และนึกถึงพวกเรา แม้บางคนอาจจะตีความไปต่างๆ เช่น ฝ่ายค้านบอกว่าเป็น event สร้างภาพ เบนความสนใจ บางฝ่ายก็วิเคราะห์ไปว่า นายกฯเหนื่อยแล้ว จำเป็นต้องเริ่มหาพรรคพวก เพราะการบริหารงานเริ่มยุ่งยากขึ้น ก็เลยต้องหาอะไรมาเป็นฐานเสียงสนับสนุน เพื่อสู้กับการเมืองที่สังเกตุดูก็ยังเป็นการเมืองแบบเก่าอยู่ เลยต้องหาอะไรมาพิง เลยออกไปพบสื่อ ก็เป็นการวิเคราะห์กันไป"
แต่ของเรา เราก็ถือว่า การไปมาหาสู่กัน การมาคุยกัน เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น อย่างที่มีเพลงหรือที่คนพูดกัน"มาช้าดีกว่าไม่มา" แม้จะมาช้า หลังที่ผ่านมาหลายปี นายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยมาแบบนี้ ก็เป็นเรื่องดี เป็นการมาร่วมมือกัน เพราะศึกที่เราจะเจอกันต่อจากนี้ จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ปลายปีนี้จะหนักมากเลยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ก็ทำให้ การมาของนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะไหน เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น แต่ว่าขอความจริงใจ
"ซูม-ไทยรัฐ"กล่าวต่อว่า การที่นายกรัฐมนตรีพบสื่อลักษณะดังกล่าว คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตรงนี้ ในความเห็นพวกเรา มันเป็นวาระแห่งชาติที่แท้จริง คือเราอยู่ในภาวะที่น่ากลัวที่สุด อย่างของผม ที่อายุ 70 กว่าปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นเศรษฐกิจประเทศยุคไหน จะได้รับผลร้ายแรงเท่านี้มาก่อนเลย เราฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุด อย่างพวกเราสื่อเอง ก็ได้รับผลกระทบกันมาก ทั้งจากเหตุการณ์ใหม่ของโลกที่สร้างผลกระทบกับสื่อ จนเราก็แย่กันอยู่แล้ว มาตอนนี้ ก็ยังมาโดนซ้ำด้วยโควิดฯ อีก ทำเอาจุกกันเลย ก็ไม่ใช่แค่ธุรกิจสื่อแล้ว แต่หลายธุรกิจเช่น SME หลังจากนี้ ก็จะระเนระนาด ที่จะเริ่มผลกันในอีกสองเดือนข้างหน้า ผลกระทบมันใหญ่มาก การที่นายกฯไหวตัว และรีบหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก มีอะไร เราก็ยินดีพูดคุย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเอง ก็ยังบอกว่า ก็รู้ถึงสถานการณ์ของธุรกิจสื่อเวลานี้เช่นกัน
"สรุปก็คือ เป็นเรื่องที่ดี เป็นบรรยากาศที่ดีมาก และเท่าที่อ่านจากที่เพื่อนสื่อ หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ก็พบว่าทุกที่ก็มีบรรยากาศที่ดีแบบเดียวกันหมด ก็คิดว่านายกฯ ก็คงได้รับคำแนะนำจากทีมที่ปรึกษาของนายกฯว่ายังไง ต้องไปให้ครบทุกแห่ง จะไปที่ไหนก่อนหรือหลังไม่สำคัญ แต่ต้องไปให้ครบ จะสื่อใหญ่หรือเล็ก ยังไง ก็มีคุณค่าเท่ากัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชม "
สำหรับ"ห้องรับแขก"ที่ทางไทยรัฐ ใช้ต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ ที่ตึกไทยรัฐ มีเสียงเล่าขานกันว่า ห้องวีไอพี ดังกล่าว เคยถูกใช้เป็นห้องรับรอง อดีตนายกรัฐมนตรีมาแล้วจำนวนมาก ที่ใช้วิธีการเดินสายพบสื่อ "ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน"เลยถามถึงประสบการณ์ในอดีตในฐานะที่เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาหลายสิบปี ที่ผ่านมา ก็มีอดีตนายกฯหลายคน ก็ใช้วิธีการเดินสายพบสื่อ ผู้บริหารสื่อ หลายๆแห่งพร้อมกันเช่น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ -อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองเรื่องการเดินสายพบสื่อของอดีตนายกฯในลักษณะนี้อย่างไร "ซูม ไทยรัฐ"บอกว่า ก็มีหลายคน มาที่ไทยรัฐ อย่าง คุณทักษิณ ชินวัตร -ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เคยมาคุยกับไทยรัฐที่ห้องรับรองดังกล่าว และอีกหลายคน ก็นั่งโต๊ะ -เก้าอี้ตัวเดียวกันกับพลเอกประยุทธ์
...โดยของไทยรัฐ เราจะใช้สไตล์ แบบไม่ใช่ลักษณะ แบบการนั่งร่วมประชุม แต่ของไทยรัฐ เราใช้สไตล์ แบบ"ห้องรับแขก" ของท่านอดีตผอ.ไทยรัฐ"กำพล วัชรพล"ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ทำไว้และคอยต้อนรับแขก ตั้งแต่ยุค ป๋าเปรม -พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่พอพลเอกเปรมมาที่ไทยรัฐ ก็ใช้ห้องรับรองดังกล่าว พูดคุยกัน โดยอดีตนายกฯ ที่เคยมาแล้วใช้ห้องรับแขกดังกล่าว เท่าที่จำได้ ก็มีเช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา-พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ -อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น แต่ว่า การมาแต่ละคน ก็จะแตกต่างกันไป อย่าง พลเอกเปรม ที่มาเพราะท่านสนิทกับผอ.กำพล เพราะพลเอกเปรม เป็นเพื่อนกับพลเอกประจวบ สุนทรรางกูร อดีตรมว.มหาดไทย แล้วพลเอกประจวบ กับผอ.กำพล ก็สนิทกัน ก็เลยเชื่อมโยงกัน ป๋าเปรม ก็เลยมา แต่บางคนอย่าง พลเอกชวลิต มาตอนเป็นนายกฯ พวกนี้ก็เหมือนกับเขาเป็นนักการเมืองไปแล้ว ก็มาหาเสียง ส่วนพวกที่มาจากทหาร เป็นนายกฯที่มาจากรัฐประหาร ก็ไม่เคยมา
...หลังการพูดคุยกันเสร็จกับทางไทยรัฐ และนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับ พวกเราก็มานั่งคุยกันว่าพลเอกประยุทธ์ เดินสายพบสื่อเพื่ออะไร จะมาสร้าง event อะไรหรือไม่ ก็ดูแล้ว นายกรัฐมนตรี เขาก็คงมีความจริงใจพอสมควรในการที่จะแก้ปัญหาวันข้างหน้า นายกฯ คงรู้ว่าปัญหาวันข้างหน้ามันหนัก ก็เลยคล้ายกับต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งผมเอง ก็มองว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ธรรมดา เจอกันครั้งแรกวันนั้น ผมก็ลองทดสอบ ดูความรู้ความเข้าใจในปัญหาของบ้านเมือง ความละเอียดของตัวเลขแต่ละปัญหา ก็มีการแหย่ถามเรื่อง การว่างงาน -การตกงาน ตัวเลขต่างๆ หรือเรื่องตัวเลขจีดีพี ก็พบว่า พลเอกประยุทธ์ก็คุยได้ บอกได้ ถึงที่มาที่ไปของแต่ละเรื่องแต่ละปัญหา แม้อาจจะมีการหันไปถาม เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มาด้วยบ้าง แต่ส่วนใหญ่นายกฯ ตอบนำร่องได้ เท่าที่ดูมา ก็เป็นนายกฯ ที่รู้เรื่อง รู้เยอะ รู้ลึก คนหนึ่งในงานที่กำลังทำ ก็ทำให้ มีposition ของตัวเอง ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ที่รู้เรื่องเยอะ ไม่ธรรมดา ก็มาจากที่เป็นนายกฯมา 6 ปี
“เมื่อมองในแง่นี้ ผมก็มองว่า ก็เอาละ ก็ต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะมาด้วยลักษณะไหนก็แล้วแต่ เราก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ เพื่อช่วยกันประคอง สถานการณ์ที่มันย่ำแย่ให้ผ่านไปให้ได้ และหวังว่านายกรัฐมนตรีจะไปจัดการกับพวกนักการเมืองที่ยังไม่รู้สึกรู้สา ว่าสถานการณ์มันล่อแหลม แต่นักการเมืองก็ยังเล่นอะไรเหมือนเดิม”
@ ถึงนายกฯ เดินสายพบสื่อ แต่เรายังทำหน้าที่เหมือนเดิม
ถามย้ำตอนท้ายว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะเดินสายพบกับผู้บริหาร-กองบก.สื่อ ถึงสำนักงาน แต่บทบาทของสื่อ หลังจากนี้ ยังคงต้องทำหน้าที่สื่อเหมือนเช่นเดิม เช่นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เหมือนที่เคยทำใช่หรือไม่ เรื่องนี้"คอลัมนิสต์ไทยรัฐ-ซูม"ตอบย้ำหนักแน่นว่า"แน่นอนเลย อย่างไทยรัฐ ก็คุยกันเอง หลังนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับว่า ก็ดีที่นายกฯมาแบบนี้ แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม เราก็จะต้องว่าไปตามความเป็นจริงและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้ามีการทำไม่ดี มีการทำทุจริต ทำอะไรที่หละหลวม เราก็ต้องไม่เห็นด้วย เราก็ต้องเล่นงาน เราถึงย้ำกับพลเอกประยุทธ์ ตอนที่คุยกับไทยรัฐว่า เรื่องเงินในโครงการเงินกู้โควิดฯ 4 แสนล้านบาท ที่มีคนไปขอโครงการกันเยอะแยะ ต้องมีความชัดเจน พอเห็นชอบไปแล้ว ต้องมีการแถลงให้ประชาชนรู้ว่าแต่ละโครงการเป็นอย่างไร ทำแล้วเป็นประโยชน์อย่างไร "
"ซูม ไทยรัฐ"ย้ำตอนท้ายว่า จุดยืนของสื่อมวลชน ไม่มีวันเปลี่ยน ผมก็เชื่ออย่างนั้น เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราต่อไป ไม่ว่าจะมีใครมาเยี่ยม ซึ่งเราก็เข้าใจเจตนาที่ดีของนายกฯ อะไรที่ทำแล้วดี ก็ให้กำลังใจ แต่หากมีอะไรขึ้นมา ก็ต้องตำหนิติติง วิพากษ์วิจารณ์ ก็เป็นสิ่งที่ในความเป็นสื่อของทุกฉบับ ของพวกเราทุกคน มีจิตวิญญาณอย่างที่บิ๊กตู่บอก เรื่องนี้มันมีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน เพื่อสร้างบรรทัดฐานของสังคม พวกเราก็ต้องช่วยกันรักษาสิ่งนี้ไว้
"หนังสือพิมพ์ ยังไง หอสมุดแห่งชาติ ก็ยังมีเก็บไว้ เราก็ควรต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ให้ได้ พวกเราก็พยายามจะdefend เอาไว้ให้ได้ จนถึงนาทีสุดท้าย เพื่อให้สื่อกระดาษยังคงต้องหลงเหลืออยู่ ไม่ฉบับใดก็ฉบับหนึ่ง ใครหลงเหลืออยู่ได้ ก็ต้องให้กำลังใจกัน เพื่อจะได้เป็นสื่อกระดาษที่จะจารึกความถูกต้องของแผ่นดินนี้ คนรุ่นเราก็คิดแบบนี้ เหมือนกับที่บิ๊กตู่บอก อ่านหนังสือพิมพ์แล้วมันมีจิตวิญญาณก็เพราะแบบนี้
หลังจากที่ได้คุยกัน เข้าใจนายกรัฐมนตรีเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่า การเข้าใจกันแล้ว จะต้องไปสมัครเป็นพรรคพวกถึงขั้น ไปรับใช้ คงไม่ใช่แน่นอน เราก็ยังเป็นเรา ที่หากนายกรัฐมนตรี ทำอะไรถูก ก็ให้กำลังใจ แต่ถ้าทำอะไรไม่ถูกต้อง เราก็ต้องตำหนิติติง วิพากษ์วิจารณ์"
@ แจงเดินสายพบสื่อ หวังฟังเสียงสะท้อน ตามแนวทาง”รวมไทยสร้างชาติ”
ด้าน”แหล่งข่าวจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์-เว็บไซด์ข่าวแห่งหนึ่ง ย่านถนนวิภาวดีรังสิต ที่อยู่ร่วมพูดคุยระหว่าง นายกรัฐมนตรีกับกองบก.หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว”ที่มีการคุยกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สรุปประเด็นการพบกันดังกล่าวไว้โดยสังเขปว่า พลเอกประยุทธ์ พยายามแสดงความเป็นกันเองกับผู้บริหาร-กองบก. เช่นใช้คำว่า”วันนี้มาเยี่ยมบ้านของพวกท่าน” และพยายามใช้คำพูดเพื่อสร้างความเป็นกันเองเช่น เรียกผู้บริหารสื่อหรือกองบก.ที่ดูมีอายุว่า “พี่มองเรื่องนี้ว่าอย่างไร “จากนั้น นายกรัฐมนตรี ก็เริ่มต้นแจงว่า ที่เดินสายพบสื่อหลายแห่ง ก็เพื่อมาขอฟังข้อเสนอแนะต่อปัญหาประเทศที่สำคัญๆหลายเรื่องในความเห็นสื่อ เพราะสื่อถือว่ามีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” และมีการบอกเล่าถึงการทำงานในด้านต่างๆว่า มีความคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง ติดขัดตรงไหน เช่นเรื่อง การศึกษา-การแก้ปัญหาภาคใต้ -การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งบางช่วง นายกรัฐมนตรี ก็บอกว่า “พูดตรงๆ บางทีก็ต้องขอระบายหน่อย คือ ผมก็เหนื่อย แต่ก็ต้องเดินหน้าทำต่อไปเพราะเป็นเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบ” จากนั้นก็อธิบายการทำงานแต่ละด้าน และปิดท้ายด้วยการถามความเห็นว่า มีใครมีความเห็นอย่างไร -จะเสนอความเห็นมุมมองอย่างไรบ้างว่ารัฐบาลควรทำอะไร เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศ
“พอนายกรัฐมนตรี พูดเสร็จ คุยในประเด็นหลักๆจบ กองบก.แต่ละส่วน เช่น การเมือง เศรษฐกิจ ก็จะมีการตั้งประเด็นคำถามเช่นเรื่องปรับครม. เรื่องแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือนโยบายต่างๆ ที่จะออกมาหลังจากนี้เช่น การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านโครงการต่างๆว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเช่น แนวคิด Travel Bubbles จากนั้นนายกฯ ก็จะตอบทีละประเด็นเช่น อธิบายว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำไปถึงไหนแล้ว อยู่ในขั้นตอนอะไร และตอนจบ ก็ย้ำว่า ก็ขอฝากไว้ด้วย และขอให้เชื่อมั่นในตัวผม ”
เป็นอีกหนึ่งบทบันทึก กับท่าทีของพลเอกประยุทธ์ -นายกรัฐมนตรี ที่เดินสายพบสื่อมมวลชนหลายแห่ง ที่คาดว่า หลังจากนี้ นายกรัฐมนตรี อาจมีคิวเดินสายพบตัวแทนองค์กรภาคส่วนอื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงสื่อมวลชนแพลตฟอร์มอื่นๆ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/