“…ข้อมูลเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ว่าเข้าไปในกูเกิลแล้วจะหาได้ มันต้องไปขอจากหน่วยงาน แล้วมันมีต้นทุนที่ต้องขอ…ภาพถ่ายทางอากาศเป็นต้นทุนของประชาชนที่ต้องไปหามาใช้ เช่น ถ้ารัฐบอกว่า คุณเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ทีหลัง แล้วก็จะใช้อำนาจตามกฎหมายในการเอาประชาชนออกจากพื้นที่ ก็ตกมาเป็นภาระของประชาชนในการที่ต้องไปหาหลักฐานมาโต้แย้ง ซึ่งเขาก็ต้องไปหาภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งมันไม่ได้มีขายตามท้องตลาด แต่ต้องไปซื้อหรือขอ จากหน่วยงานที่มี ซึ่งประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้ในชั้นศาล...”
ประเด็นการประกาศพื้นที่ป่าทับที่ทำกินของชาวบ้าน หรือการดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาบุกรุกที่ป่าสงวน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง!
ทว่า ในประเด็นข้อพิพาทด้านสิทธิที่ดินเหล่านี้ การพิจารณาเพียงคำสั่ง หรือประกาศของรัฐยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีอีกหนึ่งในวัตถุพยานสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวบ้านอาจเป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ มาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน วัตถุพยานที่ว่านั้นก็คือภาพถ่ายทางอากาศจากกรมแผนที่ทหาร ที่กระบวนการได้มาซึ่งภาพ การขอให้ผู้เชี่ยวชาญแปลแผนที่และเสนอความเห็นต่อศาล นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ
แต่ใครเล่า? คือผู้แบกต้นทุนของกระบวนการได้มาซึ่งภาพถ่ายเหล่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พูดคุยกับ สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำคดีในประเด็นสิทธิชุมชนและสิทธิที่ดินในพื้นที่ภาคเหนือมายาวนาน โดยแลกเปลี่ยนถึงมุมมองหลากมิติเกี่ยวกับประโยชน์ของภาพถ่ายทางอากาศในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท รวมถึงข้อเสนอแนะที่ว่า ควรถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศได้อย่างเปิดเผย มิใช่ผลักภาระให้ตกเป็นของประชาชนที่ต้องแบกต้นทุนค่าใช้จ่าย เพื่อให้เข้าถึงและได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าว
@ ภาพถ่ายทางอากาศมีความสำคัญอย่างไร ในประเด็นข้อพิพาทเรื่องสิทธิที่ดิน
สุมิตรชัย : หากถามว่าสำคัญยังไง อาจจตอบยากในแง่ของกฎหมาย เพราะไม่ได้มีเขียนไว้ในตัวกฎหมายว่าต้องใช้แต่พูดง่ายๆ คือว่าที่ผ่านมา หากมีข้อถกเถียงระหว่างรัฐ กับประชาชนว่าใครอาศัยอยู่ หรือทำกินมาก่อนในพื้นที่ป่า เป็นข้อถกเถียงว่าการประกาศเขตของรัฐกับที่ดินทำกินของประชาชนมีความเหลื่อมล้ำ มีความทับซ้อนกันอยู่ ควรจะพิสูจน์ยังไงว่าใครอยู่ก่อน อยู่หลัง ก็เป็นที่มาของการใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาพิสูจน์ประเด็นพิพาทนี้ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 มีมติ ครม. พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการเอาเทคโนโลยีทางแผนที่มาใช้ คือการนำเอาภาพถ่ายทางอากาศมาพิสูจน์ว่าตกลงแล้วที่ดินตรงนี้มีการใช้ทำประโยชน์มาก่อนไหม โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ คือภาพถ่ายทางอากาศมาพิสูจน์ นั่นคือที่มาของการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศมาใช้
ซึ่งที่ผ่านมา ในประเทศไทย เดิมทีภาพถ่ายทางอากาศ ไม่ได้ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่มันถูกสร้างขึ้นมาในยุคสงครามเย็น คือใช้เป็นแผนที่ทางยุทธวิธีของทหารเป็นหลัก แต่เมื่อเราหยิบมาใช้เพื่อพิสูจน์การเข้าทำประโยชน์หรือการถือครองที่ดินของ ประชาชน มันก็เลยกลายเป็นเครื่องมือหลัก และทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา
แล้วจากนั้นก็มีการออกมติ ครม.หลายฉบับ ที่ให้นำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาใช้ประกอบในการพิสูจน์ แล้วก็มีการตั้งคณะกรรมการในการพิสูจน์เรื่องที่ดินของรัฐขึ้น โดยกระบวนการหนึ่งที่ใช้คือ ต้องนำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาประกอบ จึงเป็นที่มาของการพิสูจน์ ว่าราษฎรที่อาศัยอยู่ในที่ของรัฐ เขาเป็นผู้บุกรุก หรือเขาอยู่มาก่อน ก็นำเอาแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาเป็นเครื่องมือ
แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่าในกระบวนการพิสูจน์ ประชาชนเข้าไม่ถึงหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ เพราะมันไม่ได้มีขายตามท้องตลาดทั่วไป แผนที่อยู่ในมือของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะสมัยก่อนก็อยู่ในมือของกรมแผนที่ทหาร ซึ่งประชาชนเข้าไม่ถึง จนกระทั่งมีการพัฒนาในการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมากขึ้น หน่วยงานต่างๆ เอาไปใช้มากขึ้น เช่นกรมที่ดินเอาไปใช้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอาไปใช้ หรือแม้แต่ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อจัดทำภาพถ่ายดาวเทียมโดยเฉพาะ แต่ภาพถ่ายดาวเทียมกับภาพถ่ายทางอากาศมันต่างกัน นี่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจเบื้องต้น คือภาพถ่ายดาวเทียมนั้นถ่ายมาจากนอกโลกโดยใช้ดาวเทียม แต่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นภาพถ่ายที่ใช้เครื่องบินของทหาร บินถ่ายทั่วประเทศ แล้วก็จะเป็นภาพสามมิติ ดังนั้น ในกระบวนการพิสูจน์ที่ดิน เรื่องการเข้าทำประโยชน์ ภาพถ่ายทางอากาศจะมีประสิทธิภาพกว่า ในการแปลภาพถ่ายออกมาว่าการเข้าทำประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร
ดังนั้น ช่วงหลังๆ มา เมื่อเราเข้ามาทำคดีที่ชาวบ้านพิพาทกับรัฐ เราก็พยายามจะเอาเครื่องมือตัวนี้ คือ ภาพถ่ายทางอากาศ หรือแม้แต่ภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการพิสูจน์ในศาล เพื่ออ้างกับศาลว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตป่า หรือการประกาศเป็นเขตพื้นที่ของรัฐ แล้วก็เป็นภาระพอสมควร เพราะประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นภาระของเราในการไปหาหลักฐานเหล่านี้มาใช้ประกอบ แล้วก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาแปลภาพถ่ายทางอากาศเหล่านั้นให้กับศาลด้วย นี่คือ สิ่งที่เป็นปัญหา
@ปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างไร มีมุมมองหรือข้อเสนอใดบ้างในประเด็นนี้
สุมิตรชัย : ข้อเสนอที่ผ่านมาของเราคือ รัฐควรจะใช้กระบวนการพิสูจน์ด้วยภาพถ่ายทางอากาศนี้ ก่อนที่จะดำเนินคดีกับชาวบ้าน คือคุณก็พิสูจน์เลยตั้งแต่แรก ถ้าคุณเห็นว่าชาวบ้านบุกรุก คุณก็เอากระบวนการพิสูจน์นี้ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าประชาชนเข้ามาทีหลัง ก็ค่อยนำกระบวนการทางกฎหมายเข้ามาใช้ ไม่ใช่ จับชาวบ้านไปก่อน แล้วค่อยไปพิสูจน์กันในศาล นี่เป็นปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม เพราะมันไม่ใช่ทุกคดีที่จะมีหลักฐานแบบนี้เข้าไปในกระบวนการในศาล เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการนี้มาตั้งแต่ชั้นสอบสวนของตำรวจ อัยการ แต่เป็นภาระที่ประชาชนจะต้องหามาพิสูจน์เองในศาล
@ ช่วยยกตัวอย่างคดีที่มีการใช้ภาพถ่ายทางอากาศแล้วส่งผลต่อคดีอย่างเป็นรูปธรรม
สุมิตรชัย : เพิ่งจะมีนำมาใช้ช่วงหลังๆ คนอื่นใช้มากน้อยแค่ไหน ผมไม่รู้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมนำไปใช้ในคดีที่ จ.ลำปาง เป็นคดีที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดี เราก็นำเอาภาพถ่ายทางอากาศ พยายามไปพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจุดที่มีการดำเนินคดี มันมีร่องรอยการทำประโยชน์มาก่อนแล้ว ก็ขอให้เจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ทหารมาแปลแผนที่ในศาล ซึ่งศาลก็เข้าใจมากขึ้นว่าสภาพการทำประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างไร คือทำให้ศาลเห็นมิติของข้อเท็จจริง มากกว่าแค่ตัวบทกฎหมาย หรือประกาศ คำสั่งของรัฐ
ผมทำคดีที่ลำปางอยู่ 2-3 คดี คดีที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือคดีของนางแสงเดือน ที่ อ.งาว ถูกจับดำเนินคดี ข้อหาบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ เราก็เอาภาพถ่ายทางอากาศ เชิญผู้เชี่ยวชาญ เชิญเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ที่เชี่ยวชาญภาพถ่ายทางอากาศ มาแปลให้ศาลฟัง ศาลก็เชื่อว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ศาลชั้นต้นที่ลำปางก็ตัดสินยกฟ้องว่าขาดเจตนา ก็ถือว่าชาวบ้านทำกินมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่า แล้วก็ไม่มีการบุกรุกทำลายทรัพยากรอะไร เพราะเป็นที่ทำกินมาก่อนแต่เดิม
@ ช่วยเล่าถึงกระบวนการได้มาซึ่งภาพถ่ายทางอากาศ การแปล และการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ
สุมิตรชัย : ถ้าตามหลักแล้ว กรมแผนที่ทหารเป็นเจ้าภาพหลัก เพราะเป็นหน่วยงานที่เก็บรวบรวมและถ่ายภาพเป็นระยะๆ ทุกปี หรือทุกๆ 4-5 ปีจะมีการถ่ายภาพ แม้เข้าใจว่าช่วงหลังๆ มาเขาจะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลัก เพราะฉะนั้น นับตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งกรมแผนที่ทหาร คือ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด งบประมาณแรกตั้งนี่ CIA ให้งบมา แล้วเขาก็อบรมเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหาร อบรมโดยกองทัพอเมริกัน แล้วก็อบรมแปลภาพถ่ายทางอากาศ และอบรมมาเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบัน ดังนั้น หากถามว่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม ในประเทศไทย มีเยอะแค่ไหน ยังไง โดยส่วนใหญ่ก็น่าจะอยู่ในกองทัพเป็นหลัก คือที่กรมแผนที่ทหาร แต่อาจจะมีเอกชน คนข้างนอก นักวิชาการ อื่นๆ ที่มาเรียนรู้ก็มีมาก แต่ศาลจะใช้ผู้เชี่ยวชาญจากกรมแผนที่ทหารเป็นหลัก แล้วก็ขึ้นทะเบียนไว้ที่ศาล ที่ส่วนกลาง ว่ามีผู้เชี่ยวชาญภาพถ่ายทางอากาศกี่คน มีรายชื่อ เราก็สามารถร้องให้ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้
หรือเราติดต่อโดยตรงมาที่เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญภาพถ่ายทางอากาศ แล้วขอให้เขาดำเนินการแปล แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างเขาทำ หรือแม้ในกระบวนการที่ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญ แต่คู่ความ ก็ต้องจ่ายค่าดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ที่มาแปลภาพถ่ายทางอากาศ เพราะฉะนั้น ต้นทุนในการแปลภาพถ่ายทางอากาศ ก็เป็นต้นทุนที่ประชาชนต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยก็มีไม่เยอะ ซึ่งในบางกรณี หรือบางคดีที่ผมทำ กรมป่าไม้ ก็อาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาจากหน่วยงานเหล่านี้ เช่น จากกรมแผนที่ทหารนี่แหละ คือผ่านการแปลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะมาแล้ว แล้วเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้เขาก็มาอธิบายศาลเพิ่มเติม โดยใช้ความเห็นของผู้แปลภาพถ่ายทางอากาศมาอธิบายให้ศาลรับฟัง ความน่าเชื่อถือ ก็อาจไม่เท่าผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แต่กรมป่าไม้คือเจ้าของพื้นที่ที่เป็นคู่พิพาทกับชาวบ้าน ก็จะฟังดูมีน้ำหนัก ศาลก็รับฟัง
@ การแปลภาพถ่ายทางอากาศ แปลอย่างไร สะท้อนถึงอะไรบ้าง
สุมิตรชัย : ภาพถ่ายทางอากาศคือการแปลทุกอย่างที่ต้องการจะแปล เพราะมันเป็นภาพสามมิติ กระบวนการในการแปล เขาจะเอาฟิล์มที่ถ่ายไว้ ไปอัดเป็นกระดาษฟิล์ม แต่เวลาแปลจะใช้กล้องที่สามารถใช้ดูความนูนต่ำของพื้นที่ แล้วเขาสามารถบอกได้ว่าบริเวณนี้ ที่มีต้นไม้เป็นพุ่ม เป็นลักษณะแบบนี้ เป็นต้นไม้แบบไหนของป่า บริเวณที่เห็นเป็นพื้นที่ป่า หรือเป็นพื้นที่สวน เป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกหรือไม่ เขาจะสามารถแยกแยะได้ว่าต้นไม้ที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศเป็นต้นไม้ธรรมชาติ หรือต้นไม้ที่เกิดจากการปลูกของคน นี่คือลักษณะการแปล แต่เขาจะมีเครื่องมือของเขา เช่น ใช้กล้องส่อง หรือมีเครื่องมือที่จะใช้ดูภาพถ่ายทางอากาศเหล่านี้ในการลงลึกรายละเอียดของแต่ละพื้นที่
@ ในกรณีที่ประชาชนผู้เดือดร้อนในประเด็นพิพาทด้านที่ดิน อยากใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ต้องทำอย่างไร
สุมิตรชัย : จากประสบการณ์ของผม คือไปซื้อที่กรมแผนที่ทหาร โดยเอาพิกัด GPS ไประบุ หรือถ้าเรามีแผนที่อยู่แล้ว ที่ระบุตำแหน่งได้ ก็เอาแผนที่ที่เกิดเหตุไปที่กรมแผนที่ทหารและเอาพิกัดให้เขา แล้วก็ขอซื้อภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่เราต้องการ แล้วจะซื้อย้อนไปกี่ปีก็ตามแต่ที่เราจะซื้อ สมมติว่า เราต้องการซื้อย้อนไป 10 ปี 20 ปี เราก็เอาภาพถ่ายที่มีการถ่ายในช่วงเวลาเหล่านั้นมาดูและเปรียบเทียบ แต่แม้เราจะดูด้วยสายตาได้แล้ว เห็นชัดเจน แต่เวลานำเสนอต่อศาล เราเสนอเองไม่ได้ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาแปล โดยขอว่าผู้เชี่ยวชาญของกรมแผนที่ทหารที่แปลได้ มีใครบ้าง กรมแผนที่ทหารเขาก็จะแนะนำให้ไปหาคนนั้น คนนี้ เราก็ติดต่อเขา ให้เขาแปล ทำความเห็นออกมา และเสนอต่อศาล
@ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมแผนที่ทหารมีการแปลหรืออธิบายอย่างไร มีการนำเสนอมิติอื่นๆ ด้านสังคม มุมมอง หรือประเด็นความเป็นธรรมอื่นๆ หรือไม่
สุมิตรชัย : ตัวผู้เชี่ยวชาญเขาจะยืนยันว่าใช้หลักวิชาในการแปล หมายถึงว่าจะทำไปตามหลักวิชา ไม่มีส่วนได้เสีย ไม่เอาประเด็นเรื่องสังคม หรืออะไรมาเกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันความเห็นของเขาในทางวิชาการ แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเขาทำงาน เขาจะลงไปดูในพื้นที่ ไปดูสภาพจริง เพื่อจับพิกัดเองอีกรอบหนึ่ง เพื่อเอามาเทียบกับพิกัดว่าตรงกันจริงๆ ไหม แล้วเอาภาพถ่ายทางอากาศที่เขาไปดูมาแล้วมาเทียบ คือเอาภาพถ่ายทางอากาศที่เคยถ่ายไว้ในบริเวณนั้นมาเทียบ ว่ามีอยู่เท่าไหร่ ถ่ายไว้กี่ครั้ง แล้วนำมาแปล พอแปลเสร็จ เขาก็จะอธิบายได้ว่าลักษณะการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่มีไหม มีแค่ไหน อย่างไร ขอบเขตแค่ไหน อย่างไร เขาจะอธิบายแค่หลักวิชาการเท่านั้น ไม่อธิบายเพิ่มเติมอะไรไปถึงชุมชนที่นั่น คือ ผู้เชี่ยวชาญเขาทำให้ความเห็นของเขาเป็นหลักวิทยาศาสตร์ และเป็นหลักฐานที่ศาลจะนำไปใช้ต่อได้
@ ภาพถ่ายทางอากาศจึงนับเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้ประเด็นข้อพิพาทด้านสิทธิที่ดิน
สุมิตรชัย : ใช่ครับ เป็นวัตถุพยานที่เป็นวิทยาศาสตร์ และเถียงไม่ได้ เพราะภาพถ่ายทางอากาศ ปรากฎอย่างไร ก็อย่างนั้น เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่เหมือนกับดีเอ็นเอของคน ไม่สามารถบิดเบือนได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายทางอากาศ อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เรียกว่ากรมแผนที่ทหาร ก็ย่อมต้องรับผิดชอบในความถูกต้อง แม่นยำ
@ปัจจุบัน นโยบายรัฐให้ความสำคัญกับภาพถ่ายทางอากาศในการแก้ปัญหาด้านที่ดินหรือไม่ และผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่ายังมีอยู่มากน้อยเพียงใด
สุมิตรชัย : นโยบายทวงคืนผืนป่ายังเป็นแผนอยู่ในการดำเนินงานของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราไปดูนโยบายป่าไม้แห่งชาติฉบับใหม่ จะเห็นชัดว่า เขายังมีเป้าหมายคือต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของประเทศ
ปัจจุบันมีป่าอยู่ประมาณ 30% - 31% ต้นๆ เขาต้องการอีก 20 กว่าล้านไร่ทั่วประเทศ ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องดำเนินการต่อ ซึ่งถ้าไปดูงบประมาณปี 2563-2564 ก็มีงบที่ต้องดำเนินงานตามแผนตัวนี้อยู่ ในการที่จะเพิ่มพื้นที่ป่า เขาอาจไม่ใช้คำว่า ทวงคืนผืนป่าแล้ว แต่ใช้คำว่าเพิ่มพื้นที่ป่า แน่นอนว่ามันต้องไปกระทบราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า แต่การปฏิบัติอาจซอฟท์ลงกว่าเดิมที่เคยใช้คำสั่ง คสช.ที่ 64 แม้คำสั่ง 64 จะยกเลิกไปแล้ว แต่เขาก็เอาคำสั่งที่ 66 มาใช้กับตัวนโยบายใหม่ กับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่ออกแนวทางปฏิบัติในเขตพื้นที่ป่า
ถ้าไปดูนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ออกมาเป็น มติ ครม. จะมีแนวปฏิบัติในที่ดินเขตป่า ใน พรบ. อุทยานฯ ที่ออกมาใหม่ ก็เอาเรื่องคำสั่ง คสช.ที่ 66 เข้าไปประกอบ กับมติ ครม.ปี 41 คือให้นำเอาภาพถ่ายทางอากาศมาประกอบ เอามาพิสูจน์ เรื่องการทำประโยชน์ในพื้นที่
ดังนั้น กลไกภาพถ่ายทางอากาศมันถูกยัดเข้าไปอยู่ในตัวกระบวนการของการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ทั้งตัวคณะกรรมการแก้ไขปัญหาป่าไม้แห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และกลไกตาม พรบ. อุทยานแห่งชาติ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ดังนั้นภาพถ่ายทางอากาศ มันถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับรัฐในเขตป่าทั้งหมด
@ ฟังดูในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดี ที่มีนโยบายให้เพิ่มกลไกนี้เข้าไป
สุมิตรชัย : มีข้อดีในแง่ที่ใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาช่วย แต่กระบวนการนี้ก็เป็นการใช้เครื่องมือฝ่ายเดียวโดยรัฐ เพราะว่า ประชาชนเข้าไม่ถึง ถ้ารัฐบอกว่า ใช่ หรือไม่ใช่ ประชาชนจะเถียงอย่างไร หากเขาบอกว่า ภาพถ่ายทางอากาศ ระบุว่าคุณอยู่มาทีหลังการประกาศเขตป่า ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าจะโต้แย้งอย่างไร นอกจากคุณจะไปลงทุนหาภาพถ่ายทางอากาศมาโต้แย้งกับรัฐเอง
จุดนี้ก็ยังเป็นช่องว่างว่าข้อมูลเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ว่าเข้าไปในกูเกิลแล้วจะหาได้ มันต้องไปขอจากหน่วยงาน แล้วมันมีต้นทุนที่ต้องขอ และข้อพิพาทเหล่านี้ ประชาชนยังเสียเปรียบอยู่ แต่ถามว่าหลักฐานนี้ถือว่ามีความสำคัญสำหรับพิสูจน์ในศาลไหม มีแน่ๆ เพราะว่า ภาพถ่ายทางอากาศเป็นต้นทุนของประชาชนที่ต้องไปหามาใช้ เช่น ถ้ารัฐบอกว่า คุณเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ทีหลัง แล้วก็จะใช้อำนาจตามกฎหมายในการเอาประชาชนออกจากพื้นที่ ก็ตกมาเป็นภาระของประชาชนในการที่ต้องไปหาหลักฐานมาโต้แย้ง ซึ่งเขาก็ต้องไปหาภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งมันไม่ได้มีขายตามท้องตลาด แต่ต้องไปซื้อหรือขอ จากหน่วยงานที่มี ซึ่งประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้ในชั้นศาล
@รัฐควรเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร ในการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ
สุมิตรชัย : ควรเปิดเผยและโปร่งใส คือว่าถ้าจะแสดงให้ถึงความโปร่งใส ข้อมูลเหล่านี้ควรเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ แลเห็น แล้วก็มาดูด้วยกันกับรัฐก่อนจะดำเนินคดีทางกฎหมาย ควรมีการนำเอาภาพถ่ายทางอากาศมาแสดงให้ดูกันทั้งสองฝ่าย กระทั่งยอมรับได้ หรือในเมื่อภาพถ่ายทางอากาศยืนยันว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน รัฐก็ต้องถอย แล้วก็หามาตรการในทางกฎหมายรองรับให้เขาอยู่ได้อย่างถูกต้อง แล้วก็อยู่อย่างยั่งยืน ในแง่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ นี่คือแนวทางของการแก้ไขปัญหามากกว่าจะใช้กฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้น มันก็เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ จะเลือกใช้กฎหมาย โดยไม่ใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศก็ได้ เพราะตัวบทกฎหมาย ไม่ได้เขียนว่าคุณต้องไปดำเนินการในกระบวนการนี้ก่อนที่จะไปดำเนินคดีกับชาวบ้าน มันเป็นแค่ตัวนโยบาย ซึ่งก็เป็นแค่นโยบายกว้างๆ ที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ในการใช้
ดังนั้น มันก็เป็นปัญหาว่า หากเป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ มันก็อาจจะมีความไม่เหมือนกัน แนวปฏิบัติต่างกัน คือ เหล่านี้ ผมมองว่ายังเป็นปัญหาในแง่ของกระบวนการในการที่จะใช้ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
..............…
ตราบใดที่คนกับป่ายังอยู่ร่วมกัน และนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าซึ่งต่อยอดมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่ายังคงอยู่ อาจมีความไม่เข้าใจ มีประเด็นข้อพิพาทเกิดขึ้นในการประกาศพื้นที่ป่าทับที่ทำกินของชาวบ้านเกิดขึ้นอีกในหลายกรณี เมื่อนั้นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศย่อมเป็นหนึ่งในวัตถุพยานสำคัญ ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะจากนักกฎหมายด้านสิทธิที่ดินรายนี้ที่เสนอว่าแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศควรเปิดเผย โปร่งใส และให้ประชาชนเข้าถึงได้ จึงนับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย
-หมายเหตุ ภาพประกอบจาก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ trueplookpanya.com smartbomb.co.th