"...ถ้านักการเมืองถึงทางตัน หันมาใช้วิถีทางสายกลางทางการเมือง สร้างการเมืองใหม่ โดย หนึ่ง เลือกนายกรัฐมนตรีด้วยมติเป็นเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎร สอง ออกกฎหมายสร้างระบบสมัชชาพัฒนานโยบายสาธารณะแห่งชาติ อันเป็นเครื่องมือพัฒนาประชาธิปไตย และประเทศชาติอย่างก้าวกระโดด..."
1. พยากรณ์ได้ว่าการเมืองใหม่จะมาถึงในไม่ช้า เพราะ หนึ่ง ประชาชนเอือมระอากับการเมืองเก่าๆ เต็มที สอง วิกฤตโควิดแสดงให้เห็นว่าการเมืองเก่าๆ ที่ไม่มีคุณภาพไม่สามารถนำประเทศพ้นวิกฤตได้
2. คงจะมีการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อหาทางออกจากสภาวะเก่าอันไม่โสภา การเมืองใหม่เริ่มจากกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ได้จากมติเป็นเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎร
3. ตรงนี้ที่เป็นการเมืองใหม่เพราะใช้วิถีทางสายกลาง ทางสายกลางเป็นทางแห่งความเป็นเหตุเป็นผลล้วนๆ หรือทางสายปัญญา ไม่มีการแบ่งข้างแบ่งขั้ว เราไปเอาอย่างฝรั่งเสียนาน ฝรั่งคิดแบบตายตัวจึงแยกส่วน นำไปสู่การแบ่งข้างแบ่งขั้ว ขัดแย้ง และรุนแรง ประวัติศาสตร์ของยุโรปจึงเต็มไปด้วยสงคราม การเมืองแบบแบ่งข้างแบ่งขั้วสุดๆ (polarized) ก็เห็นได้ในการเมืองของสหรัฐอเมริกาซึ่งพิกลพิการแล้ว วุฒิสภาโหวดสนับสนุนทรัมป์เพราะเป็นพวกเดียวกัน เป็นการโหวดโดยความเป็นพรรคหรือพวกมากลากไป ไม่ใช่แต่ละคนมีอิสระที่จะใช้ความเป็นเหตุเป็นผล และวิจารณญาณของตนเอง
4. บุคคลถ้าตกอยู่ในสภาพการณ์ถูกอำนาจบีบบังคับ จะใช้สมองส่วนหลังซึ่งเป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน ทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอด หนีภัย หลอกลวง แต่ถ้าบุคคลมีอิสระที่จะใช้วิจารณญาณของตนเองจะใช้สมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ซึ่งอยู่หลังหน้าผาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญา วิจารณญาณ ศีลธรรม การก้าวข้ามตัวตน รัฐสภาต้องเป็นสภาที่ใช้สมองส่วนหน้า ไม่ใช่สมองส่วนหลัง จึงจะเป็นการเมืองใหม่
5. ถ้าสส.แต่ละท่านใช้วิจารณญาณของตนเอง จะใช้สมองส่วนหน้าและตัดสินใจในเรื่องดีๆ ได้ แต่ถ้าต้องทำตามมติของพรรคหรือของกลุ่ม ก็ไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไร เพียงแต่ถูกต้อนไปโดยนายทุนพรรคหรือนายทุนกลุ่ม เพื่อต่อรองเอาอำนาจทางการเมือง การเมืองเก่าเป็นอย่างนี้ จึงไม่มีคุณภาพเรื่อยมา เป็นปัจจัยให้ประเทศวิกฤต
6. ฉะนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงควรให้สส.แต่ละท่านใช้วิจารณญาณของตนเอง โหวตหลายรอบจนกระทั่งได้มติเป็นเอกฉันท์ แบบที่สภาพระคาร์ดินัลโหวตเลือกพระสันตะปาปาในวิหารซิสทีน ณ กรุงวาติกัน บางครั้งใช้เวลาหลายวันกว่าจะได้ฉันทามติ ประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่ประชาธิปไตยเสียงข้างมากเท่านั้น แต่มีประชาธิปไตยที่เป็นเอกฉันท์ด้วย
เมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นที่ยอมรับของสส.ทั้งสภา การเมืองก็หมดความเป็นข้างเป็นขั้ว แต่ดำเนินไปด้วยความเป็นเหตุเป็นผลและวิจารณญาณ นายกรัฐมนตรีมีอิสระที่จะแสวงหาคนที่มีคุณภาพดีที่สุดมาช่วยกันบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่ขึ้นกับโควตาของกลุ่มต่างๆ ในพรรคการเมือง ระบบโควตาของกลุ่มในพรรคการเมืองไม่การันตีได้ว่าจะได้คนดีที่สุดมาบริหารบ้านเมือง
การเมืองใหม่ เคารพสิทธิของประชาชนที่จะได้คนที่ดีที่สุดมาบริหารประเทศ เลิกการยอมรับสิทธิของกลุ่มก๊วนต่างๆ ที่จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีการเมืองสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนศีลธรรมไม่ใช่แบบนั้น
7. การเมืองใหม่อีกอย่างหนึ่งคือ การแก้รัฐธรรมนูญ หรือออกพระราชบัญญัติกำหนด ให้มีการประชุมสมัชชาพัฒนานโยบายสาธารณะแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือพัฒนาประชาธิปไตย และบ้านเมืองอย่างก้าวกระโดด ดังที่จะอธิบายต่อไปนี้
8. การเมืองเป็นเรื่องของการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ นโยบายสาธารณะเป็นความเจริญหรือความเสื่อมของประเทศ ขึ้นกับว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีหรือไม่ การได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะที่ดีเป็นเรื่องยาก เพราะมีบุคคลและคณะบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก และความอ่อนแอทางวิชาการ การเมืองใหม่จึงต้องสัมพันธ์อยู่กับกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดี กระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดีเป็นกระบวนการทางปัญญาและความดีสูงสุดของประเทศ เป็นประชาธิปไตยที่แท้และประชาธิปไตยอัตถประโยชน์ เป็นที่เรียกว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม หรือ P4 (Partipatory Public Policy Process) ที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม
9. องค์ประชุมของสมัชชาพัฒนานโยบายสาธารณะแห่งชาติ ประกอบด้วย
(1) สมาชิกรัฐสภา
(2) คณะรัฐมนตรี
(3) ตัวแทนองค์กรชุมชนท้องถิ่น
(4) ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ซึ่งรวมทั้งภาคธุรกิจและสื่อมวลชน
(5) ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนโยบายในวาระการประชุม
(6) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายสาธารณะ
(7) ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ
นโยบายที่ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รัฐสภาและครม.รับไปปฏิบัติ มีกลไกติดตามสนับสนุนการปฏิบัติ และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย การพัฒนานโยบายสาธารณะที่ครบวงจร ตั้งแต่การสังเคราะห์นโยบายสาธารณะ ผ่านการตัดสินใจโดยสมัชชาซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม การที่ฝ่ายการเมืองรับไปปฏิบัติ มีการติดตามช่วยเหลือผู้ปฏิบัติให้ปฏิบัติได้ และมีการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย เพื่อเป็นข้อมูลป้อนกลับมาพัฒนานโยบายให้ดียิ่งขึ้นเป็นกระบวนการประชาธิปไตย ที่ใช้สติปัญญาสูงสุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ นี้เป็นการเมืองใหม่
10. ท่านสามารถอ่านรายละเอียดในบทความต่างหากโดยผู้เขียน ชื่อ “สมัชชานโยบายสาธารณะแห่งชาติ : เครื่องมือพัฒนาประชาธิปไตยและประเทศชาติอย่างก้าวกระโดด”
โดยสรุป ถ้านักการเมืองถึงทางตัน หันมาใช้วิถีทางสายกลางทางการเมือง สร้างการเมืองใหม่ โดย หนึ่ง เลือกนายกรัฐมนตรีด้วยมติเป็นเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎร สอง ออกกฎหมายสร้างระบบสมัชชาพัฒนานโยบายสาธารณะแห่งชาติ อันเป็นเครื่องมือพัฒนาประชาธิปไตย และประเทศชาติอย่างก้าวกระโดด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Kapook.com