"...จังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด และ อบท.) หรือกลุ่มจังหวัด ลงมือลงแรงร่วมกับภาคธุรกิจและชุมชน โดยภาคธุรกิจ(บริษัท รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการที่รวมตัวกันเป็นสมาคม เป็นสภา ฯลฯ) นำความรู้ (know how) ด้านต่างๆ ที่ตนมีไปเผยแพร่ต่อถึงประชาชน (จะเป็นชนบทหรือในเมืองก็ได้) เพื่อให้ท้องถิ่นก้าวไปสู่การผลิตสินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพ..."
ขอสนองนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” ด้วยการนำเสนอความคิดและแนวปฏิบัติเรื่อง “ธุรกิจท่องเที่ยววิถีใหม่”
เที่ยวเมืองไทยไม่สะดวก ใครจะปรับปรุงอะไร ได้บ้าง
1. ในโครงสร้างระดับบน ต้องเปลี่ยนวิธีวัดผลงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพราะเน้นวัดอะไรก็จะได้อย่างนั้น ควรเลิกวัดปริมาณนักท่องเที่ยวเฉพาะต่างชาติ แต่หันมาวัดนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม วัดที่คุณภาพ และการอยู่นาน เช่น จำนวนเงินที่ประเทศไทยได้รับจากนักท่องเที่ยว(ต่อคน) หรือจำนวนวันที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น และวัดผลงานการช่วยสนับสนุนด้านวิชาการให้กับส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้ปรับปรุงบริการด้านการท่องเที่ยว (ไม่ใช่การจัดมหกรรมต่างๆ ที่เหมือนฝนเทลงมาครั้งเดียวจบ)
แรงจูงใจและวิธีการวัดผลที่ถูกต้องเท่านั้นจะทำให้หน่วยงานทำผลงานที่ต้องการออกมาอย่างได้ผล
2. เงินสี่แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งควรลงไปในโครงการพัฒนาคุณภาพของเมืองต่างๆ เช่น
ก. จัดระบบขนส่งสาธารณะบริการผู้โดยสารแบบหลากหลายในเมืองต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ
ข. เชิญชวนศิลปินไปช่วยปรับปรุงสถานที่ต่างๆ ให้งดงาม หรือน่าสนใจ เช่น ปรับปรุงวัดร่องเสือเต้น ในรูปโฉมใหม่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ใน จ. เชียงราย หรือวาดภาพแบบกราฟิติสวยๆ บนกำแพง ใน อ.เมืองสงขลา กับ ถนนเจริญกรุงใน กทม. เป็นต้น
ค. เชิญชวนคนในวิชาชีพการวางผังเมือง ผังย่าน เข้ามาช่วยปรับปรุงพื้นที่ประวัติศาสตร์ พื้นที่ชุมชน ฯลฯ ในส่วนเมือง ให้ได้เมืองที่ใช้ประโยชน์ได้ดี ทำมาหากินได้คล่อง และน่าอยู่ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติวิทยาของพื้นที่ ฯลฯ
3. โครงการเที่ยวด้วยกัน (เที่ยวปันสุข) อุตสาหกรรมโรงแรมและท่องเที่ยวเริ่มขานรับแล้ว แต่ยังมีงานที่ส่วนกลาง ต้องชี้นำและโน้มน้าวให้ การท่องเที่ยวฯ ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ สร้างสรรค์และปรับปรุงบริการเพื่อการท่องเที่ยวยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อสนองตอบ/เพิ่มอุปสงค์ของนักท่องเที่ยวเพื่อการเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นข้อเสนอในคราวนี้
ข้อเสนอเพื่อการจัดบริการท่องเที่ยว
ข้อเสนอนี้มีนักท่องเที่ยวเป็นตัวตั้ง บริษัททัวร์ ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และหน่วยงานต่างๆเป็นผู้จัดให้เกิดขึ้น
เที่ยวเมืองไทยไปได้ยากมาก ต้องรอเพื่อนจัด รอญาติ รอการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ ต้องมีรถ มีคนขับรถ ฯลฯ แม้ว่าการท่องเที่ยวฯ จะประชาสัมพันธ์มาหลายปีแล้ว แต่ไปไม่ง่ายสำหรับคนไม่ใช่วัยรุ่นชอบลุยลอจิสติกส์การเดินทางเพื่อเที่ยวแพงมากและขัดข้องขรุขระ การจัดการเดินทางและท่องเที่ยวให้เรียบไร้รอยต่อ ในราคาสมเหตุสมผลจะเพิ่มจำนวนคนเที่ยวได้มากขึ้น (ตัวอย่าง seamless connection ในประเทศเนเธอร์แลนด์)
คนชอบเที่ยวอยากได้ทัวร์แบบ mix & match แบบต่างๆ ดังต่อไปนี้
(ก) บริษัททัวร์ที่ให้บริการวางแผนการท่องเที่ยวและจองทุกอย่างให้ก่อนเดินทาง
(ข) Unbundle packaged tour เป็นการเดินทาง/ที่พัก/ท่องเที่ยว
(ค) ทัวร์ท้องถิ่นมีมากกว่านี้อีกมากๆ
(ง) เดินทางด้วยรถสาธารณะหรือกึ่งสาธารณะได้อย่างสะดวก
ทั้ง 4 ข้อนี้เกี่ยวพันกันอยู่
(ก) อยากให้มีบริษัททัวร์ที่จัดหาซื้อตั๋วเดินทางจากจังหวัดที่อยู่ ไปยังจังหวัดจุดหมายให้ มีบริการจองโรงแรม จองรถรับส่งถึงโรงแรม และหาซื้อทัวร์ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ให้ด้วย เหมือนกับที่เราซื้อตั๋วเครื่องบินได้ทั่วโลกจากบริษัททัวร์รายเดียว เทคโนโลยีและการเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่ต้องจัดให้มี
บริษัททัวร์ + ธุรกิจท่องเที่ยว + อุตสาหกรรมโรงแรม + การท่องเที่ยวฯ ช่วยกันเถอะ
(ข) อยากให้การจัดทัวร์ที่มีอยู่ แบ่งบริการออกเป็นส่วนๆ
แบบเดิม จัดทัวร์แบบต้องไปไหนไปกันตลอดทาง และมักเป็นการพานักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ไปไหนต่อไหนตามกำหนด ทำให้สงสัยว่า
(1) ถ้าเราอยู่ต่างจังหวัดแล้วเราอยากเที่ยวบ้าง เราจะต้องมาขึ้นรถที่กรุงเทพฯ หรือ
(2) ถ้าเราอยากไปร่วมด้วยแค่บางวัน ทำได้ยังไงไหม
(3) มีทัวร์ให้คนจากจังหวัดอื่นที่อยากมาทัวร์เมืองหลวงของประเทศบ้างไหม ( เขียนเรื่องชวนเที่ยวกรุงเทพฯ หลายเส้นทางไว้ใน facebook: “knowledge plus by นวพร” เป็นตอนๆ แล้ว เป็นคนกรุงเทพฯ ก็ต้องชวนใครต่อใครมาเที่ยวกรุงเทพฯ สิ)
แบบใหม่
ฉีกทัวร์เดิมๆ ออกเป็นส่วนๆ แยกค่าเดินทาง ค่าทัวร์ และค่าโรงแรมออกจากกัน ซึ่งบริษัทจัดนำเที่ยวทำได้แน่ๆ แต่ยุ่งขึ้นอีกหน่อย คือ
(1) พาไปถึงจังหวัดจุดหมาย (จะเป็นกรุงเทพฯ หรือจังหวัดไหนก็ตาม) และจองที่พัก
สำหรับคนที่ต้องการซื้อความสะดวกในการจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมที่พัก ขนกระเป๋าพาเข้าพักในโรงแรม แล้วก็ดูแลตอนขากลับในทำนองเดียวกัน
(2) นำเที่ยวในพื้นที่จังหวัดจุดหมาย
* ถ้าไปทัวร์เดียวกันแต่แยกที่พักก็ต้องมีบริการรับส่งนักท่องเที่ยวในระหว่างเที่ยวด้วย แต่นักท่องเที่ยวก็มีทางเลือกอื่นอีกเช่น
* เลือกซื้อทัวร์ท้องถิ่น (ดูข้อ ค.) อยากไปวันไหน ที่ไหน ก็เลือกเอา
(ค) ทัวร์ท้องถิ่นเป็นธุรกิจท้องถิ่น
บริการนำเที่ยวในระดับท้องถิ่น (ซึ่งได้ลูกค้าจากบริษัททัวร์ที่ส่งลูกค้ามาให้ หรือลูกค้าจองเอง ซื้อเอง) ชมของดีๆ ของจังหวัด และวิถีชีวิตเพื่อเป็นประสบการณ์ แบบนี้คนในท้องถิ่นมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการระดับมาตรฐานสากลบ้าง มีผลด้านการกระจายความมั่งคั่งสู่ท้องถิ่นโดยตรง และอาจจะช่วยให้นักเรียนและนักศึกษาได้มีงานพิเศษทำระหว่างเรียนอีกด้วย
(ง) การเที่ยวในเมืองหรือจุดหมายใกล้เมืองด้วยรถสาธารณะ
การไปเที่ยวหมายถึงได้เดินเที่ยวดูเมืองด้วย การเที่ยวในเมืองเพิ่มยอดขายสินค้าท้องถิ่นได้ด้วย ถ้าส่งเสริมสินค้าคุณภาพดี ราคาไม่จำเป็นต้องถูก
*หลายจังหวัดมีบริการรถนำเที่ยวรอบเมือง บางจังหวัดให้นั่งรอบเดียวจบ บางจังหวัดให้ขึ้นๆ ลงๆ ตามสะดวกตลอดวัน
*ในต่างแดนมีมัคคุเทศก์พาชมเมือง ของเรามีมัคคุเทศก์พาชมแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกัน เช่น สามพันโบก ที่อุบลราชธานี หรือถ้ำ จังหวัดตรัง เป็นต้น
*เที่ยวเองตามอัธยาศัย
ต้องแก้ปัญหา 2 ข้อ
(1) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และส่วนภูมิภาค รวมทั้งการท่องเที่ยวฯ ต้องคิดแก้ปัญหาเรื่องค่าเดินทางสำหรับการเที่ยวในต่างจังหวัดของเมืองไทยที่แพงมาก (ไม่เว้นแม้แต่อำเภอเมือง) เพราะไม่มีรถสาธารณะประจำทาง ไม่มีแท็กซี่ติดมิเตอร์ จะไปไหนๆ มักต้องเช่าเหมารถ ไม่ก็นั่งรถคันเล็กๆ ที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารกลางเมือง บางอำเภอบางจังหวัดก็วิ่งประจำเส้นทาง บางพื้นที่ก็แล่นแบบตามใจผู้โดยสารและคนขับ
(2) จังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด และ อบท.) หรือกลุ่มจังหวัด ลงมือลงแรงร่วมกับภาคธุรกิจและชุมชน โดยภาคธุรกิจ(บริษัท รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการที่รวมตัวกันเป็นสมาคม เป็นสภา ฯลฯ) นำความรู้ (know how) ด้านต่างๆ ที่ตนมีไปเผยแพร่ต่อถึงประชาชน (จะเป็นชนบทหรือในเมืองก็ได้) เพื่อให้ท้องถิ่นก้าวไปสู่การผลิตสินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพ
ผ่าหมูเอาเงินไปเที่ยว!
ทั้งหมดนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมต้องปรับตัว ซึ่งก็เป็นปกติของการทำธุรกิจ และส่วนกลางก็ต้องช่วยเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ขายทัวร์ท้องถิ่น ผู้ขายทัวร์รายใหญ่ในส่วนกลาง และโรงแรม อย่ามัวแต่เรียกร้องให้เปิดประเทศระหว่างที่คุณโควิด-19 ยังอาละวาดไม่เลิก เงินง่ายๆ แบบค่าน้ำจากร้านค้าหรือร้านอาหารของการไปทัวร์เป็นกลุ่มไปเมืองนอก (ซึ่งเมืองนอกเป็นผู้วางระบบเชื่อมต่อ) อาจจะยังไม่มาอีกนาน หรือไม่มาเลยก็ได้ เรามาคิดกันดีกว่าว่า ปิดประเทศแบบนี้ การท่องเที่ยววิถีใหม่อยู่ที่ไหน หาตลาดให้เจอ เช่น แยกตามรายได้ ตามรสนิยม ตามไลฟ์สไตล์ ตามความสนใจเฉพาะ เช่น ทัวร์ถ่ายรูป ทัวร์กิน ทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ตลาดของ ส.ว. ที่ยังมีแรงเที่ยว มีเวลาว่างในวันธรรมดา และมีกำลังเงินพอจะจ่ายก็เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ
อาจจะมีประเด็นแย้งว่า “คนไทยไม่เที่ยวเมืองไทย” ก็อาจจะโต้ได้ว่า “หมิ่นกำลังซื้อของคนไทยในยามที่ประเทศกำลังต้องการหรือเปล่า”
อย่าลืมประโยคน่าคิดสองประโยคนี้
“Supply creates its own demand.”
“People do not know what they want until you show it to them.” (อันนี้ของคุณสตีฟ จ๊อบส์)
มีถนนให้ขับสบายๆ คนที่ไม่เคยคิดจะมีรถก็หันมาซื้อรถ
มีสมาร์ทโฟนออกมา ใครที่ไม่เคยคิดมีโทรศัพท์พกพาก็เริ่มหามาใช้
มีที่ให้เที่ยวสบายๆ ได้มาตรฐาน และมีความน่าสนใจ นักท่องเที่ยวที่ไม่เคยคิดว่ามีก็อาจจะปรากฏตัวออกมา
นี่คือวิถีใหม่ของการท่องเที่ยว วางแผนแบบยืดหยุ่น ใส่ใจคุณภาพ และมาเพื่อดื่มดำธรรมชาติ และวัฒนธรรมต่างถิ่น
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ถึงทางตันหรอก ตราบเท่าที่คนเรายังชอบเติมประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต ผู้ประกอบการแค่งอแงเท่านั้นเอง เพราะธุรกิจ “ไม่ง่าย” และไม่ใช่วิถีเดิมที่คุ้นเคย การก้าวข้ามปัญหานี้ได้ ธุรกิจของเราก็โตขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
นวพร เรืองสกุล 30 มิ.ย. 2563 (ปรับปรุง 1 ก.ค.2563)
ขอบคุณเจ้าของสติกเกอร์บัวลุย ที่อนุญาตให้นำไลน์สติกเกอร์มาใช้เป็นภาพประกอบ
หมายเหตุ ในโอกาสต่อไป จะนำประสบการณ์ในญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อท่านที่สนใจจะได้แตกความคิดเป็นธุรกิจได้ ผู้ใดคิดได้แล้ว ลงมือลองเลย ลุ้นนะ