"...การรื้อถอนอาคารบอมเบย์เบอร์มาในจังหวัดแพร่เมื่อเร็วๆนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์และตำหนิติเตียนการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหรือสั่งการอย่างกว้างขวาง สิ่งหนึ่งที่ขัดแย้งและแก้ต่างกันที่เจ้าหน้าที่ยกมาอ้างก็คือ อาคารบอมเบย์เบอร์มานี้ ไม่ได้อยู่ในการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร เพราฉะนั้นจึงซ่อมแซมหรือรื้อถอนได้ อันเป็นที่มาของอาคารที่ถูกแยกออกเป็นชิ้นๆอย่างไม่ปราณีปราศัยตามที่เราเห็นในภาพ..."
การรื้อถอนอาคารบอมเบย์เบอร์มาในจังหวัดแพร่เมื่อเร็วๆนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์และตำหนิติเตียนการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหรือสั่งการอย่างกว้างขวาง สิ่งหนึ่งที่ขัดแย้งและแก้ต่างกันที่เจ้าหน้าที่ยกมาอ้างก็คือ อาคารบอมเบย์เบอร์มานี้ ไม่ได้อยู่ในการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร เพราฉะนั้นจึงซ่อมแซมหรือรื้อถอนได้ อันเป็นที่มาของอาคารที่ถูกแยกออกเป็นชิ้นๆอย่างไม่ปราณีปราศัยตามที่เราเห็นในภาพ
เรื่องนี้คงต้องคอยสักพักว่าอาคารบอมเบย์เบอร์มาถูกรื้อลงเพราะอะไรกันแน่
ท่านผู้อ่านที่เคยเดินทางไปยังประเทศต่างๆในยุโรปหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับอาคารสถานที่อันเก่าแก่ในประเทศเหล่านั้น อาจจะสงสัยว่ายุโรปเขามีการอนุรักษ์รักษาสถานที่โบราณเหล่านี้ไว้ได้อย่างไรและในวิธีการเช่นไร
ประเทศอังกฤษที่เราคุ้นเคยมากที่สุด มีหลักการและวิธีการที่น่าสนใจมากทีเดียวในการอนุรักษ์รักษาอาคารสถานที่หรือโบราณสถาน มาดูกันว่าเขาทำกันอย่างไรซึ่งอาจเป็นข้อมูลให้คนไทยหรือหน่วยงานที่ต้องดูแลสถานที่สำคัญๆของชาติได้รู้ว่า เราจะมีส่วนร่วมที่จะรักษาสมบัติเก่าแก่ของประเทศให้คงอยู่ต่อไปอย่างไร
อังกฤษใช้ระบบที่เรียกว่า Listed Buildings หรืออาจแปลได้ว่าคือ การขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้าง
The older a building is, and the fewer the surviving examples of its kind, the more likely it is to be listed.
เขาบอกว่า “สิ่งปลูกสร้างที่เก่าแก่และมีเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง มีความเป็นไปได้มากที่จะต้องขึ้นทะเบียน (เพื่อดูแลรักษา)” หรือสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะพิเศษและมีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์จะได้รับการพิจารณาให้อยู่ในระบบของการอนุรักษ์เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสำหรับคนรุ่นหลัง
หลักการทั่วไปที่อังกฤษใช้ในการพิจารณาอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างคือ ทุกอาคารที่สร้างก่อน ค.ศ. 1700 ที่ยังอยู่ในสภาพดั้งเดิมจะถูกขึ้นทะเบียน เช่นเดียวกับส่วนใหญ่ของอาคารที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1700-1850 หรือกลุ่มอาคารบ้านเรือนที่มีอายุยังไม่มากที่สร้างหลังจากปีค.ศ. 1945 จะถูกคัดเลือกอย่างละเอียดละออว่าควรจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ สำหรับอาคารที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปีจะไม่พิจารณาว่าเป็นสถาปัตยกรรมพิเศษหรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่ายังไม่ผ่านการทดสอบของกาลเวลาที่ยืนนานนักนั่นเอง
มีคำอธิบายเพิ่มเติมของ Listed building ในอังกฤษว่าจะต้องเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความพิเศษในตัว มีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์และมีความสำคัญต่อประเทศชาติเพราะฉะนั้นจึงจะคุ้มค่าที่จะคุ้มครองให้อยู่ต่อไป
Listed buildings are considered nationally important and therefore have extra legal protection within the planning system.
นอกจากนี้ Listed building ยังปรากฏอยู่ในรายชื่อหรือขึ้นทะเบียนไว้ใน National Heritage List for England อีกรายการหนึ่งอีกด้วย และการขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างใน National Heritage List for England ทำให้มีการแบ่งหรือกำหนดความสำคัญของสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นขอยกคำภาษาอังกฤษมาให้ท่านอ่านดังนี้
Listed buildings come in three categories of 'significance':
- Grade I for buildings of the highest significance
- Grade II* and
- Grade II
แน่นอน Grade I คืออาคารที่จัดอยู่ในระดับที่มีความสำคัญมากที่สุด (exceptional interest )แต่ก็มีจำนวนน้อยที่สุดคือมีเพียง 2.5 % ส่วน Grade II* นั้นเขาบอกว่าจัดอยู่ในมวลหมู่อาคารที่มีความสำคัญเป็นพิเศษและมีความที่น่าสนใจที่เป็นพิเศษอีกด้วย อาคารประเภทนี้มีอยู่ 5.8 % ส่วนอันดับที่ 3 คือ Grade II นี้มีจำนวนมากที่สุดคือ 91.7 % โดยมีความที่น่าสนใจที่ควรอนุรักษ์ไว้และส่วนใหญ่ของอาคารอันดับนี้จะเป็นอาคารที่มีเจ้าของและใช้เป็นที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ดีในบทความที่ไปค้นมานี่บอกว่าในอังกฤษนั้นไม่สามารถบอกได้ว่ามีจำนวนอาคารที่จัดอยู่ใน listed buildings ทั้งหมดเท่าไหร่กันแน่ เพราะระบบที่ลงทะเบียนใน National Heritage List for England (NHLE)นั้นมีการจดจำนวนต่างกัน แต่มีการประมาณว่าตามทะเบียนของ NHLE คงจะมีอาคารอนุรักษ์ทั้งประเทศอยู่ราว 400,000 หรือ 500,000 อาคารด้วยกัน
การสงวนรักษาอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ที่ถูกขึ้นทะเบียนในอังกฤษมีระบบที่รัดกุมทีเดียว เจ้าของหรือผู้ดูแลก่อนที่จะทำการซ่อมแซมหรือปฏิบัติการใดๆภายในตัวอาคารหรือนอกอาคารจะต้องยื่นเรื่องขออนุญาตกับหน่วยงานที่ดูแลเพื่อให้ได้รับคำยินยอมหรืออนุญาตเสียก่อน อ่านดูแล้วหลายขั้นตอนทีเดียว
ขอยกตัวอย่างบ้านที่ตกอยู่ใน Listed buildings และขอเล่าแบบกระชับเพื่อให้เข้าใจง่ายๆคือเริ่มต้นเจ้าของบ้านต้องติดต่อฝ่ายผังเมืองหรือ Planning Department ในเขตท้องที่ local authorityที่อาคารนั้นตั้งอยู่ ถ้าด่านแรกนี้เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ทำมา ต่อไปต้องไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า Conservation Officer หรือเจ้าหน้าที่ด้านอนุรักษ์ที่ส่วนใหญ่ของเขตท้องที่จะมีเจ้าหน้าที่ด้านนี้ทำงาน เจ้าหน้าที่ผู้นี้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อเสนอของการซ่อมแซมได้อย่างดีทีเดียวเช่นอาจจะต้องขออนุญาตด้านอื่นเพิ่มอีกหรือว่าการซ่อมแซมควรจะทำอะไรบ้างที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบ้านหลังนั้นหรือเรื่องอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างประวัติศาสตร์ เขาบอกว่าคนๆนี้จะเป็นที่พึ่งทางใจของเจ้าของบ้านอนุรักษ์อย่างดีที่สุดคนหนึ่ง
เมื่อพบคนๆนี้แล้ว เขาจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่เจ้าของบ้านจะไปพบ ยังมีอีกหลายคนที่ต้องไปปรึกษา เช่น นักโบราณคดีท้องถิ่น County Archaeologist ถ้าบ้านหลังนั้นเกี่ยวข้องกับโบราณสถาน และอีกหน่วยงานหนึ่งที่อาจจะต้องเจอก็คือ Historic England แม้ว่าหน่วยงานนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเจ้าของเอกชนโดนตรง แต่เจ้าหน้าที่เขตท้องที่ก็อาจจะปรึกษาหรือขอความคิดเห็นจาก Historic England ได้ในกรณีที่จะมีการซ่อมแซมบ้านที่จัดอยู่ในรายการ Grade I หรือ Grade II ที่มีข้อเสนอเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่าง
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงความรัดกุมหรือเอาจริงในการซ่อมแซมบ้านอาคารสถานที่ทั้งหลายในอังกฤษ ยังมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญอีกหลายแห่งที่สามารถให้คำปรึกษาโดยเฉพาะด้านของอาคารเหล่านั้น เช่น The Ancient Monuments Society สมาคมนี้ให้คำปรึกษาด้านอนุสรณ์สถานหรือสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของทุกยุคและทุกรูปแบบหรือ The Society for the Protection of Ancient Buildings สมาคมนี้ทำงานหลักด้านโครงสร้างของอาคารที่เก่าแก่มากคือโครงสร้างที่สร้างขึ้นก่อน ค.ศ. 1700, The Georgian Group กลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมระหว่างปีค.ศ. 1700-1840,The Victorian Society กลุ่มนี้รอบรู้สถาปัตยกรรมในยุควิคตอเรียนและเอ็ดเวิร์ดเดียน หรือช่วงเวลาระหว่างปีค.ศ. 1840-1914 และThe Twentieth Century Society สมาคมนี้ดูแลสถาปัตยกรรมหรือศิลปะจากปีค.ศ. 1914 เป็นต้นไป
จะเห็นได้ว่าประเทศอังกฤษให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างเก่าแก่อย่างยิ่งจึงมีสมาคมหรือกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆรวมตัวกันขึ้นมาศึกษา รู้จริงและให้คำแนะนำ และคนอังกฤษเองก็ให้ความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองโบราณสถานอย่างจริงจัง และทำกันอย่างตั้งใจจริง
Historic England publishes an extensive range of expert advice and guidance to help you care for and protect historic places.
“Historic England ได้จัดทำและเผยแพร่คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและแนะแนวทางอย่างละเอียดให้ท่านช่วยดูแลและปกป้องสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
แม้จะมีความตั้งใจจริงแต่ก็ต้องมีช่องทางให้ทำ ในข้อมูลของ Historic Englandที่ค้นมาเขาบอกว่ามีช่องทางหลักอยู่สองอย่างที่จะเสนอให้ขึ้นทะเบียนอาคารให้เป็นอาคารอนุรักษ์คือ หนึ่ง. ใครก็ได้สามารถเสนออาคารให้เป็นอาคารอนุรักษ์ หรือ สอง.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีรายการของอาคารที่เห็นว่าควรขึ้นทะเบียนไว้อีกด้วย
ในทั้งสองกรณีข้อเสนอจะนำเสนอต่อร.ม.ต กระทรวงดิจิดัล,สื่อสารและการกีฬาให้พิจารณาและตัดสินว่าอาคารใดสมควรที่จะขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การอนุรักษ์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินและเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย และเพื่อให้การดูแลรักษาเป็นไปได้จริง จึงมีการตั้งกองทุนขึ้นมาซึ่งอาจจะมีอยู่หลายกองทุน แต่ที่ผู้เขียนค้นมาขออ้างถึง ข้อมูลของ Historic England อีกครั้งคือ เงินทุนช่วยเหลือของกองทุนนี้จะพิจารณาให้กับโครงการที่ต้องการการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนซึ่งถ้าไม่ได้เงินช่วยจากกองทุนนี้โครงการอนุรักษ์นั้นๆจะไม่สามารถดำเนินการได้ หรือโครงการอันใดที่จัดว่าดีที่สุดหลังจากการซ่อมแซมฟื้นฟูและโครงการนั้นต้องใช้เงินเท่าใด ซึ่งเขาจะมีขั้นตอนของการขอเงินสนับสนุนอย่างละเอียดทีเดียว
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าแนวทางของการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่หรือสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษนั้นมีระบบที่ชัดเจน มีข้อมูลแนะนำอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้และมีเงินทุนสนับสนุน แม้ว่าจะไม่ได้ทุกโครงการก็ตาม แต่ที่ผู้เขียนเห็นชัดคือ ความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของทุกฝ่ายที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ และที่น่ายกย่องอีกอย่างที่ค้นพบคือ อังกฤษไม่เพียงแต่จะดูแลรักษาและปกป้อง อาคารบ้านเรือน อนุสรณ์สถานต่างๆเท่านั้น แต่เขายังขึ้นทะเบียนสวนสาธารณะ, สวน,ภูมิทัศน์,สนามรบ,ซากเรือ หรือซากสลักหักพังในที่ต่างๆอีกด้วย ลองอ่านข้างล่างนี้กันดู เผื่อเราจะมีพลังดูแลประวัติศาสตร์ของประเทศชาติ ไม่ให้ผิดพลาดเหมือนบอมเบย์เบอร์มากันอีก
There are currently 44 selection guides covering the full range of building types, archaeological sites, designed landscapes, battlefields, and wrecks:
- Twenty relate to different building types
- Eighteen cover archaeological sites
- Four focus on designed landscapes
- One deals with battlefields
- One handles ships and boats (ข้อมูลจาก Historic England)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://mgronline.com/