"...คำตอบของแบงก์ชาติในนามของรัฐในทุกเวที รวมทั้งในเวทีสภาวาระอนุมัติพระราชกำหนด คือหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade เป็นกลุ่มใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของวงเงิน 3.6 ล้านล้านบาท และผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นพี่น้องประชาชนที่มีเงินออม หากเกิดปัญหาจะกระทบทั้งระบบ ส่วนกลุ่ม High yield bond เป็นส่วนน้อย..."
แม้จะมีผลบังคับใช้สมบูรณ์ไปแล้ว แต่จนบัดนี้ยังไม่มีเอกชนผู้ออกหุ้นกู้ระดับ Investment grade รายใดมาขอเข้าโครงการกองทุน BSF ที่ตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดฉบับที่ 3 เลยแม้แต่รายเดียว เงินที่มาจาก ‘การบริหารจัดการสภาพคล่องของแบงก์ชาติ’ ยังอยู่ครบ 4 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลกลับมีแนวทางสนับสนุนให้มีการตั้งกองทุนใหม่เพื่อช่วยเอกชนผู้ออกหุ้นกู้ระดับ Non-Invesment grade หรือ High yield bond ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตามข่าวให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรีเมื่อ 8 มิ.ย. และเอกสารแถลงข่าวของสำนักงานก.ล.ต.เมื่อ 12 มิ.ย.
ไม่ได้จะมาคัดค้านนะครับ ตรงกันข้ามกลับสนันสนุนในหลักการเสียด้วยซ้ำ
เพราะแนวทางตั้งกองทุนใหม่ช่วย High yield bond จะไม่แตะเงินหลวงไม่ว่าในรูปแบบใดทั้งสิ้น
โดยจะเป็นแนวทางให้เอกชนลงขันกันตั้งกองทุนขึ้นมาเองทำนองกองทุนรวม รัฐบาลเพียงช่วยผ่อนคลายกฎเกณฑ์และสนับสนุนด้วยมาตรการทางภาษีทำนองเดียวกับกองทุน LTF, RMF หรือล่าสุด SSF เท่านั้น
ถือหลักการให้เอกชนช่วยตัวเองและช่วยเหลือกันเองเป็นหลัก
ทราบว่าผลการประชุมระหว่างสำนักงานก.ล.ต.กับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเมื่อ 12 มิ.ย. 2563 ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างดีเยี่ยม และตกลงกันในหลักการว่าจะช่วยตัวเอง พยายามให้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานและกลไกตลาดให้มากที่สุด
ขอฟื้นฝอยหาตะเข็บเพื่อเก็บรับบทเรียนสักเล็กน้อยว่าตั้งแต่ได้ข่าวว่ารัฐจะตราพระราชกำหนดให้แบงก์ชาติตั้งกองทุน BSF ขึ้นมา ปรากฎว่ามีเสียงคัดค้านว่าช่วยน่ะช่วยได้ แต่แบงก์ชาติไม่ควรลงมาเล่นเองในตลาดแรก ช่วยโดยกลไกปกติผ่านธนาคารพาณิชย์ก่อนจะดีกว่าหรือไม่ แต่เสียงสนับสนุนแบงก์ชาติก็เยอะ ผมเองความรู้ในวงการนี้ไม่มาก แต่ก็ติดตามหาข้อมูลและสนทนากับกูรูที่มักคุ้นอยู่ต่อเนื่อง และเมื่อรู้ว่ายังไงก็รัฐบาลก็เดินหน้าแน่เพราะมีการร่างพระราชกำหนดส่งให้กฤษฎีกาแล้ว ก็ได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตเชิงคำถามไว้ 2 ประเด็น ณ ที่นี้เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 ภายใต้หัวเรื่อง ‘พระราชกำหนดให้แบงก์ชาติรับซื้อหุ้นกู้ - จักต้องไม่ให้รัฐแบกรับความเสี่ยงแทนกลุ่มทุนฝ่ายเดียว’ และเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2563 โพสต์ซ้ำอีกครั้งเป็นภาพ info graphic ดังนำมาแสดงอีกครั้งวันนี้
หนึ่งในประเด็นข้อสังเกตคือถ้าจะต้องควักเงิน 4 แสนล้านบาทมาตั้งกองทุนช่วย รัฐควรจะช่วยกลุ่มไหน เพราะเหตุใด ?
และถ้าจะเลือกช่วยเฉพาะรายใหญ่ในกลุ่ม Invesment grade แล้วกลุ่ม Non-Investment grade หรือ High yield bond ล่ะ ?
คำตอบของแบงก์ชาติในนามของรัฐในทุกเวที รวมทั้งในเวทีสภาวาระอนุมัติพระราชกำหนด คือหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade เป็นกลุ่มใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของวงเงิน 3.6 ล้านล้านบาท และผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นพี่น้องประชาชนที่มีเงินออม หากเกิดปัญหาจะกระทบทั้งระบบ ส่วนกลุ่ม High yield bond เป็นส่วนน้อย และส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายเฉพาะกลุ่มเฉพาะราย เหมือน ๆ กับจะบอกโดยปริยายว่ากลุ่มหลังนี้ไม่เดือดร้อน หรือไม่มีผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง
พระราชกำหนดมีผลใช้บังคับในวันที่ 19 เม.ย. 2563 มีการตั้งกรรมการกำกับกองทุน (SC) กรรมการลงทุน (IC) และออกระเบียบต่าง ๆ ภายในเวลาไม่ช้า รวมทั้งแต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษา
ผมทดลองเสนอความคิดในอีกรูปแบบหนึ่งเมื่อ 23 เม.ย. 2563 ตาม info graphic ว่าถ้าผมเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ออกหุ้นกู้จะช่วยชาติเซฟเงิน 4 แสนล้านบาทของกองทุน BSF ด้วยการช่วยตัวเองก่อนเป็นการส่วนตัวอย่างไร
ได้รับการตอบสนองจาก SCG และ TLT โดยคุณประมนต์ สุธีวงศ์กรุณาโทรศัพท์แจ้งมายังผมโดยตรงเมื่อ 25 เม.ย. 2563 ยืนยันว่าช่วยตัวเองได้ ไม่ขอเข้าโครงการกองทุน BSF
จากนั้น PTT และ MTC ก็แถลงต่อสาธารณชนทำนองเดียวกันเมื่อ 27 เม.ย. 2563
แม้เอกชนรายใหญ่รายอื่น ๆ ที่สังคมจับตาจะไม่ได้แสดงท่าทีออกมา แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครขอเข้าโครงการกองทุน BSF แม้แต่รายเดียวอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น
อาจจะมองได้ว่าเป็นชัยชนะโดยไม่ต้องรบของกองทุน BSF เพราะนี่เป็นมาตรการเชิง Preventive ตั้งกำแพงสูงและแข็งแรงไว้เป็นหลังพิงหุ้นกู้ Investment grade ที่มีวงเงินเกินกว่าร้อยละ 90 ของ 3.6 ล้านล้านบาท ในที่สุดแล้วอาจไม่มีใครมาขอใช้กองทุน BSF แม้แต่บาทเดียว
หรืออาจจะมองเป็นอย่างอื่นก็ได้
โดยเฉพาะเมื่อมาเห็นหลักการของว่าที่กองทุนช่วย High yield bond ก็เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าก่อนตัดสินใจเคาะโต๊ะออกพระราชกำหนดให้แบงก์ชาติตั้งกองทุน BSF รัฐบาลได้มีการหารือกับทุกหน่วยงานถึงแนวทางขอให้เอกชนรายใหญ่ช่วยตัวเองและช่วยกันเองก่อนด้วยการลงขันกันตั้งกองทุนรวมโดยรัฐเพียงให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์บางประการบ้างแล้วหรือไม่
หลักการให้เอกชนช่วยตัวเองและช่วยเหลือกันเองก่อน น่าจะนำมาใช้กับเอกชนกลุ่มนี้ที่ถือว่ามีทั้งกำลังทรัพย์และกำลังปัญญา ทั้งด้านผู้ออกหุ้นกู้และผู้ลงทุนในหุ้นกู้
ขอออกตัวว่าการพูดทีหลังของผมอาจจะดูง่าย แต่เมื่อย้อนหลังไปดูสถานการณ์จริงในช่วงเดือนมี.ค. 2563 ที่มีการพูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 กันเป็นหมื่นเป็นแสน รัฐบาลและโดยเฉพาะแบงก์ชาติอาจไม่เหลือพื้นที่ให้คิดเรื่องอื่น นอกจากตั้งกำแพงอย่างเร่งด่วน อีนนี้เข้าใจได้และไม่ว่ากัน
แต่เมื่อเกิดหลักการใหม่ในการช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ปรากฎขึ้นมา จึงขออนุญาตชวนคิดชวนคุยทำนองฟื้นฝอยหาตะเข็บเพื่อเก็บรับบทเรียนบ้าง อย่าว่าผมเลยนะครับ
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา14 มิ.ย.2563
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3039524416091492&id=100001018909881